วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยี 8 อย่างที่จะหายไปและอีกหนึ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป

ไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากเขียนนะครับ แต่ดูจากบรรยากาศแล้วไม่ค่อยน่าเขียนสักเท่าไหร่ หรือบางครั้งอ่านเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเขียนแต่ก็ไม่ว่างซะอีกจนลืมไปเลย พอดีวันนี้อ่่านบทความจาก Computer World  ซึ่งเขียนขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่าน่าสนใจดีประกอบกับรอดูบอลอยู่ ก็เลยถือโอกาสเขียนหน่อยแล้วกันครับ

บทความที่ผมอ่านนี้ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน 8 อย่าง ที่ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ในช่วงอีก 5 ถึง 20 ปีข้างหน้า และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรจะแทนได้ อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่ามีอะไรบ้างลองไปดูกันครับ เริ่มจากอุปกรณ์พวกมือถือแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ (wearable device) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อันนี้ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่าแนวโน้มมันน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างตอนนี้เราก็มีอุปกรณ์อย่าง Google  Glass ออกมาให้เห็นกันแล้ว ซึ่งใน 5-10 ปีนี้ เทคโนโลยีน่าจะลงตัวมากขึ้น ประกอบกับราคาก็น่าจะลดลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้

เทคโนโลยีอันต่อมาที่เขาคาดว่าจะหายไปคือสิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงไปในย่อหน้าที่แล้วครับ ใช่แล้วครับเขาบอกว่าเจ้าเทคโนโลยีของอุปกรณ์สวมใส่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีประเภทฝังตัว ถูกแล้วครับฝังเข้าไปในตัวเรานี่แหละ เขาบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นใน 20 ปี ครับ สำหรับอันนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่านะครับ เพราะผมคนหนึ่งหละที่จะไม่ยอมให้เอาอะไรแปลกปลอมมาใส่ในตัวผมแน่ แต่ไม่แน่ในอีก 20 ปี ข้างหน้ามันอาจกลายเป็นแฟชั่นสำหรับคนยุคนั้นก็ได้ ก็ไม่รู้ว่าผมจะอยู่จนได้เห็นหรือเปล่า แต่คิดอีกทีไม่อยู่ก็ดีนะครับ เพราะไม่อยากฟังหลานมาขอ "ปู่ครับขอเงินไปซื้อชิปคุกกี้นางฟ้ามาใส่ตัวผมหน่อยครับ" :(

แบตเตอรีแบบที่เราใช้ในปัจจุบันก็จะหายไปครับ โดยจะถูกแทนด้วยสุดยอดตัวเก็บประจุ (super capacitor) ซึ่งสุดยอดตัวเก็บประจุนี้จะชาร์จได้เร็ว และจะสามารถชาร์ซ้ำได้เป็นล้าน ๆ ครั้ง เขาบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะเริ่มเข้ามาภายใน 5 ปี และจะมาแทนที่แบตเตอรีอย่างสมบูรณ์ใน 10 ปีครับ ซึ่งแนวโน้มก็ควรเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะเราคงต้องการเทคโนโลยีที่ดีกว่าแบตเตอรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดก็คือรถยนต์ซึ่งในอนาคตแหล่งพลังงานหลักก็น่าจะมาจากไฟฟ้า ซึ่งถ้าต้องมารอชาร์จแบตกันทีเป็นชั่วโมงแล้วค่อยขับต่อไปก็คงไม่ไหวนะครับ

อีกเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะหายไปคือเมาส์และแป้นพิมพ์ครับ โดยจะถูกแทนที่ด้วยการสั่งงานด้วยเสียงและท่าทางครับ จริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้กันแล้วนะครับ การสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Siri (ซึ่งเบื้องหลังอาจเกิดจากงานวิจัยระดับป.เอกของอ.วีระ) หรือ Google Now โทรทัศน์หลายรุ่นก็สามารถใช้การสั่งงานด้วยท่าทางได้ และการใช้งานในลักษณะนี้ก็น่าจะสอดรับกับพวกอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้พูดถึงไปแล้วนะครับ เขาประมาณการไว้ว่าประมาณ 10 ปีครับท่ี่เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่เมาส์และแป้นพิมพ์ได้ แต่เขาบอกว่าอาจใช้เวลาถึง 20 ปีก็ได้ เพราะคนเราบางคนมักจะยึดติดกับความเคยชินเก่า ๆ ไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ผมว่าถ้าถึงยุคนั้นจริง ๆ ก็คงสนุกดีนะครับ นึกภาพดูในห้องเรียนอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งครูและนักเรียนโบกมือหรือโยกตัวไปมา เพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ของตัวเอง แล้วเราซึ่งมาจากยุคนี้ไปเห็นเข้าอาจนึกว่าเขากำลังเต้นแอโรบิคกันอยู่ก็ได้นะครับ

อุปกรณ์ที่มีปุ่มมีสวิทช์ก็จะหายไปครับ ต่อไปอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกันและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็เริ่มใช้กันแล้วนะครับอย่างพวกลำโพงไร้สายซึ่งสามารถเล่นเพลงจากมือถือของเราได้  แต่เขาบอกว่าในอนาคตมันจะล้ำไปกว่านี้อีกครับ คือการวิเคราะห์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์สามารถทำได้จากระยะไกลเลยครับ คือช่างอาจจะซ่อมเครื่องได้โดยไม่ต้องแตะเครื่องด้วยซ้ำ เขาคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10-20 ปีครับ แต่ผมว่าน่าจะเร็วกว่านั้นนะ

เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยีด้านความมั่นคง (security) ครับ คือในปัจจุบันเราต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะมีการแจ้งเตือน เช่นโจรต้องบุกเข้ามาในบ้านเราก่อนสัญญาณกันโขมยถึงจะดัง แต่ในอนาคตภายใน 5 ปี เขาคาดว่าระบบความมั่นคงจะเปลี่ยนไปเป็นแบบการทำนายล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นครับ โดยเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้ก็คือเรื่องของการทำเหมืองข้อมูล (data mining) นั่นเองครับ ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในระบบเครือข่ายเราใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามายังเครือข่ายของเราว่าเป็นข้อมูลที่มีอันตรายแอบแฝงมาหรือไม่

เทคโนโลยีถัดมายังอยู่ในหมวดความมั่นคงครับ คือในปัจจุบันเราใช้ระบบความมั่นคงที่เรียกว่าความมั่นคงตามหน้าที่ (role-based security) คือเราจะดูว่าคนคนนี้มีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าคนหนึ่งคนก็มักจะมีหลายหน้าที่อยู่แล้วใช่ไหมครับ เช่นหน้าที่เป็นประชาชน หน้าที่เป็นนักเรียน หน้าที่เป็นอาจารย์ ซึ่งในระบบที่เราใช้ในปัจจุบันเราก็จะมีบัตรประจำตัวตามหน้าที่ที่เรามีใช่ไหมครับ เรามีบัตรประจำตัวประชาชนและถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็จะมีบัตรประจำตัวนักเรียน ถ้าเราไปเรียนกวดวิชาก็จะมีบัตรประจำตัวโรงเรียนกวดวิชาอีกใบด้วย แต่ภายใน 5-10 ปี เราจะเปลี่ยนเป็นความมั่นคงแบบปรับตัวหรือแบบอิงบริบท (adaptive, contextual security) เราจะมีเลขประจำตัวเพียงชุดเดียว แต่สิทธิของเราอาจจะดูจากหลาย ๆ อย่าง เช่นอุปกรณ์ที่เราใช้ สถานที่ที่เราอยู่ และรูปแบบการทำงานของเรา ซึ่งถ้าเรามีการทำงานที่ผิดรูปแบบไป ระบบก็จะสามารถตรวจจับได้ว่ามีการละเมิดความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว แนวคิดคือคนจะมีเพียงตัวตน (identity) เดียว แต่จะมีสิทธิที่ต่างกันในเครือข่ายต่าง ๆ  เช่นผมเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลระบบของมหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือให้เลขประจำตัวใหม่กับผม เพียงแต่กำหนดสิทธิให้ผมสามารถเข้าใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในฐานะอาจารย์พิเศษ ดู ๆ มันก็สะดวกดีนะครับ แต่ผมมองว่าเราจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของเราให้ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะถ้าโดนโขมยไปเมื่อไหร่แย่แน่ ๆ ครับ

อีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งผมในฐานะอาจารย์ที่สอนทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์รอจะเห็นอยู่ก็คือ การที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจากการที่นักพัฒนาใช้โค้ดที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาเป็นหลัก มาเป็นการนำโค้ดที่มีการพัฒนาไว้แล้วจากนักพัฒนาคนอื่นมาประกอบกันเพื่อสร้างเป็นแอพพลิเคชันใหม่ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีการพัฒนาที่รองรับการทำงานแบบนี้อยู่แล้วเช่นการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอิงคอมโพเนนต์ (component-based) แบบอิงบริการ (service-based) ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมสอนอยู่ (ขอโฆษณาหน่อย :) ) ปัจจุบันเราสร้างแอพพลิเคชันท่ี่ใช้ส่วนต่อประสานการเขียนโปรแกรม (programming interface) ที่ผู้ให้บริการอย่าง Google หรือ Facebook เตรียมไว้ให้กันอยู่แล้ว แต่เขาคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี มันอาจจะเข้ามาเป็นวิธีการหลัก ซึ่งผมคิดว่าเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมก็น่าจะดีขึ้นด้วย อาจดีขนาดที่ว่าผู้ใช้ที่เป็นผู้ใช้เก่ง ๆ หน่อย ที่เรียกกันว่า power user อาจสามารถพัฒนาโปรแกรมที่ไม่ซับซ้อนนักได้ด้วยตัวเอง

และนั่นคือเทคโนโลยีแปดอย่างท่ี่จะถูกแทนที่ครับ คราวนี้เหลือเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ครับ ลองเดาดูไหมครับว่าคืออะไร... หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามันคืออีเมลครับ เขาบอกว่าอีเมลมีคุณสมบัติหลัก ๆ ที่ไม่สามารถจะหาอะไรมาแทนได้ นั่นคือการแนบไฟล์ การส่งถึงผู้รับหลายคนพร้อม ๆ กัน และการเก็บอีเมลที่ต้องการไว้อย่างถาวร ซึ่งคิด ๆ แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ อย่างน้อยในตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะแพร่หลาย ใช้งานได้สะดวกในการทำงานดังกล่าวมากกว่าอีเมล

ก็รอดูนะครับว่าจะแม่นหรือเปล่า สำหรับผมอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะได้อยู่เห็นไหม คนที่ยังอยู่ฝากส่งอีเมลไปนรกเอ๊ยไม่ใช่ต้องสวรรค์สิไปบอกด้วยนะครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น