วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เขียนอย่างไร 1

ผมเห็นว่าตอนนี้เราเขียนคำภาษาไทยผิดกันเยอะครับ ก็เลยวางแผนว่าจะทวิตคำที่มักจะเขียนผิดลงทวิตเตอร์ไปสักวันละสองสามคำ แต่เนื่องจากทวิตเตอร์นั้นตรงไทม์ไลน์อาจจะไหลเร็ว ก็เลยรวมรวบคำที่ทวิตไปมาไว้ในบล็อกอีกทีหนึ่ง ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ  และต่อไปนี้ก็คือคำที่ทวิตไปในวันนี้ครับ


วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนไทยยอมรับรัฐบาลที่โกงแต่ให้ประโยชน์จริงหรือ


อ่านข่าวว่าโพลบอกว่าคนไทยยอมให้รบ.โกงถ้าตัวเองได้ประโยชน์ด้วยมาหลายครั้งแล้ว ล่าสุดนี่ก็อีกครั้ง อึ้ง! โพลชี้คนไทย รับได้รัฐบาลทุจริต แล้วก็มักจะมีข้อสรุปว่าคนไทยมีทัศนคติไม่ดี ทัศนคติอันตรายบ้าง ผมดูผลแล้วก็งงอยู่ว่าคนไทยเป็นอย่างนี้จริงหรือ โดยส่วนตัวอยากเห็นคำถามในโพลมากว่าเป็นอย่างไร อยากรู้ว่ามันมีให้เลือกระหว่างรัฐบาลที่ไม่โกงแต่ไม่เก่ง (ประชาชนได้ประโยชน์น้อย) กับรัฐบาลที่โกงแต่เก่งไหม ถ้ามีแล้วผลยังออกมาแบบนี้ในส่วนตัวก็คิดว่านั่นคือทัศนคติที่ต้องแก้ไขจริง ๆ เพราะโดยส่วนตัวผมเชื่อว่าความเก่งพัฒนากันได้ แต่ความซื่อสัตย์สุจริตนี่สร้างยากครับ และในแง่ของนักลงทุนเขาก็คงต้องการลงทุนกับรัฐบาลที่ซื่อสัตย์สุจริตมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นถ้าประชาชนมีความคิดอย่างนี้จริง ค่านิยมนี้ก็จะระบาดไปทั่วสังคม ซึ่งคงไม่ต้องบอกนะครับว่าสังคมที่มีแต่คนที่ไม่ซื่อสัตย์นี่มันจะเป็นอย่างไร

แต่ผมไม่คิดว่าประเทศเราจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายอย่างนั้นครับ ผมเชื่อว่าที่ผลออกมาแบบนี้เพราะคนไทยส่วนใหญ่น่าจะเห็นว่ารัฐบาลไหนก็โกงทั้งนั้น ดังนั้นถ้าต้องเลือกก็ขอเลือกที่โกงแล้วแต่ประเทศยังก้าวเดินไปข้างหน้าได้ก็แล้วกันมากกว่า

แน่นอนครับผมคิดว่าคนไทยทุกคนก็อยากได้รัฐบาลที่ไม่โกงและเก่งด้วย แต่ด้วยนักการเมืองที่มีอยู่ตอนนี้เราคงหวังได้ยาก ดังนั้นเราคงต้องช่วยกันครับ เริ่มจากตัวเราครับตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย เช่นทำตามกฏหมายง่าย ๆ อย่างเคร่งครัด เช่นข้ามถนนบนสะพานลอย ไม่ขับรถย้อนศรเพื่อที่จะได้กลับรถใกล้ ๆ นักเรียนนักศึกษาไม่ทุจริตการสอบ ไม่จ่ายเงินใต้โตะเพื่อให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้น และไม่จ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ลูกเข้าโรงเรียนดัง ๆ เป็นต้น ซึ่งผมมองว่าเรื่องการทุจริตนั้นมันมักจะเริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ พวกนี้แหละครับ และมันก็ติดเป็นนิสัยจนไปทำเรื่องที่ใหญ่ขึ้น และอย่าลืมครับว่าเด็ก ๆ เขามองการกระทำของเราเป็นตัวอย่างอยู่นะครับ พ่อแม่ที่จูงมือลูกข้ามถนนใต้สะพานลอย ลูกก็จะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ไร้ระเบียบวินัย พ่อแม่ที่จ่ายเงินให้ลูกได้เข้าเรียนลูกก็จะคิดว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ดังนั้นเขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่คิดแต่จะหาเงินให้ได้เยอะ ๆ อะไรประมาณนี้ ส่วนเรื่้องความเก่งนั้นผมว่าน่าจะทำได้ด้วยการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนรู้รอบและรอบรู้ครับ เริ่มต้นจากพัฒนาตัวเองให้สามารถหาความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเองครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนที่สามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้ตลอดชีวิต รู้จักแยกแยะข้อมูลข่าวสารรับข่าวสารให้รอบด้าน ปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่พวกเราหลายคนเลือกที่จะรับข่าวสารเพียงด้านเดียวและไม่กรองข่าวสารด้วยนี่แหละครับ

วันนี้อาจจะหนักไปหน่อยแต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

รวมข่าว IT ที่โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ 5 มิ.ย. 2555

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาแต่จบที่บ้าน


บล็อกนี้เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งในวิสุทธานีครับ และพูดอย่างไม่กลัวเชยว่าผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก มาส่งลูกคนโตเรียนพิเศษและถือโอกาสเดินสำรวจไปทั่ว ๆ จากนั้นก็เข้ามานั่งรอลูกและเริ่มเขียนบล็อกนี้ครับ ผมเข้ามาสู่วังวนของโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้งแล้วครับหลังจากหยุดมานานตั้งแต่สมัยที่ให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าป.1 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่ามันควรทำหรือไม่ แต่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าควรไปจะได้รู้แนวข้อสอบงั้นจะเสียเปรียบเขา เราก็เลยพาลูกไปเรียน ซึ่งจริงๆ ก็สงสารลูกนะครับและต้องชมเขาอีกครั้งว่าพวกเขาซึ่งตอนที่ไปเรียนนั้นอายุแค่ประมาณห้าขวบ ตื่นกันขึ้นมาแต่เช้าและยอมไปเรียนโดยไม่งอแง

หลังจากสอบเข้าป.1 แล้วผมกับภรรยาก็ไม่ได้ให้ลูกไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาที่ไหนอีก จะมีก็แค่เป็นส่วนเสริมเช่นไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี ฟุตบอล แต่ถ้าจะเรียนเป็นงานเป็นการก็คือคุมองซึ่งเป็นการเน้นการทำโจทย์คณิตศาสตร์และฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ และถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าภรรยาผมเธอมีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้ลูกไปเรียนคุมอง เพราะเธอต้องการเปิดศูนย์คุมองครับเลยส่งลูกไปเป็นสายลับก่อน :) ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้เปิดศูนย์คุมองสมใจเธอแล้ว   

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงไม่ชอบให้ลูกเรียนกวดวิชาคำตอบก็คือผมกับภรรยาไม่คิดว่าการเรียนพิเศษในวิชาที่เรียนอยู่ในห้องมันจะเป็นเรื่องจำเป็นอะไร สำหรับภรรยาผมเท่าที่คุยกันเธอก็ไม่เคยไปเรียนพิเศษที่ไหนเนื่องจากตอนเด็กเธอต้องช่วยที่บ้านขายของ ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเองครับ ผมจะใช้วิธีซื้อหนังสือคู่มือมาอ่านแล้วก็ฝึกทำโจทย์ อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าการไปเรียนกวดวิชาเป็นการยัดเยียดอะไรให้ลูกมากเกินไป เราก็เลยสอนลูกให้ตั้งใจเรียนทำความเข้าใจในห้องและหมั่นทบทวนซึ่งลูกก็สอบในโรงเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษที่ไหน

คราวนี้ทำไมให้ลูกมากวดวิชาอีก เหตุผลเริ่มจากที่ภรรยาผมต้องการให้ลูกคนเล็กลองมาสอบเข้าม.1 ที่โรงเรียนอื่นดูบ้าง เธอให้เหตุผลว่าให้เขามาลองฝีมือดู มาเทียบกับเด็กโรงเรียนอื่นดูบ้าง  ซึ่งเราก็ให้เขามาลองสอบ pre-test  เข้า ม. 1 ซึ่งโรงเรียนดัง ๆ ส่วนใหญ่นิยมจัดกัน ลองให้เขาสอบตั้งแต่เขาอยู่ ป. 5 ผลปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นครับ เจ้าตัวเล็กผมตอนอยู่โรงเรียนเดิมนี่ได้ที่ 1-3 ของห้องมาเกือบตลอด แต่พอมาสอบนี่ไม่ติดอันดับเลย ตอนนั้นเราก็วิเคราะห์กันว่าเพราะเขาอยู่แค่ป. 5 และไม่ได้เตรียมตัวสอบดีเท่าไร  พอเขาอยู่ป. 6 ก็ให้มาลองสอบอีกปรากฏว่าดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ติดอันดับเหมือนเดิม คราวนี้เราก็เลยต้องคิดกันใหม่  ช่วงแรกเราก็เลยหาคู่มือสอบมาให้เขาลองทำซึ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่เคยเจอข้อสอบในลักษณะนั้นมาก่อน เท่าที่จำได้และเห็นเด่นชัดก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งการเรียนในโรงเรียนดูเหมือนจะไม่ได้เน้นพวกโครงสร้างอะตอมอะไรพวกนี้ (อันนี้ที่รู้เพราะเวลาลูกสอบผมมักจะหาเวลามาติวลูก) แต่ในคู่มือกลับมีข้อสอบลักษณะนี้ ซึ่งผมจำได้ว่าสมัยผมกว่าจะเรียนพวกนี้ หรือรู้จักตารางธาตุก็ตอนม.ปลายแล้ว แต่นี่แค่เด็กป. 6 และข้อสอบไม่ได้ถามแค่ให้รู้จักธรรมดายังถามให้คำนวณด้วย หรืออย่างข้อสอบคณิตศาสตร์นี่มันก็จะมีสูตรลัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำตรง ๆ อาจใช้เวลานาน และในบางวิชาถึงจะมีเฉลยแล้วเราก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่ดี คือผมกับภรรยาก็พยายามช่วยเขา แต่ความที่เราก็ทิ้งวิชาอื่น ๆ นอกจากเลขกับภาษาอังกฤษมานานแล้วทำให้บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร  อีกประการที่ผมพยายามฝึกลูกอยู่ก็คือลูกผมไม่เหมือนผมที่ชอบอ่านและทำโจทย์เองครับ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงคิดว่าน่าจะลองให้เขาเรียนพิเศษดูและเขาก็น่ารักอีกตามเคยที่ยอมไปเรียนครับ แต่คราวนี้แรก ๆ ก็มีงอแงบ้าง เพราะจริง ๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากย้ายจากโรงเรียนเดิมครับ เราก็ต้องบอกเขาว่าอยากให้เขาไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความรู้ให้เขาไปลองเทียบฝีมือกับคนอื่นดู ถ้าสอบได้และเขาไม่อยากย้ายก็จะไม่บังคับอะไร

สรุปเจ้าคนเล็กเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าม.1 ช้ามากคือมาเริ่มเรียนตอนป.6 แล้ว ไปสอบสนามแรกก็ไม่ติด มาสนามที่สองก็ยังไม่ติดแต่ที่ผมสังเกตุคือคะแนนเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงสนามสุดท้ายบดินทรเดชา 2 สนามนี้เจ้าคนเล็กอยากเข้ามากครับ เพราะเขาไปได้เพื่อนใหม่ที่เรียนพิเศษด้วยกันและตั้งใจเข้าบดินทร 2 ด้วยกัน  (คิด ๆ ดูนี่เจ้าตัวเล็กผมใจง่ายนะครับ เพื่อนโรงเรียนเดิมเรียนกันมาตั้งหกปีจะทิ้งไปอยู่กับเพื่อนที่เพิ่งเรียนด้วยกันซะแล้ว) ปรากฏว่าเขาสอบติดครับและเพื่อนเขาที่เรียนด้วยกันหลายคนก็ติดด้วย ไม่รู้ว่านี่จะสรุปได้ไหมว่าโรงเรียนกวดวิชามีผลเป็นอย่างมาก ถ้าลูกใครสอบเข้าได้โดยไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไหนนี่มาแสดงความเห็นด้วยก็ดีนะครับ มาช่วยบอกหน่อยว่าทำยังไง คือถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ชอบโรงเรียนกวดวิชา แต่มันเหมือนกับว่าถ้าคุณไม่กวดวิชาคุณก็จะเสียเปรียบสู้คนที่กวดไม่ได้  

คราวนี้ก็ถึงรอบคนโตครับเพราะภรรยาผมก็ต้องการให้เขาไปวัดฝีมือสอบเข้าม.4 กับเด็กอื่นอีกแล้ว และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมต้องมาที่วิสุทธานีเป็นครั้งแรก และยังคงจะต้องมาอีกหลายครั้งเพื่อรับส่งเขา ส่วนคนเล็กนี่เราตัดสินใจให้เขาหยุดเรียนพิเศษไว้ก่อนครับ เพราะเราก็ยังเชื่อว่าการตั้งใจเรียนและทบทวนบทเรียนในห้องเรียนน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งถ้าแค่เรียนในโรงเรียนยังต้องมากวดวิชานี่เราสองคนก็ยังไม่เห็นด้วยครับ เพราะเราคิดว่ามันจะติดเป็นนิสัยจนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้เจอกับตัวเองเลย มีลูกศิษย์บางคนเคยเข้ามาถามว่าอาจารย์ไม่รับติวพิเศษบ้างหรือ ซึ่งผมก็บอกว่าเราเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่ควรจะต้องมีการมาติวพิเศษอีกแล้ว เราจะต้องหัดเรียนรู้และรับผิดชอบด้วยตัวเองให้ได้ เร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัยซึ่งเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่านิยมการเรียนพิเศษมันได้ลามไปถึงระดับป.โทหรือกระทั่งป.เอกแล้ว ฟังแล้วก็อนาถใจ 

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นจากเรื่องโรงเรียนกวดวิชานี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสรุปเองได้หลัก ๆ สามข้อ หนึ่งคือข้อสอบที่ใช้สอบเข้าไม่ว่าจะระดับไหนไม่ได้ออกตามจุดประสงค์หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่ตรงกับหลักสูตรที่เด็กได้เรียนมา (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) สองการมาเรียนกวดวิชาทำให้เด็กได้สูตรลัดในการคิดคำนวณซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่เร็วกว่า (แต่จุดประสงค์ของการสอบต้องการวัดอะไรกันแน่ วัดความเร็วหรือจะวัดกระบวนการคิด) สามครูที่สอนอยู่ในสถานศึกษา(รวมถึงตัวผมด้วย) อาจต้องพิจารณาแล้วว่าทำไมเราจึงสื่ิอสารกับเด็กสู้ติวเตอร์ที่สอนพิเศษเหล่านี้ไม่ได้ บางคนอาจถามว่าแล้วความแตกต่างระหว่างโรงเรียนไม่เกี่ยวหรือ ผมว่าไม่เกี่ยวนะเด็กที่มาเรียนพิเศษที่ผมเห็นอยู่รวมถึงลูกผมด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนดัง ๆ กันทั้งนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่โรงเรียนไหนคุณก็ต้องกวดวิชาทั้งนั้น ผมยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ให้ลูกเรียนกศน.เสียเลยดีไหม แล้วก็มาเรียนกวดวิชาเอา  

ผมเริ่มเขียนบล็อกที่โรงเรียนกวดวิชาแต่สุดท้ายก็มาจบที่บ้านครับ ยังไงเสียบ้านก็จะเป็นที่บ่มเพาะสำคัญให้ลูก ๆ ของเราเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติต่อไป ช่วยกันทำบ้านให้อบอุ่นเพื่อลูกหลานของเรากันนะครับ วันนี้จบมันแบบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาแบบนี้แหละ สวัสดีครับ...

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรซอฟต์แวร์:อาชีพยอดเยี่ยมประจำปี 2012

เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ลิงก์นี้ Software Engineer: 2012's Top Job ลงในเฟซบุ๊คของผม ซึ่งโดยสรุปก็คือจากการสำรวจของ careercast พบว่าอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2012 คือวิศวกรซอฟต์แวร์ ในวันนี้ผมอยากจะมาขยายความหน่อยครับสำหรับคนที่อาจไม่อยากอ่านรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเอง

การจัดอันดับนี้เขาไม่ได้วัดจากรายได้สูงสุดนะครับ แต่เขาวัดจากปัจจัย 5 ประการด้วยกัน คือด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ ความเครียดและแนวโน้มการได้งาน อีกประการที่อยากจะนำมาขยายความก็คือภาระหน้าที่ของวิศวกรซอฟต์แวร์จากการสำรวจนี้ครับ หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือวิจัย ออกแบบ พัฒนาและดูแลระบบซอฟต์แวร์ตลอดจนฮาร์ดแวร์ สำหรับงานด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ   รายได้เฉลี่ยต่อปีของอาชีพนี้อยู่ที่ 88, 142 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 2,732,402 บาท ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอาชีพเภสัชกรที่อยู่ที่ 112,070 เหรียญสหรัฐ (3,474,170 บาท) แต่อาชีพเภสัชกรอยู่ถึงอันดับที่ 14 ครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ถึงได้การจัดอันดับยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ห้าประการครับ

  1. เวลาที่ยืดหยุ่นมาก  วิศวกรซอฟต์แวร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
  2. ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ตำแหน่งนี้ต้องทำงานแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็จะดึงดูดพวกที่ชอบแก้ปัญหาแบบมีหลักการ จากการสำรวจมองว่าคนพวกนี้คือคนเก่ง และคนที่มาทำงานตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง ก็คือเปิดโอกาสให้คนเก่ง ๆ จากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงาน
  3. มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบทำงานเป็นทีม ตำแหน่งนี้จะต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยให้โครงการเสร็จในเวลาที่กำหนด ในข่าวนี้เขาเปรียบเทียบกับตำแหน่งนักเขียนโปรแกรมว่ามักจะทำงานคนเดียว
  4. มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ อย่างที่บอกในข้อสองคือตำแหน่งนี้ต้องทดลองและแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานั้นอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ง่าย ๆ จาก Google 
  5. มีอิสระที่จะทำพลาด จากข้อสองอีกนั่นแหละครับคือทดลองวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ ถ้ามันไม่สำเร็จก็กลับไปคิดใหม่ 
อย่างไรก็ตามนี่คือการสำรวจในต่างประเทศนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  ใครที่ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ยินดีครับ



ที่มา: Information Week