วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรซอฟต์แวร์:อาชีพยอดเยี่ยมประจำปี 2012

เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ลิงก์นี้ Software Engineer: 2012's Top Job ลงในเฟซบุ๊คของผม ซึ่งโดยสรุปก็คือจากการสำรวจของ careercast พบว่าอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2012 คือวิศวกรซอฟต์แวร์ ในวันนี้ผมอยากจะมาขยายความหน่อยครับสำหรับคนที่อาจไม่อยากอ่านรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเอง

การจัดอันดับนี้เขาไม่ได้วัดจากรายได้สูงสุดนะครับ แต่เขาวัดจากปัจจัย 5 ประการด้วยกัน คือด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ ความเครียดและแนวโน้มการได้งาน อีกประการที่อยากจะนำมาขยายความก็คือภาระหน้าที่ของวิศวกรซอฟต์แวร์จากการสำรวจนี้ครับ หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือวิจัย ออกแบบ พัฒนาและดูแลระบบซอฟต์แวร์ตลอดจนฮาร์ดแวร์ สำหรับงานด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ   รายได้เฉลี่ยต่อปีของอาชีพนี้อยู่ที่ 88, 142 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 2,732,402 บาท ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอาชีพเภสัชกรที่อยู่ที่ 112,070 เหรียญสหรัฐ (3,474,170 บาท) แต่อาชีพเภสัชกรอยู่ถึงอันดับที่ 14 ครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ถึงได้การจัดอันดับยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ห้าประการครับ

  1. เวลาที่ยืดหยุ่นมาก  วิศวกรซอฟต์แวร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
  2. ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ตำแหน่งนี้ต้องทำงานแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็จะดึงดูดพวกที่ชอบแก้ปัญหาแบบมีหลักการ จากการสำรวจมองว่าคนพวกนี้คือคนเก่ง และคนที่มาทำงานตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง ก็คือเปิดโอกาสให้คนเก่ง ๆ จากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงาน
  3. มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบทำงานเป็นทีม ตำแหน่งนี้จะต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยให้โครงการเสร็จในเวลาที่กำหนด ในข่าวนี้เขาเปรียบเทียบกับตำแหน่งนักเขียนโปรแกรมว่ามักจะทำงานคนเดียว
  4. มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ อย่างที่บอกในข้อสองคือตำแหน่งนี้ต้องทดลองและแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานั้นอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ง่าย ๆ จาก Google 
  5. มีอิสระที่จะทำพลาด จากข้อสองอีกนั่นแหละครับคือทดลองวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ ถ้ามันไม่สำเร็จก็กลับไปคิดใหม่ 
อย่างไรก็ตามนี่คือการสำรวจในต่างประเทศนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  ใครที่ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ยินดีครับ



ที่มา: Information Week

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น