วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

เทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบตัวแบบความเสี่ยงในการรักษาคนไข้

ตัวแบบความเสี่ยงของคนไข้ (patient risk model) เป็นตัวแบบที่หมอจะนำมาใช้ประกอบในการรักษาคนไข้ ตัวอย่างเช่นถ้ามีคนไข้เข้ามารักษาด้วยอาการหัวใจวาย หมอก็จะใช้ตัวแบบตวามเสี่ยงมาประกอบการรักษาโดยดูจากปัจจัยเช่นถ้าอายุเท่านี้ มีอาการแบบนี้ ต้องรักษาแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งตัวแบบนี้มีประโยชน์มาก แต่บางครั้งมันก็ใช้ไม่ได้กับคนไข้ทุกคน เช่นอาจมีบางคนที่อายุเท่ากับที่ระบุไว้ในตัวแบบ แต่ถ้ารักษาโดยใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในตัวแบบอาจมีความเสี่ยงกับชีวิตของคนไข้

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ศูนย์วิจัย IBM และโรงเรียนแพทย์แห่ง University of Massachusetts จึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบความเที่ยงตรงของตัวแบบขึ้นมา โดยเทคนิคนี้จะให้ค่าความไม่น่าเชื่อถือในช่วงคะแนนจาก 0 ถึง 1 โดยการเปรียบเทียบคะแนนความเสี่ยงจากตัวแบบความเสี่ยงของคนไข้ที่ใช้ตามปกติ กับค่าความเสี่ยงที่สร้างจากตัวแบบอื่น ๆ ที่ฝึกสอนจากชุดข้อมูลเดียวกัน โดยถ้าได้ค่าความเสี่ยงต่างกัน แสดงว่าตัวแบบไม่น่าเชื่อถือ โดยถ้าค่าความไม่น่าเชื่อถือยิ่งสูงแสดงว่าตัวแบบยิ่งเขื่อถือไม่ได้ และถ้านำไปรักษาคนไข้ก็เท่ากับโยนหัวโยนก้อย คือมีโอกาสรอดกับตายเท่า ๆ กัน

นักวิจัยคาดหวังว่าในอนาคตจะมีซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์ซึ่งใช้เทคนิคนี้ ตัวอย่างการใช้งานก็เช่นถ้ามีคนไข้มา แล้วระบบบอกว่าตัวแบบความเสี่ยงอาจใช้ได้ไม่ดีกับคนไข้คนนี้ หมอก็สามารถขอให้ระบบปรับปรุงตัวแบบความเสี่ยงที่เหมาะกับคนไข้มากขึ้นได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News


วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563

การทำให้อุปกรณ์ IoT สื่อสารกันได้เร็วขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ของการสื่อสารไร้สาย

นักวิจัยจาก  University of Pittsburgh’s Swanson School of Engineering ได้ค้นพบวิธีที่จะลดความล่าช้า (delay) ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ IoT โดยไม่ต้องเพิ่มฮาร์ดแวร์ใหม่เข้าไป แต่ใช้ทรัพยากรที่เหลือไม่ได้ใช้ในเครือข่ายการสื่อสารไร้สายมาช่วยในการรับส่งข้อมูล ซึ่งผลการทดลองพบว่าสามารถลดความล่าช้าได้ถึง 90% การสื่อสารที่รวดเร็วแบบมีความล่าช้าน้อยนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ ในข่าวได้ยกตัวอย่างของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ที่จำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูลให้เร็วมากที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Pitt Swanson Engineering

  

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563

เว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโต

วันนี้เจอเว็บไซต์ที่น่าจะเป็นเว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโตของเราครับ ก็เลยเอามาเขียนเตือนกันไว้ เรืองก็คือผมไปสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่ม Blockchain กลุ่มหนึ่ง คืออันนี้ https://www.facebook.com/Blockchain-Community-101423281418037/ เข้าใจว่าตอนสมัครเพราะมันขึ้นมาจาก Facebook Ad เราสนใจ Blockhain อยู่แล้วก็เลยสมัครเข้าไป จากที่เข้าไปดูกลุ่มนี้เพิ่งถูกสร้างเมื่อ 23 มกราคมปี 2020 นี้เองครับ ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร จนได้รับข้อความว่ามีการโพสต์ถึงผมในกลุ่ม ผมเข้าไปดูก็เห็นเอารูปรูปหนึ่งจาก Facebook ผมไปโพสต์ในกลุ่ม แล้วก็โพสต์ข้อความนี้

Congratulations!
Get Extra Bonus 100%!
You are one active users who are lucky to get 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH).
Do not miss 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) are on the way your wallet.
Immediately get your bonus here:
└► 
https://bit.ly/2sWBokm?Blockchain-GiveAway
Description:
* Only for Accounts that already have transactions that can receive BTC, Ethereum (ETH) wallet.
* We will be give to users who have 5 transactions history.
* For security system without cheating.
* For loyal users.
* If not eligible, The invite bonus can't be found
* And Share your friends.
Best Regards,
Thanks for choosing blockchain – Happy trading!
Kind regards
©2020 BLOCKCHAIN ALL RIGHTS RESERVED

จากที่ไล่ไปดูก็มีสมาชิกกลุ่มอีกหลายคนที่ได้รับข้อความนี้
ซึ่งจากการเอาลิงก์ไปเช็คก็มีหลายที่รายงานว่าเป็น Phishing แต่ไม่ได้มีมัลแวร์อะไรผมก็ลองคลิกเข้าไปก็เจอหน้านี้


จะเห็นว่าบอกว่าจะให้ 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) เหมือนที่โพสต์ไว้ และยังบอกอีกว่า ยิ่งมีเงินในบัญชีเยอะยิ่งได้เยอะ และเมื่อคลิกปุ่ม Claim เข้าไปยิ่งสนุกครับ เพราะมันพาไปที่อีกเว็บหนึ่งซึ่งมีหน้าจอนี้ 


ไม่รู้เห็นชัดไหมนะครับ สรุปให้ครับ มันให้เราใส่ 12-word phrase ครับ ซึ่งแน่นอนครับถ้าเราให้มันไป มันก็ยึดบัญชีเราไปได้เลยนะครับ เฮ้อมันเล่นกันง่ายดีเนอะ 

สำหรับใครที่ไม่รู้ หรือเพิ่งเข้าสู่วงการเงินคริปโต หรือวงการบล็อกเชนนะครับ จำไว้นะครับว่าถ้าใครจะโอนเงินให้คุณ สิ่งที่คุณต้องให้ก็คือเลขบัญชีของคุณเท่านั้นนะครับ ถ้าขอ 12-word phrase หรือ private key อะไร โดยอ้างว่าจะต้องยืนยันว่าเป็นตัวคุณ อย่าไปเชื่อ และอย่าให้ไปเด็ดขาดครับ 




ใช้ขนนกจริงในการสร้างหุ่นยนต์ที่บินได้เหมือนนก

นักวิจัยจาก Stanford University ใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของการสร้างหุ่นยนต์ และทำให้หุ่นยนต์บินได้เหมือนนก หุ่นยนต์นี้เขาตั้งชื่อว่า หุ่นยนต์นกพิราบ (PegionBot) โดยใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของปีกทั้งสองข้าง ทำให้หุ่นยนต์นี้สามารถบินได้ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักวิจัยบอกว่าการที่ใช้ขนนกจริงก็เพราะว่า เขาไม่สามารถสร้างขนนกเทียมขึ้นมาให้มีคุณสมบัติของขนนกจริง ๆ แบบนี้ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จะเรียกว่านกพิราบไซบอร์กได้ไหมนะ หวังว่าคงไม่ฆ่านกจริงเอามาสร้างหุ่นยนต์นะ  

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ผมสามารถสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว

ขอบันทึกไว้หน่อยว่าปีนี้ผมสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว คือเขียนบล็อกสรุปข่าวด้านไอที ได้ 21 วันติดต่อกัน (จริง ๆ ได้ 21 วันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว) ผมตั้งใจจะสร้างนิสัยให้ได้อย่างหนึ่งเป็นปณิธานของปีใหม่ปีนี้ โดยจากการโพสต์ Face Book ของ อ.ธงชัย รุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชา Innovative Thinking ที่โด่งดังมากในจุฬา เป็นวิชาเลือกฮอตฮิตของนิสิตจุฬา ถึงกับต้องมีการคัดเลือกนักศึกษากันแทบทุกเทอม ซึ่งหนึ่งในการบ้านที่อ.ธงชัย ได้มอบหมายให้นักศึกษาทำเพื่อเสริมสร้างนิสัยก็คือหาสิ่งที่ต้องการทำเป็นนิสัย แล้วทำให้ได้ติดต่อกัน 21 วัน

ผมเห็นว่ามีประโยชน์ จริง ๆ ตั้งใจทำมานานแล้ว แต่ก็อ้างโน่นอ้างนี้กับตัวเองมาตลอด จนปีนี้เห็นว่าต้องเริ่มทำให้ได้แล้ว คราวนี้ก็เลยเลือกว่าจะทำอะไรดี จริง ๆ มีสิ่งที่ผมชอบทำอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผมชอบแชร์เรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นรับรู้ด้วย และจริง ๆ ผมได้เริ่มทำมาหลายปีแล้ว แต่ทำไม่สม่ำเสมอ นั่นคือการเลือกข่าวด้านไอที ที่เน้นไปที่งานวิจัย ที่ไม่ใช่ข่าวที่เขียนไปแล้วในบล็อกข่าวด้านไอทียอดนิยมอย่างใน blognone หรือข่าวไอทีที่เกี่ยวกับผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป หรือข่าวผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำมากมาย

โดยตอนแรกผมได้เขียนลงในบล็อกของผมบล็อกนี้แหละครับ เลือกข่าวแล้วก็เอามาเขียน แรก ๆ ก็ทำสองสามวันสักเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพอมาช่วงหลัง ๆ การโพสต์เริ่มห่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุผลก็อย่างที่หลายคนชอบเอามาอ้างก็คือไม่มีเวลา และกลายเป็นว่าบางปีแทบไม่ได้โพสต์อะไรเลย แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมมักจะแทรกเขียนเข้ามาบ้างถ้ามีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตอนหลังต้องบอกว่าแทบปล่อยร้างเลย ปีหนึ่งเขียนแค่สองสามเรื่องก็ยังมี

ผมได้อ่านโพสต์จากอ.ธงชัยเรื่องอุปสรรคของการสร้างนิสัยใหม่ อ่านเสร็จก็เอามาวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมถึงทำให้สม่ำเสมอไม่ได้ ก็พบว่าผมมักจะอ้างว่าตัวเองเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว และการเขียนบล็อกหนึ่งบล็อกใช้เวลามาก คราวนี้ผมก็เลยถามตัวเองว่า ทำไมมันใช้เวลามาก ผมก็ได้คำตอบว่า เพราะตอนแรกผมพยายามเขียนในแบบกึ่ง ๆ แปลข่าว คือค่อนข้างจะเขียนละเอียด และข่าวที่เลือกมาส่วนใหญ่มันเป็นงานวิจัย ซึ่งในบางเรื่องพอลงไปลึก ๆ เราก็ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาเขียน อธิบายให้ทั้งตัวเองและคนอ่านได้เข้าใจด้วย ดังนั้นนอกจากจะใช้เวลามากแล้ว ยังเขียนได้น้อยเรื่องอีกด้วย คืออ่านมาหลายเรื่อง แต่เขียนได้ไม่กี่เรื่อง ก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่เป็นสรุปข่าว แล้วก็พยายามสรุปหลาย ๆ ข่าวมาเขียนในบล็อกเดียวกัน ก็ดีขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลามากอยู่ดี และสิ่งที่ทำไม่ได้คือความสม่ำเสมอ เพราะมักจะอ้างว่าต้องทำงานอื่นก่อน พอทำงานอื่นเสร็จก็เหนื่อยแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งเปลี่ยนแนวมาสรุปสั้น ๆ สั้นกว่าเดิมอีก แล้วโพสต์ลง Facebook กับ Twitter แต่ก็ยังขาดความสม่ำเสมออยู่ดี แล้วก็ยังติดโลภมากคือจะโพสต์ให้ได้วันละหลาย ๆ ข่าว

เมื่อวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ก็เลยตั้งใจว่าเอาเป็นสรุปข่าวแล้วโพสต์วันละข่าวพอ ทำทีละเล็กละน้อยดีกว่าไม่ทำ ผมก็เลยตั้งต้นทำจริง ๆ ทำตั้งแต่วันปีใหม่เลย โดยโพสต์ลง Facebook กับ Twitter วันละข่าวทำไปได้สองวัน ก็คิดว่าทำไมเราไม่เขียนลงบล็อกของเราไว้ด้วย แล้วค่อยแชร์ข่าวไป เพราะเราตั้งใจเขียนบล็อกแนวนี้อยู่แล้ว บล็อกจะได้มีความเคลื่อนไหว และเวลาจะค้นเรื่องที่สรุปไปแล้วก็ทำได้ง่ายด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเขียนสรุปข่าวในบล็อกก่อน แล้วค่อยแชร์ไป Facebook กับ Twitter ทำให้ได้ทำตามจุดประสงค์ของตัวเองที่ตั้งใจทำบล็อกแต่แรก

การทำให้สำเร็จก็ต้องมีการวางแผน ผมก็พยายามทำตามคำแนะนำของอ.ธงชัย ก็คือพยายามทำเวลาที่ยังสดชื่นอยู่ ผมมักจะใช้เวลาอ่านข่าวตอนเช้าอยู่แล้ว พออ่านแล้วก็เลือกว่าอันไหนน่าสนใจ แล้วก็ใช้เวลาสรุป และเขียนบล็อก โดยวางเวลาว่าจะใช้เวลาสรุปและเขียนไม่เกิน 15-20 นาที ต่อข่าว ถ้าวันไหนมีเวลามาก ก็จะเขียนเผื่อไว้หลายข่าว ทำเหมือนถ่ายสต็อกรายการทีวีเก็บไว้ ถ้าอันไหนเขียนไม่เสร็จมาต่อให้เสร็จตอนจะโพสต์ (ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอันไหนเขียนไม่เสร็จ อาจมีมาแก้มาเกลานิดหน่อยก่อนโพสต์) คือผมวางแผนโพสต์ตอนเย็นถึงค่ำ เพราะคิดว่าน่าจะมีคนอ่านช่วงนั้นมากกว่า 

ซึ่งตอนนี้ก็ทำมาแล้ว 22 วันติดกัน ถ้ารวมสองวันแรกที่ไม่ได้เขียนลงบล็อกด้วย ก็เป็น 24 วันติดกันแล้ว อุปสรรคก็มีอยู่บ้างคือบางวันเกือบลืม หรือบางวันมีธุระต้องกลับบ้านดึก ก็เกือบไม่ได้โพสต์ ดังนั้นต่อไปผมก็คงต้องวางแผนให้ดีขึ้น ถ้ารู้ว่าจะมีธุระก็คงโพสต์ไปก่อนเลย  ประโยชน์ของการสร้างนิสัยนี้ก็คือ ผมได้ทำกิจกรรมที่ผมชอบทำคือแบ่งปันความรู้ บล็อกผมได้มีความเคลื่อนไหวไม่ร้าง และที่สำคัญได้ฝึกทักษะในการย่อความสรุปความให้คนอ่านเข้าใจได้

ก็อยากเชิญชวนให้มาอ่านบล็อกผมกันนะครับ อ่านข่าวงานวิจัย ซึ่งบางเรื่องอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอาจจะใช้ได้จริงในอีกหลายปีถัดไป สำหรับคนที่เคยติดตามบล็อกผมไว้ และผมทิ้งบล็อกร้างไป ตอนนี้ผมกลับมาแล้วนะครับ :)

เมื่อสร้างนิสัยนี้ได้แล้ว ผมก็มีแผนจะสร้างนิสัยอื่นต่อไป เพราะอ.ธงชัยบอกให้ค่อย ๆ เริ่มไปทีละอย่างอย่าโลภมาก ถ้ามีนิสัยอื่นที่สร้างสำเร็จ และเอามาแบ่งปันกันได้อีกก็จะมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ