วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มุมมองเล็ก ๆ เกี่ยวกับการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมากครับ ย้อนไปดูว่าบล็อกล่าสุดก็เกือบครึ่งปีมาแล้ว จริง ๆ มันก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่อยากจะเขียนแต่ไม่มีเวลา พอจะว่างเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว แต่การรวมตัวกันค้านพรบ.นิรโทษกรรมนี้เป็นอะไรที่คงจะไม่เขียนไม่ได้

ก่อนอื่นผมดีใจมากที่ได้เห็นคนไทยแทบทุกหมู่เหล่าทุกกลุ่มออกมารวมพลังกันต่อต้านสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง คนผิดคนโกงจะต้องได้รับการลงโทษ และดีใจที่หลาย ๆ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองออกมาคัดค้านผ่านทางเครือข่ายสังคมบ้าง ประท้วงอยู่ในบริเวณที่ของตัวเอง ไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่นมากนัก ผมอยากให้กลุ่มเหล่านี้รักษาจุดยืนตรงนี้ไว้นะครับให้คิดว่าเราออกมาต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ออกมาเพราะเกลียดหรือมีอคติ และอย่าให้พวกนักการเมืองหรือพวกที่แสวงอำนาจมาหลอกล่อเอาพลังของพวกเราไปใช้เพื่อประโยชน์ของพวกคนเหล่านั้น และให้ชั่งใจให้ดีก่อนที่จะทำอะไรให้คิดว่ามันคุ้มที่จะทำไหม สิ่งที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน หรือยึดย่านธุรกิจ มันคุ้มกับสิ่งที่เราได้มาไหม ผมว่าเราคงไม่อยากจะเป็นเหมือนซีเรีย หรืออียิปต์ใช่ไหมครับ

เราคงเห็นแล้วว่าด้วยพลังของพวกเราที่แสดงออกมาก็มีผลทำให้ทางฝั่งที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ก็เริ่มที่จะถอยหลังแล้ว และฝากด้วยว่าก่อนจะลงคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้า ให้คิดถึงสิ่งที่พรรคที่มีเสียงข้างมากอยู่ตอนนี้ทำเอาไว้นะครับ ที่เขียนอย่างนี้นี่ไม่ได้หมายความว่าผมเชียร์พรรคเก่าแก่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่ตอนนี้นะครับ ผมว่าพรรคนี้ก็ไม่สามารถฝากความหวังอะไรได้ ตราบใดที่ยังคงคิดแต่จะเล่นการเมือง ตอดเล็กตอดน้อย เหน็บแนมเขาไปทั่ว และคิดแต่จะกลับมามีอำนาจ อย่างตอนนี้ก็ทำท่าว่าจะใช้กระแสตอนนี้หาประโยชน์เข้าตัวอีกแล้ว ผมเชียร์ให้คุณอลงกรณ์ปฎิรูปพรรคนี้สำเร็จ เปลี่ยนตัวผู้บริหารเอาคนที่มีคุณภาพอย่างคุณศุภชัย หรือคุณสุรินทร์มาทำงาน ถ้าทำได้ผมจะได้มีทางเลือก เลิกกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนซะที ชักนอกเรื่องแฮะดูสิการเมืองพาไปจริง ๆ กลับมาเรื่องพรบ.นี่ดีกว่า

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากให้คิดหลังจากที่เราได้ออกมาต่อต้านพรบ.นี้ก็คือ ขอให้เราดูตัวเราเองครับ ผมมองว่าสังคมจะดีได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน มันง่ายครับที่จะชี้หน้าด่าว่าคนอื่นเขาไม่ดี คดโกง เห็นแก่พวกพ้องแต่ลองมองตัวเองครับว่าตัวเราเองก็มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า อย่างคนเป็นครูบาอาจารย์ เราได้ทำหน้าที่ของเราเต็มที่หรือยัง เราสอนหนังสือให้ความรู้กับนักศึกษาเต็มที่ไหม เราเป็นนักเรียนเราตั้งใจเรียนเต็มที่ไหม เราลอกการบ้านลอกข้อสอบ ลอกผลงานวิชาการของคนอื่นมาเป็นของตัวเองไหม เราเป็นหัวหน้าคนเราให้รางวัลกับผลงานของลูกน้องเราอย่างยุติธรรมไหม หรือให้ผลงานแต่พวกตัวเอง ถ้าไม่ใช่พวกตัวเองต่อให้ทำงานให้ตายก็แทบไม่ได้อะไร เราไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่าโกงไม่จ่ายภาษี แต่ถ้าเป็นตัวเราเองถ้ามีช่องทางเราจะทำไหม

กลับมาวันนี้อาจจะหนักไปหน่อย แต่ก็ขอแสดงมุมมองเล็ก ๆ ของตัวเองสักหน่อยแล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สุดยอดแบตเตอรีกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ปัญหาหนึ่งของแบตเตอรีในปัจจุบันก็คือเรื่องความจุ ขนาดและเวลาในการชาร์จครับ แต่นักวิจัยจาก University of Illinoises บอกว่าได้คิดวิธีแก้ปัญหานี้ได้ครับ โดยใช้อิเลกโตรดแบบสามมิติ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างแบตเตอรีที่มีขนาดเล็ก ตามข่าวเรียกว่า microbattery หรือขนาดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้แต่มีพลังงานมากกว่าเดิม และยังชาร์จเร็วขึ้นหนึ่งพันเท่าด้วย แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกตอนนี้คือเรื่องความปลอดภัยครับนั่นก็คือเรื่องที่มันอาจระเบิดได้

ก็หวังว่านักวิจัยจะแก้ปัญหานี้ได้เร็ว ๆ นะครับ ปัญหาแบตมือถือหมดระหว่างวันจะได้หมดไป และเราอาจจะได้ใช้รถไฟฟ้าซึ่งชาร์จไฟได้ด้วยความรวดเร็วโดยใช้เวลาเท่า ๆ การเติมน้ำมันในปัจจุบันนี้

ที่มา: BBC News

เครื่องมือที่ช่วยป้องกันไม่ให้ข่าวสารผิดกระจายในอินเทอร์เน็ต

ในยุคที่เราใช้เครือข่ายสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาประการหนึ่งก็คือข้อมูลบางอย่างบางครั้งก็ผิดพลาด ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และข้อมูลเหล่านี้ก็มักจะถูกส่งกันต่อ ๆ ไปในเครือข่ายสังคมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความสับสน ดังนั้นนักวิจัยจาก Masdar Institute of Technology และ Qatar Computing Research Institute จึงได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะเปิดบริการเพื่อให้ผู้คนในเครือข่ายสังคมได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบริการดังกล่าวคือ verily ซึ่งจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ครับ แรงจูงใจที่จะให้ผู้คนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบข่าวสารก็คือ คนที่เข้ามาร่วมตรวจสอบจะได้แต้มครับ ใครได้แต้มมากก็มีชื่อเสียงมาก

ก็หวังว่าบริการนี้จะเปิดให้ใช้กันโดยเร็วนะครับ แต่ผมว่าพวกเราไม่ต้องรอก็ได้ครับ แค่คิดเสียหน่อยเมื่อได้รับข่าวอะไรมาว่ามันควรจะเป็นเรื่องจริงไหม หรือเช็คจากแหล่งข่าวหลาย ๆ แหล่ง อย่าใช้ความเชื่อหรืออคติในการส่งต่อข่าวสารแค่นี้ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวผิด ๆ หรือข่าวลือทั้งหลายได้ครับ

 ที่มา: MIT Technology Review


วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

NASA ใช้สมาร์ทโฟนเป็นดาวเทียม

องค์การ NASA ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศสามดวงครับ ซึ่งดาวเทียมเหล่านั้นมีชื่อว่า PhoneSat โดยดาวเทียมเหล่านี้จะอยู่ในวงโคจรประมาณสองสัปดาห์ ความน่าสนใจของดาวเทียมพวกนี้คือหัวใจการทำงานหลักของมันคือสมาร์ทโฟนครับ เหตุผลที่เขาเลือกสมาร์ทโฟนก็เพราะมันมีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าดาวเทียมเป็นร้อยเท่า มีหน่วยประมวลผลที่เร็ว มีตัวรับสัญญาณที่หลากหลาย มี GPS และมีกล้องที่มีความละเอียดสูงเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกซึ่งช่วยลดต้นทุนการสร้างดาวเทียมลงได้ โดย PhoneSat ตัวแรกหรือที่เรีกว่า PhoneSat 1.0 นั้นใช้ HTC Nexus One ส่วน PhoneSat 2.0 ใช้ Samsung Nexus S ครับ

ฟังดูแล้วก็รู้สึกทึ่งนะครับว่าสมาร์ทโฟนมีความสามารถจนสามารถใช้เป็นดาวเทียมขนาดเล็กได้ และรุ่นที่เขาใช้นี่ก็เป็นรุ่นที่เก่ามาปีสองปีแล้วนะครับ ดังนั้นในปัจจุบันใครที่ใช้มือถือรุ่นล่าสุดทั้งหลายนี่ก็ให้รู้ไว้นะครับว่าคุณใช้มือถือที่มีความสามารถสูงกว่าดาวเทียมเสียอีก ดังนั้นก็ใช้คุณลักษณะที่มือถือเตรียมไว้ให้เต็มที่นะครับ และก็คงทำให้หลายคนได้คิดนะครับว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมือถือรุ่นใหม่ที่ออกมาทุกตัวก็ได้ เพราะดาวเทียมเขายังใช้รุ่นเก่าอยู่เลย เรามาใช้มือถือเก่าของเราให้เต็มความสามารถกันก่อนดีกว่า

ที่มา: Information Week

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk