วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

NASA ใช้สมาร์ทโฟนเป็นดาวเทียม

องค์การ NASA ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศสามดวงครับ ซึ่งดาวเทียมเหล่านั้นมีชื่อว่า PhoneSat โดยดาวเทียมเหล่านี้จะอยู่ในวงโคจรประมาณสองสัปดาห์ ความน่าสนใจของดาวเทียมพวกนี้คือหัวใจการทำงานหลักของมันคือสมาร์ทโฟนครับ เหตุผลที่เขาเลือกสมาร์ทโฟนก็เพราะมันมีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าดาวเทียมเป็นร้อยเท่า มีหน่วยประมวลผลที่เร็ว มีตัวรับสัญญาณที่หลากหลาย มี GPS และมีกล้องที่มีความละเอียดสูงเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกซึ่งช่วยลดต้นทุนการสร้างดาวเทียมลงได้ โดย PhoneSat ตัวแรกหรือที่เรีกว่า PhoneSat 1.0 นั้นใช้ HTC Nexus One ส่วน PhoneSat 2.0 ใช้ Samsung Nexus S ครับ

ฟังดูแล้วก็รู้สึกทึ่งนะครับว่าสมาร์ทโฟนมีความสามารถจนสามารถใช้เป็นดาวเทียมขนาดเล็กได้ และรุ่นที่เขาใช้นี่ก็เป็นรุ่นที่เก่ามาปีสองปีแล้วนะครับ ดังนั้นในปัจจุบันใครที่ใช้มือถือรุ่นล่าสุดทั้งหลายนี่ก็ให้รู้ไว้นะครับว่าคุณใช้มือถือที่มีความสามารถสูงกว่าดาวเทียมเสียอีก ดังนั้นก็ใช้คุณลักษณะที่มือถือเตรียมไว้ให้เต็มที่นะครับ และก็คงทำให้หลายคนได้คิดนะครับว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมือถือรุ่นใหม่ที่ออกมาทุกตัวก็ได้ เพราะดาวเทียมเขายังใช้รุ่นเก่าอยู่เลย เรามาใช้มือถือเก่าของเราให้เต็มความสามารถกันก่อนดีกว่า

ที่มา: Information Week

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

การสำรวจเงินเดือนด้านไอทีประจำปี 2013 ในอเมริกา

สวัสดีครับ พอดีได้อ่านข่าวซึ่งรายงานการสำรวจงานด้านไอทีในอเมริกาว่าแต่ละด้านได้เงินเดือนเท่าไร ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลกันครับ ตามข่าวบอกว่าโดยภาพรวมแล้วงานด้านไอทีถือว่ามีรายได้ดีเลยครับ โดยพนักงานระดับปฏิบัติจะได้เงินโดยเฉลี่ยประมาณ $90, 000 ต่อปี ส่วนถ้าเป็นผู้จัดการจะได้ประมาณ $120,000 ต่อปีครับ  

แต่รายได้จะแตกต่างกันตามทักษะและประเภทของอุตสาหกรรมครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าถ้าใครทำด้านการรวมแอพพลิเคชันระดับเอนเทอร์ไพรส์ (business enterprise integration) จะได้เงินเดือนประมาณ $110,000 ถ้าทำด้านไอทีทั่ว ๆ ไป ก็จะได้ประมาณ $73,000 ส่วนงานด้านให้ความช่วยเหลือ (help desk) จะได้ประมาณ $55,000 จริง ๆ ผมว่างานด้านให้ความช่วยเหลือนี่หนักนะเพราะต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แล้วบางทีก็ต้องรองรับอารมณ์ด้วย (หรือเปล่า) น่าจะได้มากกว่านี้นะ

แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ฟิลด์ที่มีความพิเศษอย่างคลาวด์คอมพิวติง ความมั่นคงเว็บ (web security) และด้านโมบายล์ จะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $130,000 $118,000 และ $111,000 ตามลำดับ งานด้านการวิเคราะห์และธุรกิจอัจฉริยะ (analytic/business intelligence) จะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $93,000 สำหรับพนักงาน และ $132,000 สำหรับระดับผู้จัดการ แต่สำหรับงานด้านการวิเคราะห์นี้ก็จะมีความแตกต่างกันตามทักษะ แต่เขาบอกว่าฟิลด์นี้ต้องการคนที่มีพรสววรค์ด้านการวิเคราะห์/จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

จากข้อมูลนี้ผมมองว่ามหาวิทยาลัยก็คงจะต้องปรับหลักสูตรให้มีรายวิชาทางด้านที่มีความต้องการเป็นพิเศษนี้มากขึ้นตามความถนัดของมหาวิทยาลัย และก็หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังเรียนหรือกำลังจะเข้ามาเรียนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศว่าควรมุ่งไปทางไหน ส่วนคนที่ทำงานอยู่แล้วก็อาจจะหาเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านใดด้านหนึ่งที่กล่าวมาแล้วไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะถึงแม้ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลในอเมริกา แต่อเมริกาอาจผลิตบุคลากรมารองรับไม่ทันทั้งหมด ดังนั้นโอกาสที่งานพวกนี้จะถูกส่งออกมายังประเทศที่มีความพร้อมก็มีอยู่มาก ดังนั้นมาเตรียมตัวพวกเราให้พร้อมกันดีกว่าครับ...

ที่มา: Information Week

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Google ทำให้ผลการเลือกตั้งเอนเอียง?

ในขณะที่บ้านเราโทษโพลเรื่องการเลือกตั้ง ในอเมริกาเขาคิดว่า Google อาจมีส่วนครับ Google ตกเป็นประเด็นเพราะเป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลใหญ่ที่สุดในอเมริกา (หรืออาจจะในโลก) ตามข่าวบอกว่ามีคนที่คิดว่าผลการสืบค้นที่ได้จาก Google ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอาจมีผลกับผู้สมัครบางราย เขายกตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี George W. Bush ก็จะมีคำว่า ผู้แพ้ที่น่าสังเวช (miserable failure) ติดอยู่กับชื่อเวลาสืบค้น ซึ่งตรงนี้ใครที่ทำการตลาดบน Search Engine คงทราบนะครับว่ามันมีการปรับแต่งเพื่อหลอก Search Engine โดยคนที่รู้หลักได้ แต่ Google ก็บอกว่าได้แก้ปัญหาการทำแบบนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนสงสัยอยู่ดีว่าแล้วถ้ามันไม่ได้เกิดจากการทำจากคนนอกล่ะ แต่เป็นการทำจากภายใน เช่น Google อาจจะมีการปรับแต่งขั้นตอนวิธีการค้นหาเพื่อให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายใดก็ได้ เฮ้ออ่านแล้วก็รู้สึกว่าตอนนี้โลกเราซึ่งเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารนี่ชักอยู่ยากขึ้นทุกวันนะครับ ในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้คนหาข้อมูลข่าวสารก่อนตัดสินใจ แต่ในข่าวนี้มีคำหนึ่งที่สะดุดใจผมมากครับนั่นคือผู้ที่ชนะการเลือกตั้งมักจะได้มาจากคะแนนของผู้ลงคะแนนที่รับรู้ข่าวสารน้อย

ที่มา: Washington Post

โปรแกรมช่วยตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบ

สำหรับข่าวนี้คงเป็นข่าวดีสำหรับอาจารย์และอาจจะนักศึกษาด้วยนะครับ สำหรับงานนี้เป็นผลงานของ Edx ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นมาโดยมหาวิทยาลัย Harvard และ สถาบันเทคโนโลยี Massachusetts จุดประสงค์ขององค์กรนี้ก็คือให้การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ตามข่าวนี้องค์กรนี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็คืออาจารย์ไม่ต้องมาตรวจข้อสอบนักศึกษาแต่ละคนด้วยตนเอง และนักศึกษาก็สามารถรู้คะแนนของตัวเองได้ทันทีหลังจากสอบเสร็จไม่ต้องรอลุ้นเป็นอาทิตย์หรืออาจเป็นเดือน แต่ก็ยังมีคนค้านเหมือนกันนะครับว่ายังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้ว่าเครื่องจะตรวจได้ดีเท่ากับคน แต่ Ex เขื่อว่าระบบจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทาง Edx บอกว่าระบบนี้จะทำงานโดยใช้เทคนิคของ Machine Learning โดยเรียนรู้จากการตรวจข้อสอบของอาจารย์ที่เป็นคนจากการตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบจำนวนร้อยชุด 

ที่มา: The New York Times