วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

การเขียนบทคัดย่อ

เข้าสู่เทศกาลสอบ Senior Project กันแล้วนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องเขียนในเอกสารก็คือบทคัดย่อ แต่ปัญหาคือหลายคนไม่รู้ว่าในบทคัดย่อต้องเขียนอะไร แม้แต่ปริญญาโทบางคนก็อาจยังไม่รู้ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วที่ เว็บบอร์ดของ Computer Science KMITL วันนี้ขออนุญาตเอามาเล่าซ้ำให้ฟังอีกครั้งแล้วกันครับ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อย

เริ่มต้นจากบทคัดย่อคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทคัดย่อก็คือการสรุปงานวิจัยที่สมบูรณ์ในรูปแบบที่สั้นและกระชับ ความสำคัญของบทคัดย่อก็คือถ้าเราเขียนได้ดี ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจภาพรวมของงานวิจัยเราได้ และเขาอาจประเมินงานวิจัยของเราได้เลยว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องอ่านรายละเอียดของงานวิจัยเราทั้งหมด คนที่อยู่ในแวดวงวิจัยคงจะทราบดีนะครับว่า เวลาเราจะหาหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจ ในตอนแรกเราไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเอกสาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็คงต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ได้  ดังนั้นวิธีการที่เราใช้กันก็คืออ่านจากบทคัดย่อก่อน คัดกรองเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรา แล้วจึงจะอ่านในรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นบทคัดย่อที่ดีจึงเป็นประโยชน์กับวงการวิจัยมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการเขียนบทคัดย่อที่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและนักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาก็คือ  ผมและนักศึกษาได้รับเชิญให้เขียนบทความวิจัยลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเชิญคือเขาอ่านจากบทคัดย่อจากบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ (conference) แล้วคิดว่างานวิจัยดังกล่าวน่าสนใจ ขอให้เขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสาร ถึงตรงนี้ก็คงเห็นความสำคัญของการเขียนบทคัดย่อที่ดีกันบ้างแล้วนะครับ

คราวนี้ในบทคัดย่อควรมีอะไรบ้าง ผมขออ้างอิงจากเว็บของมหาวิทยาลัย Berkeley ดังนี้ครับ


  1. แรงจูงใจในการทำวิจัย/ความสำคัญของปัญหา ในส่วนนี้จะบอกว่าทำไมเราจึงสนใจปัญหานี้ มีประเด็นอะไรที่งานวิจัยของเราจะเข้าไปแก้ไข
  2. วิธีการในการวิจัย ในส่วนนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยของเรา เพื่อให้เห็นว่าเราได้ผลลัพธ์มาอย่างไร 
  3. ผลลัพธ์ ในส่วนนี้จะอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ โดยจะบอกว่าเราได้เรียนรู้ หรือได้พัฒนาอะไรขึ้นมา
  4. สรุป เป็นส่วนที่บอกว่างานที่ได้นั้นมีประโยชน์อย่างไร ประเด็นก็คือมันสามารถตอบคำถามในข้อ 1 ได้อย่างไร
คราวนี้มาลองดูตัวอย่างบทคัดย่อสักตัวอย่างหนึ่งนะครับเผื่อจะเห็นภาพมากขึ้น อันนี้มาจากปัญหาพิเศษล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาครับ

เป็นที่ยอมรับกันในวงการการศึกษาว่าการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งผลที่ได้จากกลไกนี้ก็คือผู้สอนสามารถที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้โดยง่าย ผู้เรียนจะได้เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและมองเห็นการพัฒนาของตนเอง ส่วนผู้ปกครองก็จะได้รับรู้ข้อมูลพัฒนาการของบุตรหลานและสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีระบบสารสนเทศที่เหมาะสม ปัญหาพิเศษนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบสารสนเทศการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเว็บแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในการพัฒนาระบบนี้ผู้พัฒนาได้ใช้โรงเรียน... เป็นกรณีศึกษา การทดสอบระบบทำโดยการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจำนวนสองห้อง ผลการทดสอบพบว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นและแสดงผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

คำเตือนสำหรับผู้ที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี

สวัสดีครับวันนี้ผมมีข้อแนะนำสำหรับคนที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษีของกรมสรรพากรเพื่่อช่วยคำนวณภาษีมาฝากครับหวังว่าคงไม่สายเกินไปนะ ก่อนอื่นสำหรับคนที่เพิ่งจะเคยเสียภาษีเป็นครั้งแรก หรือเพิ่งอยากจะลองยื่นภาษีออนไลน์ กรมสรรพากรเขาได้อำนวยความสะดวกด้วยการจัดเตรียมโปรแกรมช่วยคำนวณภาษีไว้ให้ โดยให้เราป้อนข้อมูลเงินได้ ค่าลดหย่อนต่าง ๆ ของเรา และโปรแกรมก็จะคำนวณภาษีให้ ที่ดีไปกว่านั้นก็คือเราสามารถจัดเก็บข้อมูลลงไฟล์ แล้วอั๊พโหลดขึ้นเว็บของกรมสรรพากรในกรณีที่เราต้องการจะยื่นแบบภาษีออนไลน์ได้เลย  โดยเราสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมได้จากเว็บนี้ครับ http://rdserver.rd.go.th/publish/page901_ty54.htm

ผมเพิ่งจะยื่นออนไลน์ไปเมื่อสักครู่นี้เองครับ จริง ๆ น่าจะยื่นได้ก่อนหน้านี้ตั้งนานแล้ว แต่โปรแกรมช่วยคำนวณนี้ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ครับ ทำให้ผมต้องนั่งกรอกข้อมูลซ้ำซากอยู่สามครั้งกว่าจะบันทึกข้อมูลได้ จำได้ว่าปีก่อนหน้าก็ไม่เคยเจอข้อผิดพลาดนี้นะครับ แต่ทำไมปีนี้เจอก็ไม่รู้ครับ  มาดูกันครับว่าข้อผิดพลาดที่ผมเจอคืออะไร สำหรับผมยื่นแบบ ภงด. 90 นะครับ สำหรับภงด. แบบนี้จะมีให้เรากรอกทั้งหมด 10 หน้า โปรแกรมนี้ก็จะให้เรากรอกจนถึงหน้่าสุดท้าย  (หน้าไหนไม่เกี่ยวกับเราก็ข้ามไปได้ครับ)  แล้วจึงจะสั่งจัดเก็บได้ ข้อผิดพลาดที่ผมเจอคือ เมื่อผมสั่งจัดเก็บโปรแกรมก็บอกว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แล้วก็หลุดออกไปครับ นั่นคือสิ่งที่ผมป้อนไว้ก่อนหน้าก็ลาโลกตามโปรแกรมไปด้วยเช่นกัน คราวนี้ปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งผมลองวิเคราะห์ดูน่าจะเกิดจากสาเหตุสองประการครับ เพราะครั้งที่สามที่ผมหลีกเลี่ยงสองประการดังกล่าวแล้วมันทำงานได้ครับ สองประการที่ว่ามีอะไรบ้าง

1. ห้ามเปิดไฟล์เก่าของปีที่แล้วมาแก้ โปรแกรมจะปล่อยให้คุณแก้ไปจนเสร็จก่อน แล้วพอสั่งจัดเก็บก็จะ  error แล้วก็หลุดออกไป (ทำไมถึงโหดร้ายได้ขนาดนี้ ถ้าชอบของสด ๆ ซิง ๆ ก็น่าจะบอกกันก่อน)
2. อย่าพยายามเปลี่ยนโฟลเดอร์ที่่โปรแกรมใช้จัดเก็บไฟล์ ถ้าพยายามทำอย่างนั้น โปรแกรมก็อาจจะ error และหลุดออกไปเช่นกัน (ขอโทษนะครับ ทีหลังผมจะเชื่อฟังครับ ไม่น่าโหดร้ายขนาดนี้เลย)

สุดท้ายมีอีกจุดหนึ่งที่ผมขอเตือนไว้ครับ เพราะปีที่แล้วโดนมากับตัวคือโดนให้จ่ายภาษีย้อนหลังเพราะสรรพากรบอกว่าผมคำนวณภาษีผิด (ผมใช้โปรแกรมคุณคำนวณนะ)  คือถ้าใครผ่อนบ้านอยู่ มันจะมีช่องให้คุณกรอกลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านที่คุณผ่อนอยู่ได้ ถ้าคุณมีภรรยา เวลาคุณกรอกดอกเบี้ยลงไปเท่าไหร่ก็ตาม มันจะเอายอดนั้นไปขึ้นที่ภรรยาคุณด้วย ซึ่งสรรพากรบอกว่าอย่างนี้ผิดนะครับ (โปรแกรมมันทำให้นะย้ำอีกรอบ) เพราะถือว่าคุณหักภาษีเกิน คุณต้องหารครึ่งยอดนั้่นด้วยตัวคุณเองแล้วค่อยกรอกลงไป (สุดยอดไหมล่ะครับท่านทั้งหลาย)

ก็มีคำเตือนอยู่เท่านี้ล่ะครับ ขอให้ทุกคนโชคดีกับการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีด้วยการเสียภาษีให้ประเทศชาตินะครับ





วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต้องจ้างเท่าไรให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี

เวลาผ่านไปเร็วมากเผลอแป๊บเดียวเดือนที่สามของปีกำลังจะผ่านไปแล้ว ที่ตั้งใจไว้วางแผนไว้ก็ยังไม่ได้ทำตามเป้าหมายสักเท่าไรเลยครับ เรื่องบล็อกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังทำไม่ได้ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่องแต่ตอนนี้ก็เว้นไปจะสามเดือนแล้วครับ เอาน่าคราวนี้ขอตั้งมาตั้งใจใหม่รับปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงแล้วกันครับ

สำหรับวันนี้้ผมอยากจะตั้งคำถามตามชื่อบทความวันนี้ให้คิดกันครับว่า จะต้องจ้างเราสักเท่าไรดีเพื่อให้เราหยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี ซึ่งคำถามนี้ผมได้มาจากการอ่านบทความชื่อ How Much Money Would It Take For You to Give Up The Internet For a Year?   ซึ่งผู้เขียนบทความได้นำผลสำรวจจาก Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งได้สอบถามคำถามนี้กับประชาชนในกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นดังนี้ครับ ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ $1,430 หรือประมาณ 44,330 บาท ถ้าแยกเป็นประเทศก็มีตัวอย่างดังนี้ครับ $323 ในตุรกี $1,215 ในแอฟริกาใต้ $1,287 ในบราซิล $4,453 ในฝรั่งเศส $3,450 ในอังกฤษ และ $2,500 ในสหรัฐอเมริกา

เห็นข้อมูลนี้แล้วคิดยังไงกันบ้างครับมากไปหรือน้อยไป สำหรับผมกับเจ้าของบทความคิดตรงกันครับว่ามันค่อนข้างจะน้อยเกินไป และที่น่าประหลาดใจก็คือที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ค่าเฉลี่ยต่ำมากครับคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 77,500 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามาจ้างผมเท่านี้ผมปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดเลยครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมผมถึงคิดว่ามันต่ำครับ ก่อนอื่นต้องแยกประเด็นก่อนนะครับว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่เป็นกรณีที่มีให้ใช้ คนอื่นใช้แต่เราไม่ได้ใช้ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีใช้นี่ผมอยู่ในยุคนั้นมาแล้ว ยุคที่การหาข้อมูลยังต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดเป็นหลัก ต้องสั่งหนังสือผ่านร้านหนังสือรอกันทีเป็นเดือน ยุคที่ต้องถ่ายเอกสารรูปจากหนังสือมาลงแผ่นใสเพื่อสอน ดังนั้นผมเชื่อว่าผมอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนอื่นเขาใช้และเราไม่ได้ใช้ผมคิดว่ามันทำให้เราเสียประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินชีวิตไปเลยนะครับ ในขณะที่คนอื่นเขาสามารถค้นข้อมูลที่ต้องการได้ภายในไม่กี่นาที สามารถสั่งอีบุ๊คมาอ่านได้ทันที สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามต้องการ เราต้องขับรถ ขึ้นรถไฟฟ้า ปั่นจักรยานหรือเดินไปห้องสมุด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากห้องสมุดก็อาจไม่ทันสมัย เราต้องรอหนังสือที่สั่งไปประมาณอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์  เราต้องติดต่อธุรกิจกับคนอื่นผ่านทางไปรษณีย์แบบด่วนทันใจ (ems) :) ซึ่งคงไม่ทันใจเท่าไรแล้วในยุคนี้ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ :(

ถ้าถามว่าเท่าไรถึงจะจ้างผมได้  ผมยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดครับแต่คิดว่าไม่น่าต่ำกว่าเจ็ดหลัก (มากไปเปล่าเพ่...) และมันขึ้นอยู่กับอีกคำถามหนึ่งซึ่งเจ้าของบทความเขาก็ถามทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "แล้วจะทำได้หรือ?" นั่นสิแล้วผมจะทำได้หรือ ผมจะทนพลาดดราม่าต่าง ๆ บน twitter และ facebook ได้ยังไงกัน!

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

การใช้รหัสผ่านล้าสมัยแล้ว

เราใช้รหัสผ่านเป็นพื้นฐานด้านความมั่นคงมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปัญหาของรหัสผ่านก็คือตัวผู้ใช้อาจตั้งรหัสผ่านที่เดาได้ง่าย หรืออาจใช้รหัสผ่านตัวเดียวกันกับเกือบทุกระบบตั้งแต่ Facebook ไปจนถึงระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน ถึงแม้จะมีงานวิจัยที่แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่มีความยาวตั้งแต่ 12 ตัวขึ้นไป และให้มีการผสมกันระหว่างตัวเลข อักขระ และอักขระพิเศษ แต่จะมีผู้ใช้สักกี่คนที่ทำตาม ยิ่งไปกว่านั้นต่อให้ผู้ใช้ทำตาม ก็ยังอาจจะถูกสารพัดวิธีที่รหัสผ่านอาจถูกขโมยไป เช่นถูกโทรจันมาแอบดักจับการกดแป้นพิมพ์ หรืออาจถูกหลอกไปเข้าเว็บ Phishing ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าน่าจะหมดยุคของการที่เราจะพึ่งพาความมั่นคงของระบบโดยใช้รหัสผ่านแล้ว ซึ่งวิธีการที่ดีกว่าก็อาจเป็นวิธีการที่บริษัทบัตรเครดิตใช้นั่นคือ การดูพฤติกรรมของผู้ใช้ โดยจะต้องมีระบบที่ติดตั้งเพื่อดูการใช้งานระบบของผู้ใช้ ถ้าผู้ใช้มีพฤติกรรมที่แปลก ๆ ไปจากเดิม เช่นส่งจดหมายเข้ารหัสไปยังที่อยู่ที่ดูไบ :) ก็น่าจะคิดได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่จะต้องป้องกันและมีการสอบสวน

ระบบนี้ถ้าใช้จริงผมว่าน่าจะต้องมีปัญหาเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวแน่ แต่ก็อย่างว่าแหละที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ผมว่าเราก็คงโดนเก็บพฤติกรรม หรือข้อมูลการใช้งานจากระบบต่าง ๆ ไปไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว และถ้าเรารู้เราก็โวยวายกันทีหนึ่ง เขาก็บอกว่าไม่เก็บแล้ว แต่จริง ๆ อาจแอบเก็บอีกก็ได้ ดังนั้นจะเก็บไปอีกสักหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอกมั๊ง หรือพวกเราว่ายังไงครับ ส่วนผมเป็นพวกมีพฤติกรรมแปรปรวนดังนั้นระบบนี้อาจมีปัญหากับผมก็ได้นะครับนี่ ...

ที่มา: TechRepublic

การรวมกันของ Linux กับ Android

เคอร์เนลรุ่นล่าสุดของ Linux คือ รุ่น 3.3 ได้รวมโค้ดของ Android เข้ามาด้วย ซึ่งการรวมกันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้พัฒนาโปรแกรมทั้งสองฝั่งที่จะพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายขึ้น โดยทางฝั่ง Google ก็จะได้ประโยชน์จากการที่ได้ใช้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในส่วนโค้ดหลักของ Linux ได้เร็วขึ้น และไม่ต้องกังวลกับการปรับโค้ดของตัวเองให้เข้ากับโค้ดหลัก ส่วนฝั่งที่พัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ Linux ก็จะสามารถใช้คุณสมบัติด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ง่ายโดยไม่ต้องไปค้นหาเอาจากส่วนที่เป็นโค้ดของ Google เหมือนแต่ก่อน

ก็น่าจะเป็นข่าวดีนะครับ ส่วนผมไม่ได้เป็นผู้พัฒนาอะไรที่ลึกซึ้ง เป็นแค่ผู้ใช้ที่รอวันที่จะสามารถเลือกติดตั้งระบบปฎิบัติการยี่ห้อต่าง ๆ ลงในมือถือของผมอย่างง่าย ๆ  เหมือนกับที่ติดตั้งระบบปฎิบัติการลงคอมพิวเตอร์อย่างทุกวันนี้ก็พอแล้ว

ที่มา : C-Net News