วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ช่วยตรวจจับมลพิษที่ซ่อนอยู่

Mingxun-Wang
ภาพจาก UC Riverside News โดย Jules Bernstein

ภาษาโปรแกรมที่สร้างโดย Mingxun Wang (ในภาพ) จาก University of California, Riverside ทำงานเหมือนเครื่องมือค้นหาข้อมูล mass spectrometry ช่วยให้นักวิจัยค้นหารูปแบบที่ปกติแล้วต้องใช้ทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นสูง 

Mass Query Language (MassQL) ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยระบุสารเคมีหน่วงการติดไฟ (flame retardant chemicals) ในแหล่งน้ำสาธารณะ 

Wang กล่าวว่า "เราต้องการให้นักเคมีและนักชีววิทยา สามารถขุดค้นข้อมูลของพวกเขาได้อย่างแม่นยำตามที่พวกเขาต้องการ โดยไม่ต้องเสียเวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการเรียนรู้การเขียนโค้ด"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UC Riverside News โดย Jules Bernstein

วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

บริษัทที่ทำให้เกิดการหยุดการบริการ IT ทั่วโลกจะลดการจ้างงานด้านเทคโนโลยีลงโดยอ้าง AI

global-it-outage
ภาพจาก The Guardian (U.K.) โดย Josh Taylor

บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ CrowdStrike ซึ่งการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ผิดพลาดของบริษัททำให้ระบบ Windows 8.5 ล้านเครื่องทั่วโลกล่มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กล่าวว่า ประสิทธิภาพของ AI จะส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงานของบริษัท 500 ตำแหน่งทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 5% ของพนักงานทั้งหมด 

CEO George Kurtz กล่าวว่า "เรากำลังดำเนินงานอยู่ในจุดเปลี่ยนทางการตลาดและเทคโนโลยี โดย AI กำลังปรับเปลี่ยนทุกอุตสาหกรรม เร่งภัยคุกคาม และพัฒนาความต้องการของลูกค้า"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian (U.K.) โดย Josh Taylor

เกมกับอาร์เซนอล เทรนต์โดนโห่ และนักเตะใหม่ของเรา

 #อาทิตย์ติดแอนฟิลด์วันนี้ ขอเริ่มด้วยเรื่องผลการแข่งขันกับอาร์เซนอลแล้วกันนะครับ ถึงแม้มันจะผ่านไปหนึ่งอาทิตย์แล้วก็ตาม สำหรับผมถึงแม้เกมจะไม่มีความหหมายอะไรแล้ว เพราะเราได้แชมป์แล้ว ผมก็ยังอยากให้เราเล่นกันดี ๆ นะครับ  แต่ปรากฏว่าทีมเราก็ยังเล่นกันไม่ค่อยดีนะครับ จริง ๆ ก็เข้าใจได้ว่าแรงจูงใจมันไม่มี แต่ก็อยากเห็นฟอร์มเดิม ๆ กลับมา เพราะเล่นกันไม่ค่อยดีมาตั้งแต่ก่อนจะได้แชมป์อย่างเป็นทางการแล้วนะครับ 


ตอนนำไป 2-0 ด้วยลูกสวนกลับ และต่อบอลกันสองสามจังหวะ ผมก็ดีใจนะ เพราะเอาจริง ๆ เกมก็ไม่ค่อยดี แต่มามีทีเด็ดด้วยลูกแบบนี้ แต่หลังจากนั้นเกมก็ค่อนข้างเป็นรอง ยิ่งครึ่งหลังยิ่งไปกันใหญ่ เกมรับกองหลังมีรอยรั่วถูกเจาะแทบตลอด ด้านซ้ายร็อบโบก็ไม่ได้อยู่ในฟอร์มที่ดีเหมือนเดิม (ผมภาวนาให้เขากลับมาในฟอร์มเดิมให้ได้นะ อยากให้อยู่กันไปนาน ๆ) ฟานไดค์กับโคนาเต้ ก็ดูไม่แน่นอนเหมือนตอนต้นฤดูกาล

 ด้านขวาแบรดลีย์ ยังต้องการการสะสมประสบการณ์  กองกลางโจนส์ ก็มีจุดอ่อนเรื่องการครองบอลนานเกินควร โซโบก็ขาด ๆ เกิน ๆ  เอเลียตก็ยังไม่สม่ำเสมอ กองหน้าคักโปก็ยังกลับมาฟอร์มเดิมไม่ได้ นูนเยส เชียร์ตลอดทุกครั้งที่เขาลงมา แต่เหมือนจะะเชียร์ไม่ขึ้น ดิอาซ บางวันดี บางวันเงียบ แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ ซาลาห์ฟอร์มไม่ดีมาหลายนัดแล้ว เค้นฟอร์มหน่อยยังมีลุ้นบัลลงดอร์ กับรองเท้าทองคำ คนเดียวที่ยังเห็นว่าน่าจะสม่ำเสมอที่สุดก็คือแม็คอัลลิสเตอร์ กับประตูของเราคือพ่อหมีเบคเคอร์ 

https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Darwin_N%C3%BA%C3%B1ez_and_Alexis_Mac_Allister_06042025_(1).jpg

สุดท้ายจบลงด้วย 2-2 ต้องบอกว่ายังดีที่ไม่แพ้ และถ้าอาร์เซนอลไม่เหลือ 10 คน ก็ไม่รู้จะจบยังไง คือตอนเขาเหลือ 10 คน เราก็พยายามกดนะ แต่เหมือนกดไม่อยู่อย่างที่ควรจะเป็น 

ในเกมนี้อาร์เน่ เปลี่ยนเทรนต์ลงมาแทนแบรดลีย์ และเทรนต์โดนโห่ ส่วนตัวค่อนข้างผิดหวังนะ ไม่คิดว่าจะเห็นเดอะคอปโห่ใส่นักเตะที่ยังใส่เสื้อทีมลงแข่งให้ทีม คือจะโกรธจะแค้นไม่ชอบใจอะไร เขาก็ยังลงเตะให้เราอยู่ แต่ถ้ามาในทีมฝั่งตรงข้ามจะโห่จะอะไรนี่ยังพอเข้าใจได้ 

กับเทรนต์ก็อย่างที่บอกไปในบทความที่แล้วว่า ก็ขอให้ได้เป็นตัวหลักกับมาดริด แต่ไม่ได้เชียร์ให้ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในระดับยุโรป เพราะมาดริดเป็นคู่แข่งเราในยุโรป การเชียร์เทรนต์ให้ประสบความสำเร็จในด้านรางวัล มันเท่ากับว่าเชียร์ให้มาดริดได้รางวัลด้วย แล้วมาดริดก็จะมีความสำเร็จเหนือเราเรื่อยไป แล้วก็เอาความสำเร็จนี้มาดึงนักเตะจากเราไปเรื่อย ๆ 

แต่ยังไงการโห่นักเตะที่ยังใส่เสื้อทีมเราลงเล่นให้เรานี่ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ ส่วนตัวต่อให้เป็นเอลฮัดจิ ดิยุฟ ที่เป็นนักเตะลิเวอร์พูลที่ตัวเองไม่ชอบที่สุดแล้ว แต่ถ้าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เขากลับมาใส่เสื้อลิเวอร์พูล ลงเตะให้ลิเวอร์พูล ก็เชียร์นะ

ในแง่ข่าวกับนักเตะใหม่ตอนนี้ที่น่าจะใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็นฟริมปง ในตำแหน่งแบ็คขวา ซึ่งก็อย่างที่บอกไป แบร็ดลีย์ยังน่าจะเป็นตัวหลักคนเดียวไม่ได้ ก็ต้องมีคนมาเป็นแบ็คอัพกันแทนกัน ซึ่งราคาของฟิมปรง น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่เรารับได้ อีกคนหนึ่งที่มีข่าวคือกองกลางเพลย์เมคเคอร์อย่าง ฟลอเรียน เวียร์ทซ์ แต่เท่าที่ข่าวลงคือราคาแพงมากแตะหลัก 150 ล้านยูโร ไม่คิดว่าน่าจะได้นะ 

ตำแหน่งที่ต้องเสริมอีกก็คือแบ็คซ้าย แต่รู้สึกว่าข่าวกับแบ็คซ้ายตอนนี้ เงียบ ๆ ไปนะ อีกตำแหน่งคือศูนย์หน้า เพราะทั้งโจต้า กับนูนเยส น่าจะไม่ไหว  โจต้าจะเล่นดีได้สักนัดสองนัด แล้วก็จะเจ็บยาว กลับมาก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าฟอร์มจะกลับมา แล้วพอเล่นดีก็จะเจ็บอีก วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนนูนเยสก็ไม่รู้เขาเป็นอะไรของเขา ลุ้นยังไงก็ลุ้นไม่ขึ้น 

สัปดาห์นี้ลิเวอร์พูลแข่งคืนวันจันทร์นะครับ ไปเยือนไบรจ์ตัน เซ็งจริง ๆ เพราะคิดว่านัดที่เหลือในฤดูกาลนี้จะแข่งวันอาทิตย์ทั้งหมด จะได้ดูได้ แข่งคืนวันจันทร์ ก็คือตีสองวันอังคารของเรา ด้วยสุขภาพตัวเองช่วงนี้ดูไม่ไหวจริง ๆ ก็ฝากเชียร์กันด้วยแล้วกันนะครับ ผมคงดูได้แค่ไฮไลต์ แล้วถ้าไม่ติดอะไรอาทิตย์หน้ามาคุยกันต่อครับ ขอให้ลิเวอร์พูลของเราชนะในสองนัดที่เหลือครับ 

ขอเพิ่มอีกนิดครับ ขอแสดงความยินดีกับคริสตัลพาเลซ ที่คว้าถ้วยเอฟอคัพประจำฤดูกาลนี้ไปได้ และเป็นแชมป์ถ้วยใหญ่ถ้วยแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรมา พาเลซจะเจอเราในแอนฟิลด์นัดปิดฤดูกาล และจะเป็นทีมแรกที่เจอเราในฤดูกาลหน้า ในศึกชาริตีชิลด์... 


วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

หูฟัง AI แปลเสียงจากลำโพงหลายตัวในครั้งเดียว

speakers
Photo by Sandy Kawadkar on Unsplash

ระบบหูฟังที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of Washington ใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อแปลเสียงพูดจากลำโพงหลายตัวพร้อมกัน 

ระบบ Spatial Speech Translation จะตรวจจับจำนวนลำโพงในพื้นที่โดยอัตโนมัติ และแปลคำพูดของพวกเขา โดยยังคงรักษาระดับเสียง และคุณสมบัติการแสดงออกของแต่ละเสียง นอกจากนี้ยังติดตามคุณภาพและทิศทางของเสียงเมื่อผู้พูดขยับศีรษะ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UW News โดย Stefan Milne

วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ความนิยมของ Python พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

rocket
ภาพจาก InfoWorld โดย Paul Krill

ดัชนี Tiobe ซึ่งวัดความนิยมของภาษาโปรแกรมประจำเดือนพฤษภาคม แสดงให้เห็นว่า Python อยู่ในอันดับแรกด้วยส่วนแบ่ง 25.35% ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดนับตั้งแต่ Java ได้รับในปี 2001 และนำหน้าภาษาที่ได้รับความนิยมอันดับสองอย่าง C++ ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ 

Paul Jansen ซีอีโอของ Tiobe กล่าวว่า "เหตุผลเดียวที่ภาษาอื่นๆ ยังคงมีเหตุผลในการดำรงอยู่คือประสิทธิภาพที่ต่ำของ Python และข้อเท็จจริงที่ว่ามันทำงานผ่านอินเทอร์พรีเตอร์ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาดที่ไม่คาดหมายขณะรัน"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: InfoWorld โดย Paul Krill


คุยกันเรื่องพรพรรณและลีกวอลเลย์บอลสหรัฐ

สวัสดีครับ #ศรัณย์วันศุกร์ สัปดาห์นี้มาคุยกันเรื่องสบายใจกันดีกว่านะครับ หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างเครียด อย่างที่หลาย ๆ คนทราบไปแล้วนะครับว่า พรพรรณ (ชมพู่) เกิดปราชญ์ ไปได้แชมป์ลีกวอลเลย์บอลสหรัฐ และได้รับตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ในรอบชิงแชมป์อีกด้วย โดยลีกที่พรพรรณไปเล่นด้วยมีขื่อว่า PVF (Pro Volleyball Federation)  และต้นสังกัดของเธอก็คือทีม Orlando Valkyries

การแข่งขันจบลงตั้งแต่เช้าวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568 ตามเวลาในประเทศไทยนะครับ และก็มีช่อง Youtube มามาย ตามติดนักกีฬาไทยที่ไปเล่นในลีกต่างประเทศ หรือตามกระแสก็มี ได้เล่นข่าวนี้ ชนิดว่าไล่ดูกันจนถึงวันนี้ก็ยังไม่จบเลยนะครับ เป็นความปลื้มใจและภูมิใจของคนไทยจริง ๆ ผมในฐานะแฟนคนหนึ่งของทีมนักวอลเลย์บอลสาวไทย ก็ดีใจและภูมิใจไปกับชมพู่ด้วย เรียกว่าตามดูหลาย ๆ ช่องเลย และช่องทีวีหลัก พอชมพู่ได้แชมป์แล้ว ได้ MVP แล้ว ถึงค่อยนำเสนอข่าว แล้วบางสื่อก็เอาข้อมูลจากช่อง Youtube นี่แหละไปนำเสนอ ซึ่งบางทีมันมีข้อมูลที่ผิดนะครับ ซึ่งอาจเกิดจากเจ้าของช่องไม่คุ้นกับอเมริกันเกมส์อย่าง NFL หรือ NBA และช่องหลักก็เอาตามนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองควรจะรู้ 

เอาจริง ๆ นักกีฬาเราแทบทุกคนที่ไปเล่นลีกต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จนะครับ อย่างพิมพิชญา (บีม) ก็ได้แชมป์ลีกเยอรมันกับทีม Schwerin อาจไม่ได้เป็นตัวหลักในรอบชิง แต่ในฤดูกาลปกติเธอก็ได้ MVP ประจำสัปดาห์อยู่หลายครั้ง ปิยนุช (ปลาวาฬ) ก็เล่นอยู่ในอีกลีกหนึ่งของอเมริกาคือ LOVB (League One Volley Ball) กับทีม LOVB Atlanta เป็นลิเบอร์โรที่อยู่ในท้อปเทนของลีก ทีมผ่านเข้ารอบชิงแชมป์เหมือนกัน เป็นทีมอันดับหนึ่งในรอบปกติด้วย แต่ไปพลาดในรอบชิงแชมป์นี่แหละครับ เลยไม่ได้แชมป์ งั้นเราอาจมีแชมป์ลีกอเมริกาสองคน ยังมีผู้เล่นที่่ไปเล่นที่เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็โชว์ฟอร์มกันได้ดี ได้รับคำชิ่นชม ชัชชุอร (บุ๋มบิ๋ม) ถึงแม้ไม่ได้แชมป์ลีก ก็ได้แชมป์ถ้วยจักพรรดิ์ 

ยังไม่เข้าเรื่องลีกอเมริกันเลยนะครับ แต่ขออีกนิดแล้วกัน คือเรื่องที่บอกว่ามีข้อมูลบางอย่างผิด คือตอนวันแรก ๆ ผิดจริง ๆ ครับ แต่ตอนนี้หลายช่องก็รู้แล้ว และแก้ไขกันแล้ว แต่ทีผิดมีอะไรบ้าง อันแรกก็คือ MVP ที่ชมพู่ได้ หลายช่องตอนแรกนำเสนอว่าเป็น MVP of the year และยังมีคอมเมนต์ประมาณว่าได้ยินกับหู MVP of the year งั้นมาลองฟังกันดูครับว่าชมพู่เป็น MVP อะไร 



นาทีที่ 12.40 นะครับ แต่ถ้าไม่อยากฟังผมจะสรุปให้ 

"and MVP of this year championship weekend, Chompoo"

มันมีคำว่า championship weekend ตามหลัง this year ด้วย ไม่ได้จบแค่ this year 

ถ้าแปลเป็นไทยก็จะได้ความประมาณว่า "และผู้เล่นทรงคุณค่าประจำสุดสัปดาห์ชิงแชมป์ของปีนี้ ชมพู่" 

บอกตามตรงนะครับ ผมดูซีนนี้หลายรอบมาก คือมันภูมิใจและดีใจไปกับเธอ คือเท่าที่ตามข่าวเธอเล่นได้โดดเด่นมาทั้งฤดูกาล มีแต่เสียงชื่นชมจากผู้บรรยายเกม และเพื่อน ๆ แต่เธอยังไม่ได้รางวัลส่วนตัวเลย ผู้เล่นประจำสัปดาห์ก็ไม่ได้ แต่เวลาโปรโมทแมทช์การแข่งขันก็เอารูปพรพรรณขึ้นปก แสดงว่าต้องเด่นนะ  แต่ทำไมไม่เลือกให้เป็นผู้เล่นประจำสัปดาห์บ้าง best setter ก็ไม่ได้ เพราะมีเซ็ตเตอร์จากทีมคู่ชิงทำสถิติต่อเซ็ตได้ดีกว่าในรอบการแข่งขันปกติ (ทั้งสองคนส่งลูกให้เพื่อนทำคะแนน เกิน 1000 ลูก) แต่สถิติพรพรรณเป็นอันดับสอง 

ผมเฝ้าถามตัวเองว่า เฮ้ยเล่นได้แบบนี้จะไม่ได้รางวัลส่วนตัวอะไรบ้างเลยหรือ จนมาได้รางวัล MVP นี่แหละครับ  และยิ่งฟินหนักขึ้นเวลาเพื่อนร่วมทีมร่วมกันตะโกน MVP MVP MVP... และตำแหน่ง MVP นี้ต้องบอกว่าตำแหน่งเซ็ตเตอร์นี่นาน ๆ จะได้สักทีนะครับ เพราะส่วนใหญ่ไม่ว่ากีฬาอะไรมักจะมุ่งไปที่คนทำแต้ม ดังนั้นเซ็ตเตอร์ที่ได้นี่คือต้องผลงานเด่นจริง ๆ ซึ่งพรพรรณก็เล่นได้ดีจริง ๆ 

ถ้าใครงงว่าแล้วทำไมมันสรุปไม่ได้หรือว่าเป็น MVP ของปีนี้ คือต้องบอกอย่างนี้ครับ ถ้าใครคุ้นกับอเมริกันเกมส์อย่างอเมริกันฟุตบอล NFL หรือบาสเก็ตบอล NBA นี่ เขาจะมีตำแหน่ง MVP อยู่สองตำแหน่งคือ MVP ในรอบการแข่งขันปกติ คือหลาย ๆ ทีมมาเจอกันเพื่อจัดอันดับ แล้วเอาทีมที่ได้อันดับตามกำหนดเข้าสู่รอบชิงแชมป์ ซึ่งในรอบนี้ก็จะมี MVP อีกหนึ่งตำแหน่ง 

สำหรับ MVP ในรอบการแข่งขันปกติปีนี้คนที่ได้คือ อเบอร์ครอมบี้เพื่อนซี้ของพรพรรณ ส่วน MVP ในรอบชิงแชมป์คือพรพรรณ ทั้งสองตำแหน่งเป็น MVP ประจำปี 2025 นี้ ดังนั้นถ้าเรียกว่า MVP ประจำปี 2025 มันจะเกิดความสับสนว่ามันเป็น MVP อะไรกันแน่ ซึ่งผมว่า Youtuber หลายคนที่ทำข่าวพรพรรณ อาจไม่รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ (ในช่วงแรกนะ ตอนนี้ทุกคนคงรู้หมดแล้ว) 

คราวนี้มาคุยกันเรื่องลีกวอลเลย์บอลในอเมริกากันครับ หลายคนคงทราบว่าทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติสหรัฐ เป็นทีมชั้นนำของโลก แต่ไม่น่าเชื่อนะครับว่าลีกอาชีพที่มีการแข่งขันใช้กติกาวอลเลย์บอลปกตินี่จะเพิ่งก่อตั้งขึ้น และมีสองลีกโดยลีกแรกคือ LOVB ซึ่งเพิ่งก่อตั้งในปี 2020 และลีกที่สองคือ PVF ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้เป็นปีที่สอง ซึ่ง LOVB ปีนี้มีปิยนุช แป้นน้อยได้เข้าไปเล่น อย่างที่บอกไปแล้ว ส่วน PVF ปีแรกมีนุศรา ต้อมคำ เซ็ตเตอร์ระดับตำนานของไทย เธอได้ best setter ในปีที่แล้วนะครับ และปีที่สองก็มีพรพรรณ และนุศรากลับมาเล่นในครึ่งหลังของฤดูกาลปกติ 

ส่วนอีกลีกหนึ่งซึ่งเป็นลีกที่มีกติกาการแข่งขันไม่เหมือนลีกทั่ว ๆ ไป คือ AU (Athelete Unlimited) Pro ลีกนี้ไม่ได้หาทีมที่เป็นแชมป์ แต่จะหาผู้เล่นที่เป็นแชมป์ หลัก ๆ คือจะเชิญนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่น 44 คน ให้เข้ามาร่วมลีก แล้วเข้ามาแข่งขันกันเก็บคะแนนสะสมส่วนตัว คะแนนก็จะได้มาจากทักษะส่วนตัวของนักกีฬา ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิดคะแนนเท่าไรนะครับ ถ้าใครสนใจกดูได้จากที่นี่เลยครับ โดยลีกนี้นุศราได้รับเชิญให้เข้าไปเล่นสองปีติดเลยนะครับคือ 2023 และ 2024 ส่วนปี 2025 นี้ ปิยนุช กับพรพรรณ ได้รับเชิญให้เข้าเล่นครับ   

ในปีหน้าตามข่าวจะมีลีกวอลเลย์บอลหญิงเกิดใหม่อีกหนึ่งลีกครับ คือ MLVB (Major League Volleyball) ซึ่งผู้ที่ก่อตั้งคือเจ้าของทีม Omaha Supernovas ทีมใน PVF ที่ได้อันดับหนึ่งในฤดูกาลปกติปีนี้ และเป็นแชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถ้าตามการสรุปของ Youtue ช่องนี้ Sport Thailand (ซึ่งเป็นช่องที่ผมชอบฟังมากในการแปลคำบรรยายของผู้บรรบายเกม) ในคลิปนี้ 




บอกว่าที่แยกไปตั้งลีกใหม่เพราะทะเลาะกับผู้บริหาร PVF (นาทีที่ 14.09) และในลีกนี้จะมีทีมถึง 10 ทีมเลยนะครับ ส่วน PVF จะมีทีมใหม่เข้ามาร่วมสองทีม 

จากที่เล่าให้ฟังลีกอาชีพที่มีการแข่งขันตามกฏิกาวอลเลย์บอลปกติในสหรัฐอเมริกา เพิ่งมีมาได้ 4 ปี ก็คือ LOVB ซึ่งทีมชาติสหรัฐส่วนใหญ่จะเล่นในลีกนี้ แล้วนักวอลเลย์บอลหญิงของสหรัฐก่อนหน้านี้ถ้าจะเล่นเป็นอาชีพไปเล่นกันที่ไหน จากคลิปด้านบน อเบอร์ครอมบีบอกว่า การมีลีกในประเทศมีข้อดีคือ นักกีฬาไม่ต้องไปเล่นต่างประเทศ (นาทีที่ 6.24 จากคลิป) นั่นแสดงว่าก่อนหน้านี้นักกีฬาหลายคนของอเมริกาเล่นอยู่ในลีกต่างประเทศนั่นเอง คิดดูนะครับว่าประเทศที่เพิ่งมีลีกอาชีพเป็นของตัวเองแต่กลับมีทีมชาติที่อยู่ในระดับโลกได้นี่ต้องขนาดไหน 

อีกคำสัมภาษณ์หนึ่งจากคลิปก็คือพิธีกรถามว่าพวกคุณเล่นวอลเลย์กันอย่างเดียว ไม่ต้องทำอาชีพอื่นก็อยู่กันได้เหรอ (สรุปความประมาณนี้นะครับ ไม่ได้เป๊ะ ๆ นาที่ที่ 9.30) ผมว่าคำถามนี้ตอนแรกก็ดูประหลาดดีกับประเทศที่มีกีฬาเป็นอาชีพอย่างอเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือเบสบอล แต่มาคิดอีกทีมันแสดงว่าวอลเลย์บอลไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นหลักในอเมริกา คนสัมภาษณ์อาจไม่คิดว่านักกีฬาจะได้เงินเยอะเหมือนกีฬาประเภทอื่น หรืออาจเป็นเพราะกว่าฤดูกาลหน้าของลีกจะเริ่มก็คือมกรา 2026 พิธีกรอาจคิดว่าแล้วเธอจะไม่ทำอะไรกันเลยหรือช่วงที่เหลือของปี พิธีกรอาจไม่รู้ว่าสำหรับวอลเลย์บอลช่วงนี้คือช่วงเวลาของทีมชาติ แต่ก็อีกนั่นแหละนะขนาดกีฬาไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศ ก็ยังมีทีมชาติที่อยู่ในระดับโลก

สรปก็คือปีหน้าวอลเลย์บอลหญิงอเมริกันจะมีลีกที่แข่งขันตามกติกาสากลอยู่สามลีกนะครับ LOVB, PVF. และ MLVB ดังนั้นนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยคนอื่น ๆ ที่โชว์ฟอร์มได้ดีในระดับนานาชาติปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น VNL หรือชิงแชมป์โลก อาจมีโอกาสที่จะได้เข้าไปร่วมเล่นในลีกเหล่านี้

ตื่นเต้นนะครับ VNL ใกล้เริ่มแล้ว เตรียมตัวเชียร์สาวไทยกันครับ แต่ข่าวร้ายคือปีนี้เราอาจไม่ได้ดูผ่านฟรีทีวีครับ :(







วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

Google ตกลงให้ทุนสร้างโรงงานนิวเคลียร์สามแห่ง

Google-Logo
ภาพจาก CNBC โดย Pippa Stevens

Google และ Elementl Power ผู้พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ได้ลงนามข้อตกลงเพื่อพัฒนาก่อสร้างโรงงานเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงสามแห่ง โดย Google จะให้เงินทุนสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา 

คาดว่าแต่ละแห่งเมื่อสร้างเสร็จ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 600 เมกะวัตต์ โดย Google จะมีสิทธิ์เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ สถานที่ตั้งที่ถูกนำเสนอของโรงงานทั้งสามแห่งยังไม่ได้รับการเปิดเผย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC โดย Pippa Stevens

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เหมือนคนระดับโลก

rovots-play-football
Photo by Chris Luengas on Unsplash

Jiang Guangzhi ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและสารสนเทศแห่งปักกิ่ง (Beijing Bureau of Economy and Information Technology) ประกาศเมื่อวันพุธ (7 พ.ค. 2025) ว่า ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เหมือนคน (humanoid) ระดับโลกในวันที่ 15-17 สิงหาคม โดยมีการแข่งขันต่างๆ เช่น ฟลอร์เอกเซอร์ไซส์ (floor exercise)  ฟุตบอล และการเต้นรำ 

Jiang กล่าวว่า "มีความท้าทายมากมายสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การอัปเกรดผลิตภัณฑ์ และการใช้งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระดับโลก และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างการวิจัย อุตสาหกรรม และผู้ใช้ทั่วไป"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: China Daily โดย Wang Songsong

บล็อกเชนคืออะไร? ต่างจากสกุลเงินคริปโทไหม? มาทำความเข้าใจพื้นฐานกัน

ผมได้สอนและบรรยายเกี่ยวกับบล็อกเชนมาตั้งแต่ปี 2559 (ไม่น่าเชื่อว่าจะเกือบสิบปีแล้ว!) ต้องบอกว่าหัวข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะเขียนมานานมาก แต่ก็ไม่ได้เริ่มสักที จนได้เห็นนักศึกษา หรือแม้แต่คนทั่วไป พูดถึงบล็อกเชนราวกับว่าเป็น "ของวิเศษ" ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง หรือบางทีก็สับสนว่าเป็นสิ่งเดียวกับ Bitcoin ไปเลย

ด้วยเหตุนี้ ในคอลัมน์ #พุธขุดบล็อกเชน ที่ผมตั้งใจจะเขียนต่อจากนี้ไป เราจะมาแกะรอยและทำความเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนในแง่มุมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ และสำหรับบทความแรกนี้ เรามาเริ่มกันที่พื้นฐานที่สุด: บล็อกเชนจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ และมันต่างจากสกุลเงินคริปโทที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ อย่างไร? ไปหาคำตอบพร้อมกันครับ!

บล็อกเชน: เริ่มต้นจาก Bitcoin แต่ไม่ใช่ Bitcoin

ถ้าพูดถึงบล็อกเชน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโท Cryptocurrency) ที่โด่งดังที่สุด และต้องยอมรับว่าบิตคอยน์นี่แหละครับคือ "แอปพลิเคชันแรก" ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของบล็อกเชนนั้นใช้งานได้จริง

นี่จึงเป็นที่มาของความสับสนที่ว่า บล็อกเชนกับบิตคอยน์คือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ ครับ!

ลองนึกภาพง่ายๆ แบบนี้ครับ:

  • บล็อกเชน คือ "เทคโนโลยีเบื้องหลัง" หรือ "แนวคิดของฐานข้อมูล" ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล
  • บิตคอยน์ หรือ อีเธอเรียม (Ethereum) (อีกหนึ่งสกุลเงินคริปโทที่นิยมรองจากบิตคอยน์) คือ "แอปพลิเคชัน" หรือ "แพลตฟอร์ม" ที่นำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ในการเก็บและจัดการข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เก็บส่วนใหญ่ก็คือ รายการธุรกรรม (Transaction) ต่างๆ เช่น การโอนเงินระหว่างผู้ใช้งาน

บล็อกเชนคืออะไรกันแน่?

จริงๆ แล้ว บล็อกเชนคือ แนวคิดการจัดเก็บข้อมูลประเภทหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็น "ฐานข้อมูลแบบพิเศษ" ก็ได้ครับ

เราอาจคุ้นเคยกับฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม เช่น ฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Database) ที่เก็บข้อมูลในรูปแบบตารางที่มีความสัมพันธ์กัน ดังรูป



แล้วบล็อกเชนล่ะ? 

แนวคิดสำคัญของบล็อกเชน คือ:

  1. ข้อมูลที่บันทึกลงไปแล้ว จะแก้ไขหรือลบไม่ได้ (Immutability): เหมือนกับการเขียนลงสมุดบัญชีที่ห้ามฉีกหรือแก้รายการ
  2. ข้อมูลชุดเดียวกันจะถูกเก็บกระจายกันไปบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่าย ไม่ได้เก็บไว้ที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว

ทำไมต้อง "แก้ไม่ได้" และต้อง "กระจาย"? 

บล็อกเชนเป็นรูปแบบหนึ่งของ เทคโนโลยีสมุดบัญชีแบบกระจาย (Distributed Ledger Technology - DLT) ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามีสองคำสำคัญคือ กระจาย (Distributed) และ สมุดบัญชี (Ledger)

  1. สมุดบัญชี (Ledger): ข้อมูลหลักที่เราบันทึกในสมุดบัญชีคือ รายการธุรกรรม (Transaction) ต่างๆ เช่น การโอนเงิน เหตุการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ "เกิดขึ้นไปแล้ว" และโดยธรรมชาติของรายการที่เกิดขึ้นไปแล้ว คือมัน ต้องแก้ไขไม่ได้ ครับ

    ลองนึกถึงการโอนเงิน ถ้าโอนผิดจำนวน เราไม่ได้ไปแก้รายการที่โอนผิด แต่เราจะทำรายการใหม่เพื่อโอนเงินคืน นี่คือหลักการเดียวกับข้อมูลในบล็อกเชน เมื่อบันทึกลงไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของประวัติทั้งหมด

  2. กระจาย (Distributed): ทำไมต้องกระจาย? ลองเปรียบเทียบกับการเก็บสมุดบัญชีไว้เล่มเดียว ถ้าเก็บไว้ที่ศูนย์กลาง เราต้องมอบความไว้วางใจให้ "ผู้ดูแล" คนนั้น หรือ "หน่วยงาน" นั้น ว่าจะไม่โกง ไม่แก้ไขข้อมูล และไม่ทำสมุดบัญชีหาย

    แนวคิดแบบกระจายคือ การคัดลอกสมุดบัญชีไปเก็บไว้หลายๆ เล่ม โดยให้คนหลายๆ คน หรือคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องช่วยกันดูแล การทำแบบนี้มีข้อดีคือ:

    • ลดความเสี่ยงเรื่องความน่าเชื่อถือ: ถ้ามีคนคิดจะโกง ก็ต้องไปแก้สมุดบัญชีของคนส่วนใหญ่ในเครือข่าย ซึ่งทำได้ยากมาก
    • เพิ่มความทนทาน: ถ้าสมุดบัญชีของบางคนหายหรือเสียหาย ก็ยังมีข้อมูลจากคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่

    แน่นอนว่าวิธีนี้ก็มีข้อแลกเปลี่ยน คือมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เพราะต้องดูแลสมุดบัญชีหลายชุด และต้องมีกลไกที่ทำให้แน่ใจว่าสมุดบัญชีทุกเล่ม "ตรงกัน" เสมอ

แล้ว "บล็อก" และ "เชน" มาจากไหน?

ในเมื่อ DLT บอกแค่ว่าเป็นสมุดบัญชีแบบกระจาย แต่ไม่ได้กำหนดรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน บล็อกเชนจึงเป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแบบเฉพาะของ DLT ที่เลือกโครงสร้างข้อมูลเป็นแบบ "บล็อก" (Block) ซึ่งแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมต่อกันเป็น "โซ่" (Chain) ดังรูป



โดยข้อมูลรายการธุรกรรมต่างๆ จะถูกรวมกลุ่มกันอยู่ในแต่ละบล็อก และแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมโยงกันด้วย "แฮชเข้ารหัส" (Cryptographic Hash) ซึ่งเปรียบเสมือน "ลายนิ้วมือดิจิทัล" ของบล็อกก่อนหน้า การเชื่อมโยงนี้ทำให้การแก้ไขข้อมูลในบล็อกใดบล็อกหนึ่งทำได้ยากมาก เพราะจะทำให้ "ลายนิ้วมือ" ของบล็อกนั้นเปลี่ยนไป และกระทบต่อบล็อกถัดไปในโซ่ทั้งหมด

ข้อมูลบล็อกเชนชุดนี้จะถูกเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่าย ที่เรียกว่า "โหนด" (Node) ซึ่งโหนดเหล่านี้จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หากมีใครพยายามแก้ไขข้อมูลในเครื่องตัวเอง ข้อมูลนั้นจะไม่ตรงกับข้อมูลส่วนใหญ่ในเครือข่าย และจะถูกปฏิเสธโดยระบบ

ยิ่งไปกว่านั้น การอัปเดตข้อมูลให้ทุกโหนดมีข้อมูลตรงกัน ทำได้โดย ไม่ต้องอาศัยศูนย์กลาง นี่คือหัวใจสำคัญของ "การกระจายอำนาจ" (Decentralization) ตราบใดที่ยังมีโหนดทำงานอยู่ ระบบบล็อกเชนก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่สามารถถูกสั่งปิดได้ง่ายๆ จากจุดเดียว

(รายละเอียดเรื่องแฮชเข้ารหัสและกลไกการทำงานอื่นๆ ในเชิงลึก ขอติดไว้ในบทความต่อๆ ไปนะครับ!)

บล็อกเชน ต่างจาก สกุลเงินคริปโท อย่างไร? (อีกมุมมอง)

ถ้ามองว่าบล็อกเชนคือแนวคิดของฐานข้อมูลแบบกระจาย แล้วสกุลเงินคริปโทอย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียมคืออะไร?

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าในแง่หนึ่งมันคือแอปพลิเคชันที่ใช้บล็อกเชน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับโลกของฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม:

  • บล็อกเชน คือ "แนวคิด" หรือ "โครงสร้าง" ของฐานข้อมูล (คล้ายกับแนวคิดของ Relational Database)
  • บิตคอยน์ และ อีเธอเรียม คือ "ระบบจัดการฐานข้อมูล" (Database Management System - DBMS) หรือ "โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล" ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานตามแนวคิดบล็อกเชน (คล้ายกับ MySQL, Oracle, SQL Server ในโลกของ Relational Database)

โปรแกรมอย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียมก็คือสิ่งที่นำแนวคิดบล็อกเชนมาพัฒนาต่อ โดยมีกลไกและกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกันไป (เช่น อีเธอเรียมมีการพัฒนาให้ซับซ้อนและรองรับการทำงานที่หลากหลายกว่าบิตคอยน์ในปัจจุบันมาก)

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ บิตคอยน์และอีเธอเรียมยังถือเป็น "แพลตฟอร์ม" ที่รองรับการพัฒนา แอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Application - DApp) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์กลาง การโอนเงินบนเครือข่ายเหล่านี้ก็เป็น DApp รูปแบบหนึ่ง แต่เรายังสามารถสร้าง DApp อื่นๆ ได้อีกมากมายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะบนอีเธอเรียม

บล็อกเชนไม่ใช่ "ของวิเศษ" มีข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่าบล็อกเชนมีคุณสมบัติเด่นๆ อย่างการไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ การกระจายอำนาจ และความทนทาน แต่ บล็อกเชนไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกปัญหา และไม่ใช่ว่าทุกข้อมูลจะต้องถูกเก็บบนบล็อกเชนหมด

ข้อจำกัดหลักๆ ของบล็อกเชนที่เราต้องพิจารณาคือ ค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนในการเก็บและจัดการข้อมูล ครับ

  • การเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน: ข้อมูลชุดเดียวกันต้องถูกคัดลอกไปเก็บหลายๆ ที่ ทำให้ใช้พื้นที่และทรัพยากรมากกว่าฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์
  • ความเร็วในการทำธุรกรรม: กระบวนการที่ต้องให้โหนดส่วนใหญ่ในเครือข่ายเห็นพ้องต้องกัน (Consensus Mechanism) ก่อนจะบันทึกข้อมูลลงบล็อกได้ ทำให้ความเร็วในการทำธุรกรรมโดยรวมช้ากว่าระบบแบบรวมศูนย์มาก (เช่น บิตคอยน์ใช้เวลาสร้าง 1 บล็อกประมาณ 10 นาที)
  • พลังงานและค่าธรรมเนียม: บางกลไกการเห็นพ้องต้องกัน (เช่น Proof-of-Work ที่ใช้ในบิตคอยน์)  ที่ทำให้ทุกโหนดเก็บข้อมูลเดียวกัน ใช้พลังงานมหาศาล และผู้ใช้มักต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ซึ่งบางครั้งอาจสูงมากโดยเฉพาะในเครือข่ายที่มีการใช้งานหนาแน่น

มีการพัฒนาโซลูชันต่างๆ เช่น เครือข่ายชั้นที่สอง (Layer 2 Network) (เช่น Lightning Network สำหรับ Bitcoin) เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมบนบล็อกเชนหลักทำได้เร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยความน่าเชื่อถือบางส่วน (จะลงรายละเอียดในอนาคตครับ)

ดังนั้น ก่อนจะนำบล็อกเชนมาใช้ ต้องถามตัวเองก่อนว่า:

  • เราต้องการคุณสมบัติ การกระจายอำนาจ และ การไม่สามารถแก้ไขข้อมูล จริงๆ หรือไม่?
  • ข้อมูลที่เราจะเก็บมีขนาดเล็กพอที่จะอยู่บนบล็อกเชนได้หรือไม่ (บล็อกเชนเหมาะกับบันทึกรายการธุรกรรม ไม่ใช่ไฟล์ขนาดใหญ่)?
  • เรายอมรับข้อแลกเปลี่ยนในเรื่อง ค่าใช้จ่ายและความเร็ว ได้หรือไม่?

บล็อกเชนเอาไปทำอะไรได้บ้าง (นอกจากคริปโท)?

แม้จะมีข้อจำกัด แต่คุณสมบัติเด่นของบล็อกเชนก็ทำให้มันมีประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น:

  • การเงินแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance - DeFi): การให้บริการทางการเงินที่ไม่ผ่านตัวกลาง เช่น การกู้ยืม การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์
  • การระดมทุน: การออกโทเคนเพื่อระดมทุนหรือแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ต่างๆ
  • การยืนยันความถูกต้อง (Verification/Provenance): ใช้ตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของหรือความแท้จริงของสิ่งของ/เอกสาร เช่น ประกาศนียบัตร, งานศิลปะ, สินค้าแบรนด์เนม
  • การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management): ติดตามแหล่งที่มาและประวัติของสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มความโปร่งใส
  • การดูแลสุขภาพ (Healthcare): การจัดการบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยและควบคุมการเข้าถึงได้
  • วิทยาศาสตร์ข้อมูลและ AI: ข้อมูลบนบล็อกเชนที่แก้ไขไม่ได้ สามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับการฝึกฝนโมเดล AI หรือการวิเคราะห์ข้อมูล

(ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เหล่านี้ จะนำมาเล่าให้ฟังในรายละเอียดในบทความต่อๆ ไปครับ!)

หวังว่าบทความแรกนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของบล็อกเชนได้ชัดเจนขึ้นนะครับ

สรุป:

  • บล็อกเชน คือ แนวคิดของฐานข้อมูลแบบกระจายประเภทหนึ่ง ที่เน้นการบันทึกข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขหรือลบได้ และไม่ต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการ
  • สกุลเงินคริปโท (เช่น Bitcoin, Ethereum) คือ แอปพลิเคชัน หรือ แพลตฟอร์ม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูลรายการธุรกรรม
  • บล็อกเชนมีจุดแข็งเรื่องความน่าเชื่อถือ การกระจายอำนาจ และความทนทาน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่อง ค่าใช้จ่าย ความเร็ว และขนาดข้อมูล ที่ต้องพิจารณาในการนำไปใช้

บล็อกเชนไม่ใช่ "ของวิเศษ" ที่จะมาแทนที่ทุกอย่าง แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกรณีที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษของมัน

แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าของคอลัมน์ #พุธขุดบล็อกเชน นะครับ!


วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สหรัฐฯ เตรียมยกเลิกและเปลี่ยนกฎเกณฑ์การส่งออกชิป AI ทั่วโลก

AI-Chip
ภาพจาก Reuters โดย Karen Freifeld และ Arsheeya Bajwa

ทำเนียบขาววางแผนที่จะยกเลิกและแก้ไขกฎที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งจะจำกัดการส่งออกชิป AI 

โฆษกหญิงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวันพุธ กฎระเบียบดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการส่งออกชิปและเทคโนโลยี AI ไปยังคู่แข่ง โดยแบ่งโลกออกเป็นชั้นตามความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ 

โฆษกหญิงของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ "ไม่ชอบระบบแบ่งชั้น" และกฎดังกล่าว "ไม่สามารถบังคับใช้ได้" เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า การถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดยังคงดำเนินต่อไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย Karen Freifeld และ Arsheeya Bajwa

วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

รถบรรทุกไร้คนขับเริ่มวิ่งบนถนนในเท็กซัส

Aurora-Driverless-Truck
ภาพจาก Axios โดย Joann Muller

บริษัทรถบรรทุกไร้คนขับ Aurora ได้เดินทางไปกลับแบบไร้คนขับครั้งแรกระหว่างดัลลัสและฮิวสตันเมื่อวันที่ 27 เมษายน โดยบรรทุกขนมอบแช่แข็งไว้ในรถพ่วง 

นี่เป็นผลมาจากการทดสอบเป็นเวลาสี่ปีโดยที่ยังมีคนนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ซึ่งระหว่างนั้น Aurora บันทึกระยะทางขับขี่อัตโนมัติได้ 3 ล้านไมล์ และขนส่งสินค้าให้ลูกค้ามากกว่า 10,000 เที่ยว 

ภายในสิ้นปีนี้ บริการไร้คนขับมีแผนที่จะขยายไปยังเอลปาโซและฟีนิกซ์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Axios โดย Joann Muller

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

การสมัครเรียนปริญญาด้าน AI ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 15%

College-Degree
ภาพจาก BCS-The Chartered Institute for IT

บริการรับสมัครนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (Universities and Colleges Admissions Service) พบว่ามีการสมัครเข้าศึกษาต่อด้าน AI ในมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 15% ในปีนี้ โดยมีการเพิ่มขึ้น 15% ในกลุ่มผู้หญิง และ 12% ในกลุ่มผู้ชาย 

อย่างไรก็ตาม การสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีแบบเต็มเวลาในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์กลับลดลง 10% แม้ว่าปริญญาด้าน AI จะเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของจำนวนใบสมัครในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ความต้องการโดยรวมยังคงสูงกว่าสำหรับวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และปริญญาด้านเกมคอมพิวเตอร์และแอนิเมชัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BCS-The Chartered Institute for IT


มุมมองเกี่ยวกับ TAA อาร์เตต้า แชมป์เปี้ยนลีกและยูโรป้าคัพนัดชิง

Anfield-Stadium
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Anfield_Stadium,_Liverpool_-_geograph.org.uk_-_5885062.jpg

บล็อกนี้เป็นบล็อกแรกที่ผมจะเขียนถึงลิเวอร์พูลในคอลัมน์ #อาทิตย์ติดแอนฟิลด์ ซึ่งจริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ต้นปีแล้วนะครับ แต่บังเอิญมาป่วยมาก ๆ ซะก่อน เลยไม่ได้เขียน  สำหรับคอลัมน์ #อาทิตย์ติดแอนฟิลด์นี้ ตามชื่อก็คือจะเป็นคอลัมน์เกี่ยวกับทีมที่ผมเชียร์มาสี่สิบกว่าเกือบจะห้าสิบปีก็คือลิเวอร์พูล และก็อาจจะมีกีฬาอื่น ๆ บ้าง เป็นการคุยกันวันอาทิตย์แบบสบาย ๆ ถ้าลิเวอร์พูลแข่งวันเสาร์ ก็จะเอาผลลัพธ์ เอารูปเกมมาพูดคุยกัน ถ้าลิเวอร์พูลแข่งวันอาทิตย์ ก็จะมาคาดการณ์ถึงผลการแข่งขันที่อาจจะเกิดขึ้น หรือบางสัปดาห์ก็อาจจะเอาข่าวที่น่าสนใจมาพูดคุยกัน

ก็ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ใช่นักข่าวกีฬา ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านแท็กติกฟุตบอลอะไร ดังนั้นก็จะเขียนในมุมมมองของแฟนบอลธรรมดาคนหนึ่ง และถ้ามีข่าวอะไรก็คงไม่ได้อัพเดตเท่ากับอินฟลูเอนเซอร์ด้านฟุตบอลที่มีอยู่มากมายนะครับ 

บล็อกแรกนี้ผมเขียนขึ้นหลังจากที่พวกเราก็รู้กันอยู่แล้วนะครับว่าลิเวอร์พูลคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษประจำฤดูกาล 2024-2025 ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนการจบฤดูกาลสี่นัด ก็แน่นอนครับว่าสร้างความยินดีให้กับเดอะคอปทั่วโลก และจะเป็นปีที่ได้ฉลองแชมป์แบบจริง ๆ จัง ๆ หลังจากที่การคว้าแชมป์ครั้งแรกในรอบ 30 ปีเมื่อฤดูกาล 2019-2020 มันเป็นช่วงโควิด ตอนนี้คนรู้จักของผมหลายคนก็ได้ออกเดินทางไปแอนฟิลด์กันแล้วครับ 

Trent-Alexander_Arnold
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Trent_Alexander_Arnold_2022_(2).jpg

กลับมาถึงหัวข้อหลักของเราในวันนี้นะครับ อย่างที่พวกเราคงทราบกันแล้วนะครับว่านักเตะที่เป็นกำลังหลัก เป็นนักเตะที่เป็น scouser นักเตะที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นยอดตำนานของสโมสรต่อไปต่อจากสตีเวน เจอร์ราด ก็คือ เทรนต์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ หรือ TAA ตัดสินใจที่จะไม่อยู่ต่อกับทีม โดยคาดว่าจะไปเป็นนักเตะของทีมราชันชุดขาว เรอัล มาดริด 

ซึ่งการตัดสินใจนี้ ก็คงต้องบอกว่าทำความเสียใจให้กับเดอะคอปส่วนใหญ่ และจากความเสียใจก็แตกออกเป็นหลากหลาย บางกลุ่มก็กลายเป็นความโกรธ สาปแช่ง เกลียดไปเลย บางกลุ่มก็เข้าใจ และเห็นว่า TAA เต็มที่กับเรามาแล้ว ถ้าจะไปหาความท้าทายใหม่ ก็ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ บางกลุ่มก็อยู่กลาง ๆ ไม่เกลียดแต่ก็ไม่เชียร์ 

สำหรับผมน่าจะอยู่ในกลุ่มกลาง ๆ นะครับ คือเราเชียร์ทีมมานาน ก็เห็นนักเตะเข้ามาแล้วย้ายออกไป เป็นเรื่องปกติ แต่สโมสรก็ยังคงอยู่ และเราก็เชียร์กันต่อไป แน่นอนนักเตะที่เป็นระดับไอคอน เป็นตำนาน เมื่อย้ายออกหรือเลิกเล่น มันก็มีผลกระทบทางจิตใจมากกว่า ยิ่งเป็นการย้ายของนักเตะที่จริง ๆ ควรเล่นอยู่กับเราจนเป็นตำนาน สร้างความสำเร็จไปด้วยกันย้ายออกไปก็มีความรู้สึกมากกว่าปกติ 

ถามว่าผมเข้าใจ TAA ไหม ก็ต้องบอกว่าทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจครับ ที่ว่าเข้าใจก็คือ คนเราเมื่ออยู่ที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่าถึงจุดอิ่มตัว และต้องการย้ายไปหาความท้าทายใหม่ ๆ ออกจากเซฟโซนของตัวเอง แต่ที่ไม่เข้าใจก็คือ ถ้าคิดว่าจะย้ายออกไปเพื่อไปอยู่สโมสรที่ดีกว่า มีโอกาสคว้ารางวัลส่วนตัวอย่างบัลลงดอร์มากกว่า อันนี้ผมไม่เข้าใจครับ 

ในฐานะแฟนบอลลิเวอร์พูล ผมไม่เคยคิดว่าจะมีสโมสรไหนดีกว่าลิเวอร์พูล ดังนั้น TAA ซึ่งเป็นคนที่เป็นทั้งแฟนบอลและเติบโตมากับสโมสร ถ้า TAA จะไปคิดว่ามีสโมสรไหนดีกว่าลิเวอร์พูลผมก็ไม่เข้าใจครับ 

ถ้าจะมองในแง่ความสำเร็จส่วนตัว ถ้าเป็นเมื่อสิบปีก่อนผมเข้าใจได้ครับ เพราะลิเวอร์พูลมีปัญหามาก ดังนั้นนักเตะเก่ง ๆ ที่ต้องการความสำเร็จในแง่ถ้วยรางวัล ก็เลือกย้ายออกไปถ้ามีข้อเสนอมาจากเรอัลมาดริด หรือบาร์เซโลนา แต่ตอนนี้ลิเวอร์พูลเป็นทีมที่คว้าถ้วยรางวัลได้เกือบทุกปี ดังนั้นถ้าต้องการความสำเร็จ มาอยู่คว้าความสำเร็จกับทีมที่รักไม่ดีกว่าหรือ

ในแง่รางวัลส่วนตัวอย่างบัลลงดอร์ ก็ไม่เห็นว่าถ้าอยู่กับลิเวอร์พูลแล้วจะคว้าไม่ได้ ที่ผ่านมาก็มีโอเว่น (ซึ่งบางคนอาจไม่อยากนับ) ที่ได้มาแล้ว และปีนี้ซาลาห์ก็มีโอกาสจะได้  และก็เหมือนเดิมการคว้ารางวัลกับทีมที่ตัวเองรักมันน่าจะฟินกว่า 

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการบริหารจัดการ และองค์ประกอบเบิ้องหลังของทีม ตอนนี้ลิเวอร์พูลก็ถือว่ามีการบริหารจัดการและทีมงานเบื้องหลังที่สุดยอดมาก อาจมีเรื่องการซื้อขายที่อาจขัดใจอยู่บ้าง (คือขัดใจแฟนบอลนะครับ แต่ทีมบริหารเขาอาจคิดดีแล้วก็ได้) ส่วนตัวคิดว่าดีกว่ามาดริดนะ

เรื่องนักเตะและความสามัคคีในทีม ผมก็คิดว่าทีมลิเวอร์พูลเราก็น่าจะดีกว่า เรื่องแฟนบอลนี่ไม่ต้องพูดถึง อย่างที่เขาพูดกัน แฟนบอลมาดริด อดทนต่ำ พร้อมจะด่านักเตะตัวเองได้เสมอ ถ้าไม่พอใจ และก็ไม่ค่อยให้เวลาในการปรับตัว เขาอาจคิดว่าเมื่อคุณเข้ามามาดริดคุณคือซุปตาร์ซึ่งไม่ต้องการเวลาปรับตัวใด ๆ อีกอย่างคือเรื่องเงิน ตามข่าวคือ TAA จะได้เงินน้อยกว่าที่ลิเวอร์พูลจะให้ 

ดังนั้นจากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าเป็นผมผมไม่ย้ายครับ แต่ TAA อาจคิดต่างออกไป ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจของเขาครับ 

ดังนั้นสิ่งที่ผมจะอวยพรให้กับ TAA คือ ขอให้เขาได้ลงเป็นตัวจริงเป็นตัวหลักของทีม ไม่ถูกดอง หรือกลายเป็นแค่ตัวเสริมของทีมที่มีแต่ซุปตาร์ แต่ถามว่าจะอวยพรให้สำเร็จได้ถ้วยรางวัลอะไรไหม ก็คงไม่ครับ เหตุผลคือผมไม่ได้ชอบมาดริดครับ และมาดริดก็เป็นคู่แข่งของเราในยูฟ่าแชมป์เปี้ยนลีก ดังนั้นถ้าเชียร์ให้ TAA ประสบความสำเร็จกับทีม ก็เท่ากับเชียร์ให้มาดริดประสบความสำเร็จ เขาก็จะมีความสำเร็จเหนือเราไปเรื่อย ๆ ซึ่งผมว่าแฟนลิเวอร์พูลเดนตายทั้งหลายก็คงไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น 

จบเรื่อง TAA ไปมาคุยเรื่องอาร์เตต้าหน่อย ผมขอย้ำนะครับว่าอาร์เตต้า ไม่ใช่อาร์เซนอล ถึงแม้อาร์เตต้าจะเป็นผู้จัดการทีมของอาร์เซนอลก็ตาม ก่อนอื่นผมต้องบอกว่า อาร์เซนอลทำผลงานได้ดีมากในยุคอาร์เตต้านะครับ การที่ได้รองแชมป์พรีเมียร์ลีกติดต่อกันสองสมัย มันแสดงถึงมาตรฐานที่ดีมากของทีม (ไม่ต่างจากที่เราขับเคี่ยวกับซิตี้มาหลาย ๆ ฤดูกาล) ยิ่งในฤดูกาลนี้ นักเตะเจ็บกันเพียบ ยังอยู่ที่สองตอนนี้ และเข้าถึงรอบรองแชมป์เปี้ยนลีก ซึ่งผลงานตรงนี้มันประจักษ์อยู่แล้ว 

Mikel-Arteta
ภาพจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Mikel_Arteta_2021_(cropped).png

ส่วนตัวผมนับถืออาร์เซนอล และอาร์เตต้าว่าเก่งจริง ๆ คือโค้ชจะเก่งไม่เก่ง ผมว่ามันวัดกันด้วยการแก้ปัญหาแบบนี้ด้วยนะครับ แต่อาร์เตต้าไม่รู้คิดอะไร ถึงไปให้สัมภาษณ์เหมือนคนแพ้ไม่เป็น ทั้งในลีกซึ่งยังแข่งไม่จบนะ บอกว่าลิเวอร์พูลได้แชมป์โดยมีแต้มน้อยกว่าอาร์เซนอลปีที่ไม่ได้แชมป์ ขอโทษนะอาร์เตต้า คุณได้ไม่ถึง 90 นะ ลีกก็ยังแข่งไม่จบ และมันมีปีที่ลิเวอร์พูลได้ 97 แล้วก็ไม่ได้แชมป์ด้วยนะคุณรู้หรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากแพ้ PSG ตกรอบรองแชมป์เปียนลีกส์ ยังบอกว่าทีมตัวเองดีที่สุดในสี่ทีมอีก จนถูกตอกกลับจากหลุยส์ เอนริเก้ โค้ช PSG

วันอาทิตย์คือวันนี้เราจะเปิดบ้านรับอาร์เซนอลด้วย ผมก็อยากกระตุ้นให้ทีมเราเอาจริงหน่อยนะ จริง ๆ สามนัดที่เหลืออยากให้ชนะให้หมด ทำแต้มให้ทะลุ 90 ไปเลยจะได้จบ ๆ กันไป อีกอย่างยังมีภารกิจเหลืออีกนะคือปั้นซาลาห์ให้คว้าบัลลงดอร์ปีนี้ 

ส่วนคู่ชิงแชมป์เปียนลีก ผมเชียร์ PSG นะ เพราะจะได้พูดว่าเราตกรอบเพราะทีมแชมป์ แต่อินเตอร์มิลานนี่ก็โชว์ฟอร์มได้ดีจริง ๆ สมควรเป็นแชมป์เหมือนกัน ส่วนถ้วยอันดับสองอย่างยูโรป้าลีกได้คู่ชิงเป็นทีมจากอังกฤษชิงกันเอง แต่เป็นทีมอันดับสิบห้าและสิบหกในลีกตอนนี้ คือแมนยูและสเปอร์ ซึ่งมันอาจแสดงให้เห็นได้ในส่วนนึงนะว่า พรีเมียร์ลีกอังกฤษแข็งแค่ไหน รอบรองนี่ทั้งสองทีมชนะขาดเลยนะ แต่ในอีกแง่หนึ่งทั้งสองทีมจริง ๆ เป็นทีมชั้นนำในพรีเมียร์ลีกนะ เพียงแต่ปีนี้ผลงานในลีกไม่ดี  

ส่วนคนที่ออกมาให้ความเห็นว่าแชมป์ยูโรป้าไม่ควรได้สิทธิเล่นแชมป์เปี้ยนลีก อันนี้เอาจริง ๆ ผมเห็นด้วยนะ ไม่รู้ว่ามันเริ่มมาจากปีไหน และยูฟ่าได้วิเคราะห์ไหมว่าทีมที่ได้เข้ามาจากการเป็นแชมป์ยูโรป้าไปได้ไกลแค่ไหน เอาง่าย ๆ อย่างเซบีญาจากสเปนที่ได้สิทธิมาจากการเป็นแชมป์ยูโรป้ามาตั้งหลายครั้งไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งถ้าวิเคราะห์จริง ๆ ก็จะเห็นได้ว่าไปได้ไม่ไกลเท่าไร

แต่กฎมันก็ต้องเป็นกฎดังนั้นถ้าถามว่าทีมใดทีมหนึ่งในสองทีมนี้ควรได้ไปไหม ก็ต้องบอกว่าสมควรเพราะเขาตามกฎทุกอย่าง  เขาชนะผ่านมาตลอด ไม่ได้จับฉลากเข้ามา เอาจริง ๆ แมนยูยังไม่แพ้ใครในถ้วยนี้เลยด้วยซ้ำ และทั้งแมนยูและสเปอร์จริง ๆ ก็เป็นทีมที่ได้ลุ้นโควต้าแชมป์เปี้ยนลีกแทบทุกปี แต่ก็น่าเห็นใจทีมอย่างฟอเรสต์ที่โชว์ฟอร์มได้ดีเกือบทั้งฤดูกาล แต่มาหลุดช่วงท้ายอาจไม่จบหนึ่งในห้า หรือสมมติอาร์เซนอลเจอสถานการณ์เลวร้ายสุด ถูกแซงในสามนัดสุดท้ายอดไป แล้วต้องมาดูทีมอันดับ 15 หรือ 16 ได้ไปก็คงแปลก ๆ เหมือนกัน 

แต่ถ้าถามว่าผมอยากให้ใครได้แชมป์ยูโรป้าลีก ผมคงไม่บอกตรง ๆ นะครับ แต่ผมเป็นหนึ่งในคนที่เชียร์ลิเวอร์พูลแบบเข้าเส้น ผมเชื่อว่าคนที่เป็นแฟนลิเวอร์พูลในระดับเดียวกับผมนี่ คงรู้ว่าผมเชียร์ใครนะครับ...

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เวลาที่ประหยัดจากการใช้ AI ชดเชยด้วยการสร้างงานใหม่

AI-Work-Interference
ภาพจาก Ars Technica โดย Benj Edwards

นักเศรษฐศาสตร์จาก University of Chicago และ University of Copenhagen ของเดนมาร์ก ได้ตรวจสอบผลกระทบของการนำ AI แชทบอทมาใช้ใน 11 อาชีพที่ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อระบบอัตโนมัติ เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยใช้ข้อมูลที่ครอบคลุมคนทำงงาน 25,000 คน และสถานที่ทำงาน 7,000 แห่งในปี 2023 และ 2024 

จากการศึกษาพบว่า เครื่องมือ AI ช่วยประหยัดเวลาให้กับผู้ใช้ 64% ถึง 90% แต่สร้างงานชนิดใหม่ขึ้นมา 8.4% การศึกษาดังกล่าวสรุปว่า "AI แชทบอทไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อรายได้หรือชั่วโมงการทำงานในอาชีพใด ๆ" ในช่วงเวลาที่ศึกษา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Benj Edwards

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

โหมดเป้าหมายช่วยให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียมีสมาธิ

purpose-mode-extension
ภาพจาก Carnegie Mellon University CyLab Security and Privacy Institute โดย Michael Cunningham

ส่วนขยายเบราว์เซอร์ Purpose Mode (โหมดเป้าหมาย) ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (CMU) ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะไม่ใช้งาน "รูปแบบการดึงดูดความสนใจที่เป็นอันตราย" บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น การเลื่อนแบบไม่สิ้นสุด หน้าเว็บที่รก วิดีโอเล่นอัตโนมัติ และสีสันที่ฉูดฉาด ซึ่งใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนด้านการรับรู้ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ใช้ 

ผู้ใช้ Purpose Mode สามารถแทนที่การเลื่อนแบบไม่สิ้นสุดด้วยปุ่ม "แสดงเพิ่มเติม" ปิดใช้งานการเล่นวิดีโออัตโนมัติ และลบเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องในแถบด้านข้าง 

Sauvik Das จาก CMU กล่าวว่า "มีหลายวิธีที่เราจะเดินหน้าต่อจากนี้ได้ รวมถึงการดำเนินการวัดผลในวงกว้างขึ้นเพื่อสนับสนุนหน่วยงานกำกับดูแล"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University CyLab Security and Privacy Institute โดย Michael Cunningham

เมื่อประชาชนไม่ได้อยู่ในสมการของผู้มีอำนาจ

ไม่ได้เขียนคอลัมน์ #ศรัณย์วันศุกร์ นี้มานานมาก จริง ๆ ตั้งใจว่าถ้ากลับมาเขียนก็จะเขียนเรื่องเบา ๆ สบาย ๆ แต่วันนี้ขอเขียนหน่อยเรื่องหนัก ๆ หน่อยแล้วกันครับ เพราะรู้สึกหงุดหงิดกับความคิดของผู้คนที่บริหารบ้านเมืองอยู่ในช่วงนี้ ในสถานการณ์ที่ประเทศเรากำลังเผชิญปัญหาสารพัดด้าน ความคิดคำพูดของคนหลายคนที่เห็น ๆ ตามสื่อ เหมือนไม่ได้ตระหนักอะไรเลย  

ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ซึ่งก็แย่อยู่แล้ว และยังมีปัญหาเรื่องนโยบายของทรัมป์เข้ามาอีก สิ่งที่ผู้บริหารควรทำนอกจากจะบอกให้ประชาชนประหยัด ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นแล้ว ตัวเองก็ควรทำเป็นตัวอย่างด้วย ประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อนำมาสำรองไว้แก้ปัญหาที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง ถ้าจะใช้เงินลงทุนทำอะไร สิ่งที่ได้กลับมามันก็ควรคุ้มค่า แต่กลับไม่ทำกัน 

building-collapse

ภาพโดย Supanut Arunoprayote


เริ่มจาก สตง.  ซึ่งตึกใหม่ของตัวเองถล่มมาเนื่องจากแผ่นดินไหวที่พม่า ทำสถิติเป็นตึกเดียวในโลกที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหวมากที่สุดที่ถล่ม และหลังจากตึกถล่มเราก็ได้รู้เห็นอะไรต่าง ๆ มากมายที่จริง เราก็อาจจะรู้กันอยู่ แต่เราอาจไม่คิดว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระ ที่ควรจะช่วยตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศจะเละเทะได้ขนาดนี้ เมื่อตึกถล่มผู้บริหารก็ออกมาพูดถึงแต่องค์กรตัวเอง พยายามปัดความรับผิดชอบอะไรอะไรก็ไม่รู้ไม่เห็นทั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่เวลาไปตรวจชาวบ้านเขา ก็มักจะบอกว่าคุณจะไม่รู้ไม่ได้ ครูที่ไม่เคยทำการเงินแต่ต้องมาทำเพราะระบบห่วย ๆ ของประเทศเรา ก็ไปไล่บี้เขาต่าง ๆ นานา แต่ผมจะไม่พูดถึงประเด็นตรวจสอบเรื่องตึกถล่มนี่แล้วกันนะ แต่แค่อยากบอกว่า ถ้าเป็นประเทศที่ผู้บริหารของเขามีความรับผิดชอบ คงออกมาขอโทษที่ตรวจสอบไม่ดี ตั้งชุดทำงานขึ้นมาจัดเตรียมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตึกนี่ตั้งแต่แรกเลย เพื่ออำนวยความสะดวกกับหน่วยงานที่จะต้องใช้ตรวจสอบ เพราะตัวเองมีเอกสารทุกอย่าง ออกมาแถลงให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ ในส่วนที่ไม่ทำให้เสียรูปคดี อย่างน้อยคน องค์กร และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างตึกนี้มีใครบ้าง เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรตอนไหน สาธารณะชนก็ควรได้รับรู้ ตั้งงบประมาณสำหรับเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ลาออกไปด้วยเมื่อทำทุกอย่างที่จำเป็นเรียบร้อย

chair-spec-90000-bahts-price
ภาพจาก https://www.sanook.com/news/9771778/

แต่สิ่งที่ตามมาที่น่าอนาถและผมอยากจะพูดถึงไปอีกก็คือ งบประมาณในการตกแต่ง เก้าอี้ผู้บริหารตัวละเก้าหมื่น ฝักบัวอาบน้ำหมื่นกว่าบาท พรมปูพื้นแสนบาท  อะไรแบบนี้ มันเกิดขึ้นกับหน่วยงานที่ควรเป็นต้นแบบของการใช้เงินได้อย่างไร และผู้บริหารก็ออกมาพูดเหมือนมันเป็นเรื่องปกติ และยังบอกว่าถ้าคิดว่ามันหรูไป เดี๋ยวตึกใหม่ที่จะสร้างไม่เอาหรูก็ได้ ยังคิดที่จะสร้างใหม่ ทั้งที่ของเก่ายังหาสาเหตุไม่เจอเลยว่ามันเพราะอะไรและมีการประชดประชันด้วย และบางคนยังบอกว่าเข้าใจผิดหรือเปล่าไอ้ตัวเก้าหมื่นมันแค่ของผู้บริหาร ตัวที่เหลือก็ตัวละหมื่นเอง คือไม่ได้เข้าใจหรือแกล้งไม่เข้าใจประเด็นก็ไม่รู้ คือที่เขาสงสัยก็คือทำไมผู้บริหารต้องนั่งเก้าอี้ตัวละเก้าหมื่น นั่งแล้วมันทำให้ทำงานได้คุ้มค่ามากขึ้นหรือ ส่วนเก้าอี้ทำงานตัวละเป็นหมื่นก็ดูแพงอยู่เหมือนกันนะเอาจริง ๆ 

ถัดมาก็กสทช. ซึ่งก็สร้างตึกใหม่ราคาสองพันกว่าล้านเหมือนกัน และเท่าที่ตามข่าวก็น่าจะหรูหราหมาเห่าไม่แพ้กัน นี่คือองค์กรอิสระ ซึ่งตอนนี้ประชาชนเขาเริ่มสงสัยว่ามันอิสระจากอะไร อิสระจากประชาชนใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่เงินที่ใช้ก็มาจากเงินภาษี

Sappaya-Sapasathan
ภาพโดย Supanut Arunoprayote

 ถัดมาก็สภา อันนี้เป็นคนที่ประชาชนเลือกเข้ามาด้วยซ้ำ แต่ก็ทำอะไรก็ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการเช่นกัน จะของบมาปรับปรุงรัฐสภานู่นนี่ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตึกใหม่ตัวเองเพิ่งสร้างเสร็จ และตรวจรับกันไปเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว จะของบปรับปรุงเป็นพันล้านอีกแล้ว ใช้กันยังไม่ทันคุ้มค่าเลย ปัญหาต่าง ๆ ที่เจอตอนเปิดใช้งาน ไปไล่เบี้ยคนสร้างให้รับผิดชอบได้หมดหรือยัง คนธรรมดาสร้างบ้านหลังนึงอยู่กันทั้งชีวิต อยู่กันไปเป็นสิบ ๆ ปี ถึงจะขยับขยายซ่อมแซมต่อเติมกันสักครั้งนึง ซึ่งเขาจะทำก็เพราะจำเป็นจริง ๆ อย่างโครงสร้างหรือวัสดุมันเสื่อมสภาพ หรือครอบครัวขยายมีจำนวนคนเยอะขึ้น ซึ่งแบบนี้อาจเป็นเพราะประชาชนหาเงินเอง รู้ว่าเงินมันหายาก ดังนั้นจะใช้เงินก็ต้องคิดแล้วคิดอีกว่ามันจำเป็น แต่พวกท่านทั้งหลายจะทำอะไรไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเอง ก็เลยไม่ต้องคิดอะไร  

ฟังเหตุผลแล้วก็ถามตัวเองว่านี่มันอะไรกัน บอกว่าตึกที่สร้างนี่มันยังมีฟังก์ชันไม่ครบ เช่นมีห้องขนาด 1,500 ที่นั่งสร้างไว้ แต่ยังใช้ไม่ได้ เพราะไม่มีระบบเครื่องเสียง ต้องทำเพราะไม่งั้นห้องจะทิ้งร้างไว้เฉย ๆ งบสร้างนี่มันหมื่นกว่าล้านนะ ยังไม่พอที่จะทำให้ทุกอย่างมันฟังก์ชันได้อีกหรือ ศาลาแก้วที่สร้างแล้วไม่ได้ใช้เพราะมันร้อน ก็จะของบติดแอร์ จะย้ายห้องสมุดจากขั้นแปดขั้นเก้าโดยถมสระเพื่อมาสร้างห้องสมุด โดยบอกว่าสระน้ำเน่า และอ้างว่าห้องสมุดอยู่ตรงนี้จะได้ให้ประชาชนมาใช้ ก็คือสิ่งที่ออกแบบสร้างมามันไม่ฟังก์ชันใช่ไหม งบหมื่นกว่าล้านนะ และที่ตามไปอ่านข่าวมา บอกว่างบนี้รวมทุกอย่างแล้วนะ คือรวมระบบต่าง ๆ เรียบร้อย

ที่น่าเศร้าคือคนที่เขาออกแบบเขาออกมาค้านแล้ว เขาอธิบายว่าสระมันมีระบบเหมือนสระว่ายน้ำ คือถ้าดูแลรักษาตามปกติน้ำไม่มีทางเน่า ส่วนเรื่องน้ำซึมน้ำรั่วก็ไปไล่เอากับคนสร้างซิว่าทำยังไงมันถึงรั่ว แล้วสระนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยระบายความร้อนด้วย ถ้าถมต้องติดแอร์กันมหัศจรรย์เลย (แต่เขาไม่ได้พูดถึงศาลาแก้วนะ ตามข่าว อันนี้อยากรู้จริง ๆ ว่ามีประโยชน์อะไร และทำไมถึงออกแบบแบบนั้น) นั่นคือคิดจะทำอะไรกัน ไม่มีการศึกษาหาข้อมูลเลย จะใช้เงินที่ไม่ใช่เงินตัวเองอย่างเดียว แล้วยังมาบอกอีกว่ารับรองว่าไม่มีการโกง เฮอะอมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ แต่ประเด็นมันยังไม่ได้อยู่ที่โกง คำถามคือจะทำทำไมก่อน จำเป็นต้องทำตอนนี้ไหม 

สรุปการพูดจาการกระทำของคนที่มีอำนาจในการบริหารประเทศในตอนนี้ ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็น สส. สว. หรือองค์กรอิสระอย่าง กสทช. และ สตง. คือประชาชนไม่อยู่ในสมการ มองประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ต้องหรูหรา สมตำแหน่ง ต้องใช้เงิน คำถามคือถ้าเป็นเงินพวกคุณเอง คุณจะจ่ายไหม คือจริง ๆ ไม่ได้เหมารวมว่าทุกคนคิดแบบนี้นะ เพราะก็มีกลุ่มสส. สว. ที่ค้านแล้ว แต่องค์กรอิสระนี่เงียบกริบ 

เฮ้อ วันศุกร์แบบนี้ ควรจะพูดกันเรื่องสบาย ๆ นะครับ ซึ่งคอลัมน์ของผมที่ไม่ได้เขียนมานานจริง ๆ ก็ตั้งใจอยากจะเล่าเรื่องที่มันสบาย ๆ หรือมาฟังเพลงกัน แต่วันนี้ขอระบายสักครั้งแล้วกันครับ เพราะเหลือจะทนกับคนพวกนี้จริง ๆ ขอให้ทุกคนมีพลังที่จะพาตัวเองผ่านสถานการณ์ช่วงนี้กันได้นะครับ  

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

อุปกรณ์ Apple Airplay ที่สามารถใช้งานผ่าน Wi-Fi อาจถูกแฮ็กได้

airplay-malware
ภาพจาก Ars Technica โดย Lily Hay Newman และ Andy Greenberg

นักวิจัยจาก Oligo บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอิสราเอล ได้ระบุช่องโหว่จำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ที่เปิดใช้งานโดยโปรโตคอล AirPlay ที่ใช้คลื่นวิทยุของ Apple สำหรับการสื่อสารไร้สายในพื้นที่ใกล้กัน 

ช่องโหว่เหล่านี้ซึ่งมีชื่อว่า AirBorne อยู่ในชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ AirPlay ที่อุปกรณ์ของบริษัทอื่นใช้ อาจทำให้แฮ็กเกอร์สามารถควบคุมลำโพง เครื่องรับ กล่องรับสัญญาณ และสมาร์ททีวีบนเครือข่าย Wi-Fi เดียวกันกับแฮ็กเกอร์ได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Lily Hay Newman และ Andy Greenberg

เมื่อโค้ชบาสเกตบอลกลายมาเป็นครูสอนเขียนโค้ด: AI กำลังเปลี่ยนอนาคตของการศึกษา


Andrew-Ng
Andrew Ng (คนซ้ายมือสุด) 
ภาพโดย Steve Jurvetson, แหล่งที่มา: Wikimedia Commons (ลิงก์ต้นฉบับ), ใช้ภายใต้สัญญาอนุญาต CC BY 2.0

#พฤหัสจัดAI วันนี้ ขอสรุปบทความที่เขียนโดย Andrew Ng ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก โดยเขาได้ repost บทความของเขาเองใน LinkedIn ซึ่งผมเป็นหนึ่งในผู้ติดตามของเขา ก็เลยได้เห็น โดยบทความของเขานั้นสามารถเข้าอ่านได้ที่นี่ The Batch, Issue 299 ครับ ซึ่งถ้าใครต้องการอ่านฉบับเต็มก็เข้าไปอ่านได้เลยครับ แต่ถ้าใครอยากอ่านฉบับย่อที่ผมสรุปมาก่อนก็เชิญต่อได้เลยครับ 

เขาเริ่มต้นด้วยการบอกว่าเขาคาดหวังว่าเราควรส่งเสริมให้ทุกคนสามารถสร้างนวัตกรรมด้วย AI โดยควรเริ่มสอนการเขียนโค้ดที่ใช้ AI ตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่ระดับ K-12 (ถ้าเทียบกับประเทศเราก็คือตั้งแต่ป.1 ถึง ม.6)  เพื่อปูทางให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ

แต่ความท้าทายคือ “การขาดแคลนครูสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างยิ่งยวด” 

ขอเสริมนิดนะครับ อันนี้คงไม่ใช่แค่ในอเมริกานะครับ ผมว่าเป็นกันแทบทุกประเทศ ยิ่งประเทศเรายิ่งไม่ต้องพูดถึง 

กลับมาต่อกันครับ Andrew Ng เล่าเรื่องราวของ Kyle Creasy โค้ชบาสเกตบอลในโรงเรียนมัธยมที่จบปริญญาตรีด้านพลศึกษาเมื่อปี 2023 และเพิ่งเริ่มเขียน Python ได้เมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยการช่วยเหลือจาก AI ตอนนี้เขาไม่เพียงแต่เขียนโค้ดได้ แต่ยังเป็น ครูสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ อีกด้วย เป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากในการเป็นตัวแบบของการขยายการสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ในระดับประถมและมัธยม

เบื้องหลังความสำเร็จของ Kyle คือ Kira Learning (บริษัทในเครือ AI Fund) ที่ออกแบบระบบการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับ K-12 โดยเน้นให้ ครูทำหน้าที่สนับสนุนด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียน ขณะที่ระบบ AI จะรับผิดชอบการสอนเนื้อหา เช่น

  • วิดีโอการสอนแบบดิจิทัล

  • แบบทดสอบที่ตรวจอัตโนมัติ

  • แชตบอทที่ตอบคำถามนักเรียน (โดยไม่เฉลยการบ้าน)

ระบบนี้ยังมีความสามารถด้านการปรับเนื้อหาเฉพาะบุคคล  (Hyperpersonalization ) ที่ล้ำหน้ากว่าแนวคิดห้องเรียนกลับทิศ (flipped classroom) ในอดีต เช่น หากนักเรียนเขียนโค้ดว่า:

best_$alty_snack = 'potato chips'

AI จะวิเคราะห์ได้ทันทีว่า $ เป็นตัวอักษรที่ไม่ถูกต้องในชื่อตัวแปร พร้อมเสนอคำถามให้ครูใช้กระตุ้นการคิด เช่น “ตัวอักษรใดที่อนุญาตให้ใช้ในชื่อของตัวแปรได้บ้าง?”

ไม่เพียงแต่ช่วยนักเรียนโดยตรง AI ยังช่วยให้ครูสามารถดูแลนักเรียนรายบุคคลได้ดีขึ้น โดยการใช้งาน Agentic AI ก็จะช่วยลดงานซ้ำซาก เช่น การจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา เขายกตัวอย่างเช่น Common Core หรือ AP CS (อันนี้จะมาใช้กับพวกประกันคุณภาพมหัศจรรย์พันระบบที่เรามีในไทยได้ไหมไม่รู้นะครับ)

นอกจากนี้ Kyle ยังได้นำความรู้การเขียนโปรแกรมไปปรับใช้กับงานเดิมของเขา เช่น เขียนโปรแกรมวิเคราะห์ความแม่นของนักบาสในการยิงสามแต้มด้วย matplotlib และใช้ข้อมูลเหล่านี้ปรับกลยุทธ์ทีมของเขาในสนาม ซึ่ง Andrew Ng บอกว่า เมื่อโค้ชบาสเรียนรู้การเขียนโค้ด เขากลายเป็นโค้ชบาสที่เก่งขึ้น


สิ่งที่ผมสรุปได้จากบทความนี้ก็คือ  AI ไม่ได้มาแทนที่ครู แต่ช่วยให้ครูทุกคนที่แม้จะไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ สามารถเป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพได้ และการเริ่มต้นสอนการเขียนโค้ดที่ใช้ AI ตั้งแต่ระดับประถมและมัธยม จะช่วยให้อนาคตของนักเรียนดีขึ้น

🧠 บทความต้นฉบับโดย Andrew Ng:
🔗 อ่านบทความเต็มได้ที่นี่

🔗Kiera Learning

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

วิกิพีเดียจะใช้ AI แต่จะไม่แทนที่อาสาสมัครที่เป็นมนุษย์

Wikipedia
ภาพจาก Tech Crunch โดย Sarah Perez

กลยุทธ์ AI ระยะเวลาสามปีของ Wikipedia ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 เมษายน เรียกร้องให้ใช้ AI เพื่อเสริม แทนที่จะแทนที่ชุมชนบรรณาธิการและอาสาสมัคร 

Chris Albon จาก Wikimedia Foundation อธิบายว่า "เราจะใช้วิธีการที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางและจะให้ความสำคัญกับตัวแทนที่เป็นมนุษย์ เราจะให้ความสำคัญกับการใช้ AI แบบเปิดเผยโค้ด (open source) หรือเปิดเผยน้ำหนัก (open weight) เราจะให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และเราจะใช้วิธีการที่ละเอียดอ่อนต่อการใช้งานหลายภาษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของ Wikipedia"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Tech Crunch โดย Sarah Perez

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

จีนต้องการพึ่งตนเองในการพัฒนา AI

AI
Photo by Igor Omilaev on Unsplash

ในเซสชันการศึกษาของการประชุม Politburo เมื่อวันที่ 25 เมษายน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวว่า การพัฒนา AI ของจีนจะเกี่ยวข้องกับ "การพึ่งพาตนเองและการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยตนเอง" ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวอย่างเป็นทางการ 

สี จิ้นผิง กล่าวว่า "เราต้องตระหนักถึงช่องว่างและเพิ่มความพยายามเป็นสองเท่าเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรม และแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI อย่างครอบคลุม" โดยจะมีการสนับสนุนนโยบายในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัย และการบ่มเพาะบุคลากร และด้านอื่น ๆ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย James Pomfret และ Summer Zhen


วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

วิธีใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบประสานงานที่ซับซ้อน

deep-learning
ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ได้พัฒนาวิธีการที่ช่วยให้สามารถใช้ไดอะแกรมอย่างง่ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพซอฟต์แวร์ในโมเดลการเรียนรู้เชิงลึกได้ 

เทคนิคนี้อิงตามทฤษฎีหมวดหมู่ (category theory) ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการประสานงานระบบเชิงโต้ตอบที่ซับซ้อน โดยช่วยให้ไดอะแกรม "ทั้งแสดงถึงฟังก์ชันและเปิดเผยวิธีการดำเนินการบน GPU อย่างเหมาะสมที่สุด" Vincent Abbott จาก MIT กล่าว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เครื่องมือตรวจจับไวรัสในข้อมูลลำดับ RNA

nature-biology-cover
ภาพจาก Caltech News โดย Lori Dajose

อัลกอริทึมที่สามารถค้นหาไวรัสในข้อมูลลำดับ RNA ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก California Institute of Technology มีเป้าหมายที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจผลกระทบของไวรัสต่อการทำงานทางชีวภาพได้ดีขึ้น 

ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่ายนี้ มีชื่อว่า kallisto จะสแกนข้อมูลลำดับ RNA เพื่อระบุว่ามีไวรัสชนิดใดบ้างอยู่ในตัวอย่างและอยู่ในเซลล์ใด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Caltech News โดย Lori Dajose

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ผลกระทบของ AI ต่อการละเมิดข้อมูลยังคง "จำกัด"

man-woman-using-computer
ภาพจาก CIO Dive โดย Lindsey Wilkinson

รายงานการสืบสวนการละเมิดข้อมูลล่าสุดของ Verizon ระบุว่า การนำ AI มาใช้ในวงกว้างเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังไม่ได้ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในโลกขององค์กร 

แม้ว่าข้อความที่สร้างโดย AI ในอีเมลที่เป็นอันตรายจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงปีที่ผ่านมา แต่รายงานพบว่าอัตราการละเมิดข้อมูลจากการโจมตีแบบฟิชชิ่ง (phishing) ที่ประสบความสำเร็จยังคงทรงตัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CIO Dive โดย Lindsey Wilkinson


วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ระบบ AI เปลี่ยนภาพร่างเป็นโค้ด

sketch-to-code
ภาพจาก University of Waterloo Cheriton School of Computer Science (Canada)

นักวิจัยด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จาก University of Waterloo ประเทศแคนาดา ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสามารถแปลงภาพร่างอิสระให้เป็นโค้ดได้ ด้วย Code Shaping 

นักเขียนโปรแกรมสามารถใช้แท็บเล็ต และปากกาสไตลัสเพื่อแก้ไขโค้ดด้วยการใส่คำอธิบายประกอบรอบ ๆ และบนตัวโค้ดได้ ซอฟต์แวร์นี้รองรับไดอะแกรม แผนภูมิ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ และภาพร่างอิสระอื่น ๆ โดยใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อตีความและแปลงสิ่งเหล่านั้นให้เป็นโค้ด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Waterloo Cheriton School of Computer Science (Canada)

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

นักวิทยาศาสตร์เร่งสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการประมวลผลควอนตัม

Picasso-algorithm
ภาพจาก Quantum Insider โดย Matt Swayne

นักวิจัยจาก Pacific Northwest National Laboratory ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้พัฒนาอัลกอริทึมที่ช่วยลดงานเตรียมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดแพ็กเกจข้อมูลสำหรับการประมวลผลควอนตัมอัลกอริทึม Picasso ใช้การระบายสีกราฟเพื่อจัดเรียงคำศัพท์ให้อยู่ในกลุ่มที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

นักวิจัย Bo Peng กล่าวว่า "อัลกอริทึมของเราเป็นเครื่องมือสำหรับการประมวลผลแบบไฮบริดที่มีประสิทธิภาพ โดยเราใช้การคำนวณแบบดั้งเดิมเพื่อเตรียมข้อมูลควอนตัมสำหรับการประมวลผลควอนตัม"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Quantum Insider โดย Matt Swayne

วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2568

เกาหลีใต้เผย DeepSeek ถ่ายโอนข้อมูลผู้ใช้ไปยังสหรัฐอเมริกาและจีนโดยไม่ได้รับความยินยอม

deepseek-logo
ภาพจาก CNBC โดย Dylan Butts

คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเกาหลีใต้ (Personal Information Protection Commission) หรือ PIPC กล่าวว่า DeepSeek สตาร์ทอัพด้าน AI ของจีน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ใช้ในท้องถิ่น และถ่ายโอนข้อมูลดังกล่าวไปยังจีนและสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้รับอนุญาต 

PIPC ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของ DeepSeek เมื่อวันพฤหัสบดี DeepSeek ได้ถอดแอปพลิเคชันแชทบอทออกจากร้านค้าแอปพลิเคชันของเกาหลีใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ตามคำแนะนำของหน่วยงานกำกับดูแล

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC โดย Dylan Butts


วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2568

ตารางธาตุของการเรียนรู้ของเครื่องจักรอาจช่วยเป็นเชื้อเพลิงให้ปัญญาประดิษฐ์ได้

MIT-Periodic-Table-For-Machine-Learning
ภาพจาก MIT News โดย Adam Zewe

ตารางธาตุที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างอัลกอริธึมการเรียนรู้ของเครื่องแบบดั้งเดิมมากกว่า 20 อัลกอริธึม 

Information contrastive learning หรือI-Con อิงตามสมการที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งเป็นพื้นฐานของอัลกอริธึมเหล่านี้ โดยระบุว่าอัลกอริธึมเหล่านี้ค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างจุดข้อมูลจริงและประมาณความเชื่อมโยงเหล่านั้นภายในอย่างไร

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News โดย Adam Zewe

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2568

อิสราเอลเตรียมเปิดครูสอนพิเศษที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในระดับประเทศ

e-Self-AI
ภาพจาก The Jerusalem Post (Israel)

ความร่วมมือระหว่าง Center for Educational Technology ผู้ผลิตหนังสือเรียน K-12 ของอิสราเอล และแพลตฟอร์ม AI eSelf จะช่วยให้นักเรียนทุกคนในอิสราเอลสามารถเข้าถึงครูสอนพิเศษ AI ส่วนตัวได้ 

อวตารแบบอินเทอร์แอกทีฟซึ่งสามารถปรับแต่งรูปลักษณ์และบุคลิกภาพได้เหล่านี้ จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา ฝึกทำโจทย์ และเตรียมตัวสอบ อวตารเหล่านี้จะปรับตัวให้เข้ากับจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน และปรับปรุงบทเรียนตามความจำเป็น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post (Israel)

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2568

FBI บอกว่าอาชญากรรมไซเบอร์สร้างความเสียหายเกินหมื่นหกพันล้านเหรียญในปี 2024

FBI
Photo by David Trinks on Unsplash

ศูนย์รับแจ้งความอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตของสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FBI กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกสูงถึงหมื่นหกพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 เพิ่มขึ้นหนึ่งในสามจากปีก่อนหน้า 

รายงานของ FBI ซึ่งอิงจากการร้องเรียนเกือบ 860,000 รายการ ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กลโกงที่ไม่ซับซ้อน กลโกงที่อ้างการสนับสนุนด้านเทคนิค และกลโกงเกี่ยกับการหลอกให้รักคิดเป็นมูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่ 

FBI ยังบอกว่า การคำนวณของพวกเขายังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware)


อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย Raphael Satter