วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจะปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นที่จะต้องด้อยค่าองค์กรด้วยหรือ

วันศุกร์นี้ขอพูดเรื่องหนัก ๆ สักวันแล้วกันนะครับ ต้องบอกก่อนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ผมเห็นและก็รู้สึกดีส่วนหนึ่งก็คือการที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาแสดงพลังให้เห็นว่ามีความอึดอัดคับข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่บางคนที่กดพวกเขาไว้ ด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย  และความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่เขามองเห็นจากมุมมองของเขา และการชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้ยืดเยื้อ ปิดบ้านปิดเมือง แค่ต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลนี้เห็นว่าเขาไม่พอใจ 

ตรงนี้ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีพลังนี้ผมว่าพวก สว. จะไม่มีทางยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแน่ แต่ตอนนี้ผมว่ามีความหวังมากขึ้น ถ้ารัฐบาลเลิกไล่จับคน เลิกพูดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังสักทีจะดีมาก รับฟังไป ถ้ามีโอกาสก็ชี้แจง และแสดงฝีมือให้เห็นซะทีว่าแก้ปัญหาได้ อยู่มาจะ 6-7 ปีแล้ว ผมถึงจะไม่ชอบยังไงก็ยังแอบเชียร์นะ เพราะบอกจริง ๆ ว่าถ้ามันตกลงไปมากกว่านี้ มันจะขึ้นมาได้ยากมาก อย่างเช่นคนเก่ง ๆ อย่างคลอปป์ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะพาลิเวอร์พูลกลับสู่ระดับที่เคยเป็นได้ (อ้าวเลี้ยวไปทีมรักจนได้ :) ) 

แต่ก็อยากฝากบอกว่าอย่ายกระดับการประท้วงจนไปถึงปิดบ้านปิดเมืองเลย ถ้าเขาหน้าด้านอยู่ต่อไปจริง ๆ โดยไม่สนใจ อีก 2 ปีกว่า ๆ ก็ได้เลือกตั้งกันแล้ว ลองทำตัวเคารพระบบ ตบหน้าพวกผู้ใหญ่บางคนที่ออกมาด่า ๆ อยู่ตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองปิดบ้านปิดเมือง เขาให้เลือกตั้งก็ไม่เลือกเพราะกลัวแพ้ จนทหารมายึดอำนาจ  และลากยาวมาถึงตอนนี้ จนพวกเด็ก ๆ อึดอัดต้องออกมาแสดงพลัง 

เขียนมาสามย่อหน้ายังไม่เข้าประเด็นที่จะเขียนวันนี้เลย ประเด็นของวันนี้คือ ถ้าเราต้องการปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นไหมที่เราจะต้องด้อยค่าองค์กร ต้องเกลียดคนในองค์กร และปฏิเสธสิ่งดี ๆ ที่เป็นความจริงมีหลักฐานประจักษ์ที่องค์กรเคยทำมา องค์กรที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี มันจะไม่มีสิ่งดี ๆ ที่ทำให้กับประเทศบ้างเลยหรือ  และจำเป็นไหมที่เราจะต้องไปโจมตีคนที่แสดงความรักความเคารพคนในองค์กร โดยไปตีตราว่าเขาเป็นพวกล้าหลัง ไม่อยากปฏิรูปองค์กร ไม่แน่ว่าเขาอาจจะคิดว่าควรให้มีการปฏิรูปก็ได้ แต่เขารักคนคนนี้ เขาก็แสดงความรัก เหมือนที่เขาทำในทุก ๆ ปี การทำแบบนี้ ดีไม่ดีมันจะเป็นการผลักคนที่อาจเห็นด้วยให้กลายเป็นอีกฝั่งหนึ่ง ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่โลกของมันมีแต่ 0 กับ 1 แต่คนเรานั้นมีหลากหลาย บางคนอาจอยากปฏิรูป แต่อาจเป็นคนละประเด็นกับที่มีคนเรียกร้อง บางคนอาจยังรักคนในองค์กร ยังระลึกถึงอดีตที่ดี ๆ (ในสายตาเขา) แต่ก็อาจเห็นด้วยว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ได้

ส่วนตัวผมผมมองว่าทุกองค์กรถ้าถึงยุคปัจจุบันแล้วมีคนรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ คนเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะพูดได้ แต่ก็ควรจะพูดถึงเฉพาะประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องไปทำให้องค์กรดูเลวร้าย อะไรที่เขาทำดีไว้ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธ เพราะผมมองว่าการที่ต้องปฏิรูปมันไม่เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่ทำมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ในยุคหนึ่งเคยทำทีมได้แชมป์ แต่หลัง ๆ ระบบการเล่นล้าสมัย ทีมเริ่มตกต่ำ มันก็ไม่ผิดที่จะมีการพูดถึงการเปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่การเปลี่ยนมีความจำเป็นไหมที่จะต้องไปพูดว่า ที่ทำทีมได้แชมป์ตอนนั้นมันฟลุ๊ก และคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนตัว ก็ไม่ควรจะอ้างแต่ว่าเขาเคยทำทีมได้แชมป์ ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยกันถกกันด้วยเหตุผล ไม่ไปก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง และสุดท้ายแล้วมันอาจได้ข้อตกลงที่เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ดีต่อทีม และดีต่อตัวผู้จัดการทีมด้วย เช่นการดันผู้จัดการทีมขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหารอาวุโส 

ขอปิดท้ายว่าสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และควรที่จะสามารถพูดคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พูดคุยกันด้วยความเคารพต่อกัน ไม่ใช่เอะอะก็ "ไม่พอใจก็ออกจากประเทศไปสิ" "ออกจากมหาวิทยาลัยไปสิ" "อย่ามาแบมือขอเงินนะถ้าไปประท้วง" "พ่อแม่น่ะเป็นสลิ่ม เป็นไดโนเสาร์ ไม่เข้าใจอะไรหรอก" อะไรแบบนี้ ถ้าจะปฏิรูปอะไรก็ปฏิรูปเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน ผมว่ามันสำคัญที่สุด ถ้าตรงนี้ปฏิรูปไม่ได้ ก็อย่าไปหวังเรื่องอื่น 

อังกฤษกลับลำเรื่องใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณผลการสอบ

Students in South Staffordshire, England, protest the government’s use of an algorithm to estimate exam results. (Jacob King/AP)

หลังจากการประท้วงใหญ่ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนการตัดสินใจที่จะใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณค่าคะแนนสอบ A-level ที่ใช้ในการรับเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้วิธีประมาณก็คือไม่สามารถจัดสอบได้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าขั้นตอนวิธีนี้ทำให้เด็กโรงเรียนเอกชนที่จ่ายค่าเทอมแพง ๆ ได้เปรียบ และทำให้นักเรียนที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยเสียเปรียบ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายก Boris Johnson บอกว่า เขาไม่มีข้อสงสัยกับขั้นตอนวิธีนี้เลย ผลสอบที่ได้เชื่อถือได้ และขึ้นกับผู้สมัครล้วน ๆ แต่หลังจากการประท้วงใหญ่ ก็ได้เปลี่ยนการตัดสินใจ และได้กล่าวคำขอโทษต่อเด็กและผู้ปกครองที่ทำให้กังวลใจ โดยบอกว่าผลที่เป็นทางการจะเทียบจากคะแนนที่ได้จากขั้นตอนวิธีกับการประเมินโดยครู อันไหนสูงกว่าก็เอาอันนั้น จากการสำรวจพบว่า ตัวขั้นตอนวิธีประเมินคะแนน A-level ของนักเรียนในอังกฤษประมาณ 40% ต่ำกว่าคะแนนที่ได้จากการประเมินโดยครู ซึ่งประเมินจากผลการเรียนที่ผ่านมา และการให้นักเรียนได้ทำข้อสอบจำลอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่คล้าย ๆ ในหนังสือ Weapons of Math Destruction ให้ระวังกันไว้ให้ดี ต่อไปอาจจะมีโมเดลแบบนี้มากขึ้น ดังนั้นก่อนจะเอาโมเดลวัดอะไรแบบนี้มาใช้ จะต้องมีการอธิบายวิธีการคำนวณอย่างชัดเจน โปร่งใสเข้าใจได้ และประชาชนก็ต้องพยายามรู้เท่าทัน ไม่ใช่อะไร ๆ ก็เชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะจริง ๆ โปรแกรมมันทำงาน มันประมวลผลจากข้อมูลที่มันได้รับ การประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน คำว่าเอาขยะใส่เข้าไปก็จะได้ขยะออกมาก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ


วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การแฮกที่ทำให้ระบบรู้จำใบหน้าคิดว่าคนอื่นเป็นคุณ

MICHAEL ALEO/UNSPLASH

นักวิจัยของ McAfee ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อสาธิตให้เห็นว่าระบบรู้จำใบหน้าสามารถถูกหลอกให้ระบุว่าหน้าที่กำลังดูอยู่เป็นหน้าคนอื่น วิธีการก็คือเอารูป 1500 รูป จากสองโครงการเข้าสู่ขั้นตอนวิธีการแปลงรูปภาพที่เรียกว่า CycleGAN เพื่อให้เปลี่ยนภาพหนึ่งไปเป็นอีกภาพหนึ่ง จากนั้น CycleGAN จะสร้างภาพที่ดูด้วยตาเปล่าคือนาย A แต่ระบบการรู้จำใบหน้าจะระบุว่าเป็นนาย B นักวิจัยบอกว่าปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยระบุและยืนยันตัวตน แต่ถ้าเราใช้มันแบบหลับหูหลับตา และให้มันไปแทนระบบเดิมที่เคยขึ้นอยู่กับคนอย่างเดียวโดยไม่ตรวจสอบอีกครั้ง มันก็จะนำไปสู่จุดอ่อนที่ใหญ่กว่าที่เคยมีมา 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT Technology Review

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

NSA และ FBI เปิดเผยเครื่องมือแฮกจากรัสเซีย


Photo by Markus Spiske on Unsplash

National Security Agency (NSA) ของสหรัฐ และ Federal Bureau of Investigation (FBI) ได้ประกาศต่อสาธารณชนถึงเครื่องมือแฮกจากรัสเซียชื่อ Drovorub ซึ่งเป็นมัลแวร์ (malware) ที่เจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Linux ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า  Drovorub เป็นคล้าย ๆ มีดพับสารพัดประโยชน์ของสวิส (Swiss Army knife) ที่ทำงานได้หลากหลายเช่นการขโมยไฟล์ การควบคุมคอมพิวเตอร์ของเหยื่อจากระยะไกล การประกาศการค้นพบ Drovorub นี้เป็นตัวล่าสุดที่ประกาศโดยรัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับปฏิบัติการแฮกของรัสเซียก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

แฮกเกอร์ชาวดัชแสดงให้เห็นว่าการแฮกระบบสัญญาณไฟทำได้ง่าย ๆ

เราอาจเคยเห็นในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องถึงการแฮกระบบสัญญาณไฟจราจร แตาเอาจริง ๆ แล้วจากการสาธิตของนักวิจัยด้านความมั่นคงหลายคนเมื่อหลายปีก่อนแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เหมือนในหนัง เพราะใครที่จะทำต้องอยู่ในระยะสัญญาณวิทยุของไฟจราจรที่เป็นเป้าหมาย แต่ตอนนี้นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์สองคนได้แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถแฮกไฟจราจรได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต 

[ภาพจาก Getty Images]

ในงานสัมมนาด้านแฮกเกอร์ Defcon นักวิจัยด้านความมั่นคงสองคนคือ Rik van Duijn และ Wesley Neelen ได้แสดงให้เห็นว่าเขาพบช้่องโหว่ในระบบ "intelligent transport" ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบสัญญาณไฟจราจรในอย่างน้อย 10 เมืองในเนเธอร์แลนด์ การแฮกของเขาทำไดยหลอกระบบว่ามีจักรยานกำลังจะผ่านสี่แยก (จริง ๆ ไม่มี) จากนั้นไฟสัญญาณจราจรก็จะกลายเป็นไฟเขียวให้จักรยาน ส่วนรถอื่น ๆ ที่จะผ่านแยกก็จะได้สัญญาณไฟแดง ซึ่งพวกเขาบอกว่าถ้าระบบ "intelligent transport" นี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และถูกแฮกแบบนี้ จะทำให้รถต้องหยุดรออยู่ที่แยกที่จริง ๆ แล้วไม่มีรถอะไรวิ่งผ่านเลย ซึ่งจะทำให้การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง นักวิจัยบอกว่าเขาสามารถสร้างจักยานปลอม ๆ นี้ได้จากที่บ้าน และทำได้พร้อม ๆ กันจากหลายสี่แยกด้วย 

จุดอ่อนของระบบนี้อยู่ที่ระบบสัญญาณไฟจราจรนี้ใช้ตำแหน่งของจักรยานจากแอปอย่าง Schwung และ CrossCycle ซึ่งเมื่อผู้ขี่จักรยานที่ใช้แอปนี้มาถึงสี่แยก ระบบก็จะได้ตำแหน่งของจักรยานและเปลี่ยนไฟเขียวให้กับจักรยาน นักวิจัยได้เขียนสคริปต์เพื่อป้อนข้อมูลหลอก ๆ ให้กับระบบสัญญาณไฟว่าตอนนี้มีโทรศัพท์ของนักขี่จักรยานกำลังจะผ่านแยก

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Wired