วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

วีลแชร์อัจฉริยะ

ต้องขอโทษด้วยที่หายไปหลายวันนะครับ เนื่องจากไม่ว่างจริง ๆ และก็ต้องเดินทางไปสัมมนาวิชาการที่จ.กาญจนบุรีด้วย วันนี้ก็ขอเริ่มด้วยเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ และน่าจะเป็นแนวทางให้ผู้คนในประเทศของเราได้คิดบ้างนะครับ แทนที่จะเอาแต่ทะเลาะกันด้วยเรื่องอะไรก็ไม่รู้....

ประเด็นหลัก ๆ ของเรื่องนี้ก็คือ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Lehigh ใน Bethlehem, Pennsylvania, ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ บริษัทชื่อ Freedom Sciences ที่อยู่ใน Philadelphia โดยประดิษฐ์

วีลแชร์อัจฉริยะ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการขึ้น (แต่คงต้องบอกว่าต้องเป็นผู้พิการที่มีฐานะดีมากครับ) กล่าวคือสมมติว่าผู้พิการขับรถตู้มาคนเดียวและเมื่อขึ้นรถตู้ไปแล้ว จะเก็บวีลแชร์นี้อย่างไร โดยงานวิจัยนี้ก็เสนอให้ ใช้รีโมทคอนโทรลเพื่อบังคับให้วีลแชร์นี้ไปที่ด้านหลังรถ โดยด้านหลังรถก็จะมีตัวยกเพื่อนำวีลแชร์นี้ขึ้นไปเก็บบนรถตู้ ถ้าใครไม่เห็นภาพลองดูวีดีโอนี้ครับ http://www.youtube.com/view_play_list?p=A1F1C24123EC0F9E
ซึ่งเขาบอกว่าความยากก็อยู่ตรงนำวีลแชร์เข้าสู่ตัวยกนี้ครับ เนื่องจากต้องให้มีความถูกต้องให้ได้ใกล้เคียงร้อยละร้อย ซึ่งการใช้รีโมทคอนโทรลอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันตรงนี้ได้ ทางนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีในลักษณะเดียวกับการเข้าจอดของยานอวกาศมาใช้กับการแก้ปัญหานี้เชียวนะครับ ซึ่งผมขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ แต่ถ้าสนใจก็ลองอ่านดูเพิ่มเติมได้ที่นี่
http://technology.newscientist.com/article/dn13805-robotic-wheelchair-docks-like-a-spaceship.html

อ่านแล้วรู้สึกเป็นอย่างไรบ้างครับ ดูแล้วจะเห็นว่านักวิจัยของเขามีความพยายามที่จะคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ออกมา เพื่อช่วยเหลือผู้พิการให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศนี่เขาจะให้การดูแลผู้พิการดีกว่าบ้านเราเยอะครับ
แต่สำหรับเรื่องวีลแชร์นี้ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง ก็เหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน และบางทีก็อาจเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะผู้พิการที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ต้องรวยครับ โดยจะต้องมีรถตู้ขับแล้วก็ติดตั้งระบบที่ว่านี้เข้าไป อันนี้ก็มีผู้ที่โพสต์ให้ความเห็นไว้บน youtube หลายคนครับ รวมถึงคนที่เป็นผู้พิการเองด้วย ซึ่งมีความเห็นหนึ่งบอกว่า ให้ใช้วีลแชร์แบบพับเก็บได้ เมื่อขึ้นรถไปแล้ว ก็พับเจ้าวีลแชร์นี้ขึ้นรถไปด้วย ซึ่งก็ง่ายและถูกกว่าเทคโนโลยีนี้นะครับ
ดังนั้นก็อยากจะฝากเป็นมุมมองให้พวกเราได้คิดและวิเคราะห์การใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียงด้วยนะครับ.

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

แฮกเกอร์อาจใช้กลไกทางฮาร์ดแวร์ในการเจาะระบบ

วันนี้ขอเป็นเรื่องสั้น ๆ แล้วกันนะครับ เรื่องที่จะเล่าให้ฟังวันนี้ก็มาจาก ACM Technews เช่นเดิมครับ โดยสรุปก็คือว่ามีความเป็นไปได้ที่แฮกเกอร์จะใช้วิธีการทางฮาร์ดแวร์ในการเจาะระบบ โดยแอบเพิ่มวงจรที่ใช้ในการเจาะระบบเข้าไปในหน่วยประมวลผล ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็หมายความว่าแฮกเกอร์จะมีระดับการเข้าควบคุมคอมพิวเตอร์ของเราได้ดีกว่าไวรัส เพราะมันทำงานในระดับฮาร์ดแวร์ แต่ก็อย่าตกใจมากนะครับ เพราะการติดตั้งวงจรประสงค์ร้ายเหล่านั้น ไม่ได้ติดตั้งง่ายเหมือนซอฟต์แวร์ กล่าวคือแฮกเกอร์จะต้องหาทางติดตั้งวงจรนี่ลงไปในช่วงการผลิตชิปครับ ซึ่งถ้าทำได้ก็แสดงว่าคนในเป็นใจละครับ

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การ์ตูนและนวนิยายกับการเขียน

วันนี้ดูจากหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ นะครับว่าจะมาไม้ไหน เดี๋ยวคอยติดตามแล้วกันนะครับ...


ความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ของผมเริ่มจาก เมื่อสักประมาณปลายสัปดาห์ก่อนผมได้รับอีเมล์จากเพื่อน ซึ่งในอีเมล์นั้นก็ได้แนบพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับการ์ตูนมาด้วย ซึ่งผมก็ได้ไปโพสต์ไว้ให้ดาวน์โหลดกันผ่านทางลิงค์นี้นะครับ http://www.beupload.com/download/?0092d074e10b35469302f7ede58306e8
ลองไปอ่านกันดูนะครับ สนุกและเข้าใจได้ง่ายดี

ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการใช้การ์ตูนให้เป็นประโยชน์อย่างมาก การ์ตูนสามารถสื่อความเข้าใจจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่าน ๆ มา จะมีการ์ตูนอย่างเช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์คุณทองแดงฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับการ์ตูนเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่าดีมากครับ เพราะทำให้คนไทยหลาย ๆ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้อ่านงานที่มีคุณค่า หรือทำให้ชาวบ้านอย่างพวกเราเข้าใจประเด็นข้อกฏหมายในรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น (ไม่ทราบพวกที่จะไปเยิ้ว ๆ ให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนี่ได้อ่านบ้างหรือเปล่า) ในปัจจุบันจะมีการ์ตูนซึ่งเป็นลักษณะที่สอนวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบเคยได้ยินกันไหมครับ (ส่วนผมรู้เพราะลูก ๆ ผมชอบอ่านครับ) เช่นเอาชีวิตรอดบนเกาะร้าง เอาชีวิตรอดในป่าลึก หรืออย่างนวนิยายนักสืบอย่างเช่นเชอร์ลอกโฮล์มก็ทำเป็นการ์ตูน ซึ่งต้องบอกว่าลูกทั้งสองคนของผมชอบมาก ไปร้านหนังสือทีไรก็จะต้องซื้อกันคนละเล่มสองเล่ม ซึ่งในสมัยผมเป็นเด็กไม่มีนะครับ ตัวผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ประมาณ ป. 3 นี่ก็อ่านหนังสือแตกแล้ว ถ้าจำไม่ผิดหนังสือนิยายเล่มแรกที่อ่านนี่คือ พล นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต (อันนี้คนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้วนะครับ) จากนั้นผมก็อ่านเรื่อยมา เช่นเพชรพระอุมาของพนมเทียน และก็นิยายจีนกำลังภายของโก้วเล้ง กิมย้งนี่ก็อ่านมาจนหมดครับ ส่วนการ์ตูนก็มีนะครับ แต่จะเป็นพวกขายหัวเราะ หรือหนูจ๋า (หลายคนคงไม่รู้จัก) ผมมาเริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างที่เด็กสมัยใหม่อ่านกันนี่ตอนเรียน ป.ตรีครับ ในช่วงนั้นก็รู้สึกจะมีสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นเจ้าหลักครับ ที่ชอบอ่านก็เช่น โดเรมอน ดราก้อนบอล ซึบาสะ และซิตี้ฮันเตอร์ เด็ก ๆ รุ่นใหม่คุ้นไหมครับ พวกคุณก็ยังรู้จักเรื่องพวกนี้อยู่ใช่ไหมครับ

ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อในวันนี้คือ การ์ตูนมีประโยชน์ในการทำให้เรื่องยากเข้าใจได้ง่ายและอ่านสนุก ดังนั้นผมรู้สึกดีใจที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ผ่านทางการ์ตูนได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะไม่ได้จากการ์ตูนก็คือภาษาที่เป็นการบรรยาย เพราะการ์ตูนจะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาพเป็นหลัก และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลาย ๆ คนที่อ่านแต่การ์ตูน เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนหนังสือหรือรายงานจะทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะตัวเองไม่เคยได้สัมผัสว่าการบรรยายด้วยตัวอักษรนั้นเขาทำกันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เป็นอาจารย์ และควบคุมงานวิจัยมาเป็นสิบ ๆ ปี ผมพบว่านักศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก มีปัญหานี้ครับ ซึ่งจากการสอบถามก็คือส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออื่น ๆ จะอ่านแต่ตำรา (ถูกบังคับให้อ่าน) และการ์ตูนเป็นหลัก ซึ่งหนังสือตำราบางเล่มที่วางขายกันในท้องตลาดปัจจุบันนี้คุณลองอ่านดูซิครับว่ามันอ่านรู้เรื่องไหม คนเขียนต้องการจะสื่ออะไร บางทีก็ไปแปลฝรั่งมาทั้งประโยคโดยไม่ได้ขัดเกลาเลย

ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวนครับว่า นอกจากคุณจะหาความเพลิดเพลินจากการ์ตูนแล้ว ยังมีหนังสือนวนิยาย หรือความรู้ดี ๆ ที่ไม่ใช่การ์ตูนอีกมากมาย หนังสือเหล่านี้นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังให้ทักษะในด้านการบรรยาย การใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าจะช่วยให้ทักษะในการเขียนของพวกคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้คุณอ่านนิยายหรือยังครับ...

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2551

ซันกำลังจะแจกเทคโนโลยีทั้งหมดของจาวาฟรี

อันนี้ก็จัดว่าเป็นข่าวดีนะครับ ซึ่งผมก็สรุปมาจาก ACM Technews เช่นเคย สำหรับแหล่งที่มาเต็ม ๆ ก็ตามนี้นะครับ http://www.infoworld.com/article/08/04/22/Sun-looks-to-free-up-the-rest-of-Java_1.html



ขอสรุปเลยก็แล้วกันนะครับ ทางซันมีโครงการที่จะให้เทคโนโลยีทั้งหมดของจาวาอยู่ในรูปแบบเปิดเผยรหัส(open source) โดยจะแจกรวมไปกับลินุกซ์ในดิสทริบิวชันต่าง ๆ จริง ๆ แล้วซันได้เริ่มโครงการเปิดเผยรหัสนี้มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2549 แล้วแต่ก็มีคอมโพเนนต์หลายตัวที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์แบบ GNU เช่นพวกไลบรารีสำหรับการเข้ารหัส ไลบรารีทางด้านกราฟิกส์ เอนจินทางด้านเสียง (sound engine) และ SNMP ซึ่งจริง ๆ นาย Rich Sands ของซันก็กล่าวว่าได้ดำเนินการมานานพอสมควรแล้วในการแก้ไขความยุ่งยากต่าง ๆ แต่ก็ยังคงมีงานอีกหลายส่วนที่ต้องทำพื่อทำให้ทั้งเอนจินด้านเสียง และ SNMP อยู่ในลักษณะที่เปิดเผยรหัสได้ (อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับว่าอีกสาเหตุหนึ่งอาจมาจากทางซันอาจจะอายโปรแกรมที่ตัวเองเขียนไว้ คือมันอาจจะเละเทะมากก็เป็นได้ :)) โครงการนี้คาดว่าจะเสร็จปลายปีนี้ครับโดยอาจจะไม่มีเอนจินทางด้านเสียง (คือนาย Sand บอกว่านักพัฒนาสามารถทำงานไปได้แม้จะไม่มีเอนจินทางด้านเสียง)


ดังนั้นก็คอยติดตามดูกันนะครับว่าพวกเราจะได้ประโยชน์จากตรงนี้กันแค่ไหน...

วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551

เว็บไซต์จับคู่สำหรับคนไอคิวสูงเท่านั้น

วันนี้มีเรื่องเบา ๆ มาเล่าให้ฟังครับ คือพอดีได้ไปอ่านบล็อกที่เขียนโดย Daniel Terdiman เกี่ยวกับเว็บไซต์นี้ครับ IntelligentPeople.com คือเว็บนี้เป็นเว็บที่เหมือนกับให้ผู้คนมานัดเดทกันผ่านทางเว็บไซต์ แต่มีเงื่อนไขในการเข้าสู่เว็บคือ จะต้องผ่านการทดสอบไอคิวก่อน เรียกว่าต้องพวกไอคิวสูงด้วยกันเท่านั้นถึงจะมีสิทธิเดทกันได้ ผมก็ได้ลองคลิกเข้าไปดูก็เป็นตามนั้นจริง ๆ ครับ แต่ไม่ได้ลองทดสอบไอคิวดูนะครับ กลัว ...... ซึ่งเท่าที่อ่านบล็อกของ Daniel Terdiman เขาก็ไม่ได้ลองเหมือนกันนะครับ และเว็บนี้ก็จำกัดด้วยนะครับ ว่าให้ทดสอบได้แค่สองครั้ง คงกลัวว่าครั้งที่ 3 ที่ 4 จะหาทางแฮ็กเข้าไปได้ ถ้าสนใจยังไงก็ลองเข้าไปดูกันนะครับ ใครที่ทำทดสอบผ่านแล้วจะแวะมาบอกกันก็ได้ อ้อแล้วถ้าผ่านเข้าไปได้แล้ว และมีการนัดเดทกันแล้ว อย่าเผลอตัวพูดอะไรที่ดูไม่ฉลาดออกมาให้คู่เดทคุณฟังนะครับ ..