วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ยาที่ถูกสร้างจาก AI ถูกใช้กับคนเป็นครั้งแรก

กลุ่มของนักวิจัยจากอุตสาหกรรมยาของอังกฤษและญี่ปุ่นใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence,  AI)  เพื่อสร้างโมเลกุลของยาที่จะทดลองใช้กับมนุษย์ ยาดังกล่าวถูกผลิตขึ้นมาเพื่อทดลองใช้กับผู้ป่วยที่เป็น  obsessive-compulsive disorder (OCD) โดย AI ใช้เวลา 12 เดือนในการผลิต โดยถ้าใช้วิธีแบบเดิมจะต้องใช้เวลา 5 ปี นักวิจัยบอกว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้ AI ออกแบบยา แต่เมื่อสิ้นทศวรรษนี้ ยาใหม่ ๆ ทุกตัวอาจผลิตโดย AI 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC Technology News


วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

อิสราเอลเตรียมวิธีรักษาผู้ติดเขื้อไวรัสโคโรนาแบบไม่ต้องสัมผัสตัว

จากทีเคยสรุปข่าวเรื่องการใช้หุ่นยนต์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาในอเมริกา โดยสรุปว่าหุ่นยนต์ดังกล่าวยังมีข้อจำกัดคือต้องใช้พยาบาลในการเลื่อนหุ่นยนต์ไปรอบ ๆ ห้อง วันนี้เจอข่าวนี้ครับ Sheba Medical Center ในอิสราเอลได้เปิดตัววิธีการรักษาผู้ป่วยโคโรนาไวรัสแบบโทรเวชกรรม (telemedicine) เป็นที่แรกในโลก โดยใช้หุ่นยนต์ที่ควบคุมจากระยะไกล และแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้น โดยสามารถตรวจสัญญาณชีพและอัตราการเต้นของหัวใจของผู้ป่วยได้ โดยหุ่นยนต์นี้จริง ๆ แล้วถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทในสหรัฐอเมริกานะครับ แต่ที่น่าสนใจมากในข่าวนี้คือในตอนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัสในอิสราเอล แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่า ทางโรงพยาบาลต้องเตรียมการไว้ก่อน เพื่อให้บุคลการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเสี่ยงจากการติดเชื้อให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลยังมีแผนการที่จะใช้โทรเวชกรรมนี้ในอีกระดับหนึ่ง ด้วยการที่ทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรงสามารถได้รับการรักษาจากที่บ้าน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

สิ่งที่ได้เห็นจากข่าวนี้ไม่ใช่ตัวเทคโนโลยี เพราะมันควรจะทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็นคือการคิด การทำงานเชิงรุก ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่เห็นจากรัฐบาลของสารขัณฑ์โดยสิ้นเชิง ที่ทำงานเป็นแต่เชิงรับ หรือแม้แต่เชิงรับก็ทำไม่เป็นก็ไม่รู้ 

  

วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เพลง Pretend


เคยไหมครับที่มันมีเพลง ๆ หนึ่งแว่บเข้ามาในหัว แล้วเหมือนเรากำจัดมันออกไปไม่ได้ ต้องฮัมเพลง ต้องร้องพลงนั้นอยู่ตลอด สิ่งนี้เกิดกับผมมาตลอดสัปดาห์นี้ครับ เพลงที่แว๋บเข้ามาในหัวผมคือ Pretend ของ Nat King Cole (รู้จักกันไหมครับ 55) ที่น่าประหลาดคือเพลงนี้จริง ๆ ไม่ใช่เพลงโปรดของผม เคยฟังตอนสมัยเด็ก ๆ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะจากแผ่นเสียงของพ่อ และก็เคยร้องเล่นในสมัยที่ยังเล่นกีตาร์อยู่ และในช่วงหลัง ๆ มานี้ก็แทบไม่ได้นึกถึงเพลงนี้เลย แต่เมื่อสักวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ที่ผ่านมาเพลงนี้ก็เหมือนดังอยู่ในหัวผม ทั้งเนื้อร้อง ทั้งทำนองแจ่มชัดมาก แล้วก็อย่างที่บอก ทั้งร้องทั้งฮัมมาตลอดทั้งสัปดาห์ ก็เลยสงสัยว่าหรือเราจะต้องเขียนถึงเพลงนี้สักหน่อยแล้วมั้ง เราไปฟังเพลงกันก่อนแล้วกันนะครับ


เพราะดีนะครับ คราวนี้ลองไปดูเนื้อเพลงกัน

Pretend you're happy when you're blue
จงแสร้งทำว่าคุณมีสุข ในยามที่ทุกข์เหงาเศร้า
It isn't very hard to do มันไม่ยากที่จะทำหรอกนะ

And you'll find happiness without an end
และคุณก็จะพบกับความสุขแบบไม่รู้จบ
Whenever you pretend เมื่อไรก็ตามที่คุณแสร้งทำ
Remember anyone can dream
จงรู้ไว้นะว่าใคร ๆ ก็ฝันกันได้
And nothing's bad as it may seem
และมันก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เราคิดกันหรอกนะ (การฝันน่ะ)
The little things you haven't got
สิ่งละอันพันละน้อยที่คุณไม่เคยมี
Could be a lot if you pretend
คุณก็จะมีมันได้มหาศาลเลยล่ะ ถ้าเพียงแต่คุณแสร้งทำ
You'll find a love you can share
คุณจะได้พบกับรักที่คุณมีส่วนร่วมกับมันได้
One you can call all your own
เป็นรักที่คุณจะเรียกร้องอะไรได้ทุกอย่าง
Just close your eyes, she'll be there
เพียงแต่หลับตาลง เธอก็จะอยู่ตรงนั้น
You'll never be alone
คุณจะไม่มีวันอยู่เดียวดายอีกต่อไป And if you sing this melody
และถ้าคุณร้องเพลงนี้อยู่ละก็
You'll be pretending just like me
คุณก็คงกำลังแสร้งทำอยู่เหมือนผมนี่แหละ
The world is mine, it can be yours, my friend
โลกที่เป็นของผม มันก็จะเป็นของคุณด้วย เพื่อนเอ๋ย

So why don't you pretend?
แล้วทำไมคุณถึงจะไม่แสร้งทำล่ะ

พอฟังเพลงหรืออ่านเนื้อเพลงแล้ว หลายคนอาจคิดว่าผมกำลังอกหักอยู่หรือเปล่า :) ต้องบอกว่าผมเลยวัยที่จะอกหักมานานแล้วครับ ชีวิตตอนนี้ก็มีความสุขดี แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเพลงนี้มันถึงผุดขึ้นมา ถ้าจะมีเรื่องต้องแสร้งทำก็คงต้องแปลงเพลงสักท่อนหนึ่งนะครับ

Just close your eyes, he (who will not be named) won't be there
เพียงแต่หลับตาลง อีตาลุง (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร) ก็จะไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว

แต่แหมถ้ามันเป็นจริงได้ ผมก็คิดว่าคงจะมีความสุขมากขึ้นครับ :)




สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายส่งเสริมอดีตทหารเข้าสู่อาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลบี

สภาคองเกรสของสหรัฐผ่านร่างกฎหมายที่จะส่งเสริมให้ทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการได้มีโอกาสเข้าสู่งานด้าน STEM และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งตรงนี้จะช่วยแก้ปัญหาทั้งสองด้านคือทหารผ่านศึกเหล่านี้เมื่อปลดประจำการแล้วก็จะได้มีโอกาสเข้าทำงานในวงการอุตสาหกรรมที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในตลาดแรงงานด้านนี้ด้วย ตามข่าวบอกว่าในปี 2018 มีตำแหน่งงานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่างมากถึง 500,000 ตำแหน่งทั่วอเมริกา แต่มีบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์เพียง 60,000 คนเท่านั้น และในปี 2022 จะมีงานด้าน STEM ว่างถึงกว่า 9,000,000 ตำแหน่ง โดยจะมีทหารปลดประจำการกว่า 1.5 ล้านคน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NextGov 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการมากในสหรัฐอเมริกามานานมากแล้ว เพราะเอาจริง ๆ คนอเมริกาเองก็ไม่ชอบเรียนด้านนี้ และอเมริกาก็พยายามส่งเสริมทุกด้าน เช่นส่งเสริมให้ผู้หญิงได้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมด้านนี้มากขึ้น ตอนนี้ก็ส่งเสริมทหารผ่านศึก จริง ๆ นี่เป็นโอกาสดีของคนไทย แต่อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็คือปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่มองโอกาสที่จะย้ายออกจากประเทศนี้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็จะมีโอกาสค่อนข้างดี ใครที่ยังไม่เก่งภาษาอังกฤษก็พัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษกันเถอะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การต่อสู้กับบอทเพื่อหาข้อมูลที่แท้จริงจากสื่อสังคมออนไลน์

ในปัจจุบันมีโปรแกรมที่เรียกว่าบอท (bot) ซึ่งย่อมาจาก robot ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างมากมายและถูกนำไปใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ จุดประสงค์ของบอทก็คือการสร้างเนื้อหาขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ซึ่งบอทหลายตัวก็มีชื่อเสีย(ง) ในทางที่ไม่ดีเช่นทำให้เกิดการจูงใจที่ผิดในการไปออกเสียงลงมติ หรือให้ข้อมูลด้านสุขภาพที่ผิด ๆ ซึ่งนักวิจัยยังบอกว่าบอทที่ไม่ดีเหล่านี้ทำให้การพยายามหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ทำได้ยาก เพราะข้อมูลที่จะวิเคราะห์ควรจะมาจากการโพสต์ของคนจริง ๆ ไม่ใช่บอท ดังนั้นการตรวจสอบว่าโพสต์นั้นมาจากบอทหรือคนจริง จึงมีความสำคัญ แต่ปัญหาก็คือในปัจจุบันบอทมีการพัฒนาไปมาก ไม่ง่ายเหมือนบอทแบบเก่า ๆ ในข่าวบอกว่าโปรแกรมล่าบอทที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นมันยังมีบอทดีด้วย เช่นบอทที่ให้ข้อมูลด้านสุขภาพจริง ๆ หรือบอทที่รายงานสภาพอากาศ ดังนั้นงานที่ยากขึ้นไปอีกก็คือการแยกประเภทของบอท

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nature News

การแยกระหว่างของจริงกับของปลอมก็ยากอยู่แล้ว นี่ยังต้องแยกระหว่างปลอมดีกับปลอมเลวอีก