แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Technology แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Technology แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เราจะหาทวีตแรกของทวิตเตอร์ของเราได้อย่างไร

ไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์ มานานมาก วันนี้พอมีเวลาบ้างก็เลยหาเรื่องมาเล่าให้ฟังกันครับ จากกระแส NFT ที่กำลังดังอยู่ตอนนี้ แต่ผมจะไม่ได้มาพูดในบล็อกนี้นะครับว่า NFT คืออะไร แต่เรื่องที่จะมาพูดวันนี้คือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการที่ Jack Dorsey ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สร้างทวิตเตอร์ได้นำทวีตแรกของเขามาทำเป็น NFT ขาย ก็เลยคิดว่าพวกเราหลายคนก็อาจจะอยากหาทวีตแรกของตัวเองเผื่อจะเอามาทำเป็น NFT ขายบ้าง 

วิธีจะหาทวีตแรกของเราก่อนอื่นเราต้องดูก่อนนะครับว่าเราสมัครทวิตเตอร์ตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งวิธีการก็คือเข้าไปที่ทวิตเตอร์ แล้วคลิกที่ ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเราจะเห็นว่าเราเริ่มสมัครเข้าทวิตเตอร์เมื่อไร ซึ่งจากที่ผมลองดูผมก็เลยรู้ว่าผมเริ่มใช้ทวิตเตอร์เมื่อมกราคม 2009

 

จากนั้นคลิกที่ลิงก์นี้ครับ  https://twitter.com/search-advanced ซึ่งเราจะได้จอภาพดังนี้ 


จากนั้นสโกรลลงมาแล้วใส่ชื่อทวิตเตอร์ของเรา 



จากนั้นให้สโกรลลงมาเพื่อเลือกช่วงของวันที่ที่จะค้นหา 




ซึ่งก็ให้เริ่มจากเดือนที่เราเริ่มสมัครไปสักสองสามเดือนนะครับ เพราะเราอาจจะไม่ได้ทวีตหลังจากที่เราสมัคร แต่ถ้าใครจำได้ว่าเริ่มสมัครปุ๊ปก็ทวีตปั๊ปก็อาจค้นในช่วงเดือนเดียวก็ได้นะครับ อย่างในรูปผมเลือกจากช่วงมกราคม 2009 ถึงใีนาคม 2009 จากนั้นกดปุ่มค้นหา 


ให้คลิกเลือกล่าสุด แล้วสโกรลลงมาด้านล่างสุดก็จะเจอทวีตแรกของเราครับ อย่างของผมจะเป็นเมื่อ 6 ก.พ. 2009 ซึ่งก็ทวีตลิงก์ของข่าวจาก Computer World Newzeland ซึ่งตอนนี้ลองคลิกดูปรากฎว่าลิงก์ปลิวไปแล้วครับ ไม่มีข่าวนี้แล้ว 

โอเคครับตอนนี้เราก็หาทวีตแรกของเราได้แล้ว ถ้าใครเจอแล้วจะลองไปสร้างเป็น NFT ขายดูบ้างนะครับ และถ้าขายได้แล้วมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ ส่วนผมคิดแล้วก็เศร้าใจตัวเองครับ ทวีตแรกทั้งที่แทนที่จะเป็นสวัสดีทวิตเตอร์ หรืออะไรที่มันแสดงความเป็นแรก ๆ หน่อย ไปทวีตลิงก์ที่ไม่มีซะแล้ว  แล้วอย่างนี้จะไปขายได้ยังไงล่ะนี่...   

วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง

วันนี้ขอมาสรุปเรื่องคดีที่ Apple ถูกฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีนักวิจัยไทยคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันอีกสักครั้งแล้วกันนะครับ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้สองบล็อก บล็อกแรกเล่าข่าวตอนที่มีการเริ่มฟ้องร้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน่าจะแปดปีมาแล้ว และบล็อกที่สองสรุปเรื่องราวว่า Apple ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตร 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาล บล็อกนี้เขียนเมื่อสี่ปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะจบไปแล้ว แต่อยู่ ๆ เมื่อวานนี้ผมพบว่ามียอดคนเข้าไปอ่านบล็อกแรกของผมเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ก็เลยแปลกใจ จนได้เห็นว่ามีการเอาข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาแชร์ใน Facebook ว่า Apple แพ้คดี Siri ที่ศาลสูงสหรัฐและต้องจ่าย 25 ล้านเหรียญ และก็มีการเอารูป รศ.ดร.วีระ บุญจริง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยมาประกอบด้วย และก็แน่นอนมีการคอมเมนต์มากมาย บางคนก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ บางคนก็อาจรู้มาบ้างแล้ว บางคนอ่านข่าวอาจคิดว่าอ.วีระเป็นคนไปฟ้อง Apple และได้เงิน 25 ล้านเหรียญ และบางคนก็เอาไปโยงว่ามันชื่อ Siri เพราะคนไทยเป็นคนคิด ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ผมก็เลยจะมาสรุปให้เข้าใจกันซะอีกรอบหนึ่งแล้วกัน

มาเริ่มกันก่อนนะครับ อ.วีระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา น่าจะประมาณปี คศ. 2000 ถ้าจำไม่ผิด โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยของอ.วีระคือ Natural Language Interface นั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งถ้าใครอยากดูตัวสิทธิบัตรก็ดูได้จากลิงก์ในบล็อกแรกของผมนะครับ และอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ตามเดิมหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็ทำหน้าที่สอนและวิจัยไปตามปกติ ไม่ได้ไปด้อม ๆ มอง ๆ หาวิธีการที่จะฟ้องร้อง Apple อะไร ตอนที่ Apple ออก Siri มา อาจารย์ก็ไม่ได้คิดว่า Apple จะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไร

คราวนี้เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ผ่านมาจากที่อาจารย์จบมาประมาณ 12 ปี อ.วีระซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมมานานแล้ว ได้ส่งลิงก์ข่าวมาให้ผม บอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกของอ.วีระ ส่งมาให้ ซึ่งมันก็คือข่าวที่บริษัท Dynamic Advances ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำมาหากินโดยไปขอรับใบอนุญาตการใช้งานสิทธิบัตรด้านงานวิจัย และก็เอาไปฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ กำลังฟ้อง Apple จากการละเมิดสิทธิบัตร Natural Language Interface ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วีระก็ดูงง ๆ กับข่าวนี้ พอผมเห็นข่าว ผมซึ่งเขียนบล็อกอยู่แล้ว ก็เลยเขียนเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่แรกหรือเปล่าที่เขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบล็อกก็คือ เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ลูกศิษย์ และเพื่อน ๆ ได้อ่านกัน  ยิ่งเรื่องนี้มีเพื่อนตัวเองเป็นตัวละคร และตัวเองก็มีส่วนร่วมนิดหน่อยในงานวิจัยนี้ ด้วยการส่งตัวอย่างคำถามที่เป็นภาษาพูดให้อาจารย์วีระไปทดสอบระบบนี้ ก็เลยเขียนบล็อกโดยรายงานข่าว แล้วก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผมและอาจารย์วีระกำลังเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่อยู่คนละรัฐกัน และก็ไม่มีใครคิดว่างานวิจัยนั้นมันจะมาถึงขั้นนี้ 

หลังจากผมเขียนบล็อกแรกเสร็จ ก็มีลูกศิษย์อาจารย์วีระ และเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมคือ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้เอาเรื่องจากบล็อกผมไปขยายความในคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าอาจารย์วีระปวดหัวมาก เพราะมีนักข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์มากมาย ซึ่งอาจารย์วีระ เป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบตกเป็นข่าว อาจารย์ชอบใช้ชีวิตเงียบ ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด เอาจริง ๆ ตอนนนั้นผมก็รู้สึกไม่สบายใจนะ เพราะเหมือนผมเป็นคนต้นเรื่องเอามาเขียนบล็อก แต่คิดอีกทีถ้าผมไม่เขียน ก็ต้องมีคนอื่นเขียนอยู่ดี  

หลังจากนั้นคดีก็ดำเนินไป มีช่วงหนึ่งอาจารย์วีระก็ต้องเดินทางไปให้การไต่สวนที่ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นพยานในคดี ซึ่งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลของคดีก็คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อยุติคดี ไม่ต้องให้คดีไปขึ้นสู่ศาล ผมก็เลยมาเขียนบล็อกที่สอง และคิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้ว

คราวนี้มาดูความที่น่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากข่าวที่แชร์กัน หนึ่งเลยที่ผมค้นล่าสุด ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินที่ศาลสูง ดังนั้นสิ่งที่ข่าวเอามาแชร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จบไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ 

สอง คนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่อาจารย์วีระ แต่เป็นบริษัท (Dynamic Advances) ที่ทำเรื่องฟ้อง ซึ่งเงินที่ได้บริษัทก็จะแบ่งให้มหาวิทยาลัย (RPI) ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง จากนั้นเงินที่มหาวิทยาลัยได้ จึงจะมาแบ่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นคนทำงานวิจัย (อ.วีระ) ตามข้อตกลง ดังนั้นสรุปอาจารย์วีระ ไม่ได้เป็นคนฟ้อง Apple และก็ไม่ใช่ได้เงิน 24.9 ล้านเหรียญ

สาม ชื่อ Siri ไม่ได้มาจากการที่คนพัฒนาเป็นคนไทย ตอนนั้น Apple ยังไม่รู้เลยว่าจะถูกฟ้อง ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนหลักส่วนหนึ่งของโปรแกรมมาจากคนไทย มีคนเคยวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากคำเต็มที่ว่า Speech Interpretation and Recognition Interface ซึ่ง Apple ก็ไม่เคยออกมายอมรับคำเต็มนี้ และมีบางคนบอกว่าถ้าเป็นตัวย่อจริง Apple น่าจะใช้ SIRI เป็นตัวใหญ่ทั้งหมด แต่ Apple เลือกใช้ Siri ซึ่งจากบล็อกนี้ เขาวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากภาษานอร์เวย์ ซึ่งมีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า "beautiful woman who leads you to victory" หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ "สาวงามผู้จะนำทางคุณไปสู่ชัยชนะ" ซึ่งผู้ร่วมพัฒนา Siri เป็นคนนอร์เวย์ และจะตั้งขื่อลูกสาวตัวเองว่า Siri แต่ปรากฎว่าได้ลูกชาย ก็เลยเอามาเป็นชื่อแอปอย่างเดียว

สี่ อาจารย์วีระไม่ใช่คนพัฒนา Siri แต่ส่วนหนึ่งของ Siri อยู่บนฐานงานวิจัยคือ Natural Language Interface ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยวิธีการนี้อาจารย์วีระเป็นผู้คิดค้นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของอ.วีระ และต้องบอกว่าส่วนของงานนี้มันไม่ได้ใช้กับแค่ Siri ต่อไปสมมติถ้าได้ข่าวว่ามีการฟ้องร้อง Alexa ของ Amazon และมีชื่ออาจารย์วีระเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ก็อย่าได้ประหลาดใจ และอย่าไปคิดว่าอาจารย์วีระเป็นคนพัฒนา Alexa อีก กลัวเหลือเกินว่า ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้จะไปเข้าใจว่าอาจารย์วีระมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เลยตั้งชื่อตามลูกสาวว่า Alexa 

ห้า อาจารย์วีระในตอนนี้ไม่ได้สังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว อาจารย์ย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อยู่หลายปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และได้รับการต่ออายุให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยี 8 อย่างที่จะหายไปและอีกหนึ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป

ไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากเขียนนะครับ แต่ดูจากบรรยากาศแล้วไม่ค่อยน่าเขียนสักเท่าไหร่ หรือบางครั้งอ่านเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเขียนแต่ก็ไม่ว่างซะอีกจนลืมไปเลย พอดีวันนี้อ่่านบทความจาก Computer World  ซึ่งเขียนขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่าน่าสนใจดีประกอบกับรอดูบอลอยู่ ก็เลยถือโอกาสเขียนหน่อยแล้วกันครับ

บทความที่ผมอ่านนี้ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน 8 อย่าง ที่ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ในช่วงอีก 5 ถึง 20 ปีข้างหน้า และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรจะแทนได้ อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่ามีอะไรบ้างลองไปดูกันครับ เริ่มจากอุปกรณ์พวกมือถือแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ (wearable device) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อันนี้ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่าแนวโน้มมันน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างตอนนี้เราก็มีอุปกรณ์อย่าง Google  Glass ออกมาให้เห็นกันแล้ว ซึ่งใน 5-10 ปีนี้ เทคโนโลยีน่าจะลงตัวมากขึ้น ประกอบกับราคาก็น่าจะลดลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้

เทคโนโลยีอันต่อมาที่เขาคาดว่าจะหายไปคือสิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงไปในย่อหน้าที่แล้วครับ ใช่แล้วครับเขาบอกว่าเจ้าเทคโนโลยีของอุปกรณ์สวมใส่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีประเภทฝังตัว ถูกแล้วครับฝังเข้าไปในตัวเรานี่แหละ เขาบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นใน 20 ปี ครับ สำหรับอันนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่านะครับ เพราะผมคนหนึ่งหละที่จะไม่ยอมให้เอาอะไรแปลกปลอมมาใส่ในตัวผมแน่ แต่ไม่แน่ในอีก 20 ปี ข้างหน้ามันอาจกลายเป็นแฟชั่นสำหรับคนยุคนั้นก็ได้ ก็ไม่รู้ว่าผมจะอยู่จนได้เห็นหรือเปล่า แต่คิดอีกทีไม่อยู่ก็ดีนะครับ เพราะไม่อยากฟังหลานมาขอ "ปู่ครับขอเงินไปซื้อชิปคุกกี้นางฟ้ามาใส่ตัวผมหน่อยครับ" :(

แบตเตอรีแบบที่เราใช้ในปัจจุบันก็จะหายไปครับ โดยจะถูกแทนด้วยสุดยอดตัวเก็บประจุ (super capacitor) ซึ่งสุดยอดตัวเก็บประจุนี้จะชาร์จได้เร็ว และจะสามารถชาร์ซ้ำได้เป็นล้าน ๆ ครั้ง เขาบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะเริ่มเข้ามาภายใน 5 ปี และจะมาแทนที่แบตเตอรีอย่างสมบูรณ์ใน 10 ปีครับ ซึ่งแนวโน้มก็ควรเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะเราคงต้องการเทคโนโลยีที่ดีกว่าแบตเตอรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดก็คือรถยนต์ซึ่งในอนาคตแหล่งพลังงานหลักก็น่าจะมาจากไฟฟ้า ซึ่งถ้าต้องมารอชาร์จแบตกันทีเป็นชั่วโมงแล้วค่อยขับต่อไปก็คงไม่ไหวนะครับ

อีกเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะหายไปคือเมาส์และแป้นพิมพ์ครับ โดยจะถูกแทนที่ด้วยการสั่งงานด้วยเสียงและท่าทางครับ จริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้กันแล้วนะครับ การสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Siri (ซึ่งเบื้องหลังอาจเกิดจากงานวิจัยระดับป.เอกของอ.วีระ) หรือ Google Now โทรทัศน์หลายรุ่นก็สามารถใช้การสั่งงานด้วยท่าทางได้ และการใช้งานในลักษณะนี้ก็น่าจะสอดรับกับพวกอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้พูดถึงไปแล้วนะครับ เขาประมาณการไว้ว่าประมาณ 10 ปีครับท่ี่เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่เมาส์และแป้นพิมพ์ได้ แต่เขาบอกว่าอาจใช้เวลาถึง 20 ปีก็ได้ เพราะคนเราบางคนมักจะยึดติดกับความเคยชินเก่า ๆ ไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ผมว่าถ้าถึงยุคนั้นจริง ๆ ก็คงสนุกดีนะครับ นึกภาพดูในห้องเรียนอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งครูและนักเรียนโบกมือหรือโยกตัวไปมา เพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ของตัวเอง แล้วเราซึ่งมาจากยุคนี้ไปเห็นเข้าอาจนึกว่าเขากำลังเต้นแอโรบิคกันอยู่ก็ได้นะครับ

อุปกรณ์ที่มีปุ่มมีสวิทช์ก็จะหายไปครับ ต่อไปอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกันและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็เริ่มใช้กันแล้วนะครับอย่างพวกลำโพงไร้สายซึ่งสามารถเล่นเพลงจากมือถือของเราได้  แต่เขาบอกว่าในอนาคตมันจะล้ำไปกว่านี้อีกครับ คือการวิเคราะห์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์สามารถทำได้จากระยะไกลเลยครับ คือช่างอาจจะซ่อมเครื่องได้โดยไม่ต้องแตะเครื่องด้วยซ้ำ เขาคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10-20 ปีครับ แต่ผมว่าน่าจะเร็วกว่านั้นนะ

เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยีด้านความมั่นคง (security) ครับ คือในปัจจุบันเราต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะมีการแจ้งเตือน เช่นโจรต้องบุกเข้ามาในบ้านเราก่อนสัญญาณกันโขมยถึงจะดัง แต่ในอนาคตภายใน 5 ปี เขาคาดว่าระบบความมั่นคงจะเปลี่ยนไปเป็นแบบการทำนายล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นครับ โดยเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้ก็คือเรื่องของการทำเหมืองข้อมูล (data mining) นั่นเองครับ ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในระบบเครือข่ายเราใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามายังเครือข่ายของเราว่าเป็นข้อมูลที่มีอันตรายแอบแฝงมาหรือไม่

เทคโนโลยีถัดมายังอยู่ในหมวดความมั่นคงครับ คือในปัจจุบันเราใช้ระบบความมั่นคงที่เรียกว่าความมั่นคงตามหน้าที่ (role-based security) คือเราจะดูว่าคนคนนี้มีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าคนหนึ่งคนก็มักจะมีหลายหน้าที่อยู่แล้วใช่ไหมครับ เช่นหน้าที่เป็นประชาชน หน้าที่เป็นนักเรียน หน้าที่เป็นอาจารย์ ซึ่งในระบบที่เราใช้ในปัจจุบันเราก็จะมีบัตรประจำตัวตามหน้าที่ที่เรามีใช่ไหมครับ เรามีบัตรประจำตัวประชาชนและถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็จะมีบัตรประจำตัวนักเรียน ถ้าเราไปเรียนกวดวิชาก็จะมีบัตรประจำตัวโรงเรียนกวดวิชาอีกใบด้วย แต่ภายใน 5-10 ปี เราจะเปลี่ยนเป็นความมั่นคงแบบปรับตัวหรือแบบอิงบริบท (adaptive, contextual security) เราจะมีเลขประจำตัวเพียงชุดเดียว แต่สิทธิของเราอาจจะดูจากหลาย ๆ อย่าง เช่นอุปกรณ์ที่เราใช้ สถานที่ที่เราอยู่ และรูปแบบการทำงานของเรา ซึ่งถ้าเรามีการทำงานที่ผิดรูปแบบไป ระบบก็จะสามารถตรวจจับได้ว่ามีการละเมิดความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว แนวคิดคือคนจะมีเพียงตัวตน (identity) เดียว แต่จะมีสิทธิที่ต่างกันในเครือข่ายต่าง ๆ  เช่นผมเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลระบบของมหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือให้เลขประจำตัวใหม่กับผม เพียงแต่กำหนดสิทธิให้ผมสามารถเข้าใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในฐานะอาจารย์พิเศษ ดู ๆ มันก็สะดวกดีนะครับ แต่ผมมองว่าเราจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของเราให้ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะถ้าโดนโขมยไปเมื่อไหร่แย่แน่ ๆ ครับ

อีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งผมในฐานะอาจารย์ที่สอนทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์รอจะเห็นอยู่ก็คือ การที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจากการที่นักพัฒนาใช้โค้ดที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาเป็นหลัก มาเป็นการนำโค้ดที่มีการพัฒนาไว้แล้วจากนักพัฒนาคนอื่นมาประกอบกันเพื่อสร้างเป็นแอพพลิเคชันใหม่ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีการพัฒนาที่รองรับการทำงานแบบนี้อยู่แล้วเช่นการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอิงคอมโพเนนต์ (component-based) แบบอิงบริการ (service-based) ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมสอนอยู่ (ขอโฆษณาหน่อย :) ) ปัจจุบันเราสร้างแอพพลิเคชันท่ี่ใช้ส่วนต่อประสานการเขียนโปรแกรม (programming interface) ที่ผู้ให้บริการอย่าง Google หรือ Facebook เตรียมไว้ให้กันอยู่แล้ว แต่เขาคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี มันอาจจะเข้ามาเป็นวิธีการหลัก ซึ่งผมคิดว่าเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมก็น่าจะดีขึ้นด้วย อาจดีขนาดที่ว่าผู้ใช้ที่เป็นผู้ใช้เก่ง ๆ หน่อย ที่เรียกกันว่า power user อาจสามารถพัฒนาโปรแกรมที่ไม่ซับซ้อนนักได้ด้วยตัวเอง

และนั่นคือเทคโนโลยีแปดอย่างท่ี่จะถูกแทนที่ครับ คราวนี้เหลือเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ครับ ลองเดาดูไหมครับว่าคืออะไร... หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามันคืออีเมลครับ เขาบอกว่าอีเมลมีคุณสมบัติหลัก ๆ ที่ไม่สามารถจะหาอะไรมาแทนได้ นั่นคือการแนบไฟล์ การส่งถึงผู้รับหลายคนพร้อม ๆ กัน และการเก็บอีเมลที่ต้องการไว้อย่างถาวร ซึ่งคิด ๆ แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ อย่างน้อยในตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะแพร่หลาย ใช้งานได้สะดวกในการทำงานดังกล่าวมากกว่าอีเมล

ก็รอดูนะครับว่าจะแม่นหรือเปล่า สำหรับผมอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะได้อยู่เห็นไหม คนที่ยังอยู่ฝากส่งอีเมลไปนรกเอ๊ยไม่ใช่ต้องสวรรค์สิไปบอกด้วยนะครับ...