วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

เครื่องจะเปลี่ยนวิธีที่บริษัทใช้สื่อสาร

Photo by William Iven on Unsplash

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และการเรียนรู้ของเครื่องจากมหาวิทยาลัย Columbia และ Georgia State พบว่าปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI กำลังเปลี่ยนวิธีที่บริษัทจะสื่อสารกัน การประมวลผลภาษาธรรมชาติกำลังถูกใช้ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อความในเอกสารด้านการเงินที่บริษัทต้องส่งให้คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นส่วนการเรียนรู้ของเครื่องจะถูกใช้เพื่อสรุปข้อความ และจัดอันดับภาษาที่ใช้ว่าเป็นบวก ปกติ หรือเป็นลบ ซึ่งสัญญาณที่ได้จากเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้ผู้ให้คำปรึกษา นักวิเคราะห์ และนักลงทุนในการตัดสินใจ การดาวน์โหลดเอกสารจากเครื่องมีความสัมพันธ์กับความเร็วในการซื้อขายหลังจากที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้โพสต์เอกสารที่ถูกส่งมา ซึ่งสิ่งนี้ผลต่ออุตสาหกรรมด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยหลายบริษัทได้พยายามยกระดับการใช้ภาษาเพื่อให้เข้ากับระดับที่ส่วนการเรียนรู้ของเครื่องจะรายงานออกมา นักวิจัยบอกว่าหลักฐานนี้ชี้ให้ห็นว่าผู้บริหารควรระมัดระวังว่ารูปแบบการพูดและอารมณ์ของพวกเขา ซึ่งเมื่อถูกประเมินโดยคนหรือโปรแกรมจะส่งผลต่อการประเมินของนักลงทุนและนักวิเคราะห์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

ขั้นตอนวิธีที่จะป้องกันการระบุประเภทเซลล์มะเร็งผิดพลาด

ภาพจาก University of Kent (U.K.)

ขั้นตอนวิธีการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning algorithm) ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of Kent ในสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบความแตกต่างในสายของเซลล์มะเร็งจากภาพที่ถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งที่ผิดในห้องทดลอง  ทีมนักวิจัยได้ใช้ขั้นตอนวิธีบนตัวแบบคอมพิวเตอร์ที่มีการฝึกสอนด้วยการเปรียบเทียบประเภทของเซลล์มะเร็งจำนวนมาก ตัวโปรแกรมจะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสำรวจ ระบุ และเขียนป้ายระบุภาพถ่ายดิจิทัลแต่ละภาพของสายเซลล์ 


นักวิจัยบอกว่างานวิจัยนี้จะทำให้มีโอกาสที่จะระบุเซลล์ได้ถูกต้องมากขึ้น ลดข้อผิดพลาดในงานวิจัยด้านมะเร็ง และมีผลอย่างมากต่อการช่วยชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองคอมพิวเตอร์สามารถจัดสรรเงื่อนไขที่แน่นอนต่าง ๆ ในการระบุสายเซลล์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็หมายความว่าศักยภาพของนักวิจัยในอนาคตที่จะถูกฝึกให้ระบุเซลล์ได้อย่างแม่นยำอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Kent (U.K.)

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

กลยุทธ์ด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่ดีกว่า

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT), Northwestern University, และ University of Chicago ได้ข้อสรุปว่า รัสเซียใช้ที่อยู่ IP ของเกาหลีเหนือในการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ซึ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการหากลยุทธใหม่ทางด้านความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งเกี่ยวกับการตอบโต้แบบเจาะจง (selective retaliation) 

นักวิจัยบอกว่าสมมติว่าเขาคิดถึงแค่รัสเซียกับจีนทุกครั้งหลังจากมีการจู่โจม เขาก็จะปล่อยให้เกาหลีเหนือและอิหร่านรอดตัวไป ปัจจุบันมีตัวแบบมากมายที่ทำให้ประเทศตระหนักถึงเรื่องการโจมตี แต่กลับละเลยข้อมูลของการโจมตีและผู้โจมตี นักวิจัยพบว่ากลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการปรับปรุงการตรวจจับการโจมตี และเก็บข้อมูลของผู้โจมตีให้มากขึ้นก่อนที่จะมีการโต้ตอบ 

นักวิจัยยังบอกอีกว่า ถ้าเราเอาแต่คิดที่จะโต้ตอบแบบหน้ามืดตามัวหลังจากการถูกโจมตีทุกครั้ง ก็เพิ่มความเสี่ยงที่เราจะถูกโต้ตอบกลับ หลังจากสัญญาณเตือนที่ผิดพลาด 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News  

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ของ DeepMind สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้โดยไม่ต้องสอนกฏเกณฑ์การเล่น

Courtesy of Deepmind

MuZero ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาโดย DeepMind บริษัทลูกของ Alphabet สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้ โดยไม่ต้องสอนกฎการเล่นเกมให้ก่อน ระบบใช้วิธีลองทำเพื่อศึกษาว่าการกระทำนี้ขัดกับกฏของเกมหรือไม่ และในขณะเดียวกันก็ศึกษาด้วยว่าได้รางวัลจากการทำแบบนั้นด้วยหรือไม่ วิธีการนี้จะเหมาะกับการที่จะสอน AI ในงานที่ยากที่จะอธิบายให้โปรแกรมเข้าใจได้ MuZero เอาชนะ AI ของ DeepMind ตัวก่อนหน้าได้อย่างราบคาบ เนื่องจากมันใช้ข้อมูลน้อย เพราะจำลองจากพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเท่านั้น หลังจากฝึกสอนแล้ว MuZero จะใช้พลังประมวลผลน้อยมากในการตัดสินใจ ดังนั้นฟังก์ชันทั้งหมดของมัน สามารถติดตั้งใช้งานได้บนสมาร์ตโฟน


อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

สวัสดีปีใหม่ 2564 (2021)

Photo by Moritz Knöringer on Unsplash

สวัสดีปีใหม่ครับ ศรัณย์วันศุกร์วันนี้มาในวันปีใหม่พอดี เนื่องจากวันเริ่มต้นของปีนี้เป็นวันศุกร์ และเมื่อเริ่มต้นด้วยวันศุกร์ ก็หวังว่ามันจะเป็นปีที่ทำให้เรามีความสุขกันทุกคนนะครับ 

ในวันนี้ผมก็อยากจะเริ่มต้นด้วยการมองย้อนไปในปีที่แล้วจากการเขียนบทความลงในบล็อกนี้ของผมแล้วกันนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนะครับ เริ่มจากต้นปีมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 120,000 กว่าวิว จนถึงวันสุดท้ายของปีมียอดวิว  150,000 กว่าวิว ถ้าเอากลม ๆ ก็คือ ปีนี้มีผู้เข้ามาอ่านบล็อกทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าครั้ง ก็ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ถึงแม้ผมจะทำสำเร็จตามที่ตั้งปณิธานไว้ในปีที่แล้ว คือสรุปข่าวไอทีเขียนลงบล็อกวันละหนึ่งเรื่อง แต่บทความที่ถูกอ่านมากที่สุดกลับเป็นบทความเกี่ยวกับอ.วีระกับ Apple ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กับบทความสรุปให้ฟังอีกครั้งซึ่งเขียนในปีที่แล้ว ส่วนสรุปข่าวไอทีที่เขียนให้อ่านทุกวันก็พอมียอดอ่านอยู่บ้าง ก็หวังว่าในปีนี้จะเข้ามาอ่านกันให้มากขึ้นนะครับ ซึ่งผมจะพยายามคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาให้อ่านกันต่อไปครับ ส่วนศรัณย์วันศุกร์ก็จะพยายามหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนให้บ่อย ๆ ขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ครับ 

และสำหรับใครที่สนใจบทความด้าน Computing ก็ขอฝากบล็อกนี้ของผมไว้ด้วยครับ ซึ่งเอาจริง ๆ ปีที่แล้วก็ไม่ได้เขียนมากนัก เนื่องจากไม่มีเวลา เพราะจัดสรรเวลาแต่ในปีนี้ผมตั้งใจว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละบทความครับ 

ในปีนี้ปณิธานของผมที่ตั้งใจจะทำให้ได้ก็คือจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองตามที่ตั้งใจไว้มาหลายปีแล้ว  และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีกำลังดูแลคนในครอบครัว และเมื่อแก่ตัวลงมากกว่านี้จะได้ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวครับ ส่วนใครที่มีปณิธานอะไรก็ขอให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้นะครับ

ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนครับ