วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

ขั้นตอนวิธีทำนายว่าเรามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า

นักวิจัยจาก Harvard-affiliated Massachusetts General Hospital (MGH) ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่ออ่านประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และนำมาประเมินว่าผู้ป่วยจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ขั้นตอนวิธีนี้สามารถทำนายโอกาสการเกิดโรคนี้จากคนที่มีสุขภาพดี และสามารถทำนายได้แปดปีล่วงหน้า ซึ่งงานวิจัยนี้ทำในโรงพยาบาลสองแห่งคือ MGH’s Center for Quantitative Health, the Harvard T.H. Chan School of Public Health และ Harvard Brain Tissue Resource Center. การทดลองนี้ทำกับข้อมูลของผู้ป่วย 267,855 คน และพบว่า 2.4% ของผู้ป่วยมีอาการของโรคสมองเสื่อมหลังจากการติดตามผลมาแปดปี นักวิจัยบอกว่าการวิจัยแบบนี้สามารถทำซ้ำได้ทั่วโลกเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น และประโยชน์จากงานวิจัยนี้จะช่วยทำให้การวางแผนการรักษาทำได้ง่ายขึ้น 

ที่มา: The Harvard Gazette    

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ขอพูดถึงเรื่องวิชา Coding กับเขาบ้าง

หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนานวันนี้รู้สึกอยากเขียน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และกำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ เรื่องนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการแถลงนโนบายของรัฐบาลครับ ไม่ใช่เรื่องตัดพี่ตัดน้อง สส.สมุนโจร หรือสว.เลียท้อปบู๊ตทหารนะครับ แต่เป็นเรื่องการที่รัฐบาลจะให้เด็กเรียนโค้ดดิง (coding) โดยรมต.ออกมาพูดว่าเรียนโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ แล้วก็เกิดข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

ก่อนอื่นต้องบอกว่าถ้าเราได้ติดตามข่าวด้านการศึกษาในช่วงสองสามปีมานี้ จะพบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561โดยเปลี่ยนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศจากหมวดการงาน มาเป็นวิชาวิทยาการคำนวณในหมวดวิทยาศาสตร์ ซึ่งโค้ดดิงเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคำนวณ ดังนั้นเรื่องการโค้ดดิงนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะมาคิดริเริ่มจากกระทรวงศึกษาในรัฐบาลนี้ ซึ่งจุดประสงค์ของวิทยาการคำนวณนั้นเท่าที่ติดตามดู ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเด็กออกไปเป็นนักพัฒนาโปรแกรม แต่ต้องการสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้มันติดตัวเขาไปไม่ว่าในอนาคตเขาจะไปประกอบอาชีพใด เข้าใจว่าเด็กที่เรียนในปี 2561 จะเป็นเด็ก ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4

ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิง ในเด็กเล็กประถมต้น เขาจะไม่ได้ให้เรียนเขียนโปรแกรมกับคอมพิวเตอร์ แต่จะสร้างการคิดอย่างเป็นระบบผ่านทางเครื่องมืออย่างการ์ดคำสั่ง หรือเกมกระดาน (board game) เป็นต้น เด็กป.4 จะได้เรียนการเขียนโปรแกรมผ่านทางภาษาโปรแกรมประเภท Block Programming คือลักษณะการเขียนโปรแกรมที่นำเอา Block คำสั่งมาเรียงต่อกัน ซึ่งภาษาที่เขาจะให้เรียนคือ Scratch ซึ่งจะให้เรียนในชั้น ป.4  ส่วนเด็กมัธยมก็จะได้เรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ง่าย เท่าที่ตามข่าวมาและพยายามทำความเข้าใจก็คือเขาน่าจะไม่ได้ให้เด็กไปเน้นที่ตัวไวยากรณ์ของภาษา ดังนั้นภาษาเขียนโปรแกรมที่เลือกใช้จึงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้เรียนได้เน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างมีตรรกะ และเป็นระบบมากกว่า   

ในส่วนของคำว่าโค้ดดิงผมขออ้างอิงจาก  Facebook ของ อ.ยืน ภู่วรวรรณ ปรมาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยคนหนึ่งที่บอกว่า

"โค้ดดิ้ง (Coding) เป็น Broader term ส่วน คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง (Computer coding) หรือ โปรแกรมมิ่ง (Programming) เป็น Narrow term คือมีความหมายที่แคบกว่า หรือเป็น Subset
โค้ด คือรหัส หรือการทำสัญลักษณ์ การโค้ดดิ้งคือ การเขียนสัญลักษณ์ เพื่อการบอกลำดับขั้นตอน ลำดับความคิด เพื่อสื่อสารให้เข้าใจกัน"

ดังนั้นการโค้ดดิงคืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราเขียนอธิบายเส้นทางเพื่อให้คนส่งของมาส่งของที่บ้านเราถูกมันก็คือการโค้ดดิงแบบหนึ่ง การเขียนหนังสือการเขียนบทความให้อ่านรู้เรื่องก็เป็นการโค้ดดิงแบบหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราสามารถคิดและสื่อสารได้อย่างเป็นระบบแล้ว มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร พูดถึงตรงนี้แล้วผมก็อยากบอกอีกครั้งว่า (เข้าใจว่าน่าจะเคยเขียนไปในบล็อกก่อน ๆ บ้างแล้ว) สิ่งที่อยากให้นำกลับมาในระบบการศึกษาระดับประถมมัธยมของเราก็คือวิชาเขียนเรียงความ เพราะจากประสบการณ์ดูแลปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาตั้งแต่ป.ตรีถึงป.เอก พบว่าหลายคนเขียนกันไม่ค่อยจะเป็น คือบางครั้งไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เขียนแล้วจับใจความไม่ได้ว่าจะสื่อถึงอะไร

กลับมาที่โค้ดดิงที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม ที่น่าจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ รมต.ช่วยศึกษาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ชูประเด็นเรื่องโค้ดดิง และพูดถึงคำว่าภาษาที่สาม และบอกว่าโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ในความเห็นส่วนตัวคงต้องจับประเด็นก่อนว่ารมต.จะพูดถึงอะไรกันแน่ ถ้าพูดถึงโค้ดดิงในแบบภาพกว้าง ตามที่อ.ยืนบอก อันนี้ก็ใช่อาจไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ เพราะการแสดงแนวคิดของโปรแกรมนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ อย่างเช่นการเขียนโฟลว์ชาร์ต (flowchart) หรือรหัสเทียม (pseudo code) ซึ่งอันนี้จะหมายถึงภาษาที่สามของรมต.หรือเปล่า?

แต่ถ้าภาษาที่สามหมายถึงภาษาเขียนโปรแกรม ส่วนตัวเห็นว่าการเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาสมัยใหม่ที่เข้าใจง่าย มีไวยากรณ์ไม่ซับซ้อนอย่างภาษา Python หรือ Block Programming แบบ Scratch การนั่งเขียนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ง่ายกว่า ไม่ต้องไปเขียนลงกระดาษก่อนให้เสียเวลา เพราะผู้เรียนสามารถมองเห็นผลการทำงานของตัวโปรแกรมได้ทันที ในโปรแกรมที่ไม่มีความซับซ้อน และใช้ภาษาโปรแกรมสมัยใหม่ (จริง ๆ ถ้าคล่องแล้วแม้แต่ภาษาสมัยเก่าก็ใช้ได้นะ) ผมว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือรหัสเทียม ก่อนด้วยซ้ำ เพราะตัวภาษาเองก็เข้าใจง่ายพอ ๆ กับเขียนรหัสเทียมอยู่แล้ว  อันนี้ไม่ได้บอกว่าไม่จำเป็นต้องรู้จักการเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือการเขียนรหัสเทียมนะครับ เพราะมันยังเป็นประโยชน์อยู่ในการสื่อสารอะไรที่มันซับซ้อน หรือต้องการสื่อสารแนวคิดที่ไม่ผูกติดกับภาษาเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ภาษาเขียนโปรแกรมมีมากมายหลายภาษา แต่ละภาษาก็มีจุดดีจุดด้อย มีความเหมาะสมกับงานต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้เด็กรู้จักภาษาเขียนโปรแกรมเป็นภาษาที่สามควรใช้ภาษาอะไรดี

ดังนั้นการโค้ดดิงและภาษาที่สามน่าจะหมายถึงการทำให้เด็กคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีตรรกะ และสื่อสารได้อย่างเป็นระบบหรือเปล่า? ซึ่งตรงนี้เท่าที่อ่านจากหลาย ๆ สื่อ มีคนบอกว่าถ้าจะหมายถึงอย่างนี้เปลี่ยนจากคำว่าโค้ดดิงเป็นอย่างอื่นดีไหม เช่นความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving) อย่างเป็นระบบอะไรแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามีความสำคัญนะครับ เพราะถ้าไม่สื่อสารชี้แจงกันให้ดี ผมว่าเดี่ยวมันก็จะกลายเป็นเหมือนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราที่เน้นกันแต่ไวยากรณ์ แต่เอาไปพูดกับฝรั่งไม่ได้ การเรียนโค้ดดิงนี่ก็อาจจะกลายเป็นเน้นอะไรแบบนี้ เธอเขียนสัญญลักษณ์ของโฟลว์ชาร์ตตัวนี้ผิดนะ หรือคำสั่ง "Print()" ของเธอผิดนะ เพราะเธอใช้ P จริง ๆ ต้องใช้ p อะไรแบบนี้ 

สุดท้ายผมขอจบบล็อกนี้ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นว่าการคิดอย่างเป็นระบบนั้นมันอยู่รอบ ๆ ตัวเรา บางครั้งมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เรามองข้ามไป

(หมายเหตุเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากเรื่องจริง แต่อาจมีการดัดแปลงคำพูดบางอย่าง และตัวละครเพื่อให้มีความเหมาะสม :))

หลายปีก่อนนักศึกษาป.ตรีที่เป็นนักศึกษาในที่ปรึกษาผม นำเล่มที่จะต้องใช้ขึ้นสอบหัวข้อมาให้ดูเป็นครั้งแรก นักศึกษาเขียนมาครบสามบทที่ต้องมีในการสอบ แต่นักศึกษาใช้วิธีรันเลขรูปแบบนี้สมมติบทที่ 1 มี 10 รูป ก็รันไปรูปที่ 1 ไปถึงรูปที่ 10 พอขึ้นบทที่ 2 ก็เริ่มตั้งแต่รูปที่ 11
ผม: คุณได้เคยเปิดเล่มของรุ่นพี่ดูบ้างไหมว่าเขารันเลขรูปยังไง
นศ.: ไม่เคยครับ
ผม: (เอาเล่มรุ่นพี่ให้ดู) เขารันยังไง
นศ.: เขารันแบบบทที่ 1 ก็ใช้รูป 1.1 1.2 ไปเรื่อย ๆ พอบทที่ 2 ก็เริ่มรันจาก 2.1 2.2 โอเค ผมเข้าใจแล้วครับ เดี๋ยวกลับไปแก้เลยครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว รู้ไหมทำไมเขาทำแบบนี้
นศ.: (ทำหน้าครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง) เอ้อ เพื่อความเป็นระเบียบหรือครับ
ผม: อืม มองไม่ออกจริง ๆ หรือ คุณลองคิดสิว่าถ้ารันเลขรูปแบบคุณ สมมติว่าถ้าผมบอกว่าให้คุณไปเพิ่มรูปในบทที่ 1 ไปรูปหนึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้น
นศ.: (ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) โอ้วเข้าใจแล้วครับ ผมก็ต้องไปรันเลขรูปใหม่ทั้งหมดในบทที่ 2 และบทที่ 3 ด้วย แต่ถ้าทำแบบพี่การเพิ่มหรือลดรูปในบทที่ 1 ก็จะไม่กระทบส่วนที่เหลือของเล่มครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว
นศ.: (ทำหน้าแบบจะเอายังไงกับตูอีกวะ)
ผม: แล้วรู้ตัวไหมว่ามันน่าอายที่เราซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เราเรียนและใช้มาตลอดเวลาที่เราทำโปรแกรมมาใช้กับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ ไหนลองตอบหน่อยสิว่าสิ่งที่รุ่นพี่ทำนี่มันน่าจะตรงกับอะไรในสิ่งที่เราเรียนและใช้ทำโปรแกรมมา
นศ.: (ทำหน้าแบบ จัดเล่มมันเกี่ยวอะไรกับทำโปรแกรมวะ ผ่านไปสักครู่ ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) ได้แล้วครับ Modular Design ครับอาจารย์ ถ้าเราออกแบบและพัฒนาเป็นโมดูล การแก้ไขใด ๆ ก็จะกระทบเฉพาะในโมดูลนั้น
ผม: เออ ดีแล้ว เข้าใจแล้วนะ ไปได้ อาจารย์จะได้ดู Netflix ต่อ เอ๊ยไม่ใช่ทำงานต่อ




วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อธิบายปัญหาการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ

วันนี้พอมีเวลานิดหน่อยเลยอยากจะมาพูดถึงปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ จริง ๆ ปัญหานี้เป็นมานานแล้ว และเพิ่งได้ข้อสรุปชัดเจนเมื่อวานนี้ นั่นคือการคำนวณสส.แบบบัญชีรายชื่อ คือผมจะมาสรุปประเด็นว่าเราเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ เพราะจากการคุยกับคนใกล้วตัวก็ดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก

เริ่มจากระบบเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังมีสส.ที่เลือกตั้งจากเขต และสส.แบบบัญชีรายชื่อเหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่คราวนี้เราใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเลือกสส.ทั้งสองแบบ โดยกระบวนการคือเขาจะเอาคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้ไปหาสิ่งที่เรียกว่าสส.พึงมี จากนั้นก็มาดูรายเขตว่าใครชนะรายเขตบ้าง จากนั้นจึงไปหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาสส.พึงมี-สส.เขต  เช่นสมมติพรรค A มีสส.พึงมี 130 คน และถ้านับรายเขตแล้วชนะมา 120 เขต พรรค A ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่อ 130-120 ก็คือ 10 คน

วิธีการคำนวนสส.พึงมีก็คือ เริ่มจากหาก่อนว่าจากผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมดและหักบัตรเสียกับบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนไปแล้ว กี่คะแนนจึงจะได้สส. 1 คน ผมจะสมมติเลขกลม ๆ ว่าเลขนี้คือ 35,000,000 คราวนี้เรากำหนดให้ในสภาเรามีสส. ได้ 500 คน ดังนั้นเอา 35,000,000 / 500 =  70,000 นั่นคือ 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ดูเลขนี้ไว้ให้ดีนะครับ โดย 500 คนนี้จะแบ่งเป็นสส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน

ขั้นต่อไปคือเอาคะแนนที่ได้ทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้มาหารด้วย 70,000 ก็จะได้สส.พึงมีของพรรคนั้น เช่นพรรค A ได้รับเลือกตั้งมา 7,000,000 คะแนน ก็เอา 7,000,000/70,000 = 100 นั่นคือสส.พึงมีของพรรค A คือ 100 คราวนี้สมมติพรรค A ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมา 80 เขต ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 100 คน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าโอเวอร์แฮงค์ คือ พรรคการเมืองบางพรรคดันได้สส.เขตเกินจำนวนสส.พึงมี เช่นพรรค A จากตัวอย่างนี้ดันได้สส.เขต 110 คน ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปตัดคะแนนสส.เขตของพรรค A นะครับ นั่นคือพรรค A จะต้องมีสส.เขต 110 คน โดยไม่มีสส.บัญชีรายชื่อ แต่จำนวนสส.ที่เกินพึงมีมาของพรรค A มันจะไปโป่งอยู่ในส่วนของสส.บัญชีรายชื่อครับ และนี่คือที่มาของปัญหาว่าเราต้องเกลี่ยมันให้เหลือ 150 เท่าเดิม ยังงงใช่ไหมครับมาดูตัวอย่างกัน

พิจารณาตารางนี้ครับ

พรรคสส.พึงมีสส.เขตสส.บัญชีรายชื่อ
A1701800
B13011020
C1103080
D902961
E010
F000
G000
Total500350161

จากตารางจะเห็นว่า พรรค A มีสส.เขตเกิน สส.พึงมีอยู่ 10 คน พรรค E,F,G  แต่ละพรรคมีจำนวนคะแนนรวมไม่ถึง 70,0000 ดังนั้นไม่มีสส.พึงมีเลยคือ 0 แต่สมมติว่าพรค E ชนะการเลือกตั้ง 1 เขต ดังนั้นเขาต้องได้สส. 1 คนจากเขตนี้ ดังนั้นจำนวนสส.ที่เกินมาทั้งหมด 11 คน (10 จากพรรค A และ 1 จากพรรค E) จะไปโป่งอยู่ในส่วนบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้บัญชีรายชื่อที่ควรมี 150 คน กลายเป็น 161 คน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องเกลี่ย 161 นี้ให้เหลือ 150 โดยพรรค A และ E ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะได้เกินไปแล้ว และการเกลี่ยนี่แหละคือปัญหาครับ

ในมุมมองหนึ่งคือการเกลี่ยควรจะเกลี่ยจากพรรค B,C, และ D เท่านั้น เพราะพรรคเหล่านี้ได้เกิน 70,000 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของสส.พึงมี แต่กกต.กลับใช้อีกมุมมองหนึ่งคือ เขาไปเอาพรรค F และ G ที่เข้ามาเกลี่ยด้วย โดยอ้างว่าพรรคเหล่านี้ก็ได้คะแนนเหมือนกัน และนี่คือปัญหาที่ถกเถียงกันตอนนี้ครับ เพราะถ้าใช้ใช้แนวทางนี้ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 ก็มีสิทธิได้สส.หนึ่งคนครับ ในสถาณการณ์จริงตอนนี้คือตั้งแต่ 60,000 กว่า ถึง 30,000 กว่าได้พรรคละหนึ่งเสียง และยังทำให้พรรคที่เคยได้บัญชีรายชื่ออยู่แล้ว พอมาเกลี่ยเสียงก็จะต้องหายไปบ้างอยู่แล้ว พอมาทำแบบนี้จะทำให้เสียงหายเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ซึ่งในส่วนตัวผมแล้วผมเห็นว่าทางที่ถูกต้องมันควรจะเป็นทางแรกนะครับ เพราะคุณต้องยึดตัวเลข 70,000 เป็นที่ตั้ง 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ถ้าไม่ถึง 70,000 ยังไงก็ต้องไม่ได้ อีกอย่างถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โอเวอร์แฮงค์พรรค F กับ G สอบตกไปแล้วนะครับ แต่ทำไมพอโอเวอร์แฮงค์ถึงมีสิทธิกลับมาสอบผ่านได้ ไม่ฟันธงนะครับ แค่ความคิดส่วนตัวไปตัดสินกันเอาเอง แค่อยากเขียนบล็อกสรุปปัญหาไว้ให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ เท่านั้นครับ   


วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ผลการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจก็ออกมาแล้ว ถึงจะไม่เป็นทางการ ก็มีอะไรน่าสนใจที่คิดว่าอยากจะบันทึกเอาไว้สักหน่อย ถ้าถามว่าในฐานะที่ไม่เอาพวกยึดอำนาจ รู้สึกผิดหวังไหม ก็ไม่นะ เพราะคิดอยู่แล้วว่ายังไงก็ได้ประยุทธ์เป็นนายกต่อ แต่ยังไงพรรคที่ไม่เอาประยุทธ์ก็ยังได้จำนวนสส.มาเป็นอันดับหนึ่ง (ถ้าไม่มีอภินิหารจากกกต. มาสอยออกไปอีกนะ) แต่ก็ผิดคาดในหลายประเด็น

ประการแรกที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก ก็คือการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่อย่างอนาคตใหม่ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นใครก็ไม่รู้ มีแกนนำพรรคเป็นที่รู้จักอยู่สองสามคนเท่านั้น แต่สามารถได้สส.ถึง 80 กว่าคน และไม่ใช่แค่สส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่คาดไว้ แต่ได้สส.เขตด้วย นั่นก็แสดงว่ามีคนที่เลือกสส.เพราะอุดมการณ์และนโยบายอย่างเดียวจริง ๆ และอาจจะมีคนเบื่อของเก่าอาจอยากลองของใหม่ด้วย ซึ่งส่วนตัวอยากให้พรรคนี้พัฒนาตัวเองให้กลายเป็นพรรคที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนต่อไปนาน ๆ เพราะส่วนหนึ่งที่การเมืองไทยมีปัญหามานาน เพราะมันมีทางเลือกหลัก ๆ แค่สองทาง ซึ่งพอทางเลือกหนึ่งมีปัญหา จะหันไปหาอีกทางเลือกหนึ่งก็ดูจะฝากความหวังอะไรไม่ได้

ประการที่สองก็คือความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่คิดว่าจะแพ้ได้ขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะเป็นผลงานเก่าที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเอาชนะทักษิณได้ และอาจเป็นการเดินนโยบายผิดพลาดของหัวหน้าพรรคที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์ คนที่เกลียดทักษิณก็เลยไปเลือกพรรคพลังประชารัฐโดยตรง และด้วยความที่พรรคไม่ชัดเจนว่าจะร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่ คือไม่เอาประยุทธ์ แต่ก็อาจรวมกับพลังประชารัฐได้ คนที่ไม่ชอบประยุทธ์ ก็เลยไปเลือกอนาคตใหม่แทน และก็อาจมีคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ไปที่อนาคตใหม่ด้วย และอีกอย่างก็คือสส.บางส่วนถูกดูดไปยังพลังประชารัฐด้วย

ประการที่สาม เพื่อไทย เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่าแย่นะ เพราะได้สส.เขตมาถึง 130 กว่าเสียง แสดงว่าสส.ในพื้นที่เขายังแข็งแกร่ง และเขาก็คาดอยู่แล้วว่าเขาจะไม่ได้บัญชีรายชื่อ แต่อาจจะได้น้อยกว่าที่คาดไปหน่อย เพราะถูกอนาคตใหม่แบ่งไปบ้าง และยังมีสส.ที่ถูกดูดไปที่พลังประชารัฐด้วย ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีผลลดคะแนนพรรคนี้จริง ๆ อีกอย่างก็คือแผนการที่จะเอาไทยรักษาชาติมาช่วยต้องพังไปซะก่อน ทำให้เสียงหายไปแน่ ๆ ร้อยกว่าเขต และคิดว่าหลังผลออกมาเขาคงเห็นแล้วละว่า สู้ส่งให้ครบ 350 เขตเลยดีกว่า  เพราะจากอนาคตใหม่และพลังประชารัฐก็เห็นแล้วว่าได้เสียงเยอะเพราะส่งครบทุกเขต แต่ก็อย่างว่านะสมมติเพื่อไทยไม่แตกออกมาเป็นไทยรักษาชาติ ดีไม่ดีป่านนี้ถูกยุบไปด้วยกันแล้ว กรณีเสนอแคนดิเดทนายก

ประการที่สี่ พลังประชารัฐได้มากกว่าที่คาด แสดงว่าพลังดูดที่ดูดสส.จากหลายพรรคไปมีผลจริง ๆ และยังได้เสียงจากคนที่ไม่ชอบทักษิณที่ผันแปรมาจากประชาธิปัตย์อีกด้วย และการที่ประยุทธ์ลงพื้นที่นี่ก็น่าจะมีผล นอกจากนี้คิดว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี่ก็มีส่วนมาก และการหาเสียงในช่วงสุดท้ายที่ชูเรื่องความสงบ โดยสามประสานประยุทธฺบอกให้คิดถึงปี 57 สุเทพบอกถ้าเลือกอีกฝั่งก็มีสิทธิเจอกันอีกที่ราชดำเนิน และพลังประชารัฐก็ปิดท้ายด้วย ถ้าอยากสงบจบที่ลุงตู่ คิดว่าอันนี้ก็คงมีผลกับประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้คิดอะไรกับใครเป็นพิเศษ เป็นพวกคิดว่าชีวิตก็ทำมาหากินไป ใครจะมาเป็นก็ต้องทำมาหากินอยู่แล้ว เอาที่มันเดินทางสะดวกไม่มีม็อบก็แล้วกัน

ประการที่ห้า ที่แย่ที่สุดก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำงานได้แย่มาก ไม่ได้คุ้มกับงบประมาณที่ต้องเสียไปห้าพันกว่าล้านในการจัดเลือกตั้ง มีปัญหาตั้งแต่เป็นการประชาสัมพันธ์ การตัดสินเรื่องต่าง ๆ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่แม่นกฎ และบางกรณีก็แสดงสิ่งที่ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นกลางจริงไหม ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยันเลือกตั้งจริง ซึ่งบางเรื่องมันไม่ควรจะเกิดเลย หรือน่าจะแก้ได้ ถ้าบริหารจัดการกันเป็น  เรื่องการชี้แจงก็ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องที่มันสำคัญอย่างทำไมจำนวนบัตรมากกว่าจำนวนคนมีสิทธิ การขานบัตรดีบัตรเสีย และการที่มีมัตรเสียเยอะมาก แล้วยังทำงานช้าประกาศผลช้า ยุคก่อน อินเทอร์เน็ตก็ไม่ดีอย่างทุกวันนี้ เลือกตั้งเสร็จบ่ายสาม สองสามทุ่มก็ประกาศผลแล้ว คืนวันเลือกตั้งก็เห็นหน้าตารัฐบาลแล้ว มายุคนีี้เทคโนโลยีก็ก้าวหน้ากว่าไม่รู้เท่าไร แต่ไม่สามารถนับผลให้เสร็จได้ อ้างโน่นอ้างนี้ ทุกคนผิดหมดยกเว้นตัวเอง ทั้งหมดทำให้ประชาชนมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ และดีไม่ดีอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้  นี่หรือคือคนที่สนช.คัดมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แล้วบอกว่านี่ดีที่สุดแล้ว ถ้าดีที่สุดได้แค่นี้ มันก็แสดงถึงความสามารถของคนเลือกด้วยนะ มันมีคนที่ตั้งใจมาใช้สิทธฺเลือกตั้งครั้งนี้ และบางคนใช้เป็นครั้งแรก ถ้ามันเป็นแบบนี้ ต่อไปเขาก็อาจไม่มาก็ได้


และประการสุดท้าย คือจำนวนผู้มาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริงน้อยกว่าที่คาดมาก เพราะมากันแค่ ร้อยละหกสิบกว่า ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน  ไม่รู้ถ้ามากันมากกว่านี้ ผลมันจะเปลี่ยนไปไหม

อ้อแถมอีกนิด รอดูวันที่จะเห็นประยุทธ์ถูกอภิปรายในสภาด้วยครับ ว่าจะเอาตัวรอด หรือคุมอารมณ์อยู่ไหม

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกก่อนไปเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ด้วยวัยขนาดนี้ก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาตื่นเต้น อยากจะเลือกตั้งอะไรอีก แต่คราวนี้รู้สึกตื่นเต้น เหตุผลหลัก ๆ ก็คือส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะที่ผ่าน ๆ มาตัวเองไม่ค่อยแคร์เท่าไร เพราะเท่าที่ติดตามการทำงานของนักการเมืองมาในแต่ละพรรคมันก็มีทั้งดีทั้งแย่ บางพรรคมีบางคนบริหารเก่ง แต่ก็มีคนที่ไม่ได้เรื่องได้ราวด้วย พอมีตำแหน่งก็ใช้อำนาจระรานเขา บางพรรคประกาศว่าไม่โกง ก็อาจจริงที่ตัวคนประกาศไม่โกง แต่พอคนใกล้ตัวหรือคนที่เป็นคนที่สามารถค้ำบัลลังก์ตัวเองได้ทำอะไรที่ดูไม่เหมาะสม ก็แกล้งหลับตามองไม่เห็นซะ

ตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบทักษิณ และเคยคิดว่ารอดคดีซุกหุ้นภาคแรกมาได้ยังไง และที่ไม่ชอบที่สุดคือหลังจากชนะเลือกตั้งครั้งที่สองมาอย่างถล่มทลาย ก็รู้สึกว่าเริ่มเหลิงอำนาจ จำได้ว่ามีวันหนึ่งฟังวิทยุ และเขาถ่ายทอดไม่แน่ใจว่าประชุมครม.หรืออะไร มีการให้ข้าราชการไปชี้แจงเรื่องอะไรสักอย่าง ข้าราชการคนนั้นอ้าปากพูดจะตอบคำถามจะชี้แจง ทักษิณพูดขัดตลอด และใช้น้ำเสียงที่ไม่เหมาะสมด้วย ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นได้ และยังเรื่องชอบพูดอะไรไม่คิด (คล้าย ๆ ประยุทธ์ตอนนี้ แต่ยังดีกว่าเยอะนะ) อย่างไอเอ็มเอฟไม่ใช่พ่อ ซึ่งกองเชียร์คิดว่าเท่ซะเหลือเกิน แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นผู้นำประเทศ ยังต้องติดต่อทำธุรกรรมกับเขาอีกเยอะมาพูดอย่างนี้ได้ยังไง  แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรืออคติแบบไม่ลืมหูลืมตาว่าความเลวทุกอย่างในโลกนี้ถ้ามีชื่อทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องมันต้องจริงหมด ซึ่งตอนนี้ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่ารู้ทันทักษิณ ก็กำลังทำกับธนาธรแบบเดียวที่ทำกับทักษิณ พูดถึงเรื่องนี้ก็น่าประหลาดนะ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องที่กล่าวหาทักษิณหลายเรื่องมันก็ดูซับซ่้อน แต่คนเหล่านี้เข้าใจได้ แต่กับเรื่องที่พวกยึดอำนาจทำอยู่ตอนนี้เข้าใจง่ายกว่าตั้งเยอะ ก็มองข้ามไป หรือจริง ๆ สำหรับคนเหล่านี้อะไรก็ได้ใครก็ได้ขออย่าเป็นทักษิณพอ 

ส่วนอภิสิทธิ์ ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ก็เชียร์นะ แต่พอเวลาผ่านไปเขาทำให้ผิดหวังมาก เพราะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ยึดมั่นในระบบจริง ๆ การเมืองนอกสภาก็เอา บอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วสองครั้ง มีโอกาสได้บริหารประเทศก็ไม่ได้แสดงถึงความเก่งอะไรอย่างที่คาดหวังไว้ (อาจตั้งความหวังไว้เยอะเกินไป) ยิ่งไปกว่านั้นยังมี DNA ของพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว ส่วนตัวคิดว่าไอ้ DNA นี้อาจติดตัวพรรคนี้มานานแล้ว แต่มันมาเข้มข้นขึ้นยุคอภิสิทธิ์นี่แหละ

ดังนั้นในช่วงก่อนที่มีตัวเลือกหลัก ๆ แค่สองทางนี้ ก็รู้สึกว่าไม่อยากเลือกใครเลย แต่ถ้าต้องเลือกจริงก็คงไม่เลือกปชป. แต่สุดท้ายก็โหวตโนนะ เพราะยุคที่ไทยรักไทยถูกยุบกลายเป็นพลังประชาชนและกลายเป็นเพื่อไทย จนต้องใช้ชุดสำรองมาลงเลือกตั้งยิ่งรู้สึกไม่มีตัวเลือกเข้าไปใหญ่ ก็โหวตโนมันซะเลย

ตัวเองเป็นคนไม่ชอบวิธีการนอกระบบทั้งหลาย ด่ามันมาหมดแล้วตั้งแต่พันธมิตร นปช. กกปส. สนธิ (ทหาร) ประยุทธ์ที่ยึดอำนาจก็ด่า ปีที่พันธมิตรประท้วง จำได้แม่นตอนที่พวกนี้ยกขบวนกันไปสนามบิน เพราะคืนก่อนหน้าที่พวกนี้จะเดินไปสนามบิน ตัวเองผ่าตัดไส้ติ่ง พอตอนเช้าตื่นขึ้นมาเปิดทีวีดู เซ็งมาก พวกนี้มันทำอะไรกันเคยนึกถึงผลเสียที่จะตามมาไหมนี่ แล้วยังลามปามไปถึงยึดทำเนียบไปทำนาปลูกข้าวอีก ส่วนนปช. ก็จำได้แม่น ตอนพวกนี้ยกขบวนไปทำให้ประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้ม ตอนดูข่าวเห็นผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเล เพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน ดูข่าวแล้วอยากร้องไห้ ถามตัวเองว่าคนพวกนี้ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนหรือว่าเวลามีแขกไปใครมาที่บ้าน ถ้ามีเรื่องอะไรกันให้เก็บไว้ก่อน ต้อนรับแขกก่อน ส่งแขกกลับบ้านแล้วค่อยคุยกัน และก็เห็นว่าไหน ๆ ตัวเองก็เดินเกมการเมืองพลาดไปแล้ว อภิสิทธิ์ได้เป็นนายก ก็ไม่เห็นเป็นไร รอครบวาระ หรือจะใช้วิธีในสภาก็ได้กดดันให้เขายุบสภาไป แต่ก็ดันไปเลือกวิธีประท้วง ไปปิดย่านเศรษฐกิจอย่างราชประสงค์ พวกแกเป็นบ้ากันหรือไง และฉากสุดท้ายก็จบไม่สวย ซึ่งตรงนี้ก็ยังงงอยู่นะว่ามันเกิดได้ยังไง จำได้ว่าอภิสิทธื์ประกาศยอมให้เลือกตั้งใหม่แล้ว แกนนำก็ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว แต่กลับเกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายมีการเผาห้าง ซึ่งกลายมาเป็นวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง (ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปจริง ๆ ว่าใครเผา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพวกนี้ไม่มาชุมนุมกัน มันก็ไม่เกิดเรื่อง) มาจนถึงพวกนกหวีด กกปส. บอกตามตรงเลยนะ ว่าตอนออกมาเดินขบวนต้านพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอยกันนี่โอเค แต่พอยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว ดันไม่เลิก ประท้วงต่อกันอีก ชัตดาวน์กรุงเทพกันสนุกสนาน ไม่ได้สนใจเลยว่าประเทศจะเป็นยังไง ยังไม่พอยังไปป่วนเลือกตั้งอีก ตัวเองเป็นหนึ่งในยี่สิบล้านเสียงที่ออกไปเลือกตั้ง แต่ดันต้องเป็นโมฆะ ก็ไม่เข้าใจนะว่าเรียกตัวเองเป็นมวลมหาประชาชน แต่ดันกลัวแพ้เลือกตั้ง เคยคุยกับคนที่เชียร์กกปส.คนหนึ่งถามว่า ทำไมไม่ไปเลือกตั้งกันล่ะ ถ้าเป็นคนหมู่มากจริงก็พร้อมใจกันไปเลือกปชป.สิ ได้รับคำตอบว่าก็ไม่ได้ชอบปชป.เหมือนกัน ส่วนตัวนี่งงเลย เกลียดทักษิณขนาดนั้นทำไมไม่ยอมเลือกปชป.  คือขนาดตัวเองที่ไม่เคยคิดจะเลือกปชป. ปีนั้นยังตั้งใจแล้วว่าจะกลั้นใจเลือกปชป. ที่มีอภิสิทธิ์เป็นผู้นำนี่แหละ ลงโทษเพื่อไทยซะหน่อย ทำวุ่นวายมาหลายครั้งแล้ว แล้วทำไมพวกมวลมหาประชาชนถึงไม่ยอมเลือก แต่สุดท้ายปชป.ก็บอยคอตเลือกตั้งด้วย อยากจะบอกปชป.ว่าคุณได้ทิ้งโอกาสที่จะได้คะแนนจากผมไปแล้วนะ (พูดอย่างกับเขาจะแคร์ 55)

สุดท้ายก็จบที่ยึดอำนาจต้องทนอยู่กับประยุทธ์มาห้าปีกว่า ซึ่งต้องบอกว่าเป็นห้าปีที่รู้สึกอึดอัดมาก แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าประยุทธ์ก็มีข้อดีในแง่ของการกล้าจัดการอะไรที่ไม่เป็นระเบียบ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าที่ทำได้เพราะประยุทธ์มีมาตรา 44 ซึ่งรัฐบาลปกติไม่มี แต่อย่างที่บอกส่วนตัวไม่ชอบอะไรที่นอกระบบแบบนี้ เราได้ใครมาบริหารก็ไม่รู้ เราไม่ได้เลือกถ้าคนอื่นเลือกมาเราก็ยอมรับได้ แต่นี่ยึดอำนาจเข้ามา แล้วยังไม่ยอมรีบคืนด้วย คุมอารมณ์ตัวเองก็ไม่ได้ พูดจาก็ไม่ระมัดระวัง ความสามารถก็ไม่ได้ดีไปกว่ายิ่งลักษณ์ พวกพ้องคนใกล้ชิดมีปัญหาก็มองข้าม คือปัญหาที่เคยเกิดในรัฐบาลปกติที่ด่า ๆ เข้าไว้ก็เกิดในรัฐบาลนี้เหมือนกัน แต่หนักกว่าคือพอถามมาก ๆ เข้าโกรธ และบางทีก็สั่งไม่ให้ถาม และยังบอกสื่อว่าไม่ให้เสนอข่าวอีก จากเป็นกรรมการก็จะลงมาเล่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ผิดนะ แต่แทนที่จะลาออกหรือทำอะไรให้มันอยู่ในกติกาเหมือนคนอื่นเขา กลับอ้างต้องทำงานต่อด้วยและก็จะมาเล่นการเมืองด้วย มันก็เลยดูทุลักทุเล  อิลักอีเหลื่อกันไปทุกฝ่าย และที่น่าขำคือพอใกล้เลือกตั้งก็ทำแอ๊บแบ๊วไปวัน ๆ บอกว่าไม่ได้อยากเป็นนายกต่อ แต่พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเอง กลายเป็นตู่หวานจ๋อย แล้วก็ลงพื้นที่ในฐานะนายกตลอด แต่บอกว่าไม่ได้มาหาเสียง สว. 250 คนที่สุดท้ายต้องเลือกเอง แล้วเขาก็จะมามีส่วนร่วมโหวตตัวเอง นี่ก็ทำได้หน้าตาเฉยโดยไม่ได้รู้สึกอะไร 

นอกจากอึดอัดกับประยุทธ์แล้ว ก็อึดอัดกับกองเชียร์ประยุทธ์ (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ชอบประยุทธ์มากขึ้นไปอีก เหมือนกับเกลียดทีมบอลคู่อริมากขึ้นก็เพราะไม่ชอบกองเชียร์) อ้างอยู่อย่างเดียวว่าบ้านเมืองสงบ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วถ้าพวกคุณไม่ออกไปประท้วงปิดบ้านปิดเมืองแบบนั้นประเทศมันก็สงบ พอใกล้เลือกตั้งก็ใช้วิธีแบบเดิม ๆ ที่ใช้ในการปลุกระดมต่อต้านทักษิณ แต่คราวนี้เปลี่ยนเป้าเป็นธนาธรแทน ข้อหาก็เดิม ๆ เผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า อะไรที่เคยเป็นสิ่งที่ฝั่งที่ตัวเองไม่ชอบทำ พอเป็นประยุทธ์ทำก็ไม่เห็นเป็นไร ประยุทธ์และพวกตั้งญาติตัวเองเข้ามาทำงานด้วยก็ไม่เป็นไร ทั้ง ๆ ที่ ด่าอีกฝ่ายมาตลอดเรื่องเอาญาติพี่น้องมาทำงาน คนใกล้ตัวประยุทธ์มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ก็ไม่เห็นเป็นไร ทั้งที่ถ้าเป็นอีกฝ่ายทำเดือดร้อนกันจะเป็นจะตาย ประยุทธ์เดินทางไปต่างประเทศ แซ่ซ้องสรรเสริญว่าไปทำงาน นายกคนก่อนหน้าก็ไปไอ้งานเดียวกันนี่แหละ แต่บอกว่าไปเที่ยว คุมสื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างเสรี ไม่เป็นไรบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ไม่เคยมองเห็นว่าสื่อที่ถูกปิดถูกควบคุมคือสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ประยุทธ์ไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่เป็นไรล่ามมีไว้ทำไม แต่กับอีกคนจิกหัวด่าว่าอีโง่

นอกจากนี้ยังอึดอัดกับองค์กรอิสระซึ่งไม่ได้สร้างความไว้วางใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างอิสระเลย ถ้าเป็นกรรมการก็คงจะถูกกล่าวหาว่าลำเอียงนั่นแหละ พรรคการเมืองที่เชียร์ประยุทธ์หาเสียงเชิงข่มขู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ถ้าอีกพรรคชนะจะต้องไปชุมนุมบนถนนกันอีกบ้าง หรือถ้าอยากสงบจบที่ ... ก็มองไม่เห็น ทีคนของพรรคที่ถูกยุบถูกตัดสิทธ์ไปแล้ว ไปช่วยหาเสียงให้อีกพรรคซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร ดันจะไปหาว่าเขาผิด องค์กรที่ควบคุมสื่อก็ขยันหมั่นเพียรหาเรื่องปิดสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ไปกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่อีกช่องหนึ่งพฤติกรรมชัดเจนหนักกว่าเห็น ๆ แต่เชียร์รัฐบาล ก็ไม่ทำอะไร   

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้จะรู้ผลอยู่แล้วว่าด้วยกฎกติกาที่เอื้ออำนวย ประยุทธ์ก็น่าจะได้กลับมา แต่ยังหวังว่าจะมีปาฏิหารย์ที่ผู้คนในประเทศนี้รู้สึกถึงความอึดอัดอย่างที่ตัวเองรู้สึก แล้วไปเลือกฝั่งที่ไม่เอาประยุทธ์กันเยอะ ๆ ซึ่งถ้าผลอออกมาเป็นอย่างที่หวังก็ถือว่าได้คลายความอึดอัดคับข้องใจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องถึงกับได้เป็นรัฐบาลหรอก เอาแค่พรรคที่สนับสนุนประยุทธ์ได้สส.น้อย ๆ สักประมาณไม่เกิน 50 ก็พอใจแล้ว (จริง ๆ อยากให้ได้น้อยกว่า 25 จะได้เสนอชื่อนายกไม่ได้) และถ้าพวกนี้จะหน้าด้านไปรวมเสียงมาให้ได้เป็น 126 เสียงแล้วเอาไปรวมกับ สว. 250 คน ก็ไม่ว่าอะไร ถือว่าชนะแล้ว แต่ถ้าฝ่ายประยุทธ์ชนะมามากจริง ๆ ก็คงต้องยอมรับผล และคิดว่าเราเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าอีก 4 ปี ได้เลือกกันใหม่ ไม่ต้องรอคอยความกรุณา หรือมีคนมาพูดเหมือนกับมันเป็นบุญคุณที่เขายอมให้มีการเลือกตั้งกันอย่างทุกวันนี้