วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เมื่อผมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อพิมพ์เอกสาร Word 23 หน้า (ภาค 2 ตอนสาเหตุ จบ )

กลับมาแล้วครับหลังจากห่างหายไปหลายวัน ไม่คิดเลยครับว่าจะยุ่งได้ขนาดนี้ แล้วยังมาเกิดอุบัติเหตุส่วนตัวอีก เอาไว้จะเล่าให้ฟังทีหลังแล้วกันนะครับ มาที่บทความดีกว่า...

สำหรับบทความนี้ก็สืบเนื่องมาจากบทความก่อนหน้านี้ครับ จะเรียกว่าเป็น CSI (Thailand & Blogger) ก็น่าจะได้นะครับ คือมีผู้ที่ได้อ่านบทความได้สอบถามเข้ามาทั้งในบล็อก และนอกบล็อกว่า สาเหตุมันคืออะไร .rtf มันคืออะไร ทำไมมันถึงใหญ่จัง และทำไมมันถึงแก้ปัญหาได้ วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังกันครับ



เริ่มจากไฟล์นามสกุล .rtf ก่อนแล้วกันนะครับ ชื่อเต็มของ .rtf คือ rich text format ครับ ถ้าอ้างอิงตามเว็บของไมโครซอฟต์ http://msdn.microsoft.com/en-us/library/aa140277.aspx ก็จะได้ว่าจุดประสงค์ของรูปแบบไฟล์แบบนี้คือจัดเตรียมรูปแบบสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นข้อความและภาพกราฟิกส์ ให้ใช้ได้บนอุปกรณ์แสดงผลที่ต่างกัน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมและระบบปฏิบัติการที่ต่างกัน



ในปัจจุบันโปรแกรมประมวลผลคำ (word processor) หลายตัวสนับสนุนรูปแบบไฟล์แบบนี้ครับ ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่เราจะสามารถแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างโปรแกรมประมวลผลคำต่าง ๆ (แม้แต่ของ MS-Word แต่คนละรุ่นนี่ถ้าเป็น .doc ก็อาจคุยกันไม่ได้นะครับ) ก็คือให้จัดเก็บเป็นนามสกุลแบบ .rtf สำหรับเอกสารที่เราจัดเก็บเป็น .rtf แล้ว (และไฟล์ไม่ใหญ่มากจนเกินไป) เราอาจใช้ โปรแกรมอ่านแฟ้มข้อความอย่าง Notepad เปิดขึ้นมาอ่านได้เลยครับ ซึ่งตัวอย่างหน้าตาของข้อมูลที่เก็บอยู่ใน .rtf ที่ลองเปิดขึ้นมาโดยใช้โปรแกรม Notepad ก็เป็นดังนี้ครับ



\rsid12662449\rsid13787157\rsid14054252}{\*\generator Microsoft Word 11.0.6359;}{\info{\title This is a test document for rich text
format}{\author user}{\operator user}{\creatim\yr2008\mo6\dy20\hr17\min30}{\revtim\yr2008\mo6\dy20\hr17\min30}{\version2}


เห็นแล้วเวียนหัวไหมครับ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดก็เชิญตามลิงก์ที่ให้ไว้ด้านบนได้เลยนะครับ สำหรับผมขอบายครับ...


เอาละครับคราวนี้ก็มาถึงคำถามว่าแล้วทำไมมันใหญ่จัง เอกสาร Word ต้นฉบับแค่ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ ทำไมมันถึงขยายได้เป็น 34 เมกะไบต์ คำตอบก็คือวิธีการที่มันใช้ในการเข้ารหัสรูปภาพครับ เพราะมันจะเอารูปภาพในเอกสารของเรามาเข้ารหัสโดยตัวอักษรครับ อย่างผมลองสร้างเอกสาร MS-Word 1 หน้า ที่มีรูป 1 รูป จัดเก็บเป็น .doc มีขนาดแค่ 165 กิโลไบต์ครับ แต่พอจัดเก็บเป็น .rtf มีขนาด 2.7 เมกะไบต์ ลองใช้
Notepad เปิดดูจึงเห็นว่าส่วนที่เป็นรูปภาพมีการใช้ตัวอักษรเข้ารหัสแทนรูปภาพดังกล่าวอยู่เต็มไปหมด ส่วนเอกสารที่ภรรยาผมส่งมาให้พิมพ์ 23 หน้ามีรูปทุกหน้าครับ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจกับขนาดที่เพิ่มขึ้นนะครับ


ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรทำไมถึงพิมพ์ไม่ออก ครับปัญหาน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของการจัดเก็บเป็น .doc ครับ คือต้องบอกตามตรงว่าผมก็ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ผมได้ลองไปค้นหาคำแนะนำสำหรับปัญหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของไมโครซอฟต์ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเอกสาร .doc ก็ได้เห็นคำแนะนำอย่างเช่น ให้คัดลอกข้อความในเอกสารไป แต่อย่าเอาการจัดหน้าหน้าสุดท้ายไปนะ แสดงว่าปัญหาอาจเกิดจากการเข้ารหัสของการจัดหน้า (แอบดีใจครับ แสดงว่าเรามั่วอย่างมีหลักการเพราะที่ผมตัดสินใจตัดสองหน้าแรกทิ้งไปก็เพราะคิดว่าการจัดหน้าของสองหน้าแรกอาจทำให้ไฟล์มีปัญหา) และยังมีคำแนะนำให้จัดเก็บแฟ้มเป็น .rtf ด้วยนะครับ (มั่วถูกอีกแล้ว) ซึ่งผมเข้าใจว่าที่การจัดเก็บเป็นแฟ้ม .rtf จะช่วยได้ก็เพราะมันต้องมีการเขียนข้อมูลในใหม่ทั้งหมดในรูปของข้อความ ดังนั้นข้อมูลที่มีปัญหาจึงน่าจะถูกกำจัดออกไปครับ


ผมอยากแนะนำอย่างหนึ่งครับ จากประสบการณ์ที่ผมใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์มาถ้าเกิดปัญหากับไฟล์วิธีการที่ผมใช้แก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่คือจัดเก็บมันเป็นไฟล์ใหม่ อย่างเช่นผมเคยใช้ Powerpoint ทำไสลด์เตรียมสอน มีสไลด์ไม่กี่หน้าเองครับ แต่มีรูปเยอะหน่อย แล้วผมก็แก้ไปแก้มา อยู่ ๆ ขนาดของไฟล์มันกลายเป็นเกือบ 30 เมกะไบต์ ผมก็เลยลองจัดเก็บเป็นไฟล์ใหม่ ได้ผลครับขนาดลดลงเหลือ 5 เมะไบต์ ดังนั้นถ้ามีปัญหาผมก็จะลองใช้วิธีนี้ก่อน ซึ่งมีคราวล่าสุดนี่แหละครับที่ไม่ได้ผล แต่จริง ๆ ก็เกือบได้ผลเพียงแต่ต้องเปลี่ยนประเภทของไฟล์ด้วยเท่านั้น


สำหรับข้อคิดหลัก ๆ ที่ผมได้จากเรื่องนี้คือให้ใจเย็น ๆ ครับ ทำอะไรก็ให้มีสติไว้ อย่างผมนี่ถ้าจริง ๆ ตั้งสติให้ดีหน่อยคิดหาวิธีแก้อย่างเป็นระบบไม่ลองมั่วไปมั่วมาตั้งแต่ต้น อาจไม่ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงก็ได้


อ้อมีเรื่องตื่นเต้นปิดท้ายครับคือภรรยาของผมเธอส่งเอกสาร Ms-Word มาให้พิมพ์อีกแล้วครับคราวนี้ 3 หน้าครับ... ไม่ต้องตกใจครับคราวนี้พิมพ์ออกปกติ เธอบอกว่าขี้เกียจเปิดเครื่องพิมพ์ที่บ้านครับ ดู่ดู๊ดูดูเธอทำ....

วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เมื่อผมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อสั่งพิมพ์เอกสาร MS Word 23 หน้า

วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟังครับ และเผื่อใครเจอเหมือนผมอาจนำไปใช้ได้ เรื่องก็มีอยู่ว่าเมื่อ 2-3 วันก่อน ภรรยาของผมก็ได้อีเมล์แนบไฟล์เอกสาร Ms Word ซึ่งมีขนาดประมาณ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ มีจำนวนหน้าทั้งหมด 23 หน้า มาให้ผมช่วยพิมพ์ให้จากที่ทำงาน ผมก็แปลกใจนิดหน่อยเพราะที่บ้านก็มีเครื่องพิมพ์จะส่งมาให้ผมพิมพ์ทำไม แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก หลังจากดาวน์โหลดไฟล์มาแล้วผมก็ลองเปิดดูก็ดูปกติดี ก็เลยทิ้งไว้ก่อนเอาไว้พิมพ์ตอนก่อนจะกลับบ้าน พอถึงเวลาที่จะพิมพ์ก็เกิดเรื่องครับคือพอผมสั่งพิมพ์มันไม่พิมพ์ครับ คือเหมือนไม่มีไฟล์อะไรส่งไปที่เครื่องพิมพ์เลย ตอนแรกก็นึกว่าเครื่องพิมพ์มีปัญหา ไปตรวจดูก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ก็เลยลองสั่งพิมพ์ไฟล์อื่นดูปรากฏว่าพิมพ์ได้ปกติ ก็เลยลองกลับมาใช้วิธีที่ผมมักจะใช้ได้ผลคือจัดเก็บไฟล์ลงไปเป็นแฟ้มใหม่แล้วลองพิมพ์ดู ปรากฏว่าอาการเหมือนเดิมครับ ก็เลยโทรศัพท์กลับไปหาภรรยา ซึ่งภรรยาก็บอกว่า "ก็มันเป็นแบบนี้ถึงได้ส่งไปให้พิมพ์ให้ไง" พร้อมทั้งกำชับด้วยข้อความห้วนสั้นเรียบง่ายแต่ได้ใจความว่า "พิมพ์มาให้ได้นะ" เอาละซีครับคราวนี้ก็เดือดร้อนละครับ งานเข้าเต็ม ๆ ผมก็เลยลองเข้าไปค้นในอินเตอร์เน็ตดู ก็เจอคำตอบหนึ่งเขาบอกว่า การที่พิมพ์ไม่ออกอาจเป็นเพราะตั้งค่าหน้ากระดาษไม่ถูกต้อง ผมก็เลยไปเปิดดูไฟล์ก็ปรากฏว่าเรียบร้อยดี แสดงว่าไม่ใช่ปัญหา คราวนี้ผมก็เลยลองสั่งพิมพ์ออกมาเป็นไฟล์ .pdf ดู ปรากฏว่าเก่งมากครับ 23 หน้าออกมาได้หนึ่งหน้า ด้วยความที่อยากกลับบ้านเต็มแก่ครับเห็นมันออกมาหนึ่งหน้าใน .pdf ก็เลยลองมั่วดู โดยใช้วิธีสั่งพิมพ์ทีละหน้า ปรากฏว่าหน้าแรกมันพิมพ์ออกครับ ก็ดีใจมาก เอาละแค่ 23 หน้าเอง (ในใจคิดว่าโชคดีที่ไม่ใช่ 100 หน้า) พิมพ์ทีละหน้าก็ยังไหว เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาหาสาเหตุกันใหม่ ปรากฏว่าสั่งพิมพ์ทีละหน้าไปได้ 2 หน้าครับ พอถึงหน้าที่ 3 มันไม่พิมพ์ ข้ามไปพิมพ์หน้าที่ 4 มันก็ไม่พิมพ์ หน้าไหน ๆ มันก็ไม่พิมพ์ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจอยู่ที่ 2 หน้าแรก ก็เลยลบมันทิ้งไป แล้วลองสั่งพิมพ์ดูปรากฏว่ามันออกหน้า 3 มาอีกหน้าหนึ่งครับ จากนั้นก็เหมือนเดิมคือไม่ออกอะไรอีกเลย แถมมีอาการหนักขึ้นอีกคือพอสั่งจัดเก็บมันบอกว่าจัดเก็บไม่ได้ไฟล์ไม่ถูกต้อง แล้วก็แฮงค์ไปเฉย ๆ คราวนี้ก็หน้ามืดละครับอยากกลับบ้านก็อยากกลับแต่คำว่า "พิมพ์มาให้ได้นะ" มันยังก้องอยู่ในหู ก็เลยลองนั่งใจเย็น ๆ คิดดูว่ายังลืมอะไรอีกหรือเปล่า แล้วก็คิดได้วิธีหนึ่งครับที่ยังไม่ได้ลอง คือผมก็เอาไฟล์ต้นฉบับที่ภรรยาส่งมาให้ (คือไอ้ที่ผมบอกว่าลองตัดหน้าทิ้งดูอะไรนี่ ผมทำกับแฟ้มที่ผมสำรองขึ้นมานะครับ ดังนั้นถ้าพวกเราจะลองทำอะไรนี่อย่าทำกับต้นฉบับนะครับ) มาจัดเก็บเป็น .rtf ครับ ผมลองตรวจดูขนาดของไฟล์ดูครับ มหัศจรรย์มากจากต้นฉบับ .doc ของภรรยาผม 2 เมกะไบต์กว่า ๆ พอเป็น .rtf มันเป็น 34 เมกะไบต์กว่า ๆ ครับ แต่ตอนนั้นก็ไม่สนแล้วละครับ ลองสั่งพิมพ์ดู โอสวรรค์เบี่ยง เอ๊ย... สวรรค์ทรงโปรด มันออกครับ 23 หน้าครบถ้วนบริบูรณ์ จากนั้นผมก็ลองจัดเก็บจาก .rtf มาเป็น .doc ครับขนาดลดลงเหลือ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ เล็กกว่าไฟล์ต้นฉบับเล็กน้อย แล้วลองสั่งพิมพ์เป็น .pdf ดู คราวนี้ปรากฏว่าออกครบ 23 หน้าครับ เฮ้อ... mission complete ครับ หลังจากผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็กลับบ้านครับ แล้วก็เอาที่พิมพ์ได้ไปให้ภรรยา ซึ่งเธอก็บอกว่า "ขอบคุณค่ะ" แค่นี้ก็หายเหนื่อยแล้วครับ...

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วีดีโอดิกชันนารีสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน

เรื่องที่จะเล่าวันนี้เกี่ยวกับงานวิจัยที่คิดขึ้นเพื่อช่วยผู้บกพร่องทางการได้ยินครับ สำหรับแหล่งที่มา ก็ตามลิงก์นี้เลยครับ http://canadianpress.google.com/article/ALeqM5ijJJ3pQiMrNWpixhbpLiYRGv7KZQ
คุณ Joan Nash ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เจอปัญหาคือบางครั้งเธอก็ไม่เข้าใจสิ่งที่นักเรียนพยายามจะสื่อกับเธอครับ คือในบางครั้งเด็กเหล่านี้ก็ใช้สัญลักษณ์ท่าทางที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน อ่านถึงตรงนี้แล้วงงไหมครับ ผมขอขยายความหน่อยแล้วกัน คือคุณ Nash นี่เธอไม่ได้เป็นผู้พิการนะครับ แต่เธอเรียนภาษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน (ผมขอเรียกโดยใช้ศัพท์ที่พวกเราใช้กันคือภาษามือแล้วกันนะครับ แต่จริง ๆ เดี๋ยวจะเห็นว่ามันไม่ใช่แค่มือ) และก็ใช้ภาษานี้เพื่อสอนวิชาการต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ตอนนี้คุณ Nash เป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน และเธอก็ได้อยู่ในทีมที่ทำวิจัยที่จะแก้ปัญหานี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้พิการมาแสดงท่าทางต่อหน้ากล้องวีดีโอ จากนั้นสัญญาณจากกล้องวีดีโอก็จะถูกส่งไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์ เพื่อแปลความหมายของท่าทางดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นมากอย่างหนึ่งของงานวิจัยนี้ก็คือดิกชันนารีครับ ซึ่งดิกชันนารีนี้ไม่ใช่ดิกชันนารีธรรมดาครับ แต่จะเป็นวีดีโอดิกชันนารี ซึ่งบันทึกท่าทางและความหมายของท่าทางนั้นเอาไว้ โดยในการบันทึกท่าทางนี้ เขาไม่ได้บันทึกแค่ลักษณะของมือนะครับ แต่จะบันทึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน และการแสดงออกทางใบหน้าด้วยครับ โดยงานวิจัยนี้จะพยายามบันทึกคำศัพท์ให้ได้มากกว่า 3,000 คำ ถ้างานวิจัยนี้ทำเสร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากครับ เช่นพ่อแม่ที่มีลูกที่บกพร่องทางการได้ยินก็จะสามารถสื่อสารกับลูกได้ดีมากขึ้น ภาษาที่เขาบันทึกลงวีดีโอนี่จะเป็นภาษาที่เรียกว่า American Sign Language นะครับ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นภาษาของชาวอเมริกันเท่านั้น ดังนั้นถ้านักวิจัยไทยสนใจก็ลองนำมาดัดแปลงสำหรับคนไทยบ้างก็คงจะดีนะครับ

คราวนี้ลองย้อนกลับมาดูบ้านเราบ้าง ในบ้านเราเท่าที่ผมทราบก็มีงานวิจัยที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยสำหรับผู้พิการครับ แต่จะเน้นไปที่คนพิการทางการเห็นครับ ส่วนคนที่มองเห็นแต่ไม่ค่อยได้ยินนี่ยังไม่ค่อยมีครับ (ใครมีข้อมูลจะมาแลกเปลี่ยนกันก็เชิญนะครับ) เท่าที่เห็นมากที่สุดนี่ก็คือมีทีวีบางช่องที่มีจอเล็ก ๆ สำหรับให้คนมาแปลจากคำพูดเป็นภาษามือ ถึงตรงนี้แล้วก็อยากจะฝากให้หลาย ๆ ช่องที่ยังไม่มีน่าจะมีนะครับ หรือจะใช้แบบที่ต่างประเทศเขาทำก็ได้คือมี caption ขึ้นมา ผู้ที่ไม่ได้ยินก็สามารถอ่านได้ (หรือได้ยินแล้วไม่รู้เรื่องอย่างผม :) คือสมัยที่ผมไปเรียนช่วงแรก ๆ ยังฟังไม่ค่อยจะทันก็ใช้อันนี้ละครับช่วย) แต่คิดอีกที่การที่ไม่ได้ยินอะไรซะบ้างก็น่าจะดีนะครับ ตอนนี้เปิดทีวีไปก็ปวดหัวครับ ประเทศชาติมีปัญหาจะแย่อยู่แล้ว ยังจะมาคิดเอาชนะคะคานอะไรกันอยู่ได้ อ้าวไหงลากมาลงเรื่องนี้ได้ ขอจบแล้วกันนะครับ

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เทคนิคใหม่ในการขโมยข้อมูล

มีเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นการเตือนสำหรับผู้มีความลับมาเล่าให้ฟัง แหล่งที่มา http://www.computerworld.com/action/article.do?command=viewArticleBasic&articleId=009086558&intsrc=hm_list
ประเด็นก็คือนักวิจัยที่ University of California, Santa Barbara (UCSB) และ Saarland University ในSaarbrucken ประเทศเยอรมัน ได้คิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ที่จะขโมยข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ (ต่างคนต่างคิดนะครับไม่ได้ช่วยกัน) โดยที่ Saarbrucken จะใช้วิธีอ่านข้อมูลหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากวัตถุที่สามารถสะท้อนแสงได้ เช่นกระจก หรือกาน้ำชา (แบบที่ผิวมัน ๆ นะครับ) โดยโครงการนี้นี่มีที่มาจากความคิดสนุก ๆ ของนักวิจัยครับ โดยพวกเขาอยากจะทดลองว่าเขาจะรู้ได้ไหมว่าใครกำลังใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไร โดยแอบดูจากกระจกที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ จอคอมพิวเตอร์ และเขาก็ได้ข้อสรุปครับว่า ถ้าใช้กล้องโทรทัศน์ราคาประมาณ 15000 บาท ($500) โฟกัสไปที่วัตถุที่สามารถสะท้อนแสงได้ที่ตั้งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จะทำให้สามารถสร้างภาพของเอกสาร Ms Word ที่อยู่บนหน้าจอได้ ตอนนี้เขากำลังทำวิจัยขั้นต่อไปครับคือคิดค้นขั้นตอนวิธีวิเคราะห์รูปภาพแบบใหม่ ๆ และใช้กล้องดูดาวเข้ามาช่วย โดยมีความหวังว่าต่อไปจะสามารถดูภาพสะท้อนจากพื้นพิวที่มีความยากขึ้นเช่นตาของคนเราครับ ส่วนใน UCSB ได้พัฒนาโปรแกรมชื่อ Clear shot ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะวิเคราะห์วีดีโอที่บันทึกความเคลื่อนไหวของร่างกายเราในตอนกดแป้นพิมพ์ แล้วโปรแกรมจะบอกได้ว่าเราพิมพ์อะไรบ้าง ซึ่งที่มาของชื่อโปรแกรม Clear Shot นั้นมาจากหนังเรื่อง Sneakers นำแสดงโดย Robert Redford สักประมาณ 10 กว่าปีที่แล้วครับ มาฉายที่ประเทศไทยด้วย ผมก็ได้ดูครับ สนุกดีตามสไตล์ฮอลลีวูดครับ (ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาดีกว่า) คือพระเอกของเรื่องก็กำลังทำสิ่งเดียวกับที่โปรแกรมนี้ทำอยู่ครับ คือดูวีดีโอและพยายามวิเคราะห์ว่ารหัสผ่านที่คนกำลังพิมพ์อยู่คืออะไร และพระเอกก็บอกว่าเอาละตอนนี้กำลังจะได้ clear shot แล้ว ตอนนี้โปรแกรม Clear Shot นี่ทำงานได้เที่ยงตรงประมาณร้อยละ 40 ครับ
สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจจากเรื่องนี้มีสองประเด็นครับ แน่นอนครับประเด็นแรกคือประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัย นับวันจะเห็นว่ามีวิธีการต่าง ๆ ที่จะขโมยข้อมูลมากขึ้น ก็ให้เรารู้เท่าทันไว้ครับ ซึ่งผมคิดว่าเราคงยังไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนัก ผมว่ามันเหมาะกับพวกสายลับมากกว่า แต่ผมว่าสิ่งที่เราต้องทำเกี่ยวกับการรักษาข้อมูลของเราก็คือเรื่องที่ทำได้ใกล้ ๆ ตัว เช่นหมั่นปรับปรุงฐานข้อมูลไวรัสให้กับโปรแกรมป้องกันไวรัส ตั้งรหัสผ่านให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่บอกรหัสผ่านกับใคร เป็นต้น
อีกประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจกว่าก็คือ ผมอยากให้ดูวิธีการคิดของนักวิจัยเหล่านี้ครับ จะเห็นว่าเขาหยิบยกเอาเรื่องใกล้ ๆ ตัว เรื่องที่พวกเรามองข้าม หรือเรื่องที่เป็นความสนุกเช่นการดูหนัง นำมาทำวิจัยเป็นเรื่องเป็นราวได้ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมเชื่อว่าถ้าเด็กไทยเราได้รับการฝึกฝนก็จะสามารถทำได้เช่นกันครับ เช่นเด็กไทยที่ไปคว้ารางวัลโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลกเช่น การเดินของกิ้งกือ หรือการหุบของใบไมยราบ (จำชื่อโครงการจริง ๆ ไม่ได้ ถ้าผิดก็ขออภัย)
เรามาลองคิดงานวิจัยอะไรสนุก ๆ กันดูดีไหมครับ ...

วันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ซอฟต์แวร์ควรมีนิสัยดี !

ช่วงนี้อาจจะเขียนบล็อกน้อยไปบ้างนะครับ เนื่องจากภารกิจทั้งส่วนรวมและส่วนตัวค่อนข้างเยอะมาก
มาดูที่บทความวันนี้กันดีกว่า สำหรับแหล่งที่มาของบทความนี้ก็มาจาก Computer World ตามลิงก์นี้ครับ http://computerworld.co.nz/news.nsf/devt/A4B9BCCD1B0884FACC2574480019CA20
บทความดังกล่าวเริ่มด้วยคำถามที่ผมคิดว่าคนใช้คอมพิวเตอร์แทบทุกคนต้องเจอ เช่นอยู่ ๆ ก็มีข้อความบอกว่าจะบูตเครื่องใหม่ หรือทำอะไรต่าง ๆ นานาซึ่งใช้เวลานานมาก จนเราไม่สามารถที่จะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเหล่านี้ตัวซอฟต์แวร์ทำเองโดยไม่ถามความเห็นชอบจากเรา หรือยิ่งไปกว่านั้นพวกเราก็คงจะเคยที่จะต้องมาคอยลบไฟล์หรือโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งเราก็ไม่เคยคิดที่จะเพิ่มลงในเครื่องของเรา คอยปิดหน้าต่าง (หน้าต่างในคอมพิวเตอร์นะครับ ถ้าหน้าต่างบ้านคุณเปิดเองก็ .... ขอให้โชคดีครับ) ซึ่งเราเองก็ไม่ได้สั่งให้เปิด ซึ่งเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ Brian Whitworth ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ Auckland’s Massey University ได้เขียนบทความบอกว่าโปรแกรมบางตัวนั้นหยาบคาย ดังนั้นอีกหนึง requirement สำหรับโปรแกรมก็คือความสุภาพ Whitewoth ยกตัวอย่างว่าโปรแกรมที่ไม่สุภาพก็เช่นโปรแกรมที่เขียนไฟล์อย่างเช่น cookies ลงในดิสก์ของเรา หรืออยู่ ๆ ก็มาเปลี่ยน default homepage ของเราให้เป็นเว็บของตัวเอง คราวนี้อะไรบ้างถึงจะเรียกว่าโปรแกรมนั้นสุภาพ Whiteworth ได้ให้แนวทางไว้ 4 ข้อด้วยกันคือ
1. ซอฟต์แวร์ควรให้ความเคารพผู้ใช้ โดยไม่มาบังคับทางเลือกให้ผู้ใช้ หรือคัดลอกข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต
2. ซอฟต์แวร์ควรจะประกาศตัวเองว่าใครเป็นเจ้าของและจะติดต่อได้อย่างไร
3. ซอฟต์แวร์ที่สุภาพควรจะให้ผู้ใช้เลือกทางเลือกได้ โดยให้ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย
4. ซอฟต์แวร์ที่สุภาพควรจะจดจำทางเลือกสุดท้ายของผู้ใช้ไว้ด้วย
Whitewoth ได้ยกตัวอย่างของโปรแกรมที่ไม่สุภาพคือ Windows Update เพราะมันบอกเราว่าจะเริ่ม update แล้วนะ แล้วก็รายงานความคืบหน้าของการ update ให้เรารู้ จากนั้นก็บอกว่าเสร็จแล้ว อันนี้ผมเข้าใจว่านาย whiteworth คงจะใช้ระบบ automatic update ส่วนโปรแกรมที่สุภาพนาย Whiteworth ได้ยกตัวอย่างของ google และ e-bay ซึ่งให้ผู้ใช้เลือกเองว่าจะเข้าไปดูเว็บที่ให้การสนับสนุน google หรือเข้าไปดู ข้อเสนออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ผู้ใช้ซื้อหรือไม่
สำหรับเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยในบางส่วน และไม่เห็นด้วยในบางส่วน ผมคิดว่าในการใช้งานซอฟต์แวร์ ผู้ใช้ควรจะต้องศึกษาทำความเข้าใจคุณลักษณะของซอฟต์แวร์ให้ดีในระดับหนึ่งเพื่อจะใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่นเราสามารถที่จะปิดระบบ Autoupdate ของ Windows ได้ ถ้าเราต้องการ แต่ในอีกทางหนึ่งถ้าเราปิดระบบ Autoupdate ไว้ก็หมายความว่าเราจะต้องทำการ update ด้วยตนเอง และผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปก็มักจะไม่รู้เรื่องนี้อยู่ดี และทำให้เครื่องของตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยง (แต่ถ้าคิดดี ๆ ถ้าโปรแกรมมันทำมาดีก็ไม่น่าต้อง update บ่อยนะครับ และบางที่ก็ปล่อย bug มากับตัว update ด้วย เช่น Vista :)) แต่ไอ้ที่น่ารำคาญจริง ๆ ก็น่าจะเป็นพวกเปิดหน้าต่างอื่น ๆ ที่เราไม่ได้อยากจะดูขึ้นมาให้เราดูนะครับ หรืออีกอันหนึ่งเวลาใช้ Word ที่มันมักจะมีการแปลงตัวอักษรตัวแรกของประโยค (ภาษาอังกฤษ) ให้เป็นตัวใหญ่ ซึ่งอันนี้ผมก็ว่ามีประโยชน์ แต่ในบางกรณีเราก็ไม่ต้องการ คราวนี้แทนที่เราจะต้องไปคอยเปิดปิดเงื่อนไขนี้ด้วยตัวเอง เจ้า Word ก็น่าจะจำทางเลือกสุดท้ายที่เราเลือกไว้ด้วย ดังนั้นก็อยากจะฝากนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งหลายว่าให้ลองคิดถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย ส่วนผู้ใช้ก่อนที่จะบ่นเรื่องต่าง ๆ ก็ลองถามตัวเองว่าตัวเองได้ศึกษาคุณสมบัติต่าง ๆ ของโปรแกรมดีแล้วหรือยัง
ทิ้งท้ายสำหรับวันนี้ก็คือขนาดซอฟต์แวร์ก็ควรจะมีนิสัยดี แล้วพวกเราล่ะครับ ...