แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา Java Oracle จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด
แสดงโพสต์โดยจัดเรียงตามความเกี่ยวข้องกับคำค้นหา Java Oracle จัดเรียงตามวันที่ แสดงโพสต์ทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีหนุน Google ในการสู้กับ Oracle

บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นคู่แข่งของ Google อย่างไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม หรือโมซิลลา ต่างออกมาสนับสนุน Google ในคดีฟ้องร้องที่ Oracle ฟ้อง Google เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์การใช้งาน API (Application Program Interface) ของภาษา Java ของ Oracle ในการนำไปพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การฟ้องร้องนี้มีระยะเวลานานประมาณ 10 ปีได้แล้ว โดยกำลังจะมีการตัดสินจากศาลสูงของสหรัฐภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายที่เป็นคู่แข่งของ Google ได้ขึ้นให้การต่อศาลโดยสนับสนุน Goolge เพราะบริษัทเหล่านี้มองว่าสิ่งที่ Oracle ฟ้องร้องในเรื่องของ API เป็นการขัดขวางนวัตกรรม โดย IBM บอกว่า API ไม่ควรจะจดลิขสิทธิ์ได้ ในขณะที่ Oracle ยังยืนยันว่า Google เป็นโขมย และยังทำลายจุดแข็งของ Java ในแง่ของการทำงานร่วมกันได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงออกมาเข้าข้าง Google และถ้า Oracle ชนะมันจะมีอาจมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยังไงบ้าง ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก API (Application Program Interface) กันก่อน ซึ่งก็ขออธิบายง่าย ๆ ว่ามันคือลิสต์รายชื่อของฟังก์ชันที่นักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้จากคลังโปรแกรม (program library) ที่พัฒนาไว้ก่อนหน้าแล้วได้ โดยประโยชน์ของมันก็คือนักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้ฟังก์ชันจากคลังโปรแกรมได้โดยไม่ต้องรู้รายละเอียดว่าโค้ดในคลังโปรแกรมเขียนขึ้นมายังไง เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอะไร ทำงานบนแพลตฟอร์มแบบไหน

ในปัจจุบันเราต้องเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้บนอุปกรณ์หลากหลายเช่นทั้งบนมือถือ บนแท็บเล็ต บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากตัวอุปกรณ์แล้วระบบปฏิบัติการก็ยังมีหลายตัวอีกด้วย ดังนั้นคลังโปรแกรมก็อาจจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนระบบปฏิบัตการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ API เดียวกัน ในการเรียกคลังโปรแกรมเหล่านี้ เราก็สามารถนำโค้ดที่เขียนกับอุปกรณ์ตัวหนึ่ง มาใช้กับโค้ดสำหรับอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งได้โดยง่าย

แต่สมมติถ้า Oracle ชนะในคดีนี้ คือตัว API สามารถมีลิขสิทธื์ได้ มันก็อาจทำให้เกิดปัญหาเช่นสมมติผมสร้างคลังโปรแกรมขึ้นมาให้ทำงานกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งแน่นอนผมต้องมี API ให้นักพัฒนาที่จะเอาคลังโปรแกรมของผมไปใช้ เรียกใช้คลังโปรแกรมของผมได้ คราวนี้ถ้ามีคนอยากพัฒนาคลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนของผมแต่ทำงานบนแอนดรอยด์ แต่เพราะ API เป็นลิขสิทธิ์ของผม ดังนั้นเขาต้องสร้าง API ของเขาเอง นั่นหมายความว่าตอนนี้นักพัฒนาซึ่งอยากพัฒนาให้ทำงานได้บนวินโดวส์ และบนแอนดรอยด์จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมสองแบบเพื่อใช้เรียกใช้คลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนกัน และลองคิดต่อ ๆ ไปสิครับว่าถ้าต้องเขียนโปรแกรมสำหรับ iOS Mac OS และอื่น ๆ อีกมากมายจะยุ่งแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดเช่น ถ้านักพัฒนาโปรแกรมไม่อยากเขียนโค้ดเยอะ เขาก็จำเป็นต้องรอให้ผมพัฒนาคลังโปรแกรมให้ทำงานบนเครื่องที่เขาอยากใช้ ถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าแล้วอย่างนี้คนคิดคนแรกก็เสียเปรียบสิ อุตสาห์ทำขึ้นมาก่อน พอทำดีก็มีคนเอาไปทำตาม คือต้องเข้าใจนะครับว่าตัวโค้ดในคลังโปรแกรมยังเป็นลิขสิทธิ์ของคนที่ทำมันขึ้นมา คนที่สร้างคลังโปรแกรมตัวถัดมาต้องยังคงต้องเขียนโค้ดคลังโปรแกรมของตัวเองขึ้นมาเอง แต่เขาสามารถใช้ API เหมือนของคนแรกได้ คนแรกถ้าต้องการจะแข่งขันก็สามารถสร้างคลังโปรแกรมให้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับคนที่สองขึ้นมาแข่งได้ และถ้ามันดีกว่านักพัฒนาก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ได้โดยง่าย เพราะใช้ API เดียวกัน โค้ดก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอยู่แล้ว

ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่าถ้า Oracle ชนะจะมีผลยังไง ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในโลกซึ่งรูที่เติมน้ำมันรถมีลิขสิทธิ์ รถแต่ละยี่ห้อไม่สามารถใช้รูเติมน้ำมันแบบเดียวกันได้ เช่นถ้า Toyota ใช้วงกลมไปแล้ว  Honda ถ้าอยากใช้วงกลมด้วยต้องจ่ายเงินให้ Toyota ตามยอดขาย Honda ไม่ยอมก็เลยไปใช้รูเติมน้ำมันเป็นสี่เหลี่ยม แล้วยี่ห้ออื่น ๆ ก็ใช้รูปแบบของตัวเอง ลองคิดกันดูแล้วกันครับว่ามันจะยุ่งแค่ไหน




วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

JavaScript ยังคงครองมงกุฏภาษาเขียนโปรแกรมที่ได้รับความนิยม

Photo by Bharat Patil on Unsplash

จากการสำรวจของ SlashData ในหัวข้อ State of the Developer Nation Q3 2020 พบว่าภาษา JavaScript ยังคงครองมงกุฏภาษาสำหรับนักพัฒนา โดยมีจำนวนนักพัฒนาเพิ่มชึ้น 5 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2017 โดยตอนนีืมียอดรวมนักพัฒนาอยู่ที่ 12.4 ล้านคนทั่วโลก โดย Python อยู่ที่อันดับสอง มียอดรวมนักพัฒนาอยู่ที่ 9 ล้านคน เพิ่มขึ้นมา 2.2 ล้านคนจากปีที่แล้ว เหตุผลก็คือมันถูกนำไปใช้ในการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ภาษา Java อยู่อันดับที่ 3 ในการจัดอันดับ อยู่ที่ 8.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านนับจากปี 2017 Oracle บอกว่ามากกว่า 69% ของนักพัฒนาแบบเต็มเวลายังใช้ Java โดยมี Java Virtual Machine ถูกติดตั้งอยู่กว่า 51พันล้านตัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

ทำไมคำตัดสินของศาลสูงที่ให้ Google ชนะ Oracle จึงเป็นชัยชนะของนวัตกรรม

Tom Carnegie on Unsplash

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5 เมษายน) ศาลสูงสหรัฐได้ยุติการต่อสู้ทางกฎหมายที่ยาวนานกว่าทศวรรษในการตัดสินว่า Google ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของ Oracle ที่เกี่ยวข้องกับภาษาโปรแกรม Java การตัดสินจะเกี่ยวข้องกับการใช้  API (Application Program Interface) ซึ่งทำให้ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ของบริษัทต่าง ๆ สามารถติดต่อกันได้  Microsoft, Red Hat ของ IBM และ Mozilla เป็นส่วนหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่อาจถูกขัดขวางหากความต้องการของ Oracle ได้รับการอนุมัติ  Stan Adams จาก Center for Democracy and Technology  "ผลการตัดสินครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับนักพัฒนาและผู้บริโภค เมื่อซอฟต์แวร์ทำงานร่วมกันได้ซึ่งหมายถึงหมายความว่าซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งสามารถพูดคุยกับซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่ง มันก็ง่ายที่จะสร้างนวัตกรรมและสร้างบริการใหม่ ๆ "

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Fortune

เพิ่มเติมเสริมข่าว: ถ้าใครอยากรู้ที่มาที่ไป และความสำคัญของชัยชนะด้าน API นี้ สามารถย้อนไปอ่านข่าวที่ผมเขียนไว้เมื่อต้นปี 2563 ได้ครับ