วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หรือกสทช. จะมีปัญหากับการใช้ดุลยพินิจ

เกือบหนึ่งสัปดาห์แล้วนะครับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นที่รักของพวกเราชาวไทยสวรรคต ในขณะที่พวกเราคนไทย และหลาย ๆ ฝ่ายกำลังพยายามช่วยกันเพื่อให้เราได้กลับไปใช้ชีวิตกันเป็นปกติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งน่าจะเป็นพระประสงค์ของพ่อหลวงของเรา แต่ก็มีหน่วยงานที่ดูเหมือนจะยังทำงานกันแบบล้าหลังอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นในความเห็นของผมก็คือกสทช.

ผมยอมรับว่าผมอาจจะมีอคติกับกสทช.ชุดนี้นะครับ เพราะการทำงานหลาย ๆ อย่างไม่เข้าตาผมสักเท่าไร และเรื่องที่จะเขียนถึงนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องบอกก่อนนะครับว่า ในวันแรกที่พระองค์ท่านสวรรคต นอกจากที่ผมเสียใจมากแล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ผมตกใจมากคือ การที่มีการประกาศว่าทั้งทีวี และวิทยุ รวมถึงเคเบิลทีวี จะต้องงดรายการปกติและรับสัญญาณถ่ายทอดจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเท่านั้น เป็นเวลาหนึ่งเดือน ที่ผมตกใจคือในสถาณการณ์โลกตอนนี้เราทำอย่างนั้นไม่ได้ มันมีข่าวสารอื่น ๆ ในโลกเช่นกันที่มีความสำคัญที่เราต้องรับทราบ นอกจากนั้นการทำอย่างนี้ยังทำให้ประชาชนที่อยู่ในความโศกเศร้าไม่มีช่องทางที่จะระบายอีกด้วย วันสองวันไม่เป็นไรหรอกครับ แต่คนเราถ้าอยู่กับความเสียใจทุกวัน โดยไม่มีทางออกอื่นเป็นเดือนมีปัญหาแน่ นอกจากนี้คนที่เขาทำอาชีพ ทำธุรกิจทีวีเขาจะทำยังไงกัน เราดูทีวีฟรีกันจนลืมคิดไปหรือเปล่าว่าเขามีค่าใช้จ่าย ยิ่งไปกว่านั้นชาวต่างชาติที่เขาเข้ามาอยู่ในประเทศในช่วงนั้น เขาจะไปเที่ยวก็ไม่สะดวกแล้ว จะพักในโรงแรมยังไม่มีอะไรให้เขาดูอีกหรือ

แต่โชคดีมากที่หลังจากนั้นรัฐบาลคงจะคิดได้ ได้ยกเลิกเรื่องดังกล่าว โดยให้ออกอากาศได้ โดยใช้ดุลยพินิจของแต่ละสถานี และต้องตัดมาถ่ายทอดพระราชพิธี แต่ปัญหาก็คือการใช้ดุลยพินิจนี่แหละครับ เพราะบางหน่วยงานก็ใช้ดุลยพินิจแบบที่ผมไม่เข้าใจเอามาก ๆ และหน่วยงานที่ว่านี้ก็คือ กสทช. ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าผมเพิ่งทราบวันนี้เองว่า ช่องรายการทั้งหลายที่เป็นความบันเทิงที่มาจากต่างประเทศจนถึงวันนี้ก็ถูกดุลยพินิจของกสทช. ไม่ให้ออกอากาศ ซึ่งเป็นอะไรที่ผมไม่เข้าใจมาก ๆ เพราะถ้าผมเป็นกสทช. เมื่อได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล สิ่งที่ผมจะทำก็คือช่องที่เป็นรายการต่างประเทศผมจะปล่อยให้ออกอากาศได้

ที่เขียนมานี่ไม่ใช่ผมไม่เสียใจหรืออยากดูหนังจนตัวสั่นหรอกนะครับ ผมเพิ่งรู้วันนี้ว่ามันดูไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ผมดูช่องกีฬาเป็นหลัก ซึ่งมันดูได้ (อันนี้ก็ต้องขอบคุณนะ) แต่ที่อยากเขียนวันนี้ก็เพราะผมคิดว่า กสทช.ยังหลงทาง หรือไม่ได้คิดบางประเด็นไปหรือเปล่า ลองคิดในมุมกลับบ้างดีไหมว่า การทำแบบนี้มันทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกที่จะผ่อนคลายจากความโศกเศร้าหรือเปล่า คนแก่บางคนอยู่บ้านดูซีรีส์ผ่านเคเบิล คนแก่เหล่านี้ส่วนใหญ่รักในหลวง เขาเศร้าโศกอยู่แล้ว ถ้ามีรายการที่เขาเคยได้ดู มันจะช่วยให้เขาได้มีโอกาสผ่อนคลาย และปรับตัวได้ดีขึ้นหรือเปล่า ตกลงคนไทยจะต้องเศร้าโศกตลอดเวลากันเลยใช่ไหม ถ้ากลัวว่ามันไม่เหมาะสมกับบรรยากาศ การดูทีวีเป็นการดูภายในสถานที่ปิดภายในบ้าน มันจะทำให้เสียบรรยากาศยังไง โรงหนังอนุญาตให้ฉายได้ เพราะอยู่ในสถานที่ปิด สถานบันเทิงเปิดได้ ถ้าจัดในสถานที่ปิด แต่ดูทีวีในบ้านตัวเองไม่ได้ มันมีเหตุผลไหมครับ อยากให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ก็คืนความปกติให้เขาให้มากที่สุดสิครับ คนส่วนใหญ่ในประเทศเศร้าใจจากการจากไปของพ่อหลวงอยู่แล้ว โดยไม่ต้องยัดเยียดความเศร้าเสียใจมาให้นะครับ แต่ควรเปิดทางออกให้เขาได้คลายเครียด นอกจากนี้อย่างที่บอกไป นอกจากคนไทยแล้ว เรายังมีแขกบ้านแขกเมืองที่เขาบังเอิญเข้ามาในบ้านเมืองเราในช่วงนี้ ซึ่งเขาอาจไม่ได้เตรียมตัวมาว่าจะเจอสถานการณ์นี้ เขาจะไปเที่ยวก็ไม่สะดวก จะอยู่ในโรงแรมก็ไม่มีอะไรให้ดู คิดถึงเขาหน่อยก็ดีนะครับ

นั่นคือเหตุผลทั้งหมดที่อยากเขียนไว้นะครับ หวังว่ามันอาจจะลอยไปถึงกสทช. เพื่อที่จะลองนำไปคิดดูและลองใช้ดุลยพินิจดูใหม่อีกสักครั้งนะครับ

  

วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วันแรกที่ไม่ได้อยู่ภายใต้พระบารมีของรัชกาลที่ 9

วันนี้ขอบันทึกเอาไว้ว่า 14 ตุลาคม 2559 คือวันแรกของชีวิตที่ไม่ได้อยู่ภายใต้แผ่นดินของรัชกาลที่ 9 อีกแล้ว รู้สึกใจหายอย่างบอกไม่ถูก เพราะตลอดเวลากว่าครึ่งชีวิตของผม ทุกวันที่ผ่านมาผมตื่นมาภายใต้แผ่นดินของพระองค์ท่าน แต่ไม่ใช่อีกแล้วนับแต่วันนี้

ถึงแม้ผมจะพยายามใช้ชีวิตไปตามปกติโดยออกไปทำงาน (ซึ่งมีประกาศตอนหลังว่าเป็นวันหยุดราชการ) เตรียมสอน อ่านงานวิจัย ไปกินข้าวกับเพื่อน ไปทำธุระกับภรรยา และกลับมาติดตามการถ่ายทอดพระราชพิธี แต่บรรยากาศที่ผมสัมผัสได้ในวันนี้ก็คือความเงียบ ความโศกเศร้าที่แทรกอยู่ในทุกอณูของอากาศ การพูดคุยกับใคร ๆ ก็ไม่พ้นเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงผมก็จะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามที่ได้ตั้งปณิธานไว้ตั้งนานมาแล้วว่าผมจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งต้องขอบคุณที่เมื่อคืนนี้ผมสามารถข่มตาให้หลับลงได้ แม้จะทำได้ยากเพียงใด เพราะการที่ผมหลับลงได้ก็จะทำให้ผมสามารถปฏิบัติงานในวันนี้ได้เป็นอย่างดี และก็จะทำให้ได้ในวันต่อ ๆ ไป เช่นกัน

พ่อหลวงครับถึงพ่อหลวงจะจากไปแล้ว แต่ลูกคนนี้จะรักษาสัญญาที่ได้ให้กับพ่อหลวงไว้ว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อสร้างบุคลากรที่จะออกไปเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป และพ่อหลวงจะอยู่ในใจของลูกคนนี้ตลอดไป    

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสู่สวรรคาลัย


ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัย ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด และขอตั้งปณิธานว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดตลอดไปเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระองค์ท่าน 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

-----------------------------------------------------

วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ผมต้องบอกว่าเป็นวันที่เสียใจที่สุดในชีวิต และเป็นวันที่เป็นความสูญเสียที่ใหญ่ที่สุดวันหนึ่งของประเทศไทย ถึงแม้จะรู้ว่าสักวันวันนี้ก็จะมาถึงก็ยังทำใจไม่ค่อยจะได้ แม้ในส่วนหนึ่งของใจหลังจากที่ผมได้อ่านแถลงการณ์เรื่องการรักษาของคณะแพทย์แล้วว่าต้องมีการนำท่อต่าง ๆ เข้าไปในพระวรกาย ผมยังถามตัวเองว่าพระองค์จะทรงเจ็บไหม ถ้าเป็นพ่อแม่เราเราจะเอายังไง แต่ในอีกส่วนของใจก็ยังอยากให้พระองค์อยู่กับเราไปอีกนาน ๆ เมื่อวานนี้ตลอดจนถึงวันนี้ก่อนที่จะมีแถลงการณ์ ในโลกโซเชียลมีการแชร์พระราชประวัติ พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ ซึ่งผมบอกตามตรงว่าไม่อยากดูเลย ผมไม่ได้ว่าคนแชร์นะครับ แต่ผมมีความรู้สึกว่าการแชร์อย่างนี้มันน่าจะทำหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ผมเคยโพสต์อะไรแบบนี้ไปครั้งหนึ่งตอนที่เราลุ้นอาการปอ ทฤษฎี แต่คราวนี้ผมไม่กล้าโพสต์อะไร ใช้การไม่กดไลค์ไม่กดแชร์เอา  

ผมรู้สึกว่าชาตินี้เป็นบุญแล้วที่ได้เกิดมาใต้พระบรมโพธิสมภาร และจริง ๆ แอบภาวนาว่าขอให้ผมเป็นคนหนึ่งแผ่นดิน ก็คือขอให้พระองค์ท่านมีพระชนม์มายุยืนนานจนผมได้ตายลงในสมัยของพระองค์ท่าน ตั้งแต่ผมเด็ก ๆ ผมได้มีโอกาสได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ทำให้กับประชาชนชาวไทย และได้เห็นถึงพระบุญญาบารมีที่ทำให้ประเทศไทยได้ผ่านวิกฤติการณ์ต่าง ๆ มาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะถ้าเป็นประเทศอื่นเหตุการณ์อาจไม่จบง่าย ๆ แบบนั้น  

ในส่วนตัวผมมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระองค์ท่านถึงสองครั้งคือการรับพระราชทานปริญาบัตรในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และผมยังได้รับราชการเป็นข้าราชการ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในแผ่นดินของพระองค์ท่าน ซึ่งผมถือว่าเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตแล้วครับ 

สุดท้ายนี้ถึงแม้พวกเราจะเสียใจ แต่ก็ขอให้คิดว่าพระองค์ท่านได้ทรงพักผ่อนโดยไม่ต้องแบกรับปัญหาของประชาชนชาวไทยเอาไว้อีกต่อไปแล้ว และขอให้พวกเราตั้งปณิธานที่จะทำความดี ทำหน้าที่ของเรา เพื่อถวายพระองค์ท่านกันเถอะครับ...



วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เชียร์ฟุตบอลไทยเจออิรักกันเถอะครับ

ตั้งใจเขียนบล็อกวันนี้ก่อนที่ทีมชาติไทยจะลงสนามกับทีมชาติอิรัก ในฟุตบอลโลกรอบคัดลือกโซนเอเชีย ซึ่งเป็นนัดที่สี่ของทีมชาติไทย และเป็นนัดที่สำคัญด้วยนะครับ เพราะถ้าทีมชาติไทยไม่ชนะผมว่าโอกาสที่จะมีลุ้นอะไรบ้างก็คงหมดไป แต่จริง ๆ ส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากนะ เพราะเราเข้ามาในรอบนี้เราเป็นรองทุกทีม แต่อย่างน้อยก็ขอให้เล่นให้ได้ดี ทำให้ทีมนั้นลำบากกว่าจะชนะเราได้ ผมก็พอใจแล้ว

แต่ที่อยากเขียนถึงในวันนี้ก็คือหลังจากที่เราแพ้มาสามนัดรวด ก็เริ่มมีเสียงตำหนิต่อว่าโค้ชคือเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หรือซิโก้ และคำต่อว่าบางอันก็รุนแรงมาก และภรรยาของซิโก้ต้องออกมาโพสต์ลงโซเชียลตัดพ้อ ในทำนองเข้ามาทำให้ทีมดีขึ้น พอพลาดก็ด่าลืมความดีหมดแล้วหรืออะไรประมาณนี้ ซึ่งผมคิดว่าทางครอบครัวของซิโก้ไม่ควรมาตอบโต้อะไรแทน เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องเลวร้ายลงมากขึ้น เพราะการตอบโต้ในลักษณะนั้นมันจะทำให้คนที่เขาวิจารณ์ด้วยความหวังดี ไปเข้าใจว่าซิโก้นั้นแตะต้องไม่ได้ เพราะอุตส่าห์เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม ทำทีมมาได้ถึงขนาดนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นอย่างผู้นำประเทศสารขัณฑ์ตอนนี้ ซึ่งแตะต้องไม่ได้เลย อ้าวเฮ้ย เดี๋ยว ๆ พูดเรื่องบอลอยู่ดี ๆ มาเป็นเรื่องนี้ได้ไง

ในความเห็นส่วนตัวของผมผมคิดว่าเรามีสิทธิที่จะวิจารณ์คนที่มาทำงานได้ แต่การวิจารณ์นั้นต้องอยู่บนเหตุผล และความพอดี ติเพื่อก่อไม่ใช่ติเพื่อทำลาย สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดอ่อนของทีมชาติชุดนี้มานานแล้วก็คือกองหลังที่ไม่เหนียวแน่น และกองหน้าที่ค่อนข้างใช้โอกาสเปลือง ซึ่งถ้าเล่นอยู่ในอาเซียนด้วยกัน จุดนี้อาจไม่เป็นปัญหานัก แต่พอมาเล่นในระดับเอเชียนี้มันจึงเป็นปัญหา หลาย ๆ ครั้งเราเสียประตูง่าย และพอมีโอกาสยิงซึ่งมีไม่มากนักเราก็ทำไม่ได้ ทั้งที่ควรจะได้ ดังนั้นผลมันจึงออกมาเป็นแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ในสามนัดนั้นมีนัดเดียวที่รูปเกมเราสู้ไม่ได้เลยจริง ๆ คือนัดที่เจอกับญี่ปุ่นในบ้านเราเอง

คนที่ต่อว่าทีมชาติไทยอย่างรุนแรง ลืมไปหรือเปล่าว่าเราผ่านเข้ามาในรอบนี้ได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี เราห่างจากการเล่นในระดับนี้มานานมากแล้ว คู่แข่งของเราในครั้งนี้คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ ซาอุ และอิรัก พวกคุณคาดหวังอะไรกันหรือ ก่อนหน้านี้แม้แต่โอกาสที่จะได้อุ่นเครื่องกับทีมพวกนี้ยังแทบไม่มี ในส่วนตัวผมอย่างที่บอกแต่แรกว่าไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากนักในรอบนี้ หวังว่าแค่เราสู้ได้อย่างดี ไม่เป็นลูกไล่  และได้ประสบการณ์ต่อไปนำมาพัฒนา เพื่อเข้าสู่รอบนี้ให้ได้เป็นประจำ แก้ไขจุดอ่อนที่มีให้ได้ (ซึ่งผมเข้าใจนะว่ามันยาก ขนาดทีมลิเวอร์พูลที่ผมเชียร์มีจุดอ่อนที่กองหลังมานานแล้ว เปลี่ยนโค้ชมาหลายคนแล้วก็ยังแก้ไม่ได้) จนเราก้าวเข้ามาเป็นทีมชั้นนำในเอเชีย เมื่อถึงตอนนั้นค่อยนึกถึงการไปบอลโลกก็ยังไม่สาย และผมว่าถึงตอนนี้ทีมไทยก็เล่นได้ตามที่ผมตั้งความหวังนะ คือเราไม่ได้เป็นรองมาก (ยกเว้นนัดญี่ปุ่น) ซาอุกว่าจะชนะเราก็ต้องได้จุดโทษปัญหา สหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ก็ไม่ได้ชนะเราง่าย ๆ แต่ซิโก้ก็ต้องลองเอาเสียงวิจารณ์เรื่องการเลือกตัว การจัดตัวแบบเดิม ๆ มาพิจารณาด้วยก็ดีว่าเป็นปัญหาจริงหรือเปล่า

 สุดท้ายคืนนี้ 19.30 น. ส่งใจเชียร์ทีมไทยกันครับ ผมว่านัดเจออิรักนี่เป็นนัดที่เรามีลุ้นมากที่สุดในการไปเล่นนอกบ้านแล้ว เพราะรอบแรกที่เจอกันเราก็ไม่แพ้อิรักเลย ถ้าเล่นได้ดีมีสามแต้ม และกลับมาเล่นในบ้านได้อีกเก้าแต้มจาก อิรัก ซาอุ และสหรัฐอาหรับอิมิเรสต์ และอีกสักแต้มจากออสเตรเลีย เราก็ยังมีลุ้นนะครับ (ขอฝันหน่อย)
   


วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทดลองของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถามอะไรเด็ก

เริ่มเขียนเรื่องนี้มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่มีเวลามาเขียนจนเสร็จ จนกระแสเริ่มซาไปแล้ว แต่คิดว่ายังไงก็ยังอยากเขียน ก็คือเรื่องระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (อีกแล้ว) ที่มีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ปีการศึกษา 2561 นี่แหละครับ

หลังจากรวบรวมเสียงของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดจะเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ในบล็อกที่แล้ว วันนี้ก็ขอแสดงความเห็นของตัวเองบ้างนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าแนวคิดนี้คืออะไร ถ้าคลิกดูที่บล็อกที่แล้วของผมก็จะเห็น หรือจะลองอ่านดูจากลิงก์นี้ได้ครับ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638816 ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครเข้าไปอ่านลิงก์นี้แล้ว ขอให้อ่านให้จบนะครับ เพราะมันมีอะไรที่ผมอยากจะมาพูดถึงในบล็อกของผมด้วย

ก่อนที่จะพูดถึงแนวคิดใหม่นี้ เรามาทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นคนยุคที่สมัยตัวเองการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว แล้วก็นั่งลุ้นว่าคะแนนจะติดไหม แต่ระบบใหม่ที่เด็กใช้กันมาตลอดหลายปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบดั้งเดิมทำให้เด็กเครียด ไม่มีโอกาสแก้ตัว และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งหน้าไปกวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์อย่างเดียว (ซึ่งระบบใหม่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด) จากตอนนั้นถึงตอนนี่ต้องบอกว่าระบบมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกปี จนดูเหมือนจะเริ่มลงตัวมาในช่วงสองสามปีหลัง ดังนั้นผมจะขอสรุประบบล่าสุดที่ใช้กันอยู่ให้ฟังก่อนนะครับ บอกตามตรงผมก็เพิ่งจะมาเข้าใจระบบนี้จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะลูกคนโตต้องสอบเข้า

สำหรับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจะใช้กับนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2560 ก็เป็นดังนี้ครับ นักเรียนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามช่องทางนี้ครับ
1. โควต้า มหาวิทยาลัยจะให้โควต้ากับนักเรียนซึ่งมีความสามารถพิเศษ อยู่ในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นต้น ซึ่งโควต้าประเภทนี้อาจจะมีการสอบเองโดยมหาวิทยาลัย หรือจะใช้คะแนนสอบกลาง (จะกล่าวถึงต่อไป) มาประกอบบ้างก็ได้
2. รับตรง โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะประกาศรับนักศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งการรับแบบนี้แหละครับ ที่ระบบที่นำมาใช้ใหม่เขาบอกว่ามันเป็นปัญหาที่เขาตั้งใจจะมาแก้ โดยระบบนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะจัดสอบเอง หรือใช้คะแนนสอบกลาง โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการรับ ถ้านักศึกษาไม่ผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถสมัครได้ และถ้านักเรียนได้ในรอบนี้แล้ว ก็มักจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อนักเรียนไปสมัครที่อื่น แล้วจะสละสิทธิ์ (คือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีวันสอบหรือช่วงยื่นคะแนนและประกาศผลไม่ตรงกัน ดังนั้นใครประกาศรับก่อนก็จะเก็บเงินค่ามัดจำไว้ก่อน) ผมเล่ามาถึงตรงนี้คิดว่าคงเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ ระบบนี้มันก็มีข้อดีนะครับ ซึ่งผมจะพูดต่อไปทีหลัง ระบบรับตรงนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเข้าร่วมสิ่งที่เรียกว่า Clearing House ก็คือถ้านักเรียนคนไหนที่ได้มหาวิทยาลัยในรอบนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปเข้าระบบแอดมิชชันกลาง (จะพูดถึงต่อไป) ด้วยการยืนยันสิทธิ์ เอาง่าย ๆ คือเขาจะไม่ให้เด็กที่มีที่เรียนแล้วไปกั๊กที่คนอื่นในรอบแอดมิดชันอีก ถ้าอยากไปแอดมิชชันก็ต้องสละสิทธิ์สิ่งที่ได้ในรอบรับตรง
3. แอดมิชชันกลาง อันนี้ก็เป็นระบบที่ใช้คะแนนสอบกลาง ให้นักเรียนเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้ 4 อันดับ ถ้าคะแนนถึงอันดับไหนก็ได้อันดับนั้น ในระบบปัจจุบันการแอดมิชชันจะอยู่หลังจากรับตรง และเป็นความหวังเกือบสุดท้ายของเด็ก เพราะคู่แข่งก็จะน้อยลง เนื่องจากพวกที่รับตรงและยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะไม่มาแข่งกับเขาอีก
4. รับตรงหลังแอดมิชชันกลาง อันนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเปิดรับอีกในกรณีได้นักศึกษาไม่ครบตามเป้าหมาย    
5. การสอบ กสพท. อันนี้เป็นการสอบที่จัดให้นักศึกษาที่จะเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ อะไรพวกนี้ เข้าใจว่าที่ต้องมาจัดสอบเองในสาขานี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยมองว่าข้อสอบกลางไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้

คราวนี้มามองดูการสอบกลางบ้างว่านักเรียนต้องสอบอะไรบ้าง

1. GAT/PAT ซึ่ง GAT ก็เป็นการสอบความถนัดทางภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ส่วน PAT ก็คือการสอบความถนัดทางด้านต่าง ๆ เช่น PAT1 คือเลข PAT2 วิทยาศาสตร์ (รวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และ PAT2 นี้นักเรียนที่อยู่สายศิลป์ก็เลือกสอบได้นะครับ แปลกดีเหมือนกัน PAT5 คือความถนัดด้านครูเป็นต้น ซึ่งจะต้องสอบ PAT อะไรบ้างนั้น แต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด นักเรียนจะต้องดูเงื่อนไขของคณะที่ต้องการเข้าเอาเองว่าต้องสอบอะไรบ้าง GAT/PAT จะสอบได้สองครั้ง ครั้งแรกจะประมาณ ปลายปี (ประมาณ ต.ค. - พ.ย.) คือยังเรียน ม.6 ไม่จบก็ต้องสอบแล้ว ครั้งที่สองจะประมาณเดือนมีนาคม หลังจากจบม. 6 แล้ว
2. 9 วิชาสามัญ ก็พวก เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม อะไรพวกนี้ ซึ่งนักเรียนก็ต้องดูว่าคณะที่ตัวเองต้องการเข้าเขาต้องการวิชาอะไรบ้าง อันนี้สอบประมาณ ธ.ค.
3. ONET อันนี้สอบหลังสุด และส่วนใหญ่จะใช้ตอนแอดมิชชันกลาง และที่เขาคิด ONET ขึ้นมาเพราะเขาบอกว่าจะให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และทำให้เกรดที่ได้ของโรงเรียนมันเท่าเทียมกัน เพราะโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด อะไรแบบนี้   ONET จะนำไปถ่วงกับเกรดที่นักเรียนได้ ดังนั้นใครทำ ONET ได้น้อยก็จะทำให้เกรดที่ได้จากโรงเรียนลดลง และเขาค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักของการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ONET เพิ่มขึ้นทุกปี (แต่ได้ผลตามที่เขาคิดไหม ... ขอไม่พูดแล้วกัน)

 เห็นนักเรียนต้องสอบแล้วเหนื่อยใช่ไหมครับ และถ้ามหาวิทยาลัยหรือคณะในบางมหาวิทยาลัยที่รับตรงแบบให้ไปสอบ อย่างคณะบริหารธุรกิจของธรรมศาสต์ในปีก่อนหน้าปีนี้ เขาก็จะมีการสอบที่เรียกว่า Smart-1 ซึ่งเปิดสอบทั้งปี ให้นักเรียนไปสอบเก็บคะแนนเพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือคณะอื่น ๆ ที่จัดสอบเองอีก ก็จะต้องเหนื่อยเข้าไปอีก ซึ่งระบบใหม่ส่วนหนึ่งนี้เขามุ่งจะแก้ปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนสอบน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเขายังมองถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือเขามองว่าคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้สอบมากกว่าคนจนอะไรประมาณนี้

ก็คงพอเห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วนะครับ คราวนี้ผมจะขอแสดงความเห็นบ้าง แต่ก่อนจะแสดงความเห็นขอพูดสั้น ๆ ก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมามันเหมือนคิดอะไรไม่ค่อยจะสุด มีปัญหาให้ลองผิดลองถูกมาแทบจะตลอด คนที่รับผลก็คือนักเรียนนี่แหละ เพราะคิดปุ๊ปก็ทำปั๊ป พอเห็นว่ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ จะทำอะไรก็ไม่เคยถามความคิดของคนที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่รู้คนพวกนี้ไม่มีลูกมีหลานที่ต้องสอบบ้างหรือยังไง

คราวนี้มาดูสิ่งที่เขาพยายามจะแก้ด้วยระบบใหม่นี้คือระบบรับตรง อันนี้เห็นด้วยว่าระบบรับตรง นักเรียนต้องสอบเยอะ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ตรงนี้เป็นแหล่งหารายได้ทั้งค่าสอบและค่ามัดจำล่วงหน้า แต่ประเด็นหลังนี้ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เลยหันมาหารายได้ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันก็เป็นปัญหา ส่วนเรื่องคนรวยได้สอบเยอะ ก็อยากให้คิดว่าคนที่ได้สอบเยอะก็ใช่ว่ามันจะสอบได้นะ คนที่ตั้งใจเรียนอาจสอบครั้งเดียวแล้วได้เลยก็ได้ และที่ต้องมองคือข้อดีอันหนึ่งของระบบรับตรงที่ผมมองเห็นคือ ระบบรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีการเตรียมพร้อม (ผมไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าพวกแอดมิชชันนะ) คือการรับตรงถ้าใช้คะแนนจากการสอบกลางนี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตั้งเงื่อนไขการรับไว้ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่จะใช้ผลจากการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 และ 9 วิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านมาได้คือเขามีการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะคนที่มันเตรียมพร้อมจะให้สอบอะไรแบบไหนมันก็พร้อม อีกประเด็นถ้าไม่มองแค่ว่ามหาวิทยาลัยอยากได้เงินจากการสอบ การที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จัดสอบเองเป็นเพราะข้อสอบกลางคัดเด็กให้เขาไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอให้คิดกันก็คือ

  • ถึงเวลาหรือยังที่จะสอบถามคนที่ได้ผลกระทบก่อนจะทำอะไร ลองให้เขาพูดถึงความรู้สึก หรือเสนอวิธีแก้ตามที่เขาคิดบ้างดีไหม 
  • ถึงเวลาหรือยังที่จะคิดอะไรปุ๊ปแล้วทำปั๊ปลองคิดพิจารณาให้ดีให้ถี่ถ้วน ไม่ใช้ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดีไหม ผมมองว่ามันยังมีอะไรที่ควรจะต้องคิดให้ลงตัวก่อนที่จะนำระบบมาใช้เช่น
    • ข้อสอบจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยอมรับว่าคัดเด็กที่ต้องการได้จริง เรืองพวกนี้ต้องใช้เวลานะผมว่า ข้อสอบที่สทศ.จัดการอยู่ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานให้พูดกันทุกปี ตามข่าวก็เห็นว่าที่ประชุมก็คิดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนประกาศใช้อะไรเรื่องนี้ต้องชัดเจน
    •  เรื่องคะแนนที่จะเป็นจุดอ้างอิงให้นักเรียนที่จะสอบด้วยระบบใหม่เป็นรุ่นแรกจะต้องทำยังไง
    • เรื่องการปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมหรือเปล่า (นี่ก็อีกตัวอย่างของการทำอะไรไม่คิดให้ถี่ถ้วน) และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแล้วว่าจะกลับไปใช้แบบเดิมจะแก้ปัญหายังไง
    • การสอบ ONET ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และจะไม่เอามาใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องสอบอยู่ไหม  
    • การสอบ GAT/PAT ที่เคยสอบสองครั้ง มาเหลือสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กบางคนคิดว่าเสียโอกาสไหม 
    • เป็นไปได้ไหมที่จะรวมการสอบทั้งสองอย่าง หรือสามอย่างที่ว่าเข้าเป็นการสอบเดียว
    • กสทพ. ยังจะให้เขาสอบอยู่ไหม ถ้าไม่ให้เขาสอบแสดงว่าต้องปรับข้อสอบกลาง แล้วถ้าปรับแล้ว มันจะทำให้สาขาอื่นที่ไม่ต้องการอะไรยากอย่างนั้นลำบากไปด้วยไหม
  •  เลิกด่าว่าคนที่เขาคิดไม่เหมือนตัวเองว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงซะที หัดรับฟังความคิดและข้อเสนอที่หลากหลายบ้าง และควรยอมรับว่าเด็กเขาก็มีความคิดดี ๆ มันน่าจะหมดยุคผู้ใหญ่หัวหงอก ไปนั่งคิดแล้วก็บอกว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กได้แล้วมั้ง ขอโทษที่อาจแรงไปหน่อย เพราะอ่านในเนื้อข่าวที่พูดแล้วมันจี๊ด (ด่ามาก็ด่ากลับไม่คดโกง :) ) 
สรุปสุดท้ายก็คือ ไม่ใช่ผมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นะ ผมก็เห็นปัญหาและเข้าใจที่พยายามจะแก้ แต่อยากจะให้เลิกใช้วิธีแบบหนูลองยาซะที ลองรับฟังความเห็น และวางแผนการปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนก่อนดีไหม ผมเชื่อว่าเด็กเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่ทางผู้ใหญ่ต้องชัดเจน และให้โอกาสให้เวลาเขาวางแผนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เขาเตรียมตัวมาอย่างแต่มาเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง ผมมองว่าหลังจากวางแผนอะไรลงตัวแล้ว ก็ควรจะจัดอมรมให้ครูแนะแนวได้เข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนด้วยและก็ควรจะประกาศใช้กับนักเรียนที่ขึ้นจาก ม.3 มา ม.4 หรือช้าสุดก็น่าจะม.4 ขึ้นม.5 อะไรประมาณนี้...