วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563

EU เปิดการปรับปรุงกฏเกณฑ์ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์หลังจากการแฮก

ภาพจาก ACM

สหภาพยุโรปหรือ EU ประกาศในสัปดาห์นี้ว่าจะมีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่ล้าสมัย  เพียงไม่กี่วันหลังจากการแฮก European Medicines Agency ซึ่งทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลของวัคซีนโคโรนาไวรัส ข้อเสนอใหม่นี้จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ Network Information System ปัจจุบันที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2008 และอนุญาตให้ EU เรียกค่าปรับได้เป็นจำนวนมากถ้ามีการละเมิดมาตรการ ข้อเสนอนี้จะเรียกร้องให้มี "เกราะไซเบอร์ทั่วทั้ง EU (EU-wide Cyber Shield)" ซึ่งจะเชื่อมโยงหน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อช่วยตรวจสอบหาสัญาณเตือนล่วงหน้าของการจู่โจม โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificail intelligence) และการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning)  นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งหน่วยงานด้านไซเบอร์ เพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์และการคุกคาม และเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างประเทศและองค์กรอย่าง NATO

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

AI ใช้ข้อมูลจาก Facebook ในการทำนายอาการป่วยทางจิต

ILLUSTRATION: ELENA LACEY

นักวิจัยจาก Feinstein Institutes for Medical Research ในนิวยอร์ค ใช้ ขั้นตอนวิธี AI ในการสแกนข้อความที่โพสต์ใน Facebook ของอาสาสมัคร 223 คน เพื่อทำนายการวินิจฉัยอาการทางจิตเวช โดยใช้ข้อความที่โพสต์ย้อนไปถึง 18 เดือนก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ขั้นตอนวิธีดังกล่าวจะวิเคราะห์ทั้งข้อความและรูปภาพที่ถูกโพสต์ เพื่อระบุว่าผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนมีอาการผิดปกติด้านอารมณ์ มีแนวโน้มที่จะเป็นจิตเภท หรือไม่มีปัญหาทางจิตเลย ผลลัพธ์ที่ได้บ่งชี้ว่าถ้ามีการใช้คำสบถจะเป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยทางจิตโดยรวม การใช้คำที่แสดงการรับรู้เช่น เห็น รู้สึก ได้ยิน และคำที่สัมพันธ์กับอารมณ์ในทางลบจะแสดงให้เห็นแนวโน้มของจิตเภท การมีสีฟ้าในรูปมากขึ้นจะมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติทางอารมณ์ นักวิจัยบอกว่าเครื่องมือทาง AI นี้ สามารถสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลในการรักษาโรคทางจิต

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563

VAR กำลังเป็นประเด็นร้อน

 

Photo by Thomas Serer on Unsplash

นักวิจัยจาก Technical University of Munich (TUM) ในเยอรมัน ได้วิเคราะห์การแข่งขันฟุตบอลอังกฤษ 129 คู่ ผ่านทาง Twitter โดยใช้ AI เพื่อวัดระดับผลกระทบของการตัดสินที่เกิดจาก วีดีโอผู้ช่วยกรรมการ (video assistance referee) หรือ VAR โดยดูจากอารมณ์ของแฟนบอล โดยวิเคราะห์ทวีต 641,251 ทวีต ซึ่งมีที่เกี่ยวข้องกับ VAR กว่า 58,000 ทวีต พบว่าอัตราความพอใจเฉลี่ยในทวีตที่เกี่ยวข้องกับ VAR มีอัตราที่ต่ำกว่าทวีตอื่น ๆ โดย 76.24% มีมุมมองที่เป็นลบต่อ VAR 12.33% มีมุมมองที่เป็นบวก และ 11.43% นั้นเฉย ๆ นักวิจัยบอกว่าสมาคมฟุตบอลคงต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารเกี่ยวกับการตัดสินของ VAR ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Technical University of Munich

วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ทำให้มนุษย์เพิ่มพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง

ภาพจาก University of Southampton (U.K.)

จากงานวิจัยของ University of Southampton ประเทศอังกฤษ พบว่าหุ่นยนต์กระตุ้นให้มนุษย์ลองเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยนักวิจัยได้ทดลองกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี 180 คน ให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อกดแป้น Space Bar จะเป็นการทำให้ลูกโป่งที่อยู่บนหน้าจอพองขึ้นเล็กน้อย และจะเพิ่มเงิน 1 เพนนีเข้าไปในธนาคารชั่วคราว โดยจะมีการสุ่มระเบิดลูกโป่ง ซึ่งถ้าลูกโป่งลูกใดระเบิดผู้เล่นก็จะเสียเงินทั้งหมด และยังมีทางเลือกให้ผู้ใช้ถอนเงินออกมา แล้วเปลี่ยนไปที่ลูกโป่งลูกใหม่ 

โดยนักวิจัยแบ่งผู้ทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก (กลุ่มควบคุม) จะเล่นเองตัดสินใจเอง กลุ่มที่สองจะมีหุ่นยนต์ให้คำแนะนำในการเล่น แต่หลังจากนั้นจะไม่พูดอะไร ส่วนกลุ่มที่สามจะมีหุ่นยนต์ให้คำแนะนำ และกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา เช่นพูดว่า"ทำไมถึงหยุดสูบลมล่ะ"

ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่มีหุ่นยนต์คอยกระตุ้นจะเสี่ยงเล่นมากขึ้น และลูกโป่งจะระเบิดบ่อยครั้งกว่ากลุ่มที่ไม่มีหุ่นยนต์กระตุ้น แต่โดนรวมแล้วกลุ่มนี้จะได้เงินมากกกว่าอีกสองกลุ่ม ในขณะที่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ไม่มีหุ่นยนต์ กับกลุ่มที่หุ่นยนต์อยู่เงียบ ๆ นักวิจัยบอกว่าการได้รับการกระตุ้นจากหุ่นยนต์ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ได้มาจากประสบการณ์หรือสัญชาติญาณของตัวเอง

นักวิจัยบอกว่าด้วยการทีมีการใช้เทคโนโลยี AI อย่างกว้างขวาง และเทคโนโลยีนี้จะต้องมามีปฎิสัมพันธ์กับมนุษย์ งานวิจัยในหัวข้อนี้ควรจะได้รับความสนใจอย่างเร่งด่วนจากชุมชนนักวิจัย ในมุมหนึ่งผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่หุ่นยนต์จะก่ออันตรายจากการทำให้คนเสี่ยงมากขึ้น แตในอีกมุมหนึ่งมันแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้หุ่นยนต์และ AI ในโปรแกรมป้องกัน เช่นการรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ในโรงเรียน และในส่วนของประชากรที่เข้าถึงได้ยากเช่นผู้ติดยาเสพติด 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Southampton (U.K.)

วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ผู้บุกเบิกเครือข่ายไร้สายตายในวัย 88 ปี

Norman Abramson: ภาพจาก Rose de Heer

Norman Abramson ผู้บุกเบิกการพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไร้สายเสียชีวิตแล้วด้วยวัย 88 ปี Abramson เป็นหัวหน้าทีมที่ทำงานในโครงการที่ University of Hawaii เริ่มต้นมาเพื่อส่งข้อมูลไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่บนเกาะฮาวายโดยใช้ช่องสัญญาณวิทยุ ทีมงานนี้ได้พัฒนาวิธีนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และช่วงต้นของทศารรษของ 1970 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้อุปกรณ์ดิจิทัลหลายตัวสามารถส่งและรับข้อมูลผ่านทางช่องของคลื่นวิทยุที่ใช้ร่วมกัน โดยไม่ต้องมีกลไกการจัดตารางเวลาในการรับส่งข้อมูลที่ซับซ้อน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือเครือข่าย ALOHAnet ที่เปิดตัวในปี 1971 ซึ่งสามารถมองได้ว่าเป็นเวอร์ชันไร้สายขนาดเล็กของเครื่อข่าย ARPAnet ที่เป็นเครือข่ายตั้งต้นที่ถูกพัฒนามาเป็นอินเทอร์เน็ต 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The New York Times