วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หมึกชีวภาพสำหรับพิมพ์สามมิติในร่างกาย

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ได้พัฒนาหมึกชีวภาพที่สามารถพิมพ์สามมิติที่อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ และทำให้เป็นรูปร่างโดยใช้แสงที่มองเห็นได้ (visible light) หมึกชีวภาพประกอบด้วยเซลที่มีชีวิตที่อยู่ในเจลและปลอดภัยที่จะใช้ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นการเปิดทางที่สำคัญให้เกิดการพิมพ์สามมิติในร่างกายมนุษย์  นักวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ไม่ใช่การพิมพ์อวัยวะขึ้นมาทั้งชิ้น แต่จะเป็นส่วนเสริมที่พิมพ์อุปกรณ์ทางชีวภาพสำหรับเริ่มต้นการรักษา หรือยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อ โดยนักวิจัยมองว่าการพิมพ์ด้วยหมึกชีวภาพนี้จะเป็นเครื่องมืออีกหนึ่งชิ้นที่ใช้ในการผ่าตัด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การศึกษาพบว่ามีเพียง 18% ของนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ศึกษาจริยธรรมของ AI

จากการสำรวจของบริษัทซอฟต์แวร์ Anaconda พบว่ามีเพียง 15% ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องจริยธรรมของ AI และมีเพียง 18% ของนักศึกษาเท่านั้นที่บอกว่าเรียนด้านนี้ แต่ตัวเลขที่ต่ำนี้ไม่ได้เกิดจากความไม่สนใจ จากการสำรวจนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิชาการ และมืออาชีพจากกว่า 100 ประเทศ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งตอบว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learnig) คือผลกระทบด้านสังคมของอคติ หรือความเป็นส่วนตัว นั่นคือมีความกังวลในด้านนี้ เพียงแต่มันไม่ได้สะท้อนกลับเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน จากการสำรวจยังพบว่ามีเพียง 15% ที่ตอบว่าองค์กรของตัวเองมีระบบที่ยุติธรรม และมีเพียง 19% ที่ตอบว่าระบบที่ใช้อยู่สามารถอธิบายเหตุผลต่าง ได้ นักวิจัยสรุปว่าจากประเด็นต่าง ที่ได้ทำการศึกษาพบว่า ความก้าวหน้าที่ช้าในประเด็นของอคติและความยุติธรรม และการทำให้การเรียนรู้ของเครื่องอธิบายได้ เป็นหัวข้อที่มีความกังวลมากที่สุด ถึงแม้ทั้งสองเรื่องนี้จะแตกต่างแต่ก็มีความสัมพันธ์กัน และทั้งสองเรื่องนี้เป็นหัวข้อคำถามที่สำคัญทั้งด้านสังคม อุตสาหกรรม และการศึกษา ในขณะที่ทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษากำลังพูดกันถึงเรื่องจริยธรรมของ AI แต่มันก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีการปฏิบัติ


อ่านข่าวเต็มได้ที่The Next Web


เพิ่มเติมเสริมข่าว: 


ส่วนตัวมองว่าระบบที่อธิบายให้เข้าใจได้ และยอมรับได้ว่าทำไมตัดสินออกมาอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าปล่อยให้มีคำว่าก็คอมพิวเตอร์มันบอกมาแบบนั้น โดยไม่มีเหตุผล แต่ประเทศเราคงอาจเจอกับประสบการณ์นี้แล้วคือเรื่องลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน และประชาชนก็ไปประท้วงระบบ ดังนั้นคนไทยน่าจะมีภูมิต้านทานในเรื่องนี้อยู่บ้าง จริง ๆ เราต้องสอนให้คนเข้าใจว่า AI หรือ การเรียนรู้ของเครื่องมันก็คือตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่สร้างจากคน มันทำงานบนเงื่อนไข และข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากคนสร้างตัวแบบ ดังนั้นมันก็อาจจะมีอคติ และความไม่ยุติธรรมได้ และตัวแบบพวกนี้สามารถถูกปรับได้ถ้าพบความบกพร่อง 

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ภาษา R กลับมาแล้ว

จากดัชนีความนิยมภาษาโปรแกรมล่าสุดของ Tiobe พบว่าภาษา R กลับมาสู่อันดับ 8 หลังจากตกจาก 20 อันดับแรกจากดัชนีในเดือนพฤษภาคม CEO ของ Tiobe บอกว่าเหตุผลหลักที่ R กลับมาน่าจะมาจากความพยามยามของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และนักวิจัยจากทั่วโลกที่กำลังหาวิธีสร้างวัคซีนสำหรับ COVID-19 จึงทำให้ทั้งภาษา R และ Python ซึ่งเป็นภาษาที่นักสถิติใช้ในการทำเหมืองข้อมูล (data mining) มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดัชนีของ Tiobe นั้นจัดทำจากผลการสืบค้นที่ได้จาก search engine ในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาษาโปรแกรม โดยในดัชนีของเดือนล่าสุดคือเดือนกรกฎาคมอันดับความนิยมของภาษาเขียนโปรแกรมเป็นดังนี้ C, Java, Python, C++, C#, Visual Basic, JavaScript, R, PHP, และ Swift  อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันว่าภาษา R กลับมาเพราะ COVID-19 จริงหรือเปล่า แต่เคยมีนักวิเคราะห์บอกว่า R จะไม่มีทางอยู่ในสิบอันดับแรกของภาษาเขียนโปรแกรม เพราะมันมีโดเมนการใช้งานเพียงโดเมนเดียวคือการทำงานกับข้อมูล และ R ก็ไม่ติด 10 อันดับแรกของรายการที่จัดโดย GitHub ในปี 2019 จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ใช้ R กลุ่มใหญ่มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือภาคการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และชีววิทยา กลุ่มที่สองคืออุตสาหกรรมด้านดูแลสุขภาพ  

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แล็บจริยธรรมเพื่อจัดการปัญหาด้านจริยธรรมทางเทคโนโลยี

University of Notre Dame และ IBM ได้เริ่มต้นดำเนินการ Notre Dame-IBM Tech Ethics Lab เพื่อรองรับความกังวลด้านจริยธรรมที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้งานปัญญาปะดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การคำนวณแบบควอนตัม (Quantum Computing) และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ IBM จะลงทุนเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี จุดประสงค์คือให้ภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมมาร่วมมือกันเพื่อสร้างเฟรมเวอร์กทางจริยธรรมที่ใช้ได้จริง เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่หรือกำลังเกิดขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Notre Dame News

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยพบหนึ่งพันข้อความที่อาจสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ

นักวิจัยจาก Ruhr University Bochum และ Max Planck Institute for Security and Privacy ในเยอรมันพบคำกว่าหนึ่งพันคำที่อาจเริ่มการทำงานของผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Alexa, Cortana และ Google Home ทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ นักวิจัยบอกว่าบางครั้งคำพูดที่พูดกันจากรายการทีวีก็ทำให้ผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้ทำงานโดยที่เราไม่ได้สั่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องจากหลังจากที่เราสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงาน เช่นพูดว่า OK Google เพื่อให้ Google Home ทำงาน สิ่งที่เราพูดจะถูกส่งไปที่ผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็จะมีพนักงานมาช่วยแปลและตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงการทำงานของกระบวนการรู้จำคำของโปรแกรม ดังนั้นเมื่อโปรแกรมผู้ช่วยเหล่านี้ทำงานโดยเราไม่ได้สั่ง การสนทนาซึ่งเราตั้งใจจะให้เป็นส่วนตัวก็อาจถูกฟังโดยพนักงานได้ ตัวอย่างของคำที่นักวิจัยพบก็เช่นคำว่า "unacceptable" และ "election" จะทำให้ Alexa ทำงาน ส่วน Siri ก็จะถูกปลุกด้วยคำว่า "city" สำหรับ Google Home ก็เช่นคำว่า "Ok, cool" และ Cortana ก็เช่นคำว่า "Montana" ในข่าวเต็มมีวีดีโอแสดงตัวอย่างด้วยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าจะพูดในแง่หนึ่งมันก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะมันก็มีคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ กันอยู่ ยิ่งถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะเงียบ อย่าง "city" ก็อาจถูกฟังเพี้ยนเป็น "siri" ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่เตือนให้เราต้องระวัง ในการใช้ผู้ช่วยเหล่านี้ ส่วนตัวเคยเจอ Google Assistant ทำงานเองบ่อย ๆ เวลาเปิดวีดีโอจากคอมพิวเตอร์แล้ววางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ