วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ภาษา R กลับมาแล้ว

จากดัชนีความนิยมภาษาโปรแกรมล่าสุดของ Tiobe พบว่าภาษา R กลับมาสู่อันดับ 8 หลังจากตกจาก 20 อันดับแรกจากดัชนีในเดือนพฤษภาคม CEO ของ Tiobe บอกว่าเหตุผลหลักที่ R กลับมาน่าจะมาจากความพยามยามของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และนักวิจัยจากทั่วโลกที่กำลังหาวิธีสร้างวัคซีนสำหรับ COVID-19 จึงทำให้ทั้งภาษา R และ Python ซึ่งเป็นภาษาที่นักสถิติใช้ในการทำเหมืองข้อมูล (data mining) มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดัชนีของ Tiobe นั้นจัดทำจากผลการสืบค้นที่ได้จาก search engine ในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาษาโปรแกรม โดยในดัชนีของเดือนล่าสุดคือเดือนกรกฎาคมอันดับความนิยมของภาษาเขียนโปรแกรมเป็นดังนี้ C, Java, Python, C++, C#, Visual Basic, JavaScript, R, PHP, และ Swift  อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันว่าภาษา R กลับมาเพราะ COVID-19 จริงหรือเปล่า แต่เคยมีนักวิเคราะห์บอกว่า R จะไม่มีทางอยู่ในสิบอันดับแรกของภาษาเขียนโปรแกรม เพราะมันมีโดเมนการใช้งานเพียงโดเมนเดียวคือการทำงานกับข้อมูล และ R ก็ไม่ติด 10 อันดับแรกของรายการที่จัดโดย GitHub ในปี 2019 จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ใช้ R กลุ่มใหญ่มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือภาคการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และชีววิทยา กลุ่มที่สองคืออุตสาหกรรมด้านดูแลสุขภาพ  

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แล็บจริยธรรมเพื่อจัดการปัญหาด้านจริยธรรมทางเทคโนโลยี

University of Notre Dame และ IBM ได้เริ่มต้นดำเนินการ Notre Dame-IBM Tech Ethics Lab เพื่อรองรับความกังวลด้านจริยธรรมที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้งานปัญญาปะดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การคำนวณแบบควอนตัม (Quantum Computing) และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ IBM จะลงทุนเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี จุดประสงค์คือให้ภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมมาร่วมมือกันเพื่อสร้างเฟรมเวอร์กทางจริยธรรมที่ใช้ได้จริง เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่หรือกำลังเกิดขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Notre Dame News

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยพบหนึ่งพันข้อความที่อาจสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ

นักวิจัยจาก Ruhr University Bochum และ Max Planck Institute for Security and Privacy ในเยอรมันพบคำกว่าหนึ่งพันคำที่อาจเริ่มการทำงานของผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Alexa, Cortana และ Google Home ทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ นักวิจัยบอกว่าบางครั้งคำพูดที่พูดกันจากรายการทีวีก็ทำให้ผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้ทำงานโดยที่เราไม่ได้สั่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องจากหลังจากที่เราสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงาน เช่นพูดว่า OK Google เพื่อให้ Google Home ทำงาน สิ่งที่เราพูดจะถูกส่งไปที่ผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็จะมีพนักงานมาช่วยแปลและตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงการทำงานของกระบวนการรู้จำคำของโปรแกรม ดังนั้นเมื่อโปรแกรมผู้ช่วยเหล่านี้ทำงานโดยเราไม่ได้สั่ง การสนทนาซึ่งเราตั้งใจจะให้เป็นส่วนตัวก็อาจถูกฟังโดยพนักงานได้ ตัวอย่างของคำที่นักวิจัยพบก็เช่นคำว่า "unacceptable" และ "election" จะทำให้ Alexa ทำงาน ส่วน Siri ก็จะถูกปลุกด้วยคำว่า "city" สำหรับ Google Home ก็เช่นคำว่า "Ok, cool" และ Cortana ก็เช่นคำว่า "Montana" ในข่าวเต็มมีวีดีโอแสดงตัวอย่างด้วยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าจะพูดในแง่หนึ่งมันก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะมันก็มีคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ กันอยู่ ยิ่งถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะเงียบ อย่าง "city" ก็อาจถูกฟังเพี้ยนเป็น "siri" ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่เตือนให้เราต้องระวัง ในการใช้ผู้ช่วยเหล่านี้ ส่วนตัวเคยเจอ Google Assistant ทำงานเองบ่อย ๆ เวลาเปิดวีดีโอจากคอมพิวเตอร์แล้ววางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ 

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โดรนที่ทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้

นักวิจัยจาก Japan Advanced Institute of Science and Technology ได้พัฒนาวิธีการผสมเกสรดอกไม้โดยใช้โดรนซึ่งทำหน้าที่ปล่อยละอองเกสรดอกไม้ในรูปฟองสบู่ โดยฟองสบู่หนึ่งฟองสามารถมีจำนวนละอองเกสรได้มากถึง 2,000 ละออง นักวิจัยได้สาธิตการทำงานด้วยการใช้โดรนที่มีเครื่องสร้างฟองสบู่ ที่สร้างฟองสบู่ได้ในอัตรา 5,000 ฟองต่อนาที โดรนบินด้วยอัตราเร็ว 2 เมตรต่อวินาที ที่ระดับความสูงสองเมตร ผลการทดลองพบว่ามีอัตราความสำเร็จ 90% นักวิจัยบอกว่าขอแค่มีเพียงฟองเดียวที่ตกลงบนเกสรตัวเมียก็เพียงพอต่อการผสมเกสรแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

แม้แต่ผึ้งก็จะโดน Disrupt หรือนี่ :)

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กล้องความปลอดภัยในบ้านสามารถถูกแฮกเพื่อตรวจจับว่าเจ้าของบ้านอยู่บ้านหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์จาก Queen Mary University of London และ Chinese Academy of Sciences ในปักกิ่งได้สาธิตการใช้งานช่องโหว่ในกล้องความปลอดภัยที่นิยมติดตั้งตามบ้าน โดยดูจากข้อมูลที่มันอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ต โดยผู้บุกรุกจะดักจับข้อมูลที่ส่งจาก WiFi ซึ่งกล้องความปลอดภัยในบ้านส่วนใหญ่ใช้ในการส่งข้อมูลขึ้นอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้บุกรุกสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ แม้ข้อมูลจะถูกเข้ารหัส นักวิจัยได้ศึกษาชุดข้อมูลจากบริษัทที่ไม่เปิดเผย ซึ่งยอมให้นักวิจัยเข้าถึงข้อมูล 15.4 ล้านชุดที่ถูกอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ตจากผู้ใช้ 211,000 ราย ซึ่งนักวิจัยสามารถพบรูปแบบของข้อมูลที่เป็นการเคลื่อนไหว และยังสามารถแยกประเภทของการเคลือนไหวได้ด้วย ซึ่งผู้บุกรุกก็สามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อดูว่าเจ้าของบ้านอยู่บ้านหรือไม่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Daily Mail (U.K.)

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

แทบทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษจริง ๆ อย่างกล้องพวกนี้ เราติดก็เพื่อใช้ดูบ้านตอนเราไม่อยู่ว่ามีใครเข้ามาหรือเปล่า คนจะเข้าบ้านเราก็ใช้กล้องในการดูว่าตอนนี้มีใครอยู่บ้านหรือเปล่า