วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้บลูทูชพลังงานต่ำมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย

องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration, FDA) ได้ออกมาเตือนคนไข้ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และบริษัทผู้ผลิต ในเรื่องช่องโหว่ที่ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อโดยใช้บลูทูชพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy, BLE) ซึ่ง BLE นี้คือเทคนิคที่ทำให้อุปกรณ์สามารถจับคู่เชื่อมต่อกันได้โดยประหยัดพลังงานจากแบตเตอรีของอุปกรณ์ การจู่โจมที่เรียกว่า "SweynTooth"  จะทำให้ผู้บุรุกสามารถเข้ายึดครองอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเช่น ตัวควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อุปกรณ์แสดงระดับน้ำตาลในเลือด และเครื่องอัลตราซาวด์ โดยทำให้มันหยุดทำงาน หรือผู้บุรุกสามารถเข้าถึงฟังก์ชันซึ่งสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้นได้ โดยการเข้าถึงนี้สามารถเข้าถึงได้จากซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้งานได้อย่างอิสระ FDA ได้เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตรีบแก้ไข และเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: U.S. Food and Drug Administration

เพิ่มเติมเสริมข่าว

จากที่ข่าวบอกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบุกรุกสามารถดาวน์โหลดได้อย่างอิสระ ซึ่งตรงนี้ก็น่ากลัวว่า ถ้ามีคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก แค่อยากแฮกเล่นสนุก ๆ อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าเพราะความไม่รู้ก็ได้ ลองเปรียบเทียบดูโจรมืออาชีพถ้าปล้นเราพอได้เงินแล้วอาจไม่ฆ่าเรา แต่โจรมือใหม่ หรือมือสมัครเล่น อาจฆ่าเราโดยไม่ตั้งใจ เพียงแต่เราล้วงกระเป๋าไปจะหยิบเงินให้ แต่เขาอาจคิดว่าเราจะหยิบอาวุธมาสู้ เลยฆ่าเราตาย  

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

บริษัท Startup ด้าน AI ส่วนใหญ่ยังมีฐานอยู่ในอเมริกา

CB insights ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีพบว่า 65% ของบริษัท Startup ด้าน AI ที่อยู่ในร้อยอันดับแรกด้าน AI ส่วนใหญ่ยังมีฐานอยู่ในอเมริกา แม้ว่าบางบริษัทจะมีสำนักงานใหญ่คู่กันในจีนหรือประเทศอื่นด้วย บริษัทเหล่านี้จะอยู่ในด้านสุขภาพ ค้าปลีกและขนส่ง  อย่างไรก็ตามเปอร์เซนต์การลงทุนด้าน AI ได้ลดลงจาก 71% เป็น 39% ตั้งแต่ปี 2014 สำหรับประเทศที่รองลงมาจากอเมริกาคือแคนาดาและสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 8% เท่ากัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อันดับหนึ่งกับอันดับสองยังห่างกันอยู่มาก แสดงว่ายังไงสหรัฐก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านนี้อยู่ หรือไม่ก็ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเหมาะสมกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่อีกพอสมควร

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

เครื่องมือสำหรับช่วยทหารวางแผนอพยพพลเรือน

นักวิจัยจาก North Carolina State University (NC State) และกองทัพสหรัฐ ได้ร่วมกันพัฒนาตัวแบบที่จะช่วยอพยพพลเรือนในสถานการ์ฉุกเฉินเช่นภัยธรรมชาติ หรือด้านมนุษยธรรมโดยตัวแบบนี้เน้นไปที่การอพยพในเกาหลีใต้ แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้กับทีอื่น ๆ ได้ทั่วโลกด้วย นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้ต่างกับตัวแบบอื่น ๆ ในแง่ที่มันมีทั้งการวางแผนและการปฏิบัติการ โดยสรุปก็คือตัวแบบนี้จะบอกว่าต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยสามารถลงไปในรายละเอียดเช่นต้องเอารถบรรทุกไปจอดที่ไหนในเวลาอะไร การที่เขาไปสร้างตัวแบบนี้โดยเน้นที่เกาหลีใต้เป็นเพราะ เขาบอกว่าการอพยพคนในเกาหลีใต้มีความซับซ้อน เหมาะกับการที่จะเข้าไปวิจัยและปรับปรุง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State news 

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

สร้างหุ่นยนต์ที่เก่งขึ้นโดยเรียนรู้จากงู

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้พัฒนาหุ่นยนต์งู ซึ่งสามารถเคลื่อนที่และปีนป่ายได้อย่างว่องไว หุ่นยนต์นี้จะช่วยให้งานวิจัยด้านหุ่นยนต์ค้นหาและกู้ภัยมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยหุ่นยนต์จะสามารถเคลือนที่เข้าไปยังพิ้นที่ที่ยากลำบากได้ โดยนักวิจัยได้ศึกษาวิธีการปีนของงูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมในธรรมชาติตั้งแต่ในทะเลทรายไปจนถึงในป่า จากนั้นสร้างหุ่นยนต์ซึ่งเลียนแบบการเคลื่อนที่ของพวกมัน นักวิจัยบอกว่ายังไงสัตว์พวกนี้ก็ยังเก่งกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Johns Hopkins Hub

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

หรือเมาส์ไร้สายควรจะถูกเรียกว่าแฮมสเตอร์

วันศุกร์กลับมาอีกแล้วนะครับ จริง ๆ ผมกะว่าจะเขียนเรื่องนี้มาเมื่อสักสองศุกร์ก่อนหน้านี้แล้วครับ แต่บังเอิญมีเรื่องการเมืองร้อนแรงให้เขียนถึงซะก่อน คือเมื่อสองศุกร์ก่อน  Facebook ฟีดเรื่องนี้ขึ้นมาให้ผมครับ ไม่รู้ทำไม คือมีคนไปสร้าง campaing ใน change.org ว่าทำไมเราถึงยังเรียกเมาส์ไร้สายว่าเมาส์กันอยู่ ในเมื่อหนูที่ไม่มีหางมาตั้งแต่เกิดน่ะมันคือแฮมสเตอร์ ดังนั้นเปลี่ยนมาเรียกเมาส์ไร้สายว่าแฮมสเตอร์กันเถอะ เห็นด้วยกับเขาไหมครับ ถ้าเห็นด้วยก็ไปร่วมลงชื่อกับเขาได้นะครับที่

 https://www.change.org/p/donald-trump-rename-the-wireless-mouse-to-hamster-66da426f-0238-4d2d-b9ac-f070cab9d5b4?use_react=false

แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครสนใจสักเท่าไรนะครับ เพราะเท่าที่ดู campaign นี้สร้างมาสองปีแล้ว แต่มีคนลงชื่อสนับสนุนไปแค่ 5000 กว่าคน 

คราวนี้ผมก็เลยคิดว่าเราลองไปค้นเรื่องของเมาส์หน่อยดีไหมและทำไมเขาถึงเรียกมันว่าเมาส์ ก็เลยลองไปค้นดูครับ แล้วก็ค้นพบว่าคนแรกที่สร้างเมาส์ขึ้นมาคือคุณ Doug Engelbart และเขาตั้งชื่อมันว่าเมาส์ก็เพราะมันมีรูปร่างเหมือนหนูที่มีหางนั่นเองครับ อ้างอิงจากเว็บนี้นะครับ https://www.devinedesign.net/why-is-a-mouse-called-a-mouse/ ซึ่งก็ตรงตามที่รณรงค์ใน campaing สำหรับใครที่อยากอ่านประวัติของเมาส์แบบมี timeline เข้าใจง่าย และมี quiz เช็คความเข้าใจด้วยก็ดูที่ประวัติของคอมพิวเตอร์เมาส์ ได้เลยครับ

สำหรับผมก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าดีใจที่ไทยเราไม่เรียกเมาส์ว่าหนู เพราะมันอาจจะมีความหมายอย่างอื่นในบางบริบท ลองคิดภาพดูครับ สมมติมีนิยายเรื่องหนึ่ง เขียนเล่าถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ร้ายว่า

"เขาจับหนู กดหนูค้างไว้แล้วลากหนูไปจนถึงจุดที่ต้องการ แตะปุ่มซ้ายของหนูอย่างรวดเร็วสองครั้ง จากนั้นแตะปุ่มขวาของหนู และคำรามออกมาอย่างไม่พอใจเมื่อรู้สึกว่าหนูตอบสนองช้าเกินไป..."

ไป ๆ มา ๆ มันจะพาลนึกถึงนิยาย 18+ นะครับ

คราวนี้สมมติว่าถ้าเราเปลี่ยนมาเรียกเมาส์ไร้สายว่าแฮมสเตอร์ ลองมาดูนิยายเรื่องเดิมนะครับ 

"เขาจับแฮมสเตอร์ ลากแฮมสเตอร์ไปจนถึงจุดที่ต้องการ แตะปุ่มซ้ายของแฮมสเตอร์อย่างรวดเร็วสองครั้ง จากนั้นแตะปุ่มขวาของแฮมสเตอร์ และคำรามออกมาอย่างไม่พอใจเมื่อรู้สึกว่าแฮมสเตอร์ตอบสนองช้าเกินไป..." 

แบบนี้อาจนึกถึงเรื่องการทรมานสัตว์นะครับ

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อมันหรอกนะครับ เพราะคำว่าเมาส์ตอนนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วในอีกหนึ่งความหมาย คืออุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์นำข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ และจริง ๆ เราก็ไม่เคยเรียกสายเมาส์ว่าหางหนูอยู่แล้วจริงไหมครับ ดังนั้นผมว่าเมาส์ไร้สายก็ดีแล้วนะครับ