วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

AI ที่ทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาเตือนการแพร่กระจายของไวรัสอูฮันได้เป็นที่แรก

BlueDot ซึ่งเป็นระบบสำหรับเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขของแคนาดา เป็นที่แรกที่ได้ส่งสัญญาณเตือนเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสอูฮันในวันที่ 31 ธันวาคมปีที่แล้ว BlueDot ใช้การวิเคราะห์รายงานข่าวในภาษาต่างประเทศ เครือข่ายโรคพืชโรคสัตว์ และข้อมูลจากรัฐบาลเพื่อเตือนผู้ใช้ระบบให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่การระบาดของโรคน่าจะเกิดขึ้น ขั้นตอนวิธีที่ระบบใช้ยังวิเคราะห์ไปถึงข้อมูลสายการบินทั่วโลกเพื่อช่วยทำนายว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ติดเชื้อเดินทางไปที่ไหนบ้าง ระบบ BlueDot ทำนายได้อย่างถูกต้องว่าไวรัสจะแพร่กระจายจากอูฮัน ไปกรุงเทพ โซล ไทเป และโตเกียวหลังจากวันที่มันเริ่มระบาด ผู้พัฒนาระบบ BlueDot บอกว่าแรงบันดาลใจจากการพัฒนาระบบก็คือการระบาดของไวรัส SARS ในปี 2003 ซึ่งการระบาดนี้ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักเพื่อรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งเขาไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้นอีก ระบบ BlueDot นี้เริ่มเปิดตัวในปี 2014 ด้วยทุน 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐ มันจะวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยใช้การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Proessing) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เพื่อกรองข้อมูลจากนั้นก็ส่งข้อมูลให้นักระบาดวิทยาที่เป็นคนวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ และส่งข้อมูลให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

IoT จะพาเมืองอัจฉริยะก้าวไปอีกขั้น

การใช้งานเครือข่าย IoT ในเมืองอัจฉริยะกำลังก้าวหน้าไปอย่างมาก Gartner ประมาณว่าเมื่อปีที่แล้วเครือข่าย IoT มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกันอยู่ประมาณ 14.2 พันล้านเครื่อง ส่วน IDC คาดการณ์ว่าจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อกัน 41.6 พันล้านเครื่องในปี 2025 ในปัจจุบันเมืองใช้เครือข่ายนี้ในการจัดการของเสีย และการจราจร แต่ผู้เชี่ยวชาญตั้งความหวังว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะช่วยให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนขึ้นในการบริหารจัดการเมือง และในด้านการทำนาย เช่นหน่วยงานดับเพลิงใน Nashville ใช้ซอฟต์แวร์ช่วยวิเคราะห์ตำแหน่งที่จะเกิดไฟใหม้ขึ้นในอนาคต ซึ่งก็จะทำให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งก็คือการเปลี่ยนจากการทำงานเชิงรับไปเป็นการทำงานเชิงรุกนั่นเอง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Financial Times

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ตำรวจลอนดอนกำลังจะใช้ระบบรู้จำใบหน้าแบบทันที

ตำรวจมหานครลอนดอนกำลังจะใช้ระบบรู้จำใบหน้าแบบทันทีเพื่อที่จะสามารถระบุตัวตนของคนที่เดินอยู่ในรัศมีที่กล้องจับได้ ถึงแม้ว่าจะมีบางคนกังวลเรื่องประสิทธิภาพและเสรีภาพของประชาชน แต่ตำรวจบอกว่าจากการทดลองพบว่าระบบสามารถระบุตัวคนร้ายที่ต้องการได้ถูกต้อง 70% และพลาดระบุว่าคนธรรมดาว่าเป็นคนร้ายเพียง 1 ใน 1000 รายเท่านั้น และบอกว่าจากการสำรวจพบว่ามีคนที่เห็นด้วยในการใช้ระบบนี้ถึง 80% ตำรวจบอกว่าการใช้ระบบนี้จะเชื่อมต่อภาพจากกล้องเข้ากับฐานข้อมูลผู้ต้องสงสัย ถ้าตรงกันระบบจะเตือนให้ตำรวจเข้าไปสอบสวน แต่ถ้าไม่ตรงภาพของคนคนนั้นจะถูกลบออกไปในไม่กี่วินาที ดังนั้นก็ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ผู้เชียวชาญกลับให้ความเห็นที่แตกต่างกับตำรวจในแง่ประสิทธิภาพ โดยบอกว่าระบบนี้มีประสิทธิภาพในการระบุตัวคนร้ายได้แค่ 19% เท่านั้น ไม่รู้ตัวเลข 70% มาจากไหน และสำนักข่าวที่รายงานข่าวนี้บอกว่าระบบจะทำงานได้ดีเฉพาะในตอนกลางวันที่มีแสงสว่างชัดเจน แต่จะด้อยประสิทธิภาพลงในเวลากลางคืน ยิ่งไปกว่านั้นตำรวจยังยอมรับว่าระบบยังทำงานไม่ดีในกรณีที่มีคนอยู่หนาแน่น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เท่าที่ตามข่าวมาในจีนใช้ระบบนี้แล้วและแน่นอนว่าปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวอะไรก็ไม่มีใครสามารถพูดถึงได้อยู่แล้ว แต่ส่วนตัวคิดว่าถ้าในไทยจะนำมาใช้โดยจุดประสงค์เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมก็โอเคนะ คิดว่าเราคงหนีเทคโนโลยีแบบนี้ไปไม่พ้นอยู่แล้ว อ้อแต่ประเทศไทยอาจต้องเริ่มจากมีกล้องวงจรปิดชัด ๆ และไม่เสียให้ทั่วก่อนนะ เวลาเกิดคดีอะไรขึ้นมารู้สึกจะมีปัญหากับกล้องไม่ชัด กล้องเสียเป็นประจำ

วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

เดือนแรกของปีหนู(ดุ)

สวัสดีครับ หลังจากสร้างนิสัยสรุปข่าวแชร์ข่าวได้แล้วหนึ่งอย่าง ก็เลยคิดว่าจะลองเขียนบล็อกเรื่องอะไรที่อยากเขียน เล่าเรื่องอะไรที่อยากเล่า โดยเล่าให้ฟังทุกวันศุกร์ที่เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ครับ

วันแรกของบล็อกในหัวข้อนี้ก็บังเอิญเป็นศุกร์สิ้นเดือนของเดือนแรกของปีนี้พอดี จะว่ามันเร็วก็เร็วนะครับ เพราะเหมือนกับเพิ่งฉลองปีใหม่ไปได้แป๊ปเดียว แต่เอาจริง ๆ แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นมากมายและเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่กรณีอเมริกากับอิหร่าน ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ฝุ่น PM  (อย่าไปแปลเป็น Prime Minister นะครับ :) ) จนมาถึงโคโรนาไวรัส บางเรื่องก็ทำท่าว่าอาจจบได้แล้ว   บางเรื่องก็อาจต้องดูผลกระทบต่อไป เพราะมันเริ่มกระจายไปทั่วโลกจน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเห็นคุณหมอบางท่านคนออกมาบอกว่าต่อไปมันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูกาลเหมือนกับโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ ต่อไปก็คงต้องฉีดวัคซีนเพิ่มกันอีก (หรือเปล่า) นอกจากนี้เรื่องฝุ่น PM เรื่องไวรัสมันก็ทำให้ได้เห็นถึงความสามารถในการจัดการปัญหาและภาวะผู้นำของผู้นำประเทศได้เหมือนกันนะครับ ยิ่งไปกว่านั้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนก็คาดว่าปีนี้จะเป็นปีเผาจริงแล้ว (สาธุขอให้เขาคาดผิดกัน) เจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าไป ก็ไม่รู้ว่ามันจะแย่มากขึ้นหรือเปล่า และยังไม่พอยังมีข่าวนักบาสชื่อดังระดับตำนาน ซึ่งเป็นคนที่ผมชื่นชอบคนหนึ่งคือโคบี้ ไบรอัน ยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกอีก หรือมันจะเป็นปีหนูดุจริง ๆ

พูดมาเหมือนมีแต่เรืองไม่ดี มาลองดูสิว่ามันมีเรื่องดี ๆ อะไรบ้าง เหมือนจะคิดไม่ออก แต่จริง ๆ ก็มีนะครับ อันแรกก็คือทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์มาตั้งแต่เด็กคือลิเวอร์พูล ก็ยังโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยชนะมาได้ทั้งหมดตลอดเดือนมกราคม และนำห่างที่สองถึง 19 แต้ม ตามปกติเดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ลิเวอร์พูลมักจะทำแต้มหล่นหาย (อันนี้อาจจะดีแค่กองเชียร์ลิเวอร์พูล แต่กองเขียร์ทีมอื่นอาจคิดว่ามันน่าจะจัดกลุ่มอยู่ในย่อหน้าบนก็ได้นะครับ :) ) ตัวเองก็ยังมีงานทำ ยังพอมีเงินใช้ สุขภาพก็ยังพอใช้ได้ ครอบครัวก็ยังอยู่กันพร้อมหน้า

ส่วนหนึ่งก็อยากภาวนาว่าปัญหาร้ายแรงทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมันจะเป็นของทั้งปี และได้เกิดหมดไปแล้วในเดือนนี้ และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งปีนี้มี 29 วันนะครับ :) ) หวังว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาและที่เขาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจที่มันจะเป็นปีเผาจริงก็ขอให้คาดผิด หรือมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาช่วยเรา

แต่คิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาบริหารจัดการตัวเอง เช่นตอนนี้ผมก็เริ่มบอกตัวเองให้ประหยัดมากขึ้น อะไรที่อยากได้แต่ไม่จำเป็นก็พักไว้ก่อน ช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนเยอะ ๆ ออกกำลังกายให้มากขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น และพัฒนาตัวเอง ในเมื่อเราไม่สามารถรู้โชคชะตาข้างหน้าได้ และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตเลย (เสียเวลาไปห้าหกปี กับคำพูดหรู ๆ ของนักการเมืองที่หลอกคนออกมาบนถนน บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่จริง ๆ ต้องการให้ทหารมายึดอำนาจ) ออกจะแย่กว่าด้วยซ้ำ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ควรไปหวังพึ่งรัฐบาลไหนอยู่แล้ว (เพียงแต่ถ้ารัฐบาลเก่งและเราดูแลตัวเองผลมันอาจจะดีกว่ารัฐบาลแย่ ๆ )

 ก็ขอส่งท้ายบล็อกนี้ว่า อัตาหิอัตโนนาโถ ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บริหารจัดการตัวเองกันดี ๆ ไม่ว่าหนูจะดุแค่ไหนเราก็น่าจะผ่านกันไปได้ (อาจจะทุลักทุเลหน่อย ภายใต้รัฐบาลแบบนี้)) และช่วยกันตั้งความหวังว่าสุดท้ายเราจะได้รัฐบาลเก่ง ๆ มีความสามารถมากกว่านี้มาช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ไปอย่างสบายกว่านี้แล้วกันครับ สาธุ

ชายอเมริกันที่ติดไวรัสโคโรนาถูกดูแลโดยหุ่นยนตฺ์

ชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาวูฮันได้รับการรักษาโดยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์ที่ Providence Regional Medical Center in Everett, WA หุ่นยนต์ดังกล่าวมีหูฟังเพื่อให้หมอสามารถฟังสัญญาณชีพของคนไข้ และมีหน้าจอขนาดใหญ่ให้หมอกับคนไข้ได้คุยกัน โดยมีพยาบาลเป็นคนเลื่อนหุ่นยนต์ไปรอบ ๆ ห้องเพื่อให้หมอได้เห็นและพูดคุยกับคนไข้ หมอบอกว่าหุ่นยนต์นี้จะมีส่วนช่วยลดการติดเชื้อจากคนไข้มาสู่บุคลากรทางการแพทย์ได้ ตามข่าวบอกว่าโรงพยาบาลนี้ได้ทดสอบวิธีการในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชิ้อโรคที่แพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่ายอย่าง Ebola หรือ MERS มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (ซึ่งก็เลยได้ใช้จริงกับคนไข้รายนี้พอดี) และจริง ๆ แล้วโรงพยาบาลได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีรักษามาตั้งแต่หลังการระบาดของ Ebola 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN Health

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ตอนแรกคิดว่าน่าเสียดายที่ยังต้องใช้พยาบาลเลื่อนหุ่นยนต์อยู่ ถ้าให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้เอง หรือใช้รีโมทควบคุมหุ่นยนต์ได้ก็น่าจะทำให้พยาบาลไม่ต้องเสี่ยง แต่คิดอีกที ยังไงก็คงต้องใช้พยาบาลที่เป็นคนดูแลคนไข้อยู่ดี บุคคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละจริง ๆ