วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สุดยอดแบตเตอรีกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ปัญหาหนึ่งของแบตเตอรีในปัจจุบันก็คือเรื่องความจุ ขนาดและเวลาในการชาร์จครับ แต่นักวิจัยจาก University of Illinoises บอกว่าได้คิดวิธีแก้ปัญหานี้ได้ครับ โดยใช้อิเลกโตรดแบบสามมิติ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างแบตเตอรีที่มีขนาดเล็ก ตามข่าวเรียกว่า microbattery หรือขนาดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้แต่มีพลังงานมากกว่าเดิม และยังชาร์จเร็วขึ้นหนึ่งพันเท่าด้วย แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกตอนนี้คือเรื่องความปลอดภัยครับนั่นก็คือเรื่องที่มันอาจระเบิดได้

ก็หวังว่านักวิจัยจะแก้ปัญหานี้ได้เร็ว ๆ นะครับ ปัญหาแบตมือถือหมดระหว่างวันจะได้หมดไป และเราอาจจะได้ใช้รถไฟฟ้าซึ่งชาร์จไฟได้ด้วยความรวดเร็วโดยใช้เวลาเท่า ๆ การเติมน้ำมันในปัจจุบันนี้

ที่มา: BBC News

เครื่องมือที่ช่วยป้องกันไม่ให้ข่าวสารผิดกระจายในอินเทอร์เน็ต

ในยุคที่เราใช้เครือข่ายสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาประการหนึ่งก็คือข้อมูลบางอย่างบางครั้งก็ผิดพลาด ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และข้อมูลเหล่านี้ก็มักจะถูกส่งกันต่อ ๆ ไปในเครือข่ายสังคมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความสับสน ดังนั้นนักวิจัยจาก Masdar Institute of Technology และ Qatar Computing Research Institute จึงได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะเปิดบริการเพื่อให้ผู้คนในเครือข่ายสังคมได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบริการดังกล่าวคือ verily ซึ่งจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ครับ แรงจูงใจที่จะให้ผู้คนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบข่าวสารก็คือ คนที่เข้ามาร่วมตรวจสอบจะได้แต้มครับ ใครได้แต้มมากก็มีชื่อเสียงมาก

ก็หวังว่าบริการนี้จะเปิดให้ใช้กันโดยเร็วนะครับ แต่ผมว่าพวกเราไม่ต้องรอก็ได้ครับ แค่คิดเสียหน่อยเมื่อได้รับข่าวอะไรมาว่ามันควรจะเป็นเรื่องจริงไหม หรือเช็คจากแหล่งข่าวหลาย ๆ แหล่ง อย่าใช้ความเชื่อหรืออคติในการส่งต่อข่าวสารแค่นี้ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวผิด ๆ หรือข่าวลือทั้งหลายได้ครับ

 ที่มา: MIT Technology Review


วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

NASA ใช้สมาร์ทโฟนเป็นดาวเทียม

องค์การ NASA ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศสามดวงครับ ซึ่งดาวเทียมเหล่านั้นมีชื่อว่า PhoneSat โดยดาวเทียมเหล่านี้จะอยู่ในวงโคจรประมาณสองสัปดาห์ ความน่าสนใจของดาวเทียมพวกนี้คือหัวใจการทำงานหลักของมันคือสมาร์ทโฟนครับ เหตุผลที่เขาเลือกสมาร์ทโฟนก็เพราะมันมีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าดาวเทียมเป็นร้อยเท่า มีหน่วยประมวลผลที่เร็ว มีตัวรับสัญญาณที่หลากหลาย มี GPS และมีกล้องที่มีความละเอียดสูงเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกซึ่งช่วยลดต้นทุนการสร้างดาวเทียมลงได้ โดย PhoneSat ตัวแรกหรือที่เรีกว่า PhoneSat 1.0 นั้นใช้ HTC Nexus One ส่วน PhoneSat 2.0 ใช้ Samsung Nexus S ครับ

ฟังดูแล้วก็รู้สึกทึ่งนะครับว่าสมาร์ทโฟนมีความสามารถจนสามารถใช้เป็นดาวเทียมขนาดเล็กได้ และรุ่นที่เขาใช้นี่ก็เป็นรุ่นที่เก่ามาปีสองปีแล้วนะครับ ดังนั้นในปัจจุบันใครที่ใช้มือถือรุ่นล่าสุดทั้งหลายนี่ก็ให้รู้ไว้นะครับว่าคุณใช้มือถือที่มีความสามารถสูงกว่าดาวเทียมเสียอีก ดังนั้นก็ใช้คุณลักษณะที่มือถือเตรียมไว้ให้เต็มที่นะครับ และก็คงทำให้หลายคนได้คิดนะครับว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมือถือรุ่นใหม่ที่ออกมาทุกตัวก็ได้ เพราะดาวเทียมเขายังใช้รุ่นเก่าอยู่เลย เรามาใช้มือถือเก่าของเราให้เต็มความสามารถกันก่อนดีกว่า

ที่มา: Information Week

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

การสำรวจเงินเดือนด้านไอทีประจำปี 2013 ในอเมริกา

สวัสดีครับ พอดีได้อ่านข่าวซึ่งรายงานการสำรวจงานด้านไอทีในอเมริกาว่าแต่ละด้านได้เงินเดือนเท่าไร ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลกันครับ ตามข่าวบอกว่าโดยภาพรวมแล้วงานด้านไอทีถือว่ามีรายได้ดีเลยครับ โดยพนักงานระดับปฏิบัติจะได้เงินโดยเฉลี่ยประมาณ $90, 000 ต่อปี ส่วนถ้าเป็นผู้จัดการจะได้ประมาณ $120,000 ต่อปีครับ  

แต่รายได้จะแตกต่างกันตามทักษะและประเภทของอุตสาหกรรมครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าถ้าใครทำด้านการรวมแอพพลิเคชันระดับเอนเทอร์ไพรส์ (business enterprise integration) จะได้เงินเดือนประมาณ $110,000 ถ้าทำด้านไอทีทั่ว ๆ ไป ก็จะได้ประมาณ $73,000 ส่วนงานด้านให้ความช่วยเหลือ (help desk) จะได้ประมาณ $55,000 จริง ๆ ผมว่างานด้านให้ความช่วยเหลือนี่หนักนะเพราะต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แล้วบางทีก็ต้องรองรับอารมณ์ด้วย (หรือเปล่า) น่าจะได้มากกว่านี้นะ

แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ฟิลด์ที่มีความพิเศษอย่างคลาวด์คอมพิวติง ความมั่นคงเว็บ (web security) และด้านโมบายล์ จะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $130,000 $118,000 และ $111,000 ตามลำดับ งานด้านการวิเคราะห์และธุรกิจอัจฉริยะ (analytic/business intelligence) จะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $93,000 สำหรับพนักงาน และ $132,000 สำหรับระดับผู้จัดการ แต่สำหรับงานด้านการวิเคราะห์นี้ก็จะมีความแตกต่างกันตามทักษะ แต่เขาบอกว่าฟิลด์นี้ต้องการคนที่มีพรสววรค์ด้านการวิเคราะห์/จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

จากข้อมูลนี้ผมมองว่ามหาวิทยาลัยก็คงจะต้องปรับหลักสูตรให้มีรายวิชาทางด้านที่มีความต้องการเป็นพิเศษนี้มากขึ้นตามความถนัดของมหาวิทยาลัย และก็หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังเรียนหรือกำลังจะเข้ามาเรียนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศว่าควรมุ่งไปทางไหน ส่วนคนที่ทำงานอยู่แล้วก็อาจจะหาเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านใดด้านหนึ่งที่กล่าวมาแล้วไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะถึงแม้ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลในอเมริกา แต่อเมริกาอาจผลิตบุคลากรมารองรับไม่ทันทั้งหมด ดังนั้นโอกาสที่งานพวกนี้จะถูกส่งออกมายังประเทศที่มีความพร้อมก็มีอยู่มาก ดังนั้นมาเตรียมตัวพวกเราให้พร้อมกันดีกว่าครับ...

ที่มา: Information Week