วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเขียนบทสรุปและข้อเสนอแนะในตัวเล่มงานวิจัย

การเขียนบทสุดท้ายในงานวิจัยซึ่งก็คือบทสรุปและข้อเสนอแนะดูเหมือนจะเป็นอีกบทหนึ่งที่ยากสำหรับนักวิจัยหลาย ๆ คน เพราะไม่รู้ว่าควรจะต้องเขียนอะไรบ้าง บางคนเขียนไปเขียนมาก็กลายเป็นเหมือนกับบทคัดย่อ หรือบางคนก็เขียนไปเขียนมากลายเป็นบทนำไปเลย ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าในบทนี้จุดประสงค์ของมันคืออะไรและควรจะมีอะไรอยู่ในบทนี้บ้าง ตอนแรกผมก็ว่าจะเขียนสรุปขึ้นมาเอง แต่ก็รู้สึกอยากหาทางลัดบ้างก็เลยลองค้นจาก Google ดูว่ามีใครที่เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ดี ๆ บ้างก็ได้เจอสไลด์สรุปของ คุณ Louise Edwards ซึ่งเขียนไว้ที่ Acedimia.edu ซึ่งผมเห็นว่ามันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมจะอยากจะเขียนครับก็เลยเอามาสรุปให้ฟังกัน

แต่ก่อนจะมาดูว่ามีอะไรอยู่บ้างเรามาดูประโยชน์ของการเขียนบทนี้กันก่อนดีกว่าครับ คุณ Louise Edwards ได้เขียนสรุปไว้ได้ค่อนข้างตรงประเด็นทีเดียวครับกล่าวคือประโยชน์แรกก็คือเมื่อคุณต้องนำเสนองานวิจัยของคุณต่อคณะกรรมการสอบ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทที่กรรมการสอบมักจะอ่านเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดโดยรวมและผลลัพธ์ของงานวิจัย ประเด็นคือคณะกรรมการสอบอาจจะไม่ได้อ่านงานวิจัยของคุณต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อาจจะอ่าน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง ๆ ดังนั้นบทนี้และบทนำจะช่วยให้กรรมการสามารถเข้าใจงานคุณได้เร็วขึ้น ประโยชน์ประการที่สองคือประโยชน์ต่อตัวคุณเองถ้าคุณมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และต่อมาคุณต้องการเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับงานของคุณ บทนี้จะเป็นบทที่ทำให้คุณปะติดปะต่องานที่คุณทำได้เร็วขึ้น

เอาล่ะครับหลังจากเห็นประโยชน์บางประการของบทนี้กันไปแล้ว เรามาดูว่าบทนี้ควรมีอะไรอยู่บ้าง อันแรกก็คือส่วนสรุป และอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าบทนี้ของเราจะต้องแบ่งออกเป็นแค่สองส่วนนะครับ เช่นในส่วนสรุปอาจแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ อีกก็ได้ ส่วนสรุปก็คือการนำทุกส่วนในรูปเล่มของเรานำมาร้อยเรียงเชื่อมกันเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพรวมของงานวิจัยของเราอีกครั้ง ในส่วนนี้ก็มักจะประกอบด้วยเราทำวิจัยเกี่ยวกับอะไร ประเด็นหลักของงานคืออะไร เราทำวิจัยอย่างไร เราค้นพบอะไรจากงานวิจัยนี้ งานวิจัยนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้าอย่างไร แต่การสรุปแบบนี้อย่างเดียวยังไม่พอครับในส่วนนี้เราจะต้องเน้นให้เห็นประโยชน์ ความสำคัญ ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยนี้ และข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ ข้อจำกัดก็คือส่วนที่จะแสดงให้เห็นถึงว่าเราทำงานวิจัยนี้ภายใต้ขอบเขตหรือสภาพแวดล้อมแบบใด มีปัญหาอะไรที่เรายังไม่ได้แก้หรือยังไม่ได้ทดสอบ เช่นบอกว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบและทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.1.2  หรือเราได้ทดลองระบบของเราโดยใช้ข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบัน... เป็นกรณีศึกษา ซึ่งถ้านำไปใช้กับข้อมูลของสถาบันอื่นอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนเป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอแนะจะเป็นส่วนที่แนะนำการทำวิจัยต่อไป เช่นการนำเสนอให้ทดลองโดยใช้ชุดข้อมูลใหม่ หรือทดลองกับข้อมูลชุดเดิมโดยใช้ขั้นตอนวิธีใหม่ หรือทดลองและปรับปรุงโปรแกรมให้ทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันอื่น หรืออุปกรณ์ที่มีขนาดหน้้าจอที่หลากหลายเป็นต้น

คุณ Louise Edwards ได้สรุปไว้ว่าซึ่งที่จะต้องมีในบทนี้ก็คือการเขียนที่ชัดเจนและเน้นให้เห็นประโยชน์และความรู้ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย ในบทนี้จะต้องแสดงถึงความเชื่อมโยงของแนวคิดหลักที่กระจัดกระจายอยู่ในบทต่าง ๆ ของตัวเล่มของเรา ควรจะแสดงถึงความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของเราในด้านงานวิชาการ และต้องให้ผู้ที่อ่านงานวิจัยของเรามีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเราครับ คือเขาอ่านจบแล้วเขาควรจะต้องเข้าใจงานของเราและเชื่อถือหรือยอมรับในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่พออ่านเสร็จก็มีคำถามเต็มไปหมดว่าไอ้คนนี้มันทำอะไร มันทดลองอะไร ทำไมมันทำแบบนี้ แล้วผลการทดลองมันน่าเชื่อถือได้หรืออะไรประมาณนี้

นอกจากสิ่งที่ควรต้องทำหรือต้องเขียนแล้ว คุณ Louise Edwards ก็แนะนำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย ซึ่งผมก็ว่าสำคัญนะครับ เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง ส่วนแรกที่ไม่ควรจะอยู่ในบทนี้ก็คือการอ้างหรือนำสิ่งที่เรายังไม่ได้ทดสอบมาใช้ เช่นบอกว่าโปรแกรมนี้น่าจะทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Black Berry  ด้วยโดยผ่านทางระบบอีมูเลเตอร์ทั้งที่เราก็ไม่เคยได้ทดสอบ อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งส่วนนี้ผมมักจะพบบ่อย ๆ) ก็คือการนำเสนอแนวคิดใหม่หรือหัวข้อใหม่ซึ่งไม่เคยพูดถึงมาก่อนในบทใด ๆ ในตัวเล่มงานวิจัย อีกจุดที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงข้อจำกัดของงานวิจัยเราครับ เพราะมันจะทำให้ผู้อ่านมองว่างานวิจัยของเราไม่น่าเชือถือ นอกจากนี้เราควรจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอแนะที่เป็นไปในทางปฏิบัติมาก ๆ เช่นพูดถึงวิธีการปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์โปรแกรมหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เขียนไว้ที่ภาคผนวกครับ และสุดท้ายก็คืออย่าให้บทนี้ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ถ้าบทนี้จะยาวเกินไปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เราเขียนซ้ำไปซ้ำมาครับ สิ่งที่ผมมักจะเจอก็คือบางทีไปเอาผลการทดลองซึ่งอยู่ในบทก่อนหน้าเอามาใส่ซ้ำในบทสรุปอีกทีหนึ่ง หรือไปคัดลอกเอาส่วนของบทนำมาใส่เป็นต้น แต่ถ้าเขียนสั้นเกินไปผลก็คือเราอาจจะไม่ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่งานวิจัยของเราได้นำเสนอ

ก็หวังว่าคงพอจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอรวบรวมบล็อกที่เกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยของผมมาไว้ที่นี่นะครับเพื่อความสะดวกในการอ้างถึง

การเขียนบทคัดย่อ
การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)
การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ
Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้ (อันนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับบทที่สามสำหรับด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

อ้างอิง: Writing the Conclusion Chapter for your Thesis

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำแหน่งงานด้านคอมพิวเตอร์ของอเมริกาในอีก 7 ปีข้างหน้า

สวัสดีครับ สัปดาห์นี้ได้อ่านข่าวจาก InfoWorld เรื่องเกี่ยวกับความต้องการตำแหน่งงานด้านคอมพิวเตอร์ในอเมริกา ซึ่งเขาบอกว่าอัตรางานด้านนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้  โดยเฉลี่ย 22 % ในปี ค.ศ. 2020 โดยตำแหน่งงานที่จะเพิ่มมากสุดห้าอันดับแรกคือ

  1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 32%
  2. ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 31%
  3. นักพัฒนาแอพพลิเคชัน เพิ่มขึ้น 28%   
  4. ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพิ่มขึ้น 28% 
  5. นักวิเคราะห์ระบบ เพิ่มขึ้น 22%
ส่วนอันดับอื่น ๆ ก็ติดตามจากข่าวนะครับ แต่ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งจากข่าวก็คือเงินเดือนในปัจจุบันของงานด้านต่าง ๆ ครับ ในห้าอันดับนี้ที่สูงสุดคือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ 100,420 เหรียญสหรัฐต่อปี รองลงมาคือ นักพัฒนาแอพพลิเคชันครับอยู่ที่ 92,080 เหรียญสหรัฐต่อปีครับ อันดับถัดมาก็คือนักวิเคราห์ระบบ ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล  และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย โดยจะมีเงินเดือน 82,320 77,350 และ 74,720 เหรียญสหรัฐต่อปีตามลำดับ แต่อัตราเงินเดือนสูงสุดไม่ได้อยู่ในห้าอันดับนี้นะครับ อัตราเงินเดือนสูงสุดคือตำแหน่งผู้จัดการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศครับอยู่ที่ 125,660 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 18 % ในปี 2020 และผมก็เลยถือโอกาสแอบดูตำแหน่งานด้านวิจัยด้วย ซึ่่งได้รายได้ไม่เลวนะครับ 103,160  เหรียญสหรัฐต่อปี และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 19% ครับ 

ถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่าผมเอามาเล่าให้ฟังทำไม นี่มันเป็นตำแหน่งงานในอเมริกาของเราอาจไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ ก็จริงครับประเทศเราอาจไม่เป็นไปตามนี้ แต่จากที่ผมได้ติดตามข่าวมาประเทศอเมริกาและประเทศในยุโรปเขาขาดแรงงานด้านนี้นะครับ เนื่องจากมีคนเรียนด้านนี้น้อยกว่าความต้องการของตลาด ดังนั้นเขาจึงมีความพยายามที่จะปรับหลักสูตรให้มีการเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ในระดัยมัธยมกันเลยทีเดียวเพื่อหวังว่าจะสร้างบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันนี้ประเทศอย่างอเมริกายังต้องใช้การจ้างแรงงานการเขียนโปรแกรมจากต่างประเทศ และยังมีความต้องการจากบริษัทคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ต้องการให้ออกวีซ่าให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น 

ในส่วนตัวผมคิดว่าเขาน่าจะสร้างบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการในปี 2020 ไม่ทันครับ เพราะตอนนี้ก็ยังมีคนทำงานไม่พอเลย ดังนั้นนี่อาจเป็นโอกาสของพวกเรา ผมคิดว่าบุคลากรที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับมาตรฐานของไทยมีความสามารถไม่เป็นรองใคร ปัญหาหลักที่เรามีก็คือเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าแก้ตรงนี้ได้ และมีการปรับหลักสูตรในระดับมัธยมของเราให้มีการเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย เราน่าจะมีบุคลากรด้านนี้เป็นสินค้าส่งออกเข้าไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว หรืออย่างน้อยเราก็น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับจ้างงานพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย 

ดังนั้นคนที่ทำงานอยู่ในสาขานี้ หรือกำลังเริ่มต้นเข้ามาสู่สาขาอาชีพนี้ มาพัฒนาตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามากันเถอะครับ อย่าปล่อยให้งานนี้ตกไปเป็นของสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม โดยเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เลยครับ...