วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

คอมพิวเตอร์ที่พิมพ์ออกมาได้และไม่ต้องใช้แบตเตอรี

ภาพจาก Forbes

ป้ายชื่อ (tag) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ของ Wiliot เป็นชิปที่พิมพ์ออกมาได้โดยมีหน่วยความจำทั้ง RAM และ ROM มีเซ็นเซอร์ มีบลูทูชที่ได้รับการรับรอง (certified)  ซีพียู ARM หน่วยความจำแฟลช และการสื่อสารที่ปลอดภัย ชิปนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี โดยใช้พลังงานจากคลื่นวิทยุโดยรอบตัว มันสามารถติดกับเสาอากาศ รับอินพุตจากเซ็นเซอร์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเคมี ด้วยการที่ไม่ต้องมีแบตเตอรี ทำให้ตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีราคาไม่แพง โดยชิปนี้อาจมีราคาแค่หนึ่งเพนนีเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทาง Williot บอกว่าความก้าวหน้าที่แท้จริงของงานนี้ก็คือการลดราคาของโครงสร้างพื้นฐานของเซ็นเซอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้งาน IoT อย่างแพร่หลาย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Forbes

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์ฝังประตูลับไว้ในอุปกรณ์ของ Zyxel

ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยจากบริษัทด้านความมั่นคง  Eye Control ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าแฮกเกอร์กำลังพยายามใช้งานประตูลับที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ของ Zyxel เช่น VPN ไฟร์วอล (firewall) และแอกเซสพอยต์ของเครือข่ายไร้สาย ที่ใช้กันทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจ ประตูลับนี้คือบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสาร โดยบัญชีผู้ใช้นี้ถูกฝังเอาไว้ในเฟิร์มแวร์ (firmware) ของอุปกรณ์ และมีสิทธิเป็นผู้ดูแลระบบอย่างเต็มตัว บัญชีนี้สามารถเข้าถึงได้ทั้งผ่านทาง SSH หรือผ่านเว็บบราวน์เซอร์ ตัวแก้ช่องว่างนี้มีพร้อมแล้วสำหรับไฟร์วอลทุกรุ่น ส่วนของตัวแอกเซสพอยน์จะมีให้ใช้ในวันที่ 8 มกราคมนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยีที่จะปรับปรุงแบตเตอรีพลังน้ำรุ่นต่อไป

ภาพจาก SciTechDaily

แบตเตอรีพลังน้ำแบบ zinc/bromine redox flow batteries (ZBBs) ซึ่งถูกพัฒนาโดยนักวิจัยจาก Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ในเกาหลีใต้ ถูกออกแบบมาเพื่อเอาชนะปัญหาด้านอายุการใช้งานของแบตเตอรีพลังน้ำในรุ่นต่อไป นักวิจัยบอกว่าไม่เพียงแต่มันจะถูกกว่าแบตเตอรีแบบ  lithium-ion ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่มันยังช่วยส่งเสริมการใช้งานพลังงานแบบนำกลับมาใช้ใหม่ และยังเป็นแหล่งสนับสนุนที่ปลอดภัยให้กับระบบจัดเก็บพลังงานที่สามารถให้ประสิทธิภาพของพลังงานกว่า 80% นักวิจัยบอกว่า ZBBs ให้ผลลัพธ์และให้อายุการใช้งานได้สูงสุดเมื่อเทียบกับแบตเตอรีแบบ Redox flow และยังไม่มีความเสี่ยงการการจุดระเบิดและไฟที่เกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่ในการใช้แบตเตอรีแบบ lithium-ion

อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เข้าใจสิ่งที่อยู่ใต้ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว

Image: Astrid Eckert / TUM

นักวิจัยจาก Technical University of Munich (TUM) ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์นี้มีชื่อว่า AIMOS (Artificial Intelligence-based Mouse Organ Segmentation) ซึ่งทำงานโดยใช้โครงข่ายปราสาทเทียมเพื่อรู้จำแบบรูป (pattern) และหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การฝึกฝนขั้นตอนวิธีนี้ทำโดยใช้ภาพของหนู โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้โปรแกรมประเมินการสแกนภาพทั้งตัวแบบสามมิติเพื่อแสดงตำแหน่งและรูปร่างที่แน่นอนของอวัยวะที่ต้องการ นักวิจัยบอกว่า ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองนี้นอกจากเร็วกว่าคนในการวิคราะห์ภาพทางชีววิทยาแล้ว ยังแม่นยำกว่าด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Technical University of Munich (Germany)

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

10 เทคโนโลยีที่จะมาป่วนวงการไอทีในห้าปีต่อจากนี้

Photo by Michael Dziedzic on Unsplash

Burning Glass Technologies ซึ่งเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์บอกว่าควอนตัมคอมพิวติง (quantum computing) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (connected technology) จะเป็น 2 เทคโนโลยีจาก 10 เทคโนโลยีที่จะมาป่วน (disrupt) เทคโนโลยีด้านไอทีในห้าปีต่อจากนี้ โดยคาดการณ์อัตราเติบโตอยู่ที่ 135% และ 104% ตามลำดับ ส่วนอีก 8 เทคโนโลยีที่เหลือได้แก่ บทบาทของไอทีทางด้านเทคโนโลยีการเงิน ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง ( artificial intelligence and machine learning) ไอทีอัตโนมัติ (IT automation) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) ความมั่นคงเชิงรุก (proactive security) ระเบียบวิธีพัฒนาซอฟต์แวร์ (software development methodology)  คลาวด์ (cloud) และการคำนวณแบบขนาน (parallel computing) ซึ่งจริง ๆ ทักษะ 8 ด้านจาก 10 ด้านนี้ ปัจจุบันก็เป็นทักษะที่มักจะระบุไว้ในกว่า 30% ของงานอยู่แล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet