วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

คุยกันเรื่องพรพรรณและลีกวอลเลย์บอลสหรัฐ

สวัสดีครับ #ศรัณย์วันศุกร์ สัปดาห์นี้มาคุยกันเรื่องสบายใจกันดีกว่านะครับ หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วค่อนข้างเครียด อย่างที่หลาย ๆ คนทราบไปแล้วนะครับว่า พรพรรณ (ชมพู่) เกิดปราชญ์ ไปได้แชมป์ลีกวอลเลย์บอลสหรัฐ และได้รับตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ในรอบชิงแชมป์อีกด้วย โดยลีกที่พรพรรณไปเล่นด้วยมีขื่อว่า PVF (Pro Volleyball Federation)  และต้นสังกัดของเธอก็คือทีม Orlando Valkyries

การแข่งขันจบลงตั้งแต่เช้าวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568 ตามเวลาในประเทศไทยนะครับ และก็มีช่อง Youtube มามาย ตามติดนักกีฬาไทยที่ไปเล่นในลีกต่างประเทศ หรือตามกระแสก็มี ได้เล่นข่าวนี้ ชนิดว่าไล่ดูกันจนถึงวันนี้ก็ยังไม่จบเลยนะครับ เป็นความปลื้มใจและภูมิใจของคนไทยจริง ๆ ผมในฐานะแฟนคนหนึ่งของทีมนักวอลเลย์บอลสาวไทย ก็ดีใจและภูมิใจไปกับชมพู่ด้วย เรียกว่าตามดูหลาย ๆ ช่องเลย และช่องทีวีหลัก พอชมพู่ได้แชมป์แล้ว ได้ MVP แล้ว ถึงค่อยนำเสนอข่าว แล้วบางสื่อก็เอาข้อมูลจากช่อง Youtube นี่แหละไปนำเสนอ ซึ่งบางทีมันมีข้อมูลที่ผิดนะครับ ซึ่งอาจเกิดจากเจ้าของช่องไม่คุ้นกับอเมริกันเกมส์อย่าง NFL หรือ NBA และช่องหลักก็เอาตามนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่ตัวเองควรจะรู้ 

เอาจริง ๆ นักกีฬาเราแทบทุกคนที่ไปเล่นลีกต่างประเทศถือว่าประสบความสำเร็จนะครับ อย่างพิมพิชญา (บีม) ก็ได้แชมป์ลีกเยอรมันกับทีม Schwerin อาจไม่ได้เป็นตัวหลักในรอบชิง แต่ในฤดูกาลปกติเธอก็ได้ MVP ประจำสัปดาห์อยู่หลายครั้ง ปิยนุช (ปลาวาฬ) ก็เล่นอยู่ในอีกลีกหนึ่งของอเมริกาคือ LOVB (League One Volley Ball) กับทีม LOVB Atlanta เป็นลิเบอร์โรที่อยู่ในท้อปเทนของลีก ทีมผ่านเข้ารอบชิงแชมป์เหมือนกัน เป็นทีมอันดับหนึ่งในรอบปกติด้วย แต่ไปพลาดในรอบชิงแชมป์นี่แหละครับ เลยไม่ได้แชมป์ งั้นเราอาจมีแชมป์ลีกอเมริกาสองคน ยังมีผู้เล่นที่่ไปเล่นที่เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็โชว์ฟอร์มกันได้ดี ได้รับคำชิ่นชม ชัชชุอร (บุ๋มบิ๋ม) ถึงแม้ไม่ได้แชมป์ลีก ก็ได้แชมป์ถ้วยจักพรรดิ์ 

ยังไม่เข้าเรื่องลีกอเมริกันเลยนะครับ แต่ขออีกนิดแล้วกัน คือเรื่องที่บอกว่ามีข้อมูลบางอย่างผิด คือตอนวันแรก ๆ ผิดจริง ๆ ครับ แต่ตอนนี้หลายช่องก็รู้แล้ว และแก้ไขกันแล้ว แต่ทีผิดมีอะไรบ้าง อันแรกก็คือ MVP ที่ชมพู่ได้ หลายช่องตอนแรกนำเสนอว่าเป็น MVP of the year และยังมีคอมเมนต์ประมาณว่าได้ยินกับหู MVP of the year งั้นมาลองฟังกันดูครับว่าชมพู่เป็น MVP อะไร 



นาทีที่ 12.40 นะครับ แต่ถ้าไม่อยากฟังผมจะสรุปให้ 

"and MVP of this year championship weekend, Chompoo"

มันมีคำว่า championship weekend ตามหลัง this year ด้วย ไม่ได้จบแค่ this year 

ถ้าแปลเป็นไทยก็จะได้ความประมาณว่า "และผู้เล่นทรงคุณค่าประจำสุดสัปดาห์ชิงแชมป์ของปีนี้ ชมพู่" 

บอกตามตรงนะครับ ผมดูซีนนี้หลายรอบมาก คือมันภูมิใจและดีใจไปกับเธอ คือเท่าที่ตามข่าวเธอเล่นได้โดดเด่นมาทั้งฤดูกาล มีแต่เสียงชื่นชมจากผู้บรรยายเกม และเพื่อน ๆ แต่เธอยังไม่ได้รางวัลส่วนตัวเลย ผู้เล่นประจำสัปดาห์ก็ไม่ได้ แต่เวลาโปรโมทแมทช์การแข่งขันก็เอารูปพรพรรณขึ้นปก แสดงว่าต้องเด่นนะ  แต่ทำไมไม่เลือกให้เป็นผู้เล่นประจำสัปดาห์บ้าง best setter ก็ไม่ได้ เพราะมีเซ็ตเตอร์จากทีมคู่ชิงทำสถิติต่อเซ็ตได้ดีกว่าในรอบการแข่งขันปกติ (ทั้งสองคนส่งลูกให้เพื่อนทำคะแนน เกิน 1000 ลูก) แต่สถิติพรพรรณเป็นอันดับสอง 

ผมเฝ้าถามตัวเองว่า เฮ้ยเล่นได้แบบนี้จะไม่ได้รางวัลส่วนตัวอะไรบ้างเลยหรือ จนมาได้รางวัล MVP นี่แหละครับ  และยิ่งฟินหนักขึ้นเวลาเพื่อนร่วมทีมร่วมกันตะโกน MVP MVP MVP... และตำแหน่ง MVP นี้ต้องบอกว่าตำแหน่งเซ็ตเตอร์นี่นาน ๆ จะได้สักทีนะครับ เพราะส่วนใหญ่ไม่ว่ากีฬาอะไรมักจะมุ่งไปที่คนทำแต้ม ดังนั้นเซ็ตเตอร์ที่ได้นี่คือต้องผลงานเด่นจริง ๆ ซึ่งพรพรรณก็เล่นได้ดีจริง ๆ 

ถ้าใครงงว่าแล้วทำไมมันสรุปไม่ได้หรือว่าเป็น MVP ของปีนี้ คือต้องบอกอย่างนี้ครับ ถ้าใครคุ้นกับอเมริกันเกมส์อย่างอเมริกันฟุตบอล NFL หรือบาสเก็ตบอล NBA นี่ เขาจะมีตำแหน่ง MVP อยู่สองตำแหน่งคือ MVP ในรอบการแข่งขันปกติ คือหลาย ๆ ทีมมาเจอกันเพื่อจัดอันดับ แล้วเอาทีมที่ได้อันดับตามกำหนดเข้าสู่รอบชิงแชมป์ ซึ่งในรอบนี้ก็จะมี MVP อีกหนึ่งตำแหน่ง 

สำหรับ MVP ในรอบการแข่งขันปกติปีนี้คนที่ได้คือ อเบอร์ครอมบี้เพื่อนซี้ของพรพรรณ ส่วน MVP ในรอบชิงแชมป์คือพรพรรณ ทั้งสองตำแหน่งเป็น MVP ประจำปี 2025 นี้ ดังนั้นถ้าเรียกว่า MVP ประจำปี 2025 มันจะเกิดความสับสนว่ามันเป็น MVP อะไรกันแน่ ซึ่งผมว่า Youtuber หลายคนที่ทำข่าวพรพรรณ อาจไม่รู้ว่ามันเป็นแบบนี้ (ในช่วงแรกนะ ตอนนี้ทุกคนคงรู้หมดแล้ว) 

คราวนี้มาคุยกันเรื่องลีกวอลเลย์บอลในอเมริกากันครับ หลายคนคงทราบว่าทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติสหรัฐ เป็นทีมชั้นนำของโลก แต่ไม่น่าเชื่อนะครับว่าลีกอาชีพที่มีการแข่งขันใช้กติกาวอลเลย์บอลปกตินี่จะเพิ่งก่อตั้งขึ้น และมีสองลีกโดยลีกแรกคือ LOVB ซึ่งเพิ่งก่อตั้งในปี 2020 และลีกที่สองคือ PVF ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้เป็นปีที่สอง ซึ่ง LOVB ปีนี้มีปิยนุช แป้นน้อยได้เข้าไปเล่น อย่างที่บอกไปแล้ว ส่วน PVF ปีแรกมีนุศรา ต้อมคำ เซ็ตเตอร์ระดับตำนานของไทย เธอได้ best setter ในปีที่แล้วนะครับ และปีที่สองก็มีพรพรรณ และนุศรากลับมาเล่นในครึ่งหลังของฤดูกาลปกติ 

ส่วนอีกลีกหนึ่งซึ่งเป็นลีกที่มีกติกาการแข่งขันไม่เหมือนลีกทั่ว ๆ ไป คือ AU (Athelete Unlimited) Pro ลีกนี้ไม่ได้หาทีมที่เป็นแชมป์ แต่จะหาผู้เล่นที่เป็นแชมป์ หลัก ๆ คือจะเชิญนักกีฬาที่มีผลงานโดดเด่น 44 คน ให้เข้ามาร่วมลีก แล้วเข้ามาแข่งขันกันเก็บคะแนนสะสมส่วนตัว คะแนนก็จะได้มาจากทักษะส่วนตัวของนักกีฬา ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเข้าใจวิธีคิดคะแนนเท่าไรนะครับ ถ้าใครสนใจกดูได้จากที่นี่เลยครับ โดยลีกนี้นุศราได้รับเชิญให้เข้าไปเล่นสองปีติดเลยนะครับคือ 2023 และ 2024 ส่วนปี 2025 นี้ ปิยนุช กับพรพรรณ ได้รับเชิญให้เข้าเล่นครับ   

ในปีหน้าตามข่าวจะมีลีกวอลเลย์บอลหญิงเกิดใหม่อีกหนึ่งลีกครับ คือ MLVB (Major League Volleyball) ซึ่งผู้ที่ก่อตั้งคือเจ้าของทีม Omaha Supernovas ทีมใน PVF ที่ได้อันดับหนึ่งในฤดูกาลปกติปีนี้ และเป็นแชมป์เก่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถ้าตามการสรุปของ Youtue ช่องนี้ Sport Thailand (ซึ่งเป็นช่องที่ผมชอบฟังมากในการแปลคำบรรยายของผู้บรรบายเกม) ในคลิปนี้ 




บอกว่าที่แยกไปตั้งลีกใหม่เพราะทะเลาะกับผู้บริหาร PVF (นาทีที่ 14.09) และในลีกนี้จะมีทีมถึง 10 ทีมเลยนะครับ ส่วน PVF จะมีทีมใหม่เข้ามาร่วมสองทีม 

จากที่เล่าให้ฟังลีกอาชีพที่มีการแข่งขันตามกฏิกาวอลเลย์บอลปกติในสหรัฐอเมริกา เพิ่งมีมาได้ 4 ปี ก็คือ LOVB ซึ่งทีมชาติสหรัฐส่วนใหญ่จะเล่นในลีกนี้ แล้วนักวอลเลย์บอลหญิงของสหรัฐก่อนหน้านี้ถ้าจะเล่นเป็นอาชีพไปเล่นกันที่ไหน จากคลิปด้านบน อเบอร์ครอมบีบอกว่า การมีลีกในประเทศมีข้อดีคือ นักกีฬาไม่ต้องไปเล่นต่างประเทศ (นาทีที่ 6.24 จากคลิป) นั่นแสดงว่าก่อนหน้านี้นักกีฬาหลายคนของอเมริกาเล่นอยู่ในลีกต่างประเทศนั่นเอง คิดดูนะครับว่าประเทศที่เพิ่งมีลีกอาชีพเป็นของตัวเองแต่กลับมีทีมชาติที่อยู่ในระดับโลกได้นี่ต้องขนาดไหน 

อีกคำสัมภาษณ์หนึ่งจากคลิปก็คือพิธีกรถามว่าพวกคุณเล่นวอลเลย์กันอย่างเดียว ไม่ต้องทำอาชีพอื่นก็อยู่กันได้เหรอ (สรุปความประมาณนี้นะครับ ไม่ได้เป๊ะ ๆ นาที่ที่ 9.30) ผมว่าคำถามนี้ตอนแรกก็ดูประหลาดดีกับประเทศที่มีกีฬาเป็นอาชีพอย่างอเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรือเบสบอล แต่มาคิดอีกทีมันแสดงว่าวอลเลย์บอลไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นหลักในอเมริกา คนสัมภาษณ์อาจไม่คิดว่านักกีฬาจะได้เงินเยอะเหมือนกีฬาประเภทอื่น หรืออาจเป็นเพราะกว่าฤดูกาลหน้าของลีกจะเริ่มก็คือมกรา 2026 พิธีกรอาจคิดว่าแล้วเธอจะไม่ทำอะไรกันเลยหรือช่วงที่เหลือของปี พิธีกรอาจไม่รู้ว่าสำหรับวอลเลย์บอลช่วงนี้คือช่วงเวลาของทีมชาติ แต่ก็อีกนั่นแหละนะขนาดกีฬาไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศ ก็ยังมีทีมชาติที่อยู่ในระดับโลก

สรปก็คือปีหน้าวอลเลย์บอลหญิงอเมริกันจะมีลีกที่แข่งขันตามกติกาสากลอยู่สามลีกนะครับ LOVB, PVF. และ MLVB ดังนั้นนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยคนอื่น ๆ ที่โชว์ฟอร์มได้ดีในระดับนานาชาติปีนี้ ไม่ว่าจะเป็น VNL หรือชิงแชมป์โลก อาจมีโอกาสที่จะได้เข้าไปร่วมเล่นในลีกเหล่านี้

ตื่นเต้นนะครับ VNL ใกล้เริ่มแล้ว เตรียมตัวเชียร์สาวไทยกันครับ แต่ข่าวร้ายคือปีนี้เราอาจไม่ได้ดูผ่านฟรีทีวีครับ :(







วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

Google ตกลงให้ทุนสร้างโรงงานนิวเคลียร์สามแห่ง

Google-Logo
ภาพจาก CNBC โดย Pippa Stevens

Google และ Elementl Power ผู้พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ ได้ลงนามข้อตกลงเพื่อพัฒนาก่อสร้างโรงงานเครื่องปฏิกรณ์ขั้นสูงสามแห่ง โดย Google จะให้เงินทุนสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา 

คาดว่าแต่ละแห่งเมื่อสร้างเสร็จ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 600 เมกะวัตต์ โดย Google จะมีสิทธิ์เลือกซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้ สถานที่ตั้งที่ถูกนำเสนอของโรงงานทั้งสามแห่งยังไม่ได้รับการเปิดเผย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC โดย Pippa Stevens

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เหมือนคนระดับโลก

rovots-play-football
Photo by Chris Luengas on Unsplash

Jiang Guangzhi ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและสารสนเทศแห่งปักกิ่ง (Beijing Bureau of Economy and Information Technology) ประกาศเมื่อวันพุธ (7 พ.ค. 2025) ว่า ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เหมือนคน (humanoid) ระดับโลกในวันที่ 15-17 สิงหาคม โดยมีการแข่งขันต่างๆ เช่น ฟลอร์เอกเซอร์ไซส์ (floor exercise)  ฟุตบอล และการเต้นรำ 

Jiang กล่าวว่า "มีความท้าทายมากมายสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การอัปเกรดผลิตภัณฑ์ และการใช้งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระดับโลก และส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างการวิจัย อุตสาหกรรม และผู้ใช้ทั่วไป"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: China Daily โดย Wang Songsong

บล็อกเชนคืออะไร? ต่างจากสกุลเงินคริปโทไหม? มาทำความเข้าใจพื้นฐานกัน

ผมได้สอนและบรรยายเกี่ยวกับบล็อกเชนมาตั้งแต่ปี 2559 (ไม่น่าเชื่อว่าจะเกือบสิบปีแล้ว!) ต้องบอกว่าหัวข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะเขียนมานานมาก แต่ก็ไม่ได้เริ่มสักที จนได้เห็นนักศึกษา หรือแม้แต่คนทั่วไป พูดถึงบล็อกเชนราวกับว่าเป็น "ของวิเศษ" ที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง หรือบางทีก็สับสนว่าเป็นสิ่งเดียวกับ Bitcoin ไปเลย

ด้วยเหตุนี้ ในคอลัมน์ #พุธขุดบล็อกเชน ที่ผมตั้งใจจะเขียนต่อจากนี้ไป เราจะมาแกะรอยและทำความเข้าใจเทคโนโลยีบล็อกเชนในแง่มุมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปครับ และสำหรับบทความแรกนี้ เรามาเริ่มกันที่พื้นฐานที่สุด: บล็อกเชนจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ และมันต่างจากสกุลเงินคริปโทที่เราได้ยินชื่อบ่อยๆ อย่างไร? ไปหาคำตอบพร้อมกันครับ!

บล็อกเชน: เริ่มต้นจาก Bitcoin แต่ไม่ใช่ Bitcoin

ถ้าพูดถึงบล็อกเชน สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น บิตคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินคริปโท Cryptocurrency) ที่โด่งดังที่สุด และต้องยอมรับว่าบิตคอยน์นี่แหละครับคือ "แอปพลิเคชันแรก" ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดของบล็อกเชนนั้นใช้งานได้จริง

นี่จึงเป็นที่มาของความสับสนที่ว่า บล็อกเชนกับบิตคอยน์คือสิ่งเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ ครับ!

ลองนึกภาพง่ายๆ แบบนี้ครับ:

  • บล็อกเชน คือ "เทคโนโลยีเบื้องหลัง" หรือ "แนวคิดของฐานข้อมูล" ที่ใช้ในการจัดเก็บข้อมูล
  • บิตคอยน์ หรือ อีเธอเรียม (Ethereum) (อีกหนึ่งสกุลเงินคริปโทที่นิยมรองจากบิตคอยน์) คือ "แอปพลิเคชัน" หรือ "แพลตฟอร์ม" ที่นำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนไปใช้ในการเก็บและจัดการข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เก็บส่วนใหญ่ก็คือ รายการธุรกรรม (Transaction) ต่างๆ เช่น การโอนเงินระหว่างผู้ใช้งาน

บล็อกเชนคืออะไรกันแน่?

จริงๆ แล้ว บล็อกเชนคือ แนวคิดการจัดเก็บข้อมูลประเภทหนึ่ง หรือจะเรียกว่าเป็น "ฐานข้อมูลแบบพิเศษ" ก็ได้ครับ

เราอาจคุ้นเคยกับฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม เช่น ฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (Relational Database) ที่เก็บข้อมูลในรูปแบบตารางที่มีความสัมพันธ์กัน ดังรูป



แล้วบล็อกเชนล่ะ? 

แนวคิดสำคัญของบล็อกเชน คือ:

  1. ข้อมูลที่บันทึกลงไปแล้ว จะแก้ไขหรือลบไม่ได้ (Immutability): เหมือนกับการเขียนลงสมุดบัญชีที่ห้ามฉีกหรือแก้รายการ
  2. ข้อมูลชุดเดียวกันจะถูกเก็บกระจายกันไปบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่าย ไม่ได้เก็บไว้ที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว

ทำไมต้อง "แก้ไม่ได้" และต้อง "กระจาย"? 

บล็อกเชนเป็นรูปแบบหนึ่งของ เทคโนโลยีสมุดบัญชีแบบกระจาย (Distributed Ledger Technology - DLT) ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามีสองคำสำคัญคือ กระจาย (Distributed) และ สมุดบัญชี (Ledger)

  1. สมุดบัญชี (Ledger): ข้อมูลหลักที่เราบันทึกในสมุดบัญชีคือ รายการธุรกรรม (Transaction) ต่างๆ เช่น การโอนเงิน เหตุการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ "เกิดขึ้นไปแล้ว" และโดยธรรมชาติของรายการที่เกิดขึ้นไปแล้ว คือมัน ต้องแก้ไขไม่ได้ ครับ

    ลองนึกถึงการโอนเงิน ถ้าโอนผิดจำนวน เราไม่ได้ไปแก้รายการที่โอนผิด แต่เราจะทำรายการใหม่เพื่อโอนเงินคืน นี่คือหลักการเดียวกับข้อมูลในบล็อกเชน เมื่อบันทึกลงไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของประวัติทั้งหมด

  2. กระจาย (Distributed): ทำไมต้องกระจาย? ลองเปรียบเทียบกับการเก็บสมุดบัญชีไว้เล่มเดียว ถ้าเก็บไว้ที่ศูนย์กลาง เราต้องมอบความไว้วางใจให้ "ผู้ดูแล" คนนั้น หรือ "หน่วยงาน" นั้น ว่าจะไม่โกง ไม่แก้ไขข้อมูล และไม่ทำสมุดบัญชีหาย

    แนวคิดแบบกระจายคือ การคัดลอกสมุดบัญชีไปเก็บไว้หลายๆ เล่ม โดยให้คนหลายๆ คน หรือคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องช่วยกันดูแล การทำแบบนี้มีข้อดีคือ:

    • ลดความเสี่ยงเรื่องความน่าเชื่อถือ: ถ้ามีคนคิดจะโกง ก็ต้องไปแก้สมุดบัญชีของคนส่วนใหญ่ในเครือข่าย ซึ่งทำได้ยากมาก
    • เพิ่มความทนทาน: ถ้าสมุดบัญชีของบางคนหายหรือเสียหาย ก็ยังมีข้อมูลจากคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่

    แน่นอนว่าวิธีนี้ก็มีข้อแลกเปลี่ยน คือมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เพราะต้องดูแลสมุดบัญชีหลายชุด และต้องมีกลไกที่ทำให้แน่ใจว่าสมุดบัญชีทุกเล่ม "ตรงกัน" เสมอ

แล้ว "บล็อก" และ "เชน" มาจากไหน?

ในเมื่อ DLT บอกแค่ว่าเป็นสมุดบัญชีแบบกระจาย แต่ไม่ได้กำหนดรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน บล็อกเชนจึงเป็นรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลแบบเฉพาะของ DLT ที่เลือกโครงสร้างข้อมูลเป็นแบบ "บล็อก" (Block) ซึ่งแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมต่อกันเป็น "โซ่" (Chain) ดังรูป



โดยข้อมูลรายการธุรกรรมต่างๆ จะถูกรวมกลุ่มกันอยู่ในแต่ละบล็อก และแต่ละบล็อกจะถูกเชื่อมโยงกันด้วย "แฮชเข้ารหัส" (Cryptographic Hash) ซึ่งเปรียบเสมือน "ลายนิ้วมือดิจิทัล" ของบล็อกก่อนหน้า การเชื่อมโยงนี้ทำให้การแก้ไขข้อมูลในบล็อกใดบล็อกหนึ่งทำได้ยากมาก เพราะจะทำให้ "ลายนิ้วมือ" ของบล็อกนั้นเปลี่ยนไป และกระทบต่อบล็อกถัดไปในโซ่ทั้งหมด

ข้อมูลบล็อกเชนชุดนี้จะถูกเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์หลายเครื่องในเครือข่าย ที่เรียกว่า "โหนด" (Node) ซึ่งโหนดเหล่านี้จะช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หากมีใครพยายามแก้ไขข้อมูลในเครื่องตัวเอง ข้อมูลนั้นจะไม่ตรงกับข้อมูลส่วนใหญ่ในเครือข่าย และจะถูกปฏิเสธโดยระบบ

ยิ่งไปกว่านั้น การอัปเดตข้อมูลให้ทุกโหนดมีข้อมูลตรงกัน ทำได้โดย ไม่ต้องอาศัยศูนย์กลาง นี่คือหัวใจสำคัญของ "การกระจายอำนาจ" (Decentralization) ตราบใดที่ยังมีโหนดทำงานอยู่ ระบบบล็อกเชนก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ ไม่สามารถถูกสั่งปิดได้ง่ายๆ จากจุดเดียว

(รายละเอียดเรื่องแฮชเข้ารหัสและกลไกการทำงานอื่นๆ ในเชิงลึก ขอติดไว้ในบทความต่อๆ ไปนะครับ!)

บล็อกเชน ต่างจาก สกุลเงินคริปโท อย่างไร? (อีกมุมมอง)

ถ้ามองว่าบล็อกเชนคือแนวคิดของฐานข้อมูลแบบกระจาย แล้วสกุลเงินคริปโทอย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียมคืออะไร?

อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่าในแง่หนึ่งมันคือแอปพลิเคชันที่ใช้บล็อกเชน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับโลกของฐานข้อมูลแบบดั้งเดิม:

  • บล็อกเชน คือ "แนวคิด" หรือ "โครงสร้าง" ของฐานข้อมูล (คล้ายกับแนวคิดของ Relational Database)
  • บิตคอยน์ และ อีเธอเรียม คือ "ระบบจัดการฐานข้อมูล" (Database Management System - DBMS) หรือ "โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล" ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานตามแนวคิดบล็อกเชน (คล้ายกับ MySQL, Oracle, SQL Server ในโลกของ Relational Database)

โปรแกรมอย่างบิตคอยน์และอีเธอเรียมก็คือสิ่งที่นำแนวคิดบล็อกเชนมาพัฒนาต่อ โดยมีกลไกและกฎเกณฑ์ในการบริหารจัดการข้อมูลที่แตกต่างกันไป (เช่น อีเธอเรียมมีการพัฒนาให้ซับซ้อนและรองรับการทำงานที่หลากหลายกว่าบิตคอยน์ในปัจจุบันมาก)

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ บิตคอยน์และอีเธอเรียมยังถือเป็น "แพลตฟอร์ม" ที่รองรับการพัฒนา แอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Application - DApp) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์กลาง การโอนเงินบนเครือข่ายเหล่านี้ก็เป็น DApp รูปแบบหนึ่ง แต่เรายังสามารถสร้าง DApp อื่นๆ ได้อีกมากมายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยเฉพาะบนอีเธอเรียม

บล็อกเชนไม่ใช่ "ของวิเศษ" มีข้อจำกัดอะไรบ้าง?

ถึงตรงนี้คงเห็นแล้วว่าบล็อกเชนมีคุณสมบัติเด่นๆ อย่างการไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ การกระจายอำนาจ และความทนทาน แต่ บล็อกเชนไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกปัญหา และไม่ใช่ว่าทุกข้อมูลจะต้องถูกเก็บบนบล็อกเชนหมด

ข้อจำกัดหลักๆ ของบล็อกเชนที่เราต้องพิจารณาคือ ค่าใช้จ่ายและความซับซ้อนในการเก็บและจัดการข้อมูล ครับ

  • การเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน: ข้อมูลชุดเดียวกันต้องถูกคัดลอกไปเก็บหลายๆ ที่ ทำให้ใช้พื้นที่และทรัพยากรมากกว่าฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์
  • ความเร็วในการทำธุรกรรม: กระบวนการที่ต้องให้โหนดส่วนใหญ่ในเครือข่ายเห็นพ้องต้องกัน (Consensus Mechanism) ก่อนจะบันทึกข้อมูลลงบล็อกได้ ทำให้ความเร็วในการทำธุรกรรมโดยรวมช้ากว่าระบบแบบรวมศูนย์มาก (เช่น บิตคอยน์ใช้เวลาสร้าง 1 บล็อกประมาณ 10 นาที)
  • พลังงานและค่าธรรมเนียม: บางกลไกการเห็นพ้องต้องกัน (เช่น Proof-of-Work ที่ใช้ในบิตคอยน์)  ที่ทำให้ทุกโหนดเก็บข้อมูลเดียวกัน ใช้พลังงานมหาศาล และผู้ใช้มักต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม ซึ่งบางครั้งอาจสูงมากโดยเฉพาะในเครือข่ายที่มีการใช้งานหนาแน่น

มีการพัฒนาโซลูชันต่างๆ เช่น เครือข่ายชั้นที่สอง (Layer 2 Network) (เช่น Lightning Network สำหรับ Bitcoin) เพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมบนบล็อกเชนหลักทำได้เร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยความน่าเชื่อถือบางส่วน (จะลงรายละเอียดในอนาคตครับ)

ดังนั้น ก่อนจะนำบล็อกเชนมาใช้ ต้องถามตัวเองก่อนว่า:

  • เราต้องการคุณสมบัติ การกระจายอำนาจ และ การไม่สามารถแก้ไขข้อมูล จริงๆ หรือไม่?
  • ข้อมูลที่เราจะเก็บมีขนาดเล็กพอที่จะอยู่บนบล็อกเชนได้หรือไม่ (บล็อกเชนเหมาะกับบันทึกรายการธุรกรรม ไม่ใช่ไฟล์ขนาดใหญ่)?
  • เรายอมรับข้อแลกเปลี่ยนในเรื่อง ค่าใช้จ่ายและความเร็ว ได้หรือไม่?

บล็อกเชนเอาไปทำอะไรได้บ้าง (นอกจากคริปโท)?

แม้จะมีข้อจำกัด แต่คุณสมบัติเด่นของบล็อกเชนก็ทำให้มันมีประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น:

  • การเงินแบบกระจายอำนาจ (Decentralized Finance - DeFi): การให้บริการทางการเงินที่ไม่ผ่านตัวกลาง เช่น การกู้ยืม การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์
  • การระดมทุน: การออกโทเคนเพื่อระดมทุนหรือแสดงความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ต่างๆ
  • การยืนยันความถูกต้อง (Verification/Provenance): ใช้ตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของหรือความแท้จริงของสิ่งของ/เอกสาร เช่น ประกาศนียบัตร, งานศิลปะ, สินค้าแบรนด์เนม
  • การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management): ติดตามแหล่งที่มาและประวัติของสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มความโปร่งใส
  • การดูแลสุขภาพ (Healthcare): การจัดการบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยและควบคุมการเข้าถึงได้
  • วิทยาศาสตร์ข้อมูลและ AI: ข้อมูลบนบล็อกเชนที่แก้ไขไม่ได้ สามารถเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้สำหรับการฝึกฝนโมเดล AI หรือการวิเคราะห์ข้อมูล

(ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เหล่านี้ จะนำมาเล่าให้ฟังในรายละเอียดในบทความต่อๆ ไปครับ!)

หวังว่าบทความแรกนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของบล็อกเชนได้ชัดเจนขึ้นนะครับ

สรุป:

  • บล็อกเชน คือ แนวคิดของฐานข้อมูลแบบกระจายประเภทหนึ่ง ที่เน้นการบันทึกข้อมูลที่ไม่สามารถแก้ไขหรือลบได้ และไม่ต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการ
  • สกุลเงินคริปโท (เช่น Bitcoin, Ethereum) คือ แอปพลิเคชัน หรือ แพลตฟอร์ม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูลรายการธุรกรรม
  • บล็อกเชนมีจุดแข็งเรื่องความน่าเชื่อถือ การกระจายอำนาจ และความทนทาน แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่อง ค่าใช้จ่าย ความเร็ว และขนาดข้อมูล ที่ต้องพิจารณาในการนำไปใช้

บล็อกเชนไม่ใช่ "ของวิเศษ" ที่จะมาแทนที่ทุกอย่าง แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกรณีที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษของมัน

แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าของคอลัมน์ #พุธขุดบล็อกเชน นะครับ!


วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

สหรัฐฯ เตรียมยกเลิกและเปลี่ยนกฎเกณฑ์การส่งออกชิป AI ทั่วโลก

AI-Chip
ภาพจาก Reuters โดย Karen Freifeld และ Arsheeya Bajwa

ทำเนียบขาววางแผนที่จะยกเลิกและแก้ไขกฎที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งจะจำกัดการส่งออกชิป AI 

โฆษกหญิงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยืนยันเมื่อวันพุธ กฎระเบียบดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการส่งออกชิปและเทคโนโลยี AI ไปยังคู่แข่ง โดยแบ่งโลกออกเป็นชั้นตามความสัมพันธ์ของแต่ละประเทศกับสหรัฐฯ 

โฆษกหญิงของกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ "ไม่ชอบระบบแบ่งชั้น" และกฎดังกล่าว "ไม่สามารถบังคับใช้ได้" เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า การถกเถียงเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดยังคงดำเนินต่อไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย Karen Freifeld และ Arsheeya Bajwa