วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ภาษาโปรแกรมสำหรับยุคต่อไป

หลังจากบทความที่ผ่าน ๆ มา เป็นการเล่าเรื่องทางไอทีที่น่าสนใจให้ฟัง บทความนี้ก็ขอเขียนเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมบ้างนะครับ ผมเคยได้รับคำถามจากนักศึกษาว่าเขาควรจะศึกษาภาษาอะไรดี ซึ่งผมก็ได้ตอบไปว่าให้เรียนภาษาที่สอนกันที่คณะ (Java) ให้เข้าใจแนวคิดการเขียนโปรแกรม แล้วจะสามารถนำไปประยุกต์กับภาษาอื่น ๆ ได้โดยไม่ยาก พอดีวันนี้ได้ไปอ่านบทความนี้ครับ http://www.infoworld.com/article/08/06/23/26NF-dynamic-scripting_1.html เห็นว่าน่าสนใจดี และเกี่ยวข้องกับที่นักศึกษาเคยถามก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง ในบทความเขาบอกว่าภาษาสคริปต์จะเปิดยุคใหม่ของการเขียนโปรแกรมครับ ซึ่งเขาเรียกว่า programming to the masses ครับ ซึ่งผมก็ขอแปลว่าการโปรแกรมเพื่อมวลชนครับ :) ซึ่งผมเข้าใจว่าเขาจะเน้นว่าภาษาสคริปต์พวกนี้เขียนได้ง่าย ดังนั้นน่าจะมีผู้คนที่เขียนภาษาเหล่านี้เป็นกันมากขึ้น โดยภาษาสคริปต์ที่ใช้กันบนฝั่งไคลแอนต์ส่วนใหญ่ก็จะเป็น JavaScript ส่วนภาษาสคริปต์บนฝั่งเซอร์ฟเวอร์ก็จะเป็น PHP ซึ่งคงเห็นนะครับว่าก็ไม่ใช่ภาษาใหม่อะไรเลย แต่เป็นภาษาที่เรารู้จักกันมานานแล้ว ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ในความเห็นของผมเป็นดังนี้ครับ ประการแรกก็คือความแพร่หลายของการใช้เว็บเป็นแพลตฟอร์มในการพัฒนาระบบ ความแพร่หลายของเว็บเซอร์วิส ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของคอมพิวเตอร์ และคุณลักษณะบางอย่างที่ทำให้ผู้พัฒนาโปรแกรมรู้สึกว่าการพัฒนาโปรแกรมทำได้ง่ายขึ้น เช่นการที่ตัวแปรเป็นแบบไดนามิก คือสามารถเปลี่ยนประเภทไปได้ตามประเภทข้อมูลที่ใช้ในขณะนั้น (แต่อันนี้ก็แล้วแต่คนชอบนะครับ บางคนอาจไม่ชอบคุณลักษณะที่เป็นไดนามิกแบบนี้ก็ได้) นอกจากสองภาษานี้แล้วก็ยังมีภาษาอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่แนะนำในบทความครับเช่น python และ Ruby ถึงตรงนี้แล้วหลายคนก็อาจมีคำถามว่าถ้าอย่างนั้นภาษา Java ภาษา C ภาษา C++ นั้นไม่จำเป็นแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งผมก็คงต้องตอบว่าไม่ใช่ ในความเห็นผมภาษาสคริปต์ต่าง ๆ เหล่านี้ เหมาะสมกับการทำงานในลักษณะที่จะเป็นตัวเชื่อม โดยเรียกใช้คอมโพเนนต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่มาใช้งานร่วมกัน ส่วนคอมโพเนนต์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ยังคงจะต้องพัฒนาโดยใช้ภาษาหลัก ๆ อยู่ดี ซึ่งตามหลักการของการพัฒนาระบบแบบคอมโพเนนต์นั้น จะมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือการพัฒนาเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (development for resue) และการพัฒนาโดยนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ (development with reuse) ภาษาอย่าง C++ หรือ Java ก็จะใช้ในการพัฒนาส่วนแรก ส่วนภาษาสคริปต์เหล่านี้ก็จะอยู่ในส่วนที่สอง ในส่วนของบทความผมเห็นด้วยในส่วนที่ว่ามีความเป็นไปได้ที่ภาษาเหล่านี้โดยเฉพาะส่วนที่อยู่บนฝั่งไคลแอนต์ จะกลายมาเป็นภาษาหรับมวลชนจริง ๆ ลองสังเกตุจากพวก Social Web เช่นพวก Hi5 หรือ bloggang ของเราดูนะครับ ตอนนี้ผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป เริ่มรู้จักการเขียนภาษา HTML แล้ว โดยอาจจะเริ่มต้นจากการคัดลอกจากเว็บอื่นมาใส่เว็บตัวเอง จากนั้นก็เริ่มศึกษาแล้วก็สามารถเขียนโค้ดของตัวเองได้ ซึ่งผมคิดว่าก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับภาษาอย่าง JavaScript เช่นกัน

ดังนั้นก็ฝากไว้ครับว่า ต่อไปผู้ใช้ทั่ว ๆ ไปก็อาจจะเขียนโปรแกรมกันได้แล้ว ส่วนพวกที่เรียนกันมาทางสายคอมพิวเตอร์โดยตรงแล้วยังเขียนโปรแกรมไม่ได้นี่ก็... ลองเติมกันดูเองนะครับ

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เราอาจจะได้จดชื่อโดเมนอินเตอร์เน็ตในชื่อของเรา

ห่างหายไปหลายวันอีกตามเคยครับ สงสัยช่วงนี้เขียนบล็อกได้แค่อาทิตย์ละวันครับ จริง ๆ มีเรื่องมากมายที่จะมาเล่าให้ฟัง แต่ยุ่งมากครับ
อย่าว่าแต่เขียนเลยแค่จะเข้ามาดูยังไม่มีเวลาเลยครับ ดังนั้นพวกเราทั้งหลายก็อย่าว่ากันนะครับถ้าผมไปเยี่ยมได้น้อยลง หรือเข้ามาตอบอะไรช้าไปบ้าง มาที่บทความดีกว่าครับ สำหรับที่มาก็ตามนี้เลยครับ http://www.iht.com/articles/2008/06/22/business/net23.php
ICANN ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลชื่อโดเมนใน Internet (พวก .com. org นี่ละครับ) เกิดปิ๊งไอเดียใหม่ครับ คือเขาจะเพิ่มชื่อโดเมนระดับบนสุดขึ้นมาใหม่ โดยให้มีการส่งข้อเสนอเข้ามาครับ ตัวอย่างเช่น hotmail ก็อาจจะยื่นขอจดชื่อโดเมนเป็น .hotmail หรือเมืองใหญ่ ๆ ก็อาจขอยื่นจดชื่อโดเมนเป็นชื่อเมืองได้เช่น .bangkok เป็นต้น เป็นยังไงครับอ่านแล้วอยากจะส่งขอเสนอเข้าไปขอจดบ้างไหมครับ ถ้าอยากลองมาดูราคากันดีไหมครับ ราคาค่าขอยื่นจดนี่ก็ถูกมากครับอยู่ในช่วง 39,000 ถึง 390,000 เหรีญสหรัฐเท่านั้นเอง :) และในกรณีที่ใจตรงกันยื่นจดมาชื่อเดียวกันนี่ทาง ICANN ก็จะเปิดประมูลครับ ประมาณกันว่าถ้าทุกอย่างเรียบร้อยชื่อโดเมนใหม่นี้ก็จะใช้ได้ประมาณต้นปีหน้าครับ แต่ก็มีคนวิจารณ์แนวคิดนี้นะครับ เพราะเขาก็กลัวว่าจะเกิดปัญหาครับ คืออาจจะมีคนไปจดชื่อโดเมนเลียนแบบสินค้ายี่ห้อดัง ๆ และก็ยังมีประเด็นทางศาสนาหรือการเมืองด้วยนะครับ คือเขายกตัวอย่างว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีคนไปจดชื่อโดเมน .jihad ซึ่งจริง ๆ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้นี่เขาก็ถกกันมาได้ 3 ปี แล้วนะครับ สำหรับผมถ้าถามว่าจำเป็นไหมที่ประเทศเราจะต้องไปจดชื่อโดเมนแบบนี้ ผมว่าถ้ามันแพงนักก็ไม่จำเป็นนะครับ เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ทางรัฐบาลเขาอาจจะคิดว่าคุ้มก็ได้เพราะถือว่าได้โปรโมตชื่อเมือง ชื่อประเทศไปในตัว และเงินระดับนี้ในระดับประเทศก็คงถือว่าน้อยมาก
ก็ถือว่ามาเป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังแล้วกันนะครับ เผื่อปีหน้าใครเห็นชื่อโดเมนใหม่ ๆ มาจะได้ไม่ประหลาดใจ เรามารอดูกันนะครับว่าจะมีชื่อ .bangkok .puket หรือ .chiengmai มาให้พวกเราได้ใช้กันบ้างไหม

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เมื่อผมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อพิมพ์เอกสาร Word 23 หน้า (ภาค 2 ตอนสาเหตุ จบ )

กลับมาแล้วครับหลังจากห่างหายไปหลายวัน ไม่คิดเลยครับว่าจะยุ่งได้ขนาดนี้ แล้วยังมาเกิดอุบัติเหตุส่วนตัวอีก เอาไว้จะเล่าให้ฟังทีหลังแล้วกันนะครับ มาที่บทความดีกว่า...

สำหรับบทความนี้ก็สืบเนื่องมาจากบทความก่อนหน้านี้ครับ จะเรียกว่าเป็น CSI (Thailand & Blogger) ก็น่าจะได้นะครับ คือมีผู้ที่ได้อ่านบทความได้สอบถามเข้ามาทั้งในบล็อก และนอกบล็อกว่า สาเหตุมันคืออะไร .rtf มันคืออะไร ทำไมมันถึงใหญ่จัง และทำไมมันถึงแก้ปัญหาได้ วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังกันครับ



เริ่มจากไฟล์นามสกุล .rtf ก่อนแล้วกันนะครับ ชื่อเต็มของ .rtf คือ rich text format ครับ ถ้าอ้างอิงตามเว็บของไมโครซอฟต์ http://msdn.microsoft.com/en-us/library/aa140277.aspx ก็จะได้ว่าจุดประสงค์ของรูปแบบไฟล์แบบนี้คือจัดเตรียมรูปแบบสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นข้อความและภาพกราฟิกส์ ให้ใช้ได้บนอุปกรณ์แสดงผลที่ต่างกัน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมและระบบปฏิบัติการที่ต่างกัน



ในปัจจุบันโปรแกรมประมวลผลคำ (word processor) หลายตัวสนับสนุนรูปแบบไฟล์แบบนี้ครับ ดังนั้นวิธีการหนึ่งที่เราจะสามารถแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างโปรแกรมประมวลผลคำต่าง ๆ (แม้แต่ของ MS-Word แต่คนละรุ่นนี่ถ้าเป็น .doc ก็อาจคุยกันไม่ได้นะครับ) ก็คือให้จัดเก็บเป็นนามสกุลแบบ .rtf สำหรับเอกสารที่เราจัดเก็บเป็น .rtf แล้ว (และไฟล์ไม่ใหญ่มากจนเกินไป) เราอาจใช้ โปรแกรมอ่านแฟ้มข้อความอย่าง Notepad เปิดขึ้นมาอ่านได้เลยครับ ซึ่งตัวอย่างหน้าตาของข้อมูลที่เก็บอยู่ใน .rtf ที่ลองเปิดขึ้นมาโดยใช้โปรแกรม Notepad ก็เป็นดังนี้ครับ



\rsid12662449\rsid13787157\rsid14054252}{\*\generator Microsoft Word 11.0.6359;}{\info{\title This is a test document for rich text
format}{\author user}{\operator user}{\creatim\yr2008\mo6\dy20\hr17\min30}{\revtim\yr2008\mo6\dy20\hr17\min30}{\version2}


เห็นแล้วเวียนหัวไหมครับ ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดก็เชิญตามลิงก์ที่ให้ไว้ด้านบนได้เลยนะครับ สำหรับผมขอบายครับ...


เอาละครับคราวนี้ก็มาถึงคำถามว่าแล้วทำไมมันใหญ่จัง เอกสาร Word ต้นฉบับแค่ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ ทำไมมันถึงขยายได้เป็น 34 เมกะไบต์ คำตอบก็คือวิธีการที่มันใช้ในการเข้ารหัสรูปภาพครับ เพราะมันจะเอารูปภาพในเอกสารของเรามาเข้ารหัสโดยตัวอักษรครับ อย่างผมลองสร้างเอกสาร MS-Word 1 หน้า ที่มีรูป 1 รูป จัดเก็บเป็น .doc มีขนาดแค่ 165 กิโลไบต์ครับ แต่พอจัดเก็บเป็น .rtf มีขนาด 2.7 เมกะไบต์ ลองใช้
Notepad เปิดดูจึงเห็นว่าส่วนที่เป็นรูปภาพมีการใช้ตัวอักษรเข้ารหัสแทนรูปภาพดังกล่าวอยู่เต็มไปหมด ส่วนเอกสารที่ภรรยาผมส่งมาให้พิมพ์ 23 หน้ามีรูปทุกหน้าครับ ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจกับขนาดที่เพิ่มขึ้นนะครับ


ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไรทำไมถึงพิมพ์ไม่ออก ครับปัญหาน่าจะเกิดจากความผิดพลาดของการจัดเก็บเป็น .doc ครับ คือต้องบอกตามตรงว่าผมก็ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ผมได้ลองไปค้นหาคำแนะนำสำหรับปัญหาต่าง ๆ ในเว็บไซต์ของไมโครซอฟต์ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเอกสาร .doc ก็ได้เห็นคำแนะนำอย่างเช่น ให้คัดลอกข้อความในเอกสารไป แต่อย่าเอาการจัดหน้าหน้าสุดท้ายไปนะ แสดงว่าปัญหาอาจเกิดจากการเข้ารหัสของการจัดหน้า (แอบดีใจครับ แสดงว่าเรามั่วอย่างมีหลักการเพราะที่ผมตัดสินใจตัดสองหน้าแรกทิ้งไปก็เพราะคิดว่าการจัดหน้าของสองหน้าแรกอาจทำให้ไฟล์มีปัญหา) และยังมีคำแนะนำให้จัดเก็บแฟ้มเป็น .rtf ด้วยนะครับ (มั่วถูกอีกแล้ว) ซึ่งผมเข้าใจว่าที่การจัดเก็บเป็นแฟ้ม .rtf จะช่วยได้ก็เพราะมันต้องมีการเขียนข้อมูลในใหม่ทั้งหมดในรูปของข้อความ ดังนั้นข้อมูลที่มีปัญหาจึงน่าจะถูกกำจัดออกไปครับ


ผมอยากแนะนำอย่างหนึ่งครับ จากประสบการณ์ที่ผมใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์มาถ้าเกิดปัญหากับไฟล์วิธีการที่ผมใช้แก้ปัญหาได้ส่วนใหญ่คือจัดเก็บมันเป็นไฟล์ใหม่ อย่างเช่นผมเคยใช้ Powerpoint ทำไสลด์เตรียมสอน มีสไลด์ไม่กี่หน้าเองครับ แต่มีรูปเยอะหน่อย แล้วผมก็แก้ไปแก้มา อยู่ ๆ ขนาดของไฟล์มันกลายเป็นเกือบ 30 เมกะไบต์ ผมก็เลยลองจัดเก็บเป็นไฟล์ใหม่ ได้ผลครับขนาดลดลงเหลือ 5 เมะไบต์ ดังนั้นถ้ามีปัญหาผมก็จะลองใช้วิธีนี้ก่อน ซึ่งมีคราวล่าสุดนี่แหละครับที่ไม่ได้ผล แต่จริง ๆ ก็เกือบได้ผลเพียงแต่ต้องเปลี่ยนประเภทของไฟล์ด้วยเท่านั้น


สำหรับข้อคิดหลัก ๆ ที่ผมได้จากเรื่องนี้คือให้ใจเย็น ๆ ครับ ทำอะไรก็ให้มีสติไว้ อย่างผมนี่ถ้าจริง ๆ ตั้งสติให้ดีหน่อยคิดหาวิธีแก้อย่างเป็นระบบไม่ลองมั่วไปมั่วมาตั้งแต่ต้น อาจไม่ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมงก็ได้


อ้อมีเรื่องตื่นเต้นปิดท้ายครับคือภรรยาของผมเธอส่งเอกสาร Ms-Word มาให้พิมพ์อีกแล้วครับคราวนี้ 3 หน้าครับ... ไม่ต้องตกใจครับคราวนี้พิมพ์ออกปกติ เธอบอกว่าขี้เกียจเปิดเครื่องพิมพ์ที่บ้านครับ ดู่ดู๊ดูดูเธอทำ....

วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เมื่อผมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อสั่งพิมพ์เอกสาร MS Word 23 หน้า

วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์ชีวิตให้ฟังครับ และเผื่อใครเจอเหมือนผมอาจนำไปใช้ได้ เรื่องก็มีอยู่ว่าเมื่อ 2-3 วันก่อน ภรรยาของผมก็ได้อีเมล์แนบไฟล์เอกสาร Ms Word ซึ่งมีขนาดประมาณ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ มีจำนวนหน้าทั้งหมด 23 หน้า มาให้ผมช่วยพิมพ์ให้จากที่ทำงาน ผมก็แปลกใจนิดหน่อยเพราะที่บ้านก็มีเครื่องพิมพ์จะส่งมาให้ผมพิมพ์ทำไม แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก หลังจากดาวน์โหลดไฟล์มาแล้วผมก็ลองเปิดดูก็ดูปกติดี ก็เลยทิ้งไว้ก่อนเอาไว้พิมพ์ตอนก่อนจะกลับบ้าน พอถึงเวลาที่จะพิมพ์ก็เกิดเรื่องครับคือพอผมสั่งพิมพ์มันไม่พิมพ์ครับ คือเหมือนไม่มีไฟล์อะไรส่งไปที่เครื่องพิมพ์เลย ตอนแรกก็นึกว่าเครื่องพิมพ์มีปัญหา ไปตรวจดูก็ไม่มีอะไรผิดปกติ ก็เลยลองสั่งพิมพ์ไฟล์อื่นดูปรากฏว่าพิมพ์ได้ปกติ ก็เลยลองกลับมาใช้วิธีที่ผมมักจะใช้ได้ผลคือจัดเก็บไฟล์ลงไปเป็นแฟ้มใหม่แล้วลองพิมพ์ดู ปรากฏว่าอาการเหมือนเดิมครับ ก็เลยโทรศัพท์กลับไปหาภรรยา ซึ่งภรรยาก็บอกว่า "ก็มันเป็นแบบนี้ถึงได้ส่งไปให้พิมพ์ให้ไง" พร้อมทั้งกำชับด้วยข้อความห้วนสั้นเรียบง่ายแต่ได้ใจความว่า "พิมพ์มาให้ได้นะ" เอาละซีครับคราวนี้ก็เดือดร้อนละครับ งานเข้าเต็ม ๆ ผมก็เลยลองเข้าไปค้นในอินเตอร์เน็ตดู ก็เจอคำตอบหนึ่งเขาบอกว่า การที่พิมพ์ไม่ออกอาจเป็นเพราะตั้งค่าหน้ากระดาษไม่ถูกต้อง ผมก็เลยไปเปิดดูไฟล์ก็ปรากฏว่าเรียบร้อยดี แสดงว่าไม่ใช่ปัญหา คราวนี้ผมก็เลยลองสั่งพิมพ์ออกมาเป็นไฟล์ .pdf ดู ปรากฏว่าเก่งมากครับ 23 หน้าออกมาได้หนึ่งหน้า ด้วยความที่อยากกลับบ้านเต็มแก่ครับเห็นมันออกมาหนึ่งหน้าใน .pdf ก็เลยลองมั่วดู โดยใช้วิธีสั่งพิมพ์ทีละหน้า ปรากฏว่าหน้าแรกมันพิมพ์ออกครับ ก็ดีใจมาก เอาละแค่ 23 หน้าเอง (ในใจคิดว่าโชคดีที่ไม่ใช่ 100 หน้า) พิมพ์ทีละหน้าก็ยังไหว เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยมาหาสาเหตุกันใหม่ ปรากฏว่าสั่งพิมพ์ทีละหน้าไปได้ 2 หน้าครับ พอถึงหน้าที่ 3 มันไม่พิมพ์ ข้ามไปพิมพ์หน้าที่ 4 มันก็ไม่พิมพ์ หน้าไหน ๆ มันก็ไม่พิมพ์ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจอยู่ที่ 2 หน้าแรก ก็เลยลบมันทิ้งไป แล้วลองสั่งพิมพ์ดูปรากฏว่ามันออกหน้า 3 มาอีกหน้าหนึ่งครับ จากนั้นก็เหมือนเดิมคือไม่ออกอะไรอีกเลย แถมมีอาการหนักขึ้นอีกคือพอสั่งจัดเก็บมันบอกว่าจัดเก็บไม่ได้ไฟล์ไม่ถูกต้อง แล้วก็แฮงค์ไปเฉย ๆ คราวนี้ก็หน้ามืดละครับอยากกลับบ้านก็อยากกลับแต่คำว่า "พิมพ์มาให้ได้นะ" มันยังก้องอยู่ในหู ก็เลยลองนั่งใจเย็น ๆ คิดดูว่ายังลืมอะไรอีกหรือเปล่า แล้วก็คิดได้วิธีหนึ่งครับที่ยังไม่ได้ลอง คือผมก็เอาไฟล์ต้นฉบับที่ภรรยาส่งมาให้ (คือไอ้ที่ผมบอกว่าลองตัดหน้าทิ้งดูอะไรนี่ ผมทำกับแฟ้มที่ผมสำรองขึ้นมานะครับ ดังนั้นถ้าพวกเราจะลองทำอะไรนี่อย่าทำกับต้นฉบับนะครับ) มาจัดเก็บเป็น .rtf ครับ ผมลองตรวจดูขนาดของไฟล์ดูครับ มหัศจรรย์มากจากต้นฉบับ .doc ของภรรยาผม 2 เมกะไบต์กว่า ๆ พอเป็น .rtf มันเป็น 34 เมกะไบต์กว่า ๆ ครับ แต่ตอนนั้นก็ไม่สนแล้วละครับ ลองสั่งพิมพ์ดู โอสวรรค์เบี่ยง เอ๊ย... สวรรค์ทรงโปรด มันออกครับ 23 หน้าครบถ้วนบริบูรณ์ จากนั้นผมก็ลองจัดเก็บจาก .rtf มาเป็น .doc ครับขนาดลดลงเหลือ 2 เมกะไบต์กว่า ๆ เล็กกว่าไฟล์ต้นฉบับเล็กน้อย แล้วลองสั่งพิมพ์เป็น .pdf ดู คราวนี้ปรากฏว่าออกครบ 23 หน้าครับ เฮ้อ... mission complete ครับ หลังจากผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นก็กลับบ้านครับ แล้วก็เอาที่พิมพ์ได้ไปให้ภรรยา ซึ่งเธอก็บอกว่า "ขอบคุณค่ะ" แค่นี้ก็หายเหนื่อยแล้วครับ...

วันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วีดีโอดิกชันนารีสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน

เรื่องที่จะเล่าวันนี้เกี่ยวกับงานวิจัยที่คิดขึ้นเพื่อช่วยผู้บกพร่องทางการได้ยินครับ สำหรับแหล่งที่มา ก็ตามลิงก์นี้เลยครับ http://canadianpress.google.com/article/ALeqM5ijJJ3pQiMrNWpixhbpLiYRGv7KZQ
คุณ Joan Nash ซึ่งมีอาชีพเป็นครูสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เจอปัญหาคือบางครั้งเธอก็ไม่เข้าใจสิ่งที่นักเรียนพยายามจะสื่อกับเธอครับ คือในบางครั้งเด็กเหล่านี้ก็ใช้สัญลักษณ์ท่าทางที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน อ่านถึงตรงนี้แล้วงงไหมครับ ผมขอขยายความหน่อยแล้วกัน คือคุณ Nash นี่เธอไม่ได้เป็นผู้พิการนะครับ แต่เธอเรียนภาษาสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน (ผมขอเรียกโดยใช้ศัพท์ที่พวกเราใช้กันคือภาษามือแล้วกันนะครับ แต่จริง ๆ เดี๋ยวจะเห็นว่ามันไม่ใช่แค่มือ) และก็ใช้ภาษานี้เพื่อสอนวิชาการต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ตอนนี้คุณ Nash เป็นนักศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน และเธอก็ได้อยู่ในทีมที่ทำวิจัยที่จะแก้ปัญหานี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้พิการมาแสดงท่าทางต่อหน้ากล้องวีดีโอ จากนั้นสัญญาณจากกล้องวีดีโอก็จะถูกส่งไปประมวลผลในคอมพิวเตอร์ เพื่อแปลความหมายของท่าทางดังกล่าว สิ่งที่จำเป็นมากอย่างหนึ่งของงานวิจัยนี้ก็คือดิกชันนารีครับ ซึ่งดิกชันนารีนี้ไม่ใช่ดิกชันนารีธรรมดาครับ แต่จะเป็นวีดีโอดิกชันนารี ซึ่งบันทึกท่าทางและความหมายของท่าทางนั้นเอาไว้ โดยในการบันทึกท่าทางนี้ เขาไม่ได้บันทึกแค่ลักษณะของมือนะครับ แต่จะบันทึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน และการแสดงออกทางใบหน้าด้วยครับ โดยงานวิจัยนี้จะพยายามบันทึกคำศัพท์ให้ได้มากกว่า 3,000 คำ ถ้างานวิจัยนี้ทำเสร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากครับ เช่นพ่อแม่ที่มีลูกที่บกพร่องทางการได้ยินก็จะสามารถสื่อสารกับลูกได้ดีมากขึ้น ภาษาที่เขาบันทึกลงวีดีโอนี่จะเป็นภาษาที่เรียกว่า American Sign Language นะครับ ซึ่งผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นภาษาของชาวอเมริกันเท่านั้น ดังนั้นถ้านักวิจัยไทยสนใจก็ลองนำมาดัดแปลงสำหรับคนไทยบ้างก็คงจะดีนะครับ

คราวนี้ลองย้อนกลับมาดูบ้านเราบ้าง ในบ้านเราเท่าที่ผมทราบก็มีงานวิจัยที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยสำหรับผู้พิการครับ แต่จะเน้นไปที่คนพิการทางการเห็นครับ ส่วนคนที่มองเห็นแต่ไม่ค่อยได้ยินนี่ยังไม่ค่อยมีครับ (ใครมีข้อมูลจะมาแลกเปลี่ยนกันก็เชิญนะครับ) เท่าที่เห็นมากที่สุดนี่ก็คือมีทีวีบางช่องที่มีจอเล็ก ๆ สำหรับให้คนมาแปลจากคำพูดเป็นภาษามือ ถึงตรงนี้แล้วก็อยากจะฝากให้หลาย ๆ ช่องที่ยังไม่มีน่าจะมีนะครับ หรือจะใช้แบบที่ต่างประเทศเขาทำก็ได้คือมี caption ขึ้นมา ผู้ที่ไม่ได้ยินก็สามารถอ่านได้ (หรือได้ยินแล้วไม่รู้เรื่องอย่างผม :) คือสมัยที่ผมไปเรียนช่วงแรก ๆ ยังฟังไม่ค่อยจะทันก็ใช้อันนี้ละครับช่วย) แต่คิดอีกที่การที่ไม่ได้ยินอะไรซะบ้างก็น่าจะดีนะครับ ตอนนี้เปิดทีวีไปก็ปวดหัวครับ ประเทศชาติมีปัญหาจะแย่อยู่แล้ว ยังจะมาคิดเอาชนะคะคานอะไรกันอยู่ได้ อ้าวไหงลากมาลงเรื่องนี้ได้ ขอจบแล้วกันนะครับ