วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เมื่อผมหลงเข้าไปใช้ M-Flow โดยบังเอิญ

สวัสดีครับ หลังจากไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์ มาซะนาน วันนี้พอจะมีเวลาบ้างและบังเอิญได้รับประสบการณ์การใช้งาน M-Flow เป็นครั้งแรก และเป็นแบบบังเอิญซะด้วย และก็เพิ่งอ่านข่าวว่ารู้สึกจะเมื่อวานหรือเมื่อวานซืนที่รถติดหน้าด่านมาก ๆ อาจมีสาเหตุมาจาก M-Flow ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังกัน และมีข้อเสนอแนะบางอย่างเผื่อถ้าคนที่เกี่ยวข้องได้อ่านจะได้พิจารณาดูว่าจะไปปรับใช้ได้ไหมนะครับ

ก่อนอื่นมารู้จัก M-Flow กันก่อนครับ M-Flow เอาง่าย ๆ คือวิธีเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบใหม่ ซึ่งจะไม่มีไม้กันให้เราต้องจอดจ่ายเงิน หรือต้องชะลอรถเพื่อให้มีการอ่านบัตร Easy Pass หรือ M-Pass เพื่อหักเงินเราก่อนจะเปิดไม้กั้นให้เราผ่านไป ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งตั้งใจจะนำมาใช้กับมอเตอร์เวย์ และทางด่วน ซึ่งเปิดตัวให้ใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ด่านทับช้าง 1 ทับช้าง 2 ธัญบุรี 1 และธัญบุรี 2 

โดยวิธีการของระบบนี้คือเขาจะมีกล้องจับทะเบียนรถเรา แล้วก็ไปเก็บเงินเราตามวิธีการที่เราระบุไว้ตอนเราลงทะเบียนใช้งานระบบ หรือในตอนนี้เราไม่ลงทะเบียนก็ใช้ได้วิ่งผ่านไปก่อน แล้วเขาจะมีเว็บไซต์ให้เราไปจ่ายเงินทีหลังโดยป้อนทะเบียนรถเราเข้าไป ซึ่งกรณีของผมเป็นแบบหลังนี้ครับ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง แต่ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ M-Flow สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ M-Flow ครับ 

จริง ๆ ผมได้รับอีเมลให้ลงทะเบียนสมัครใช้ M-Flow มาก่อนหน้านี้เป็นเดือนแล้วครับ แต่ไม่ได้สนใจจะสมัคร เพราะเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือยังไม่ไว้ใจระบบอ่านเลขทะเบียนนี่สักเท่าไหร่ เพราะแค่ Easy Pass ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แค่แสดงจำนวนเงินในบัตรตอนขับผ่านยังแสดงไม่ตรงเลย คือมันมักจะดีเลย์ไปแสดงของรถคันหน้าเรา อีกอย่างหนึ่งก็คือผมมองว่าวิธีนี้มันผูกติดกับตัวรถ คือถ้าผมเปลี่ยนรถ หรือมีวันหนึ่งสมมติต้องยืมรถภรรยามาขับ ถ้าเป็น Easy Pass ผมก็แค่เอามันไปใช้กับรถที่ผมจะใช้วันนั้น แต่ถ้าเป็นระบบนี้ผมก็ต้องลงทะเบียนรถทุกคัน ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนถึงแม้จะดูไม่ยาก แต่ก็ดูยุ่ง ๆ และถ้าต้องลงทะเบียนรถหลายคัน ก็น่าจะยุ่งขึ้นไปอีก ก็เลยยังไม่สมัคร และคิดว่าจะใช้  Easy Pass ไปก่อน จนระบบมันลงตัว หรือเขายกเลิก Easy Pass ไปแล้ว หรือตัวเองพร้อมที่จะลงทะเบียน

บังเอิญวันนี้ผมมีธุระต้องไปแถวคลองหลวงตั้งแต่เช้า ก็ขับรถขึ้นมอเตอร์เวย์ไป โดยลืมสนิทเลยว่า M-Flow มันเปิดใช้แล้ว และตามทางที่วิ่งไปก็จะเจอข้อความบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ของมอเตอร์เวย์พูดถึง M-Flow ว่ารถที่ไม่ลงทะเบียนห้ามวิงผ่าน M-Flow จะมีโทษนู่นนี่นั่น แอบวิ่งไม่จ่ายเงินเจอค่าปรับ 10 เท่า เห็นป้ายแบบนี้แล้วก็ยังไม่ได้คิดครับว่ามันเปิดใช้แล้ว กับด่านที่ผมจะต้องผ่านนี่แหละคือธัญบุรี น่าจะ 2 นะครับ ขาออกมุ่งหน้าบางปะอิน 

ถ้าใครเคยผ่านด่านธัญบุรีอันนี้คงจะรู้นะครับว่ามันจะมีช่อง Easy Pass อยู่ขวาสุดสองช่อง ผมซึ่งคุ้นเคยกับด่านนี้ดีก็ขับไปตามความเคยชินครับไม่ได้มองป้าย M-Flow อะไร พอขับเข้าไปก็เป็นงงครับเพราะมันว่างมากแทบไม่มีรถวิ่งเข้ามาด้านนี้เลย หนักกว่านั้นมีกรวยมาวางกั้นไม่ให้เข้าไปที่ตู้ Easy Pass คราวนี้ก็เริ่มระลึกได้ครับว่า เฮ้ย หรือนี่มันจะเป็น M-Flow แต่ตอนนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะครับว่าต่อให้เป็น M-Flow แล้วทำไมถึงปิดตู้ Easy Pass แต่คิดอีกทีสุดท้ายเขาคงอยากให้เป็น M-Flow ทั้งหมดรถจะได้ไม่ต้องชะลอ แต่ผมว่าถ้ามีตู้อยู่มันก็ต้องชะลอกันอยู่ดีนะ แต่เอาเถอะครับในตอนนั้นปัญหาเฉพาะหน้าก็คือทำยังไงดี เพราะอ่านป้ายคำขู่ตามทางที่ผ่านมาว่ารถไม่ลงทะเบียนห้ามวิ่งผ่าน M-Flow 

แต่จะให้ถอยกลับก็คงไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นสงสัยจะถูกชนแบนอยู่บนมอเตอร์เวย์ ก็เลยชะลอรถเลือกผ่านเข้าไปที่ตู้หนึ่ง ก็เห็นป้ายเล็ก ๆ เขียนไว้ประมาณว่า รถที่ไม่ได้ลงทะเบียนให้ไปจ่ายเงินย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ของ M-Flow เห็นแล้วก็เลยโล่งใจขึ้น แล้วก็นึกในใจว่า ทำไมมันถึงไปโปรโมทแต่เรื่องจะลงโทษรถที่ไม่ลงทะเบียนแล้วใช้ M-Flow ในเมื่อมันก็มีระบบให้จ่ายทีหลังด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว 

จริง ๆ ควรจะโปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้มากกว่า เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านมาใช้เป็นประจำ เขาอาจจะผ่านมาเป็นครั้งคราว พอผ่านเสร็จก็ไปจ่ายเงินย้อนหลัง ไม่จำเป็นต้องไปวุ่นวายลงทะเบียนอะไร และการโปรโมทแบบนี้ก็อาจเป็นการเชิญชวนให้คนที่ใช้ประจำแต่ไม่ได้ลงทะเบียนมาทดลองใช้ดูว่าระบบการอ่านเลขทะเบียนมันโอเคไหม ให้เขาลองใช้ดูแล้วก็ค่อยโปรโมทต่อว่าถ้าคุณลงทะเบียนคุณจะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง นี่เล่นขู่กันอย่างเดียวเลย และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถติดหนักหน้าด่านเมื่อวานหรือเมื่อวานซืน เพราะคุณลดด่านที่ต้องจ่ายเงิน กับด่าน Easy Pass กับ M-Pass ลง ทำให้รถซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทะเบียนต้องไปแออัดกันหน้าด่าน ทำให้ท้ายแถวติดยาวเหยียดจนคนที่ลงทะเบียน M-Flow ก็เข้าช่อง M-Flow ไม่ได้ ไม่ต่างกับคนที่ใช้ Easy Pass หรือ M-Pass ที่ต้องมาติดท้ายแถวจากคนที่จ่ายเงินสด อันนี้ก็เป็นคำแนะนำนะครับ ไม่ได้ต่อว่าอะไร เพราะผมไม่ได้ไปติดอยู่กับเขา แต่คนที่ติดอยู่วันนั้นคงสรรเสริญคนที่คิดแต่เรื่องขู่แบบนี้ไปพอสมควรนะครับ :)

คราวนี้มาถึงเรื่องของผมต่อครับ หลังจากผมผ่านด่านมาแล้ว มาลงที่คลองหลวง ใช้เวลาผ่านจากด่านมาน่าจะประมาณ 20 นาที ผมก็ลองเข้าเว็บไซต์เพื่อเช็คดูว่าผมจะต้องจ่ายเงินยังไง เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์  ก็จะเจอเมนูตามรูปที่ 1 ครับ 

Mflow-pay-menu
รูปที่ 1 เมนูจ่ายเงิน M-Flow

ผมก็เลือกอันล่างสุดนะครับ "วิ่งช่องผ่านทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิก" รู้สึกว่าคำพูดมันประหลาด ๆ ไหมครับ จริง ๆ มันน่าจะเป็น "วิ่งผ่านช่องทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิก" ว่าไหมครับ หลังจากเลือกอันนี้มันจะพาเราไปที่หน้าจอดังรูปที่ 2 ครับ

find-car-by-id-mflow
รูปที่ 2 ค้นหารถยนต์เพื่อชำระเงิน

 
เราก็ป้อนเลขทะเบียนรถเราซึ่งต้องแบ่งเป็นสามส่วนนะครับ คือช่องแรกให้ใส่สามหลักแรก ช่องที่สองก็ให้ใส่เลขสี่หลัก (รถผมมีสี่หลัก แต่ถ้าใครมีกี่หลักก็น่าจะใส่ตามนั้นนะครับ) และช่องสุดท้ายก็คือจังหวัด จากนั้นกดปุ่มค้นหา 

ซึ่งในตอนแรกที่ผมป้อน มันหาไม่เจอนะครับ มันบอกไม่มียอดค้างชำระ ตอนแรกผมก็คิดว่าระบบอ่านเลขทะเบียนมันแย่หรือเปล่านี่ แล้วตอนนี้มันไปอ่านเป็นรถใครแทนหรือเปล่า แต่คิดอีกทีสงสัยมันต้องใช้เวลาบันทึกข้อมูลลงระบบ ก็เลยทำธุระไปก่อน ช่วงบ่ายลองค้นอีกทีคราวนี้มันเจอครับ ก็ขึ้นว่าต้องจ่าย 30 บาท ซึ่งเราสามารถจ่ายผ่านระบบพรอมท์เพย์ (prompt pay) ได้นะครับ มันจะสร้าง QR Code ขึ้นมา เราก็เอาไปสแกนจ่ายผ่านแอปธนาคารได้เลย หลังจากจ่ายไปแล้ว ผมลองทิ้งเวลาไปสักหนึ่งชั่วโมง ลองค้นดูอีกทีก็ปรากฏว่าไม่มีค้างชำระแล้ว 

สรุปก็คือระบบอ่านเลขทะเบียนใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนผมผ่านด่านผมชะลอรถช้า ๆ เพราะเข้ามาแบบงง  ๆ หวังว่าจะเจอเจ้าหน้าที่บ้างแต่ก็ไม่มี เจอแต่ป้ายบอกจ่ายทีหลังได้ ดังนั้นที่เขาตั้งใจว่าให้วิ่งผ่านได้ด้วยความเร็ว 120 ไม่ต้องชะลอรถมันจะโอเคไหม ระบบจ่ายเงินก็ใช้ได้ แต่ไม่รู้ว่าถ้ามีคนใช้เยอะกว่านี้จะเป็นยังไง 

ก็หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะครับ ถ้าใครผ่านทับช้าง 1 ทับช้าง 2 ธัญบุรี 1 และธัญบุรี 2 และไม่ได้ลงทะเบียน M-Flow ไว้ก็ใช้ได้นะครับ ไม่ต้องไปติดอยู่ที่ด่านจ่ายเงิน ส่วนคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ก็คือน่าจะโปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้นะครับ แทนที่จะขู่ว่าไม่ลงทะเบียนห้ามผ่าน การโปรโมทแบบนี้ผมว่าจะทำให้คนอยากลองใช้มากขึ้น จะช่วยลดรถติดหน้าด่าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของการใช้ระบบนี้ แล้วพอเขาเห็นว่าถ้าสมัครสมาชิกมันทำให้สะดวกสบายกว่าอย่างเช่นมันสามารถหักค่าผ่านทางโดยใช้เงินที่มีใน Easy Pass และ M-Pass ได้ด้วย หักจากบัตรเครดิตได้ หรือจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ เขาก็จะสมัครกันเอง แต่ถ้าไม่โปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้เพราะกลัวระบบจ่ายเงินล่มถ้าคนมาใช้เยอะอันนี้ก็คงไม่มีคำพูดอะไรต่อครับ ส่วนถ้ากลัวคนมาใช้แล้วไม่ยอมจ่ายเพราะไม่ลงทะเบียน จริง ๆ อันนี้น่าจะคิดไว้ก่อนแล้วนะครับ ถ้ายังไม่ได้ทำก็เสนอทำพร้อมกับระบบใบสั่งไปเลย คือให้ขนส่งดูให้ว่าถ้ามีใบสั่งที่ยังไม่จ่าย หรือไม่จ่ายค่าผ่านทางก็ไม่ต่อทะเบียนให้ แก้กฎหมายตรงนี้กันไปเลย  

NFT เสนอวิธีที่จะควบคุมข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล

 

NFT
ภาพจาก  Baylor College of Medicine

โทเคนที่ทดแทนกันไม่ได้ (nonfungible token) หรือ NFT อาจถูกปรับแต่งเพื่อช่วยให้คนไข้ควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเอง ตามคำกล่าวของทีมนักวิจัยนานาชาติที่นำโดยนักจริยธรรมทางชีววิทยา (bioethicist)  ของ Baylor College of Medicine

นักวิจัยเสนอให้ใช้สัญญาดิจิทัล NFT เพื่อให้ผู้ป่วยระบุได้ว่าใครบ้างที่สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลของพวกเขา และอนุญาตให้พวกเขาติดตามได้ว่าข้อมูลของพวกเขาถูกแบ่งปันไปอย่างไรบ้าง 

"NFT สามารถใช้เพื่อทำให้ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นประชาธิปไตย (democratize) และช่วยให้บุคคลต่างๆ สามารถควบคุมและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้นว่าใครสามารถดูและใช้ข้อมูลด้านสุขภาพของพวกเขาได้บ้าง" Kristin Kostick-Quenet จาก Baylor กล่าว 

นักวิจัยยอมรับความซับซ้อนและความอ่อนไหวของ NFT ต่อข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยของข้อมูล ประเด็นความเป็นส่วนตัว และความขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Baylor College of Medicine

วันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ภาษาโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง

quantum-computers
ภาพจาก  New Scientist

ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI สามารถขจัดข้อผิดพลาดจากกลุ่มควอนตัมบิต ต้องขอบคุณ Lorenzo Cardarelli และเพื่อนร่วมงานที่ RWTH Aachen University ของเยอรมนี นักวิจัยใช้ตัวแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดเล็กเพื่อสร้างอัลกอริธึมเข้ารหัสอัตโนมัติ (autoencoder) การเรียนรู้ของเครื่องในเวอร์ชันสำหรับควอนตัม

พวกเขาป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อดูข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น สร้างคู่ของข้อมูลที่ถูกต้องกับข้อมูลที่มีข้อผิดพลาดอย่างมาก ซึ่งพวกเขาฝึกตัวเข้ารหัสอัตโนมัติควอนตัมเพื่อตรวจจับและแก้ไขข้อผิดพลาด 

Cardarelli กล่าวว่า AI สามารถถูกฝึกบนคอมพิวเตอร์ควอนตัมเฉพาะ และเรียนรู้ที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดเฉพาะของระบบนั้น Sonika Johri จากบริษัท IonQ บริษัทด้านการคำนวณควอนตัม (quantum computing)ในสหรัฐฯ กล่าวว่า "สิ่งที่ทำนี้เกือบจะเหมือนกับการปรับแต่งการออกแบบของโค้ดแก้ไขข้อผิดพลาดตามลักษณะของฮาร์ดแวร์นั้น ๆ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

Instagram สอน AI ให้รู้จักห้อง

Talavera-Martinez
Talavera Martinez ภาพจาก University of Groningen (Netherlands)

Estefania Talavera Martinez จาก University of Groningen  ของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้สอนระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)  หรือ AI เพื่อระบุพื้นที่ในอาคารที่เฉพาะเจาะจงโดยใช้ภาพและคำพูดที่บันทึกไว้ในวิดีโอ Instagram 

ซอฟต์แวร์การรู้จำคำพูดมาตรฐานของ Google ถอดเสียงคำพูดดังกล่าว และ Talavera Martínez และนักศึกษา Andreea Glavan ได้ออกแบบระบบให้จดจำวิดีโอจากพื้นที่ในอาคารเก้าประเภท ซึ่งมันทำได้อย่างแม่นยำ 70% จากที่ทดลองทั้งหมด

"การทดสอบที่เราทำนี้ยืนยันว่าการใช้ชุดข้อมูลผสม (คำพูดและวีดีโอ) นี้ ส่งผลให้ระบบนี้ทำงานได้ดีกว่าการฝึกอบรมโดยใช้รูปภาพหรือข้อความเท่านั้น" Talavera Martínez กล่าว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Groningen (Netherlands)

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ทำระบบเรียนรู้ของเครื่องให้กระจ่าง

neural-network
ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาระบบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจการทำงานภายในของกล่องดำของโครงข่ายประสาทเทียม โดยการสร้างคำอธิบายของ "เซลล์ประสาท" แต่ละตัวที่ประมวลผลข้อมูลในภาษาธรรมชาติโดยอัตโนมัติ และพบว่าคำอธิบายมีความถูกต้องและเฉพาะเจาะจงมากกว่าวิธีการอื่น

นักวิจัยใช้ระบบ MILAN (mutual-information guided linguistic annotation of neurons) เพื่อตรวจสอบเซลล์ประสาทที่สำคัญที่สุดในโครงข่ายประสาทเทียม MILAN ยังถูกใช้เพื่อตรวจสอบตัวแบบเพื่อพิจารณาว่าพวกมันได้เรียนรู้บางสิ่งที่ไม่คาดคิดในผลลัพธ์หรือไม่ และแก้ไขโครงข่ายประสาทเทียมโดยการเอาเซลล์ประสาทที่ตรวจพบความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในข้อมูลออก

Sarah Schwettmann แห่ง MIT กล่าวว่า "เราต้องการเข้าถึงพลังแห่งการแสดงออกของภาษามนุษย์ เพื่อสร้างคำอธิบายที่เป็นธรรมชาติและสมบูรณ์มากขึ้นสำหรับอธิบายสิ่งที่เซลล์ประสาททำ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News