วันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2564

การจัดอันดับภาษาโปรแกรม JavaScript ยังคงครองบัลลังก์ในขณะที่ Python นั้นยังปิดกั้น Java ไว้ได้

ภาพจาก ACM

อันดับความนิยมของภาษาโปรแกรมในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ของ RedMonk บอกว่า JavaScript, Python และ Java อยู่ในสามอันดับแรก การจัดอันดับในไตรมาสแรกมีความแตกต่างเล็กน้อยจากการจัดอันดับในเดือนกรกฎาคม 2020 แต่ Stephen O'Grady จาก RedMonk กล่าวว่าครึ่งหนึ่งของ 20 ภาษาชั้นนำนั้น "มีการเคลื่อนไหวในระดับซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก" 

O'Grady อ้างถึงการขึ้นสู่อันดับ 2 อย่างรวดเร็วของ Python เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและบอกว่า "ความสามารถในการรักษาอันดับสูงสุดใหม่ของมันนั้นน่าทึ่ง" ข้อมูลที่นำมาใช้ในการจัดอันดับก็เช่น การทำ pull request ของภาษาต่าง ๆ บน GitHub และการถกกันบน Stack Overflow ซึ่งเป็นเว็บไซต์แชร์ข้อมูลสำหรับนักพัฒนา 

สำหรับภาษาอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็เช่น TypeScipt ของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นภาษาที่เป็นซุปเปอร์เซ็ตของ JavaScript โดยมีระบบประเภทข้อมูล และจะถูกแปลงไปเป็น JavaScript อีกทีหนึ่ง ขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับอยู่ที่อันดับบ 8 

ภาษา Rust ซึ่งถูกพัฒนาโดย Mozilla เลื่อนขึ้มาหนึงอันดับมาอยู่ในอันดับที่ 19 หลังจากที่ Mozilla ส่งต่อการดูแลให้กับ Rust Foundation ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจาก AWS, Huawei, Google, Microsoft, และ Mozilla โดย AWS มองว่าภาษา Rust จะเป็นภาษาสำหรับเขียนโครงสร้างระบบ โดย Mozilla สร้างภาษา Rust ขึ้นมาเพื่อให้เป็นภาษาที่มีการจัดการหน่วยความจำที่ปลอดภัยเมื่อเทียบกับ C หรือ C++ 

ภาษา Go ของ Google ตกไปหนึ่งอันดับอยู่ที่อันดับ 16 ส่วนภาษา Kotlin ซึ่ง Google ผลักดันให้เป็นภาษาสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์ขยับขึ้นหนึ่งอันดับมาอยู่ที่อันดับ 18 

สรุป 10 อันดับแรกของภาษาเขียนโปรแกรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 ได้ดังนี้ 

  1. JavaScript
  2. Python
  3. Java
  4. PHP
  5. C#
  6. C++
  7. CSS
  8. TypeScript
  9. Ruby
  10. C

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564

ไฟฟ้าที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์นั้นมากกว่าที่ใช้ทั้งประเทศ

Photo by Dmitry Demidko on Unsplash

ดัชนีของ Cambridge Bitcoin Electricity Consumption ประมาณว่าไฟฟ้าที่ใช้ในการขุดบิตคอยน์เมื่อปีที่แล้วมีค่าเท่ากับคาร์บอนฟุตพรินต์ทั้งปีของอาร์เจนตินา การขุดบิตคอยน์เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อสร้างบิตคอยน์ใหม่ ซึ่งนักขุดจะได้รับรางวัลในฐานะเงินเข้ารหัส (crytocurrency) โดยจำนวนบิตคอยน์สูงสุดที่จะขุดได้อยู่ที่ 21 ล้านบิตคอยน์ และยิ่งขุดมากขึ้นอัลกอริทึมในการขุดก็จะยิ่งยากขึ้น ถึงตอนนี้มีบิตคอยน์ถูกขุดมา 18.5 ล้านบิตคอยน์แล้ว และต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ทีพลังประมวลผลค่อนข้างสูงในการขุดบิตคอยน์ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมีความกังวล เพราะนักขุดบิตคอยน์จะพยายามหาแหล่งพลังงานราคาถูกที่สุดแม้ว่ามันจะเป็นถ่านหินก็ตาม ผู้สนับสนุนบิตคอยน์เชื่อว่าการขุดบิตคอยน์ เป็นระบบการถ่ายโอนและจัดเก็บมูลค่าในระดับโลกที่ปลอดภัยและไม่แพง ซึ่งคุ้มค่ากับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian (U.K.)


วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564

AI ทำนายว่าพายุจะทำให้ไฟดับหรือไม่ได้ล่วงหน้าหลายวัน

ภาพการทำนายพายุ 3 แบบ จากตัวแบบ
Photo: Finnish Meteorological Institute / CC BY 4.0

แบบจำลองใหม่ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Aalto University ของฟินแลนด์ และ Finnish Meteorological Institute ใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อทำนายพายุที่มีโอกาสทำให้เกิดไฟดับได้ล่วงหน้าหลายวัน ตัวแบบที่พัฒนาขึ้นแบ่งประเภทของพายุแรงดันต่ำขนาดใหญ่ว่าไม่ทำให้เกิดความเสียหาย เกิดความเสียหายต่ำ (มีโอกาสที่หม้อแปลงเสียหาย 1-140 ตัว) หรือความเสียหายสูง (ความเป็นไปได้ที่หม้อแปลงจะเสียหายมากกว่า 140 ตัว) ตัวแบบสามารถทำนายตำแหน่งของพายุได้ในระยะ 15 กม. และเวลาที่มันจะเกิดในช่วงสามชั่วโมง โดยมีอัตราความแม่นยำ 60% ในการทำนายประเภทของพายุ และอัตราความแม่นยำ 80% ในการทำนายปริมาณความเสียหายที่เกิดจากพายุ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Aalto University (Finland)

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2564

ใช้เคเบิลขนาดเท่าเส้นผมในการรับส่งข้อมูลระหว่างชิปซิลิกอน

ภาพจาก MIT News

ระบบถ่ายโอนข้อมูลที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) และบริษัทผู้ผลิตชิป Intel จับคู่ชิปซิลิกอนความถี่สูงด้วยสายโพลีเมอร์ที่บางเหมือนเส้นผม ระบบมีความสามารถให้ถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วกว่า Universal Serial Bus 10 เท่าโดยยังคงรักษาข้อดีของสายทองแดงและไฟเบอร์ออปติกไว้ในขณะที่ลดข้อเสียของสายดังกล่าว ท่อร้อยสายพลาสติกโพลีเมอร์มีน้ำหนักเบา และมีราคาที่เข้าถึงได้มากกว่าสายทองแดงแบบเดิม และยังให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเมื่อใช้งานด้วยสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าในหน่วยย่อยระดับเทระเฮิรตซ์ Jack Holloway อดีตนักวิจัยจาก MIT กล่าวว่าท่อร้อยสายไฟรุ่นใหม่นี้ "เข้ากันได้โดยตรงกับชิปซิลิกอนโดยไม่ต้องมีการผลิตพิเศษใด ๆ" Georgios Dogiamis ของ Intel กล่าวว่าสายเคเบิลนี้สามารถ "ตอบสนองความท้าทายด้านแบนด์วิดท์ได้ จากแนวโน้มที่มุ่งไปสู่ปริมาณข้อมูลที่มากขึ้นเรื่อย ๆ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

AI เขียนบทความวิชาการในระดับวิทยาลัยให้ผ่านได้ใน  20 นาที

ภาพจาก ZDNet

นักวิจัยจาก Education Reference Desk (EduRef) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ และนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนต่อ พบว่าเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์  (artificial intelligence) หรือ AI สามารถเขียนบทความประจำวิชาที่อาจารย์มอบหมายให้นักศึกษาต้องเขียนในภาคเรียน ได้ภายใน 3 ถึง 20 นาที และได้เกรดที่ผ่าน นักวิจัยได้จัดกลุ่มอาจารย์มาให้เกรดโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนส่งงานมา โดย AI  ที่ใช้เขียนบทความส่งเข้ามาคือ GPT-3 ของ Open AI ซึ่งทำธุรกิจด้านงานวิจัยที่มี Elon Musk  เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง โดยในการวิจัยได้ให้ AI  เขียนบทความในหลากหลายหัวข้อทั้งทางด้านประวัติศาสตร์อเมริกา ระเบียบวิธีวิจัย (ประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19) การเขียนเชิงสร้างสรรค์ และกฎหมาย ผลการทดลองพบว่า GPT-3 ได้เกรดเฉลี่ยอยูที่ C โดยได้เกรดตกเพียงหนึ่งบทความ คะแนนสูงสุดที่ได้อยู่ในในหัวข้อ ประวัติศาสตร์อเมริกา และกฎหมาย โดยได้เกรด B- ส่วนบทความวัคซีน COVID-19 ได้เกรด C โดยได้คะแนนสูงกว่าผู้เขียนที่เป็นคนหนึ่งคนด้วย นักวิจัยบอกว่า "แม้ว่าจะไม่มีคนเข้ามาช่วยเขียนเลย แต่ GPT-3 ก็ได้รับข้อคิดเห็นที่ไม่ต่างจากบทความที่คนเขียน" และต้องไม่ลืมว่าโดยเฉลี่ยคนจะใช้เวลาสามวันในการเขียนบทความระดับนี้ แต่ GPT-3 ใช้เวลาเพียง 3 ถึง 20 นาที 


อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet