วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์ใช้หมึกแบบใหม่ล่าสุดเพื่อพิมพ์ 'กระดูก' 3 มิติด้วยเซลล์ที่มีชีวิต

Photo: UNSW

เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of New South Wales (UNSW) Sydney ของออสเตรเลียช่วยให้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D) สามารถพิมพ์โครงสร้างที่เหมือนกระดูกด้วยเซลล์ที่มีชีวิต (living cell) ได้ นักวิจัยได้พัฒนาหมึกที่ประกอบด้วยแคลเซียมฟอสเฟตและเทคนิคใหม่ของพวกเขาที่เรียกว่าการพิมพ์ทางชีวภาพแบบเซรามิกรอบทิศทางในสารแขวนลอยของเซลล์ (ceramic omnidirectional bioprinting in cell-suspensions) หรือ  COBICS ซึ่งช่วยให้สามารถพิมพ์โครงสร้างคล้ายกระดูก 3 มิติที่แข็งตัวในไม่กี่นาทีเมื่ออยู่ในน้ำ นับเป็นครั้งแรกที่โครงสร้างดังกล่าวถูกสร้างขึ้นที่อุณหภูมิห้องโดยไม่มีสารเคมีรุนแรงหรือรังสีและยังสามารถรวมเซลล์ที่มีชีวิตเข้าไปได้ด้วย Kristopher Kilian จาก UNSW กล่าวว่า "เราสามารถเข้าไปในกระดูกได้โดยตรง ในที่ที่มีเซลล์ เส้นเลือด และไขมัน  จากนั้นพิมพ์โครงสร้างคล้ายกระดูกที่มีเซลล์ที่มีชีวิตอยู่ได้ในบริเวณนั้นโดยตรง ในตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำได้" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of New South Wales (Australia)

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

จะฝึกหุ่นยนต์โดยใช้ AI และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร

 ตัวอย่างกลุ่มจุดที่สร้างจาก PCGAN ภาพจาก UT Arlington

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ University of Texas at Arlington (UT Arlington) กำลังใช้เครือข่ายปฏิปักษ์ร่วมกำเนิด (generative adversarial networks) หรือ GAN เพื่อฝึกหุ่นยนต์ให้รู้จักวัตถุต่าง  ๆ  การฝึกแบบนี้ปกติแล้วต้องใช้ชุดข้อมูลภาพขนาดใหญ่มาก แต่ GAN สามารถสร้างข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้สามารถฝึกสอนหุ่นยนต์ได้ในเพียงไม่กี่วินาที นักวิจัยได้พัฒนา PCGAN ซึ่งเป็น GAN แบบมีเงือนไขตัวแรกที่สามารถสร้างกลุ่มของจุดสีที่หนาแน่นได้ในโหมดที่ไม่ต้องฝึกสอน จากการประเมินตัวอย่างแบบสุ่ม 5,000 ตัวอย่างของวัตถุในแต่ละคลาส นักวิจัยพบว่า PCGAN สามารถสังเคราะห์กลุ่มของจุดที่มีคุณภาพสูงสำหรับ อะเรย์ที่แตกต่างกันของวัตถุในคลาสต่าง  ๆ นักวิจัยบอกว่าเรากำลังเริ่มจากจุดเล็ก ๆ และสร้างลำดับชั้นเพื่อนำไปสร้างฉากสังเคราะห์ที่สมบูรณ์ (full synthetic scene generation) ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับหุ่นยนต์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Texas Advanced Computing Center

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ใครต้องการครูกันล่ะ? AI ออกแบบบทเรียนให้ตัวเอง

OPENAI

นักวิจัยจาก University of California, Berkeley (UC Berkeley) และ Google ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะให้ความรู้แก่ตนเองได้ดีที่สุดอย่างไร ในการทดลองหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบเอเจนต์ AI ที่สสมารถหาเส้นทางในตารางสองมิติที่เต็มไปด้วยบล็อกเพื่อไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว เอเจนต์ปรับปรุงความสามารถของตัวเองผ่านการเรียนรู้แบบเสริมกำลัง (reinforcement learning) โดยใช้วิธี PAIRED นักวิจัยได้จับคู่ AI ที่จัดเป็นตัวเอก (protagonist) กับ AI ที่เกือบเท่าเทียมกับตัวเอก แต่มีจุดแข็งที่ต่างกัน ที่อาจเรียกว่าเป็นคู่ปรับ (antagonist) จากนั้น AI ตัวที่สามจะออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คู่ปรับแก้ได้ง่าย แต่ไม่ได้เอื้อกับตัวเอก ด้วยการฝึกฝนจากการทดลองในหลาย ๆ ครั้ง พบว่าตัวเอกที่ได้รับการฝึกแบบนี้ สามารถแก้ปัญหาเขาวงกตที่มีความซับซ้อนได้ 1 ใน 5 แต่ถ้าฝึกด้วยวิธีเดิม (ไม่มี AI ตัวที่สามมาออกแบบสภาพแวดล้อม) จะแก้ปัญหาไม่ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Science

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

Mitsubishi Electric, Tokyo Tech พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อทำให้การซื้อขายพลังงานแบบ P2P เหมาะสมที่สุด

Photo by Launchpresso on Unsplash

เทคโนโลยีบล็อกเชนที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ Mitsubishi Electric ของญี่ปุ่นสามารถทำให้การซื้อขายพลังงานแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ได้เหมาะสมที่สุด (optimize) ทีมนักวิจัยได้ออกแบบขั้นตอนวิธีแบบกระจายที่เหมาะสมที่สุด ที่สามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไคลเอนต์สามารถแบ่งปันเป้าหมาย (goal) และข้อมูลการซื้อขาย จากนั้นจับคู่ลำดับการซื้อขายที่เหมาะสมที่สุด โดยใช้การคำนวณน้อยที่สุด ขั้นตอนวิธีมีสี่ขั้นตอนได้แก่ ขั้นแรกจะแบ่งปันคำสั่งซื้อขายที่มีเป้าหมายการซื้อขายร่วมกัน ระหว่างเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จากนั้นให้เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวหาคำสั่งที่ตรงกับเป้าหมายนั้น เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะแบ่งปันผลลัพธ์ที่มันหาได้ในขั้นตอนที่สาม หลังจากนั้นเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้จะสร้างบล็อกใหม่ โดยเลือกการซื้อขายที่ตรงกับเป้าหมายร่วมกันมากที่สุด การค้นหาแบบกระจายอำนาจ (decentralized) เพื่อหาคำตอบจะทำไปพร้อม ๆ กันบนเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง โดยการจับคู่ที่ตรงกันจะถูกเลือกแบบสุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการซื้อขายที่ยุติธรรม

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Tokyo Institute of Technology

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

Microsoft กำลังลงทุนและเป็นหุ้นส่วนกับ GM ในรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

Cruise Origin driverless shuttle ภาพจาก Cruise

Microsoft กำลังทำงานร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์ General Motor (GM) และ Cruise ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านรถยนต์อัตโนมัติ เพื่อลงทุนและเร่งการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ของรถยนต์ไร้คนขับ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ GM และ Cruise ชื่นชอบ Satya Nadella แห่ง Microsoft บอกว่า "เราจะใช้พลังของ Azure (บริการคลาวด์ของ Microsoft) เพื่อช่วยให้การเติบโตและการทำให้การขนส่งแบบอัตโนมัติกลายเป็นกระแสหลัก GM กล่าวว่าจะทำงานร่วมกับ Microsoft  "เพื่อเร่งการริเริ่มการเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกัน การจัดเก็บข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่อง" GM จะร่วมสำรวจกับ Microsoft ในความเป็นไปได้ที่จะลดความซับซ้อนของการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล และเปิดตัวบริการด้านโมบายล์ให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC