วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

โดรนสามารถตรวจจับและฆ่าเชื่อ Covid 19 จากท้องฟ้า

Photo by Goh Rhy Yan on Unsplash

Draganfly Smart Vital System ซึ่งถูกนำมาใช้โดย Alabama State University และ Alabama State Senate for Covid-19 screenings สามารถวัดอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ จากโดรนที่บินอยู่ เพื่อตรวจจับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะติด Covid-19 โดยผู้ที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงจะถูกนำไปตรวจทันที ทางมหาวิทยาลัยยังใช้โดรน Draganfly ในการฆ่าเชื้อที่พื้นผิวทั้งในและนอกสนามกีฬาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและไวรัส นักวิจัยบอกว่าระบบคัดกรองนี้ถูกออกแบบให้ทำงานจากโดรน แต่สิ่งที่เราต้องการทำจริง ๆ คือการที่มีกล้องถ่ายทางอากาศที่อยู่ประจำที่ และแม้แต่ในโทรศัพท์มือถือเพื่อการรักษาทางไกล นักวิจัยยังบอกว่าโดรนนี้จะไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ และไม่ทำเรื่องการรู้จำใบหน้า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

การใช้สื่อสังคมโดยนักเคลื่่อนไหวทางการเมืองทำกันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว

ภาพจาก ACM

จากการสำรวจ 81 ประเทศในปี 2020 โดย Oxford Internet Institute (OII) ของสหราชอาณาจักร พบหลักฐานของการใช้สื่อสังคม (social media) ในการสื่อสารด้านการเมืองในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2019 การบิดเบือนข้อมูลเป็นแท็กติกใช้ทั่ว ๆ ไปใน 76 ประเทศ OII บอกว่าการบิดเบือนข้อมูลตอนนี้ "ถูกผลิตในระดับอุตสาหกรรม" ทีมของ OII เตือนถึงระดับการใช้งานสื่อสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยรัฐบาลและพรรคการเมืองใช้เงินเป็นล้านเพื่อตั้ง "กองทัพไซเบอร์" ในภาคเอกชน เพื่อกลบเสียงอื่น ๆ และใช้คนที่เป็นแรงบันดาลใจ (influenzer) ในการเผยแพร่ข้อมูลยกย่องตัวเอง การศึกษายังพบหลักฐานใน 62 ประเทศว่าหน่วยงานรัฐบาลใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อชี้นำแนวทางการสนทนาสาธารณะ OII บอกว่าบริษัทสื่อสังคมจะต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการชี้ให้เห็นข่าวที่บิดเบือน ปิดบัญชีปลอมโดยที่ไม่ต้องมีการแทรกแซงจากรัฐ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Oxford (U.K.)

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์: เราไม่สามารถควบคุมเครื่องทีมีความฉลาดยิ่งยวดได้

ภาพจาก Max Planck Institute for Human Development (Germany)

ทีมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นานาชาติสรุปว่า จากการคำนวณทางทฤษฎี ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดยิ่งยวด (superintelligent artificial intelligence) จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ นักวิจัยเสนอขั้นตอนวิธีการกักกันทางทฤษฎีที่จะทำให้มั่นใจว่า AI ฉลาดยิ่งยวดนี้จะไม่ทำร้ายคนโดยสร้างตัวแบบพฤติกรรมของมันขึ้นมาก่อน และหยุดมันถ้ามันจะเป็นอันตราย แต่จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสร้างขั้นตอนวิธีดังกล่าวขึ้นมาได้ และต่อให้สร้างขึ้นมาได้นักวิจัยบอกว่าถ้าเราแตกปัญหาออกจนถึงกฏพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี มันจะเป็นไปได้ว่าขั้นตอนวิธีที่จะสั่ง AI ไม่ให้ทำลายโลกอาจหยุดการทำงานโดยไม่คาดหมาย และถ้ามันเกิดขึ้นเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าขั้นตอนการกักกันยังทำการวิเคราะห์อยู่ หรือมันยอมรับตัว AI อันตรายเข้ามาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นขั้นตอนวิธีที่จะระบุว่านี่คือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดยิ่งยวดก็ยังสร้างไม่ได้เช่นกัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Max Planck Institute for Human Development (Germany)

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ช่วยหาการใช้ยาที่มีอยู่แล้วกับกรณีที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ภาพจาก ACM

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการประมวลผลชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อหาว่ายาที่มีอยู่เดิม สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อนได้หรือไม่ นักวิจัยใช้ข้อมูลการเคลมประกันจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจประมาณ 1.2 ล้านคน การศึกษามุ่งไปที่การใช้ยาที่เคยใช้เพื่อป้องกันหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลการทดลองพบว่าสามารถระบุยา 9 ตัวที่มีแนวโน้มที่จะทำให้การรักษาทำได้ดีขึ้น นักวิจัยบอกว่าการศึกษานี้สามารถทำกับโรคอะไรก็ได้ ถ้าเราสามารถนิยามผลลัพธ์ของโรคได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ohio State University

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาษา python ครองบัลลังก์ในขณะที่ Java ร่วง

www.tiobe.com

บริษัทติดตามคุณภาพซอฟต์แวร์ Tiobe ได้ประกาศชื่อ Python เป็นภาษาโปรแกรมที่เป็นภาษาที่อยู่ในระดับสูงสุดในปี 2020 เนื่องจากความนิยมเติบโตมากกว่าภาษาอื่น ๆ ทั้งหมดในดัชนีของบริษัทเมื่อปีที่แล้ว การใช้งาน Python เพิ่มขึ้น 2.01% ในช่วงปีที่แล้ว ขณะที่ Java ตกลง 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน CIO ของ Tiobe ให้เครดิตกับความสามารถรอบด้านของ Python ความง่ายต่อการเรียนรู้ และให้ผลผลิตในระดับสูง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ Pyhton ยังไม่อยู่อันดับหนึ่ง (ในดัชนีการจัดอันดับ) ก็เพราะภาษา C ยังมีประสิทธิภาพมากกว่า ในปัจจุบัน Python เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมในงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่อง และตอนนี้ยังใช้ในการพัฒนาเว็บ และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในระบบหลังบ้าน และกำลังเติบโตเข้าไปในการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน และแม้แต่ระบบฝังตัว จากการจัดอันดับล่าสุดในเดือนมกราคมปีนี้  C ยังเป็นอันดับหนึ่ง Java เป็นอันดับสอง และ Pyhton เป็นอันดับสาม แต่ CIO ของ Tiobe เชื่อว่า Python จะแย่งอันดับสองจาก Java มาได้อย่างถาวรในเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทยังคาดว่าภาษาเขียนโปรแกรม Julia ซึ่งกำลังเติบโตในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่องจะเข้ามาอยู่ใน 20 อันดับแรกในปี 2021

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet