Credit: Agnese Abrusci/Nature |
Allen Institute for Artificial Intelligence (AI2) ผู้สร้างเครื่องมือ Semantic Scholar ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหาทางวิทยาศาสตร์แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ประกาศเปิดตัวซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า TLDR (too long, didn't read, ยาวไปไม่อ่าน) ที่จะเขียนบทคัดย่อของบทความวิจัยออกมาเป็นประโยคหนึ่งประโยคได้โดยอัตโนมัติ ในตอนนี้โปรแกรมสร้างประโยคได้จากบทความด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จำนวน 10 ล้านบทความ ซึ่งทางผู้พัฒนาบอกว่าในสาขาอื่น ๆ จะถูกเพิ่มเข้ามาหลังจากได้ปรับปรุงซอฟต์แวร์แล้ว
ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า TLDR ช่วยให้ผู้อ่านสามารถจำแนกข้อมูลจากผลการค้นหาได้เร็วกว่าการอ่านจากชื่อเรื่องหรือบทคัดย่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการอ่านนั้นต้องทำผ่านโทรศัพท์มือถือ
ซอฟต์แวร์นี้ใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกซึ่งถูกฝึกโดยชุดข้อมูลที่เป็นข้อความจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการจับคู่ชื่อเรื่องของบทความวิจัยและตัวบทความวิจัยหลายหมื่นชิ้น ดังนั้นเครือข่ายนี้จึงสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างประโยคที่กระชับได้
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nature
เพิ่มเติมเสริมข่าว: ใครอยากลองเล่นโปรแกรมใช้ลิงก์นี้ครับ ลองไปคัดลอกบทคัดย่อ มาใส่ดูครับ และถ้ามีบทนำ และบทสรุปด้วย จะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นครับ นั่นคือนักวิจัยที่เดิมต้องการจะสแกนบทความเร็ว ๆ ว่าเกี่ยวกับอะไร มักจะต้องอ่านและสรุปสามส่วนนี้ด้วยตัวเอง ตอนนี้ก็อาจใช้โปรแกรมนี้ช่วยกรองก่อนได้ระดับหนึ่งครับ แต่ยังไงก็ตามมันก็ยังเป็นโปรแกรมเบื้องต้นอยู่นะครับ และก็เหมือนที่ข่าวบอกตอนนี้ยังใช้ได้กับฟิลด์วิทยาการคอมพิวเตอร์เท่านั้น