วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

โมเดลการคำนวณที่ช่วยปรับปรุงการนำยาที่ทดลองในสัตว์มาใช้กับคน

ประมาณ 50% ของคนที่กินยารักษาลำไส้อักเสบอย่าง infliximab มีการต่อต้านหรือไม่มีการตอบสนองต่อการใช้ยานี้ นักวิทยาศาสตร์อาจเห็นปัญหานี้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มในการผลิตยา ถ้าใช้ตัวแบบการคำนวณที่นักวิจัยจาก Purdue University และ Massachusetts Institute of Technology พัฒนาขึ้นเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนจากการทดลองยาในสัตว์มาสู่การทดลองทางคลีนิคกับคน  

ตัวแบบนี้ชื่อว่า TransComp-R ซึ่งนักวิจัยใช้มันเพื่อระบุกลไกทางชีววิทยาที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต่อต้านยา infliximab นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้จะช่วยบอกได้ว่ายาตัวใดที่ควรจะย้ายจากการทดลองในสัตว์ไปทดลองในคน ถ้ามันมีปัจจัยที่จะทำให้ยานี้ใช้ไม่ได้กับคนเช่นการต่อต้านยา ตัวแบบนี้จะช่วยระบุได้ และจะช่วยแนะนำว่าจะจัดการการทดลองทางคลีนิคได้อย่างไร 

Doug Brubaker หนึ่งในนักวิจัยที่พัฒนา TransComp-R 
[ภาพจาก Purdue University photo/John Underwood]

TransComp-R รวบรวมผลการประเมินเป็นพัน ๆ ตัวอย่างจากตัวแบบที่ใช้กับสัตว์ ข้อมูลที่น้อยลงนี้จะช่วยอธิบายสาเหตุของความแตกต่างด้านชีววิทยาที่มีความเกี่ยวพันกันมากที่สุดระหว่างตัวแบบของสัตว์กับของคน  จากจุดนี้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถฝึกสอนตัวแบบอื่น ๆ ให้ทำนายการตอบสนองต่อการรักษาที่มีต่อมนุษย์จากข้อมูลที่ถูกเลือกมาแล้วจากตัวแบบของสัตว์ได้ 

ในกรณีของ infliximab ปัญหาก็คือข้อมูลการทดลองที่ทำกับหนู และคนไม่เข้ากันด้วยความแตกต่างของประเภทการประเมินทางชีววิทยา ซึ่งตัว TransComp-R สามารถชี้ให้เห็นได้   

นักวิจัยบอกว่างานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสัตว์ประเภทอื่น โรคอื่น และปัญหาอื่น การที่สามารถระบุสิ่งที่มีผลแต่เฉพาะสัตว์แต่ไม่มีผลกับคน จะช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และความพยายามในการพัฒนายา

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Purdue University News

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกครั้งแต่ทักษะที่เป็นที่ต้องการกำลังเปลี่ยนไป

Photo by Karl Pawlowicz on Unsplash

นักวิจัยจากบริษัทจัดหาคนระดับนานาชาติ Harvey Nash พบว่าในธุรกิจหลายภาคส่วนได้เปลี่ยนความต้องการประเภทของทักษะด้านเทคโนโลยี โดยความมั่นคงทางไซเบอร์ (cybersecurity) สถาปัตยกรรมแบบเอนเทอร์ไพรส์ (enterprise architecture) การเปลี่ยนแปลงองค์กร (organizational change) และทักษะด้านคลาวด์ (cloud) อยู่ในส่วนต้น ๆ ของความต้องการ โดยเมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ (big data and analytics) อยู่ในอันดับหนึ่ง ตามด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ สถาปัตยกรรมแบบเอนเทอร์ไพรส์ สถาปัตยกรรมเชิงเทคนิค (technical architecture) และ DevOps นักวิจัยบอกว่าภาคเทคโนโลยีนั้นเหมือนมีฉนวนป้องกันตัวจากปัญหาการระบาดของโรค เพราะภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน ดังนั้นงานด้านเทคโนโลยีที่ชลอตัวลงจะเป็นส่วนของงานประจำเท่านั้น แต่ตอนนี้อัตราความต้องการก็กำลังเพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ตอบคำถามให้ความช่วยเหลือ (helpdesk advisor) สถาปนิกระบบคลาวด์ (cloud architect) และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ภาพสามมิติใบหน้าของทารกจากอัลตราซาวด์เพื่อพ่อแม่ที่ตาบอด

Taylor Ellis อายุ 26 ถือรูปสามมิติจากภาพอัลตราซาวด์ของลูกของเธอ 
(Andrew Mangum for The Washington Post)

โรงพยาบาล Johns Hopkins ในบัลติมอร์สามารถสร้างตัวแบบสามมิติของหน้าของลูกของพ่อแม่ที่ตาบอด จากภาพถ่ายที่ได้จากอัลตราซาวด์ เพื่อช่วยให้พวกเขาได้ "เห็น" หน้าลูกของเขา ก่อนที่ลูกของเขาจะคลอดออกมา เหมือนกับพ่อแม่ที่ตาปกติทั่วไปที่จะได้เห็นหน้าลูกจากภาพอัลตราซาวด์ โดยแนวคิดนี้ได้มาจากการที่เมื่อหลายปีก่อนโรงพบาบาลได้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์ภาพกระดูกสันหลังของเด็กทารกที่ต้องผ่าตัดเพื่อรักษาโรค spina bifida เพื่อให้ทีมหมอผ่าตัดได้ฝึกฝนก่อนการผ่าจริง สำหรับการพิมพ์หน้าทารกแบบสามมิตินี้ จะใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมง และใช้วัสดุราคา $1.40

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตัวแบบเครือข่ายประสาทเทียมของ NIST สามารถเห็นอ็อบเจกต์เล็ก ๆ ในรูปที่ไม่ชัด

 

Credit: NIST

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก U.S. National Institute of Standards and Technology (NIST) ได้สร้างตัวแบบเครือข่ายประสาทเทียมในการตรวจหารูปภาพทางเรขาคณิตเล็ก ๆ จากรูปที่ไม่ชัด นักวิจัยได้ปรับปรุงสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ใช้วิเคราะห์รูปทางชีวการแพทย์ เพื่อใช้ดึงข้อมูลดิบออกมาจากรูปที่ถูกทำให้มีคุณภาพแย่ลงในการตีพิมพ์บทความในวารสาร นักวิจัยบอกว่าถึงแม้จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้จะเป็นการหาข้อมูลที่หายไปเนื่องจากการตีพิมพ์ แต่งานนี้สามารถนำไปประยุกต์กับงานด้านอื่นที่ต้องการการตรวจจับวัตถุได้ด้วย เช่นรถขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ และการตรวจสอบเครื่องจักรเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NIST

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตำรวจสิงคโปร์ทดลองใช้โดรนไร้คนขับในการบังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม

ภาพจาก Reuters

หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในสิงคโปร์กำลังทดสอบการใช้โดรนไร้คนขับสองตัวในการช่วยบังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยใช้ติดตามการรวมกลุ่มกันและถ่ายวีดีโอส่งให้กับตำรวจ โดรนนี้เป็นของบริษัท Airobotics ซึ่งบริษัทบอกว่าบริษัทได้ระดมทุนมา $120 ล้านเหรียญ และใช้ $100 ล้านเหรียญในการลงทุนพัฒนาโดรนให้เช่าใช้ บริษัทบอกว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่โดรนทางการค้าที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ได้รับอนุญาตให้บินตรวจการในเมือง โดรนจะช่วยตรวจตราในพื้นที่ที่การเดินเท้าหรือรถของตำรวจเข้าไปไม่ถึง โดยปัจจุบันนอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังมีภาคอุตสาหกรรมในอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่ใช้โดรนของบริษัท  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail (U.K.)