วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ขอพูดถึงเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการบ้าง

ในสัปดาห์นี้เรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดในวงการวิชาการของมหาวิทยาลัยก็คือเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาในการประเมินอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการครับ ซึ่งตัวเกณฑ์ใหม่ก็ดูได้จากลิงก์นี้ครับ พออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากมาย ว่าเป็นกฏเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม ซึ่งจริง ๆ ก็สูงอยู่แล้ว มีการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการชักบันไดหนีของคนที่ได้ไปแล้ว และก็มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาของเกณฑ์นี้ตัวอย่างก็เช่นลิงก์นี้ครับ

ในส่วนตัวผมซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และก็วางแผนที่จะขยับขยายยื่นเรื่องเพือเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าผมควรจะยื่นนานแล้ว แต่ติดโน่นติดนี่คือขาดงานบางชิ้น ซึ่งอันนี้ผมโทษตัวเองที่วางแผนเวลาไม่ดีเอง คืออย่างนี้ครับเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการถ้านับจากสักสิบปีที่แล้วนี่น่าจะเปลี่ยนมาสามหรือสี่ครั้งแล้วนะครับ ซึ่งการปรับแต่ละครั้งก็จะมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป และมีเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ดังนั้นผมก็ไม่ประหลาดใจกับอันล่าสุดนี่สักเท่าไหร่ที่มันจะสูงขึ้น แต่คราวนี้มันสูงขึ้น บ้าขึ้น และไม่สอดคล้องกับบริบทที่ประเทศกำลังดำเนินไป

อีกอย่างหนึ่งส่วนใหญ่เกณฑ์ที่ออกมามันมักจะมีระยะเวลาก่อนที่จะบังคับใช้ คือให้เวลาอาจารย์ที่วางแผนกับเกณฑ์เก่าก็ทำตามเกณฑ์เก่าไปก่อนได้ แต่อันนี้เหมือนออกมาปุ๊ปก็จะบังคับใช้ปั๊ป อารมณ์ก็เหมือนกับวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเกือบทุกปี ทำให้เด็กบางคนที่วางแผนมาตั้งแต่ ม.4 ม.5 เสียแผนไปหมด อันนี้คืออาจารย์ก็เสียแผนไปหมด และงานบางอย่างที่ทำมาเกณฑ์เก่าใช้ได้ แต่พอเกณฑ์ใหม่นี่อาจใช้ไม่ได้เลยนะครับ ตัวอย่างก็เช่นการกำหนดว่าผลงานที่มาขอตำแหน่งวิชาการ ถ้าทำหลายคนผู้ขอจะต้องมีชื่อเป็นคนแรก หรือเป็นผู้เขียนที่รับผิดชอบในการแก้ไข (corresponding author) เท่านั้น ซึ่งบริบทในปัจจุบัน และทิศทางของประเทศ การทำงานมันจะเป็นลักษณะของสหสาขาวิชา หรือทำร่วมกันหลายคน เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน ซึ่งผลงานอย่างหนังสือหนึ่งเล่ม อาจจะมีอาจารย์ช่วยกันแต่งหลายคน ถ้ากำหนดให้คนที่มีชื่อเป็นคนแรกเท่านั้นเอาไปขอผลงานได้ ก็คงไม่มีใครอยากทำงานร่วมกันกับใคร เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งในเกณฑ์เก่าเขาให้อาจารย์ไปเซ็นเอกสารกันมาว่างานชิ้นนี้อาจารย์มีส่วนร่วมกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งก็เป็นการตกลงกันของอาจารย์เอง

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดีจากเกณฑ์ใหม่นี้คือการที่สามารถเสนอจะขอตำแหน่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณางาน ซึ่งเป็นส่วนที่ผมเห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะเกณฑ์เก่า ๆ ก่อนหน้านี้เขาก็ให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้เกรดงานวิจัยว่าดี ดีมาก อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เกณฑ์ใหม่ก็ให้เกรดวารสารว่ากลุ่มไหนเป็น A, B+, B (เท่าที่อ่านเหมือน B จะให้กรรมการพิจารณา) อะไรแบบนี้ แต่เท่าที่ดูเกณฑ์ A กับ A+ ค่อนข้างสูง และยังกำหนดว่าต้องตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทุกสาขาต้องทำเหมือนกัน แต่ถ้ามีเกณฑ์ตรงนี้แล้วก็ไม่เห็นต้องไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอีก ประหยัดเวลา และลดงานที่ซ้ำซ้อน กำหนดไปเลยว่าจะเอากี่ชิ้น (แต่ช่วยทำวิจัย และดูแต่ละสาขาด้วย)  ผมบอกเลยนะครับว่าเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้ยื่นขอตำแหน่งก็เพราะอันนี้นี่แหละ คือผมไม่เข้าใจว่าถ้าเราตีพิมพ์งานลงบนวารสารที่ตรงตามเกณฑ์แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เอาอะไรมาบอกว่าบทความเราผ่านหรือไม่ผ่าน  

แต่แทนที่จะทำแบบนี้กลับไปวางเกณฑ์แบบบ้าบอมาก คือเอาง่าย ๆ ว่าคงไม่มีใครสามารถยื่นขอตำแหน่งวิชาการแบบไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ เท่าที่อ่านมามีคนถามว่าต่อให้ศาตราจารย์ระดับโลกถ้ามายื่นขอศาสตราจารย์ในประเทศไทย ก็คงไม่ผ่านเกณฑ์นี้ ก็ได้รับคำตอบว่าก็ไปยื่นแบบมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาสิ ตอบได้บ้าบอมาก (ถ้าจริงนะ) และที่น่าขำคือมีคนไปขุดมาว่า พวกที่ออกเกณฑ์นี้มาเองก็ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นมา

จริง ๆ ผมมองไปถึงมีระบบที่ให้อาจารย์แต่ละคนพอมีผลงานก็อัพโหลดผลงานเข้าไปในระบบ พอผลงานถึงเกณฑ์ก็ได้ตำแหน่งไป ผมไม่เข้าใจว่าจะทำให้มันซ้ำซ้อนโดยอาจารย์จะต้องมากรอกแบบฟอร์มประวัติตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก็มีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้วทำไม นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการประกันคุณภาพได้อีกด้วย สามารถดึงข้อมูลตรงนี้ไปใส่เป็นหลักฐานประกันคุณภาพได้เลย ไม่ต้องมาเรียกขอจากอาจารย์ซ้ำไปซ้ำมา

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่มีความจำเป็น สิ่งที่ผมคิดว่ายังคงต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอยู่ก็คือกรณีที่ยื่นขอตำแหน่งโดยใช้ตำรา/หนังสือประกอบด้วย อันนี้ควรที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจดู ช่วยคุมคุณภาพ และก็ควรจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความทันสมัย เข้าใจเทคโนโลยี และวิชาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

อีกอย่างที่ควรจะเลิกได้แล้วก็คือทำอะไรแบบ one-size-fits-all แต่ละสาขาวิชา มีบริบทที่แตกต่างกัน ทำไมการยื่นขอศาสตราจารย์ของทุกสาขาจะต้องลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเท่านั้น บางประเด็นมันแก้ปัญหาอยู่ในบริบทของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์มากกับประเทศไทย เช่นสมมติเป็นงานวิจัยด้านภาษาไทย แล้วจะไปตีพิมพ์นานาชาติยังไง 

ในส่วนหนึ่งผมก็เข้าใจ และเห็นว่ามันต้องมีการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ แต่ควรทำอยู่ในขอบเขตของความพอดี ความเป็นไปได้ เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างตอนนี้ประเทศบอกว่าต้องการงานวิจัยแบบเน้นการพัฒนาประเทศ แต่เกณฑ์ก็ยังจะเอาการอ้างอิงจากต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัย และสาขาวิชาต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน และภาระงานต่าง ๆ ของอาจารย์ก็ต่างกัน และเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าถ้าตัวเองต้องมาอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์นี้จะเป็นยังไง ไม่ใช่เพราะฉันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องลงมาทำอันนี้แล้ว จะทำยังไงก็ได้ ไหน ๆ ก็อยู่ในวงการการศึกษาการวิจัยระดับสูงสุดของประเทศแล้ว ช่วยสร้างตัวอย่างการทำงานให้หน่วยงานอื่นเขาดูกันเถอะครับ จะทำอะไรจะวางเกณฑ์อะไรก็ชี้แจงแสดงเหตุผล หรือมีงานวิจัยใช้อ้างอิงประกอบด้วยก็ดี อย่างมีประเทศไหนไหมที่เขาใช้เกณฑ์แบบเราบ้าง เพราะแทบทุกวงการในประเทศนี้ ส่วนใหญ่มันถูกสั่งการมาโดยคนกลุ่มหนึ่งที่วางเกณฑ์แบบดูเหมือนจะมโนเอา ไม่ได้วิจัยอะไร หรือมองโลกแต่ในมุมของตัวเองว่าแบบนี้มันดี โดยไม่ได้ดูว่ามันปฏิบัติได้ไหม ทำแล้วมันคุ้มกับการสิ้นเปลืองเวลาในการทำไหม และมีการประเมินข้อดีข้อเสียไหม 

สุดท้ายก็ขอฝากไว้ว่า พวกกลุ่มคนที่ออกกฏมานี่ ก็ล้วนแล้วแต่ที่จะต้องผ่านการทำวิจัยมาแล้ว และกฏเกณฑ์พวกนี้ส่วนหนึ่งก็ออกมาวัดความสามารถในการทำวิจัยของอาจารย์ ดังนั้นก่อนจะทำอะไรออกกฏอะไร ก็ช่วยทำให้คนที่เขาต้องปฏิบัติ ได้เชื่อว่าเรื่องพวกนี้ผ่านการทำวิจัยมาแล้ว มีเหตุผลรองรับชี้แจงได้ ทุกข้อ เหมือนตอนที่พวกเราต้องเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา เราก็ต้องถามประเด็นที่นักศึกษานำเสนอจนชัดเจน ก็ขอฝากไว้แค่นี้แล้วกันครับ 
  

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาขั้นตอนวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคลาวด์เพี่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน

นักวิจัยจาก University of Texas at San Antonio, University of Georgia, University of Virginia, และ IBM’s Thomas J. Watson Research Center ไ้ด้ร่วมมือกันพัฒนาขั้นตอนวิธีที่จะลดปริมาณความต้องการการใช้ทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ต้องทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส โดนความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีทั้งโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหน้าอย่างโปรแกรมอีเมล หรือประชุมทางไกล และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหลังอย่างโปรแกรมป้องกันไวรัส โดยขั้นตอนวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยปรับการใช้ทัพยากรให้เหมาะสม โดยที่ฝ่ายไอทีไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่ม หรือต้องมาคอยตามดูการใช้ทรัพยากรด้วยตัวเอง นักวิจัยบอกว่าถึงแม้ขั้นตอนวิธีนี้จะทดสอบบนAmazon Elastic Compute Cloud แต่มันก็สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Texas at San Antonio

แชมป์ลีกในรอบสามสิบปีของลิเวอร์พูล

วันนี้ขอเขียนบล็อกยินดีกับความสำเร็จของทีมที่ตัวเองเชียร์มาตั้งแต่เด็ก ถ้านับตั้งแต่เชียร์มาจนถึงตอนนี้ก็น่าจะร่วม 40 กว่าปีได้แล้วนะครับ ทีมที่ผมเชียร์ก็คือทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษประจำฤดูกาล 2019-2020 ได้แล้ว ถึงแม้จะเหลือการแข่งขันอยู่อีก 7 นัด ลิเวอร์พูลนั่นเอง ถ้านับจากเริ่มเปลี่ยนชี่อมาเป็นพรีเมียร์ลีกก็นับว่าเป็นสมัยแรก แต่ถ้านับรวมทั้งหมดทั้งในชื่อเดิมด้วยก็คือ 19 ครั้ง อยากนับแบบไหนก็เชิญเถอะครับ อดีตที่มันเกิดขึ้นแล้วจะพยายามฝัง พยายามกลบ ขโมยหมุด ทำลายอนุเสาวรีย์ยังไง มันก็เปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้หรอก อ้าวนอกเรื่องแล้ว กลับมาดีกว่า

ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลจากความชื่นชอบผู้รักษาประตูในขณะนั้นของลิเวอร์พูลคือ เรย์ คลีเมนซ์ จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่ต้องไปอยู่บ้านย่าที่เชียงใหม่ แล้วก็ได้ไปอ่านนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์ของอา แล้วก็ไปอ่านเรื่องของเรย์ คลีเมนซ์เข้า แล้วก็ชื่นชอบ เพราะตอนเด็ก ๆ ชอบเล่นเป็นผู้รักษาประตู เพราะดูชุดมันสวยดี ได้ใส่กางเกงวอร์ม มีถุงมือโกล์ด้วย พอรู้ว่าอยู่ลิเวอร์พูล ก็เชียร์ลิเวอร์พูลด้วยเลย ไม่ได้รู้จักหรอกว่าเป็นทีมที่กำลังครองความยิ่งใหญ่อยู่ในยุคนั้น 

ในยุคเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เราไม่ได้มีบอลถ่ายทอดสดให้ดูกันครบทุกคู่อย่างทุกวันนี้นะครับ ดังนั้นข่าวสารส่วนใหญ่ก็จะได้จากการอ่านนิตยสารอย่างสตาร์ซอคเกอร์ นานนานที่จะมีบอลอังกฤษถ่ายทอดให้ดูสักครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะเลือกลิเวอร์พูลกับแมนยูมาให้ดูกัน ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจนะครับที่คนไทยส่วนใหญ่จึงรู้จักและเชียร์สองทีมนี้  

ซึ่งต้องบอกนะครับว่าในยุคที่ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลคือปลาย ๆ 1970 มาเรื่อย ๆ นี่ไม่ใช่ยุคยิ่งใหญ่ของแมนยูในลีกนะครับ คู่แข่งของลิเวอร์พูลจะเป็นพวก น็อตติงแฮมฟอเรสต์  อิปสวิช วิลล่า แม้แต่คู่อริร่วมเมืองอย่างเอฟเวอร์ตัน ผลงานของแมนยูนั้นลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ในลีก แต่แมนยูมักจะทำแสบให้กับลิเวอร์พูลบ่อย ๆ ในบอลถ้วย ถ้าไปอ่านประวัติแมนยู จะเห็นว่าเขาต้องรอแชมป์ลีกสูงสุดหลังจากคว้ามาครั้งสุดท้ายถึง 26 ปี จากนั้นจึงเริ่มเป็นยุคทองของแมนยู และยาวนานมาจนเกือบสองทศวรรษ 

และผมก็คิดไม่ถึงว่าเรื่องแบบเดียวกันจะมาเกิดกับลิเวอร์พูล และใช้เวลารอมากกว่าแมนยูด้วยคือ 30 ปี ซึ่งในช่วง 30 ปีนี้ ผลงานของลิเวอร์พูลในลีกก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ต่างกับแมนยูในช่วงนั้น  แต่ถ้าจะถามว่าเราล้มเหลวไหม ผมว่าก็ไม่นะ ในช่วง 30 ปีนี้ เราคว้าแชมป์มาได้ทุกรายการ รวมถึงถ้วยยุโรปทั้งใบใหญ่ใบเล็ก ได้เข้ารอบชิงถ้วยยุโรปสี่ห้าครั้ง (บางทีมที่ว่าแน่ ๆ ในลีกในประเทศยังทำไม่ได้)  ขาดแค่แชมป์ลีกเท่านั้น และก็เป็นจุดด่างพร้อย ทำให้คนหลายคนมองข้ามว่าทีมไม่ประสบความสำเร็จ และกลายมาเป็นที่ล้อเลียนของแฟนบอลทีมอื่น โดยเฉพาะแฟนบอลทีมแมนยู แต่ถึงตอนนี้ผมว่าแฟนแมนยูน่าจะเข้าใจความรู้สึกของแฟนลิเวอร์พูลได้แล้วนะครับ เพราะตอนนี้ก็น่าจะ 7 หรือ 8 ปีแล้ว ที่ไม่ได้แชมป์ลีกเลย และก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกหลายปีไหม ดังนั้นก็เลิกล้อเลียนกันซักทีนะครับ 

พูดถึงเรื่องแฟนบอล ก็ย้อนคิดไปถึงสมัยที่อ่านจากสตาร์ซอคเกอร์ ยุคนั้นเราไม่มี Social Media แบบนี้ แฟนบอลก็จะเขียนจดหมายไปคุยกับ ย.โย่ง ซึ่งก็เป็นคอลัมน์ที่ผมชอบอ่าน ส่วนใหญ่ก็จะถามเกี่ยวกับทีมที่ตัวเองเชียร์ ไม่มีด่ากันไปกันมาระหว่างแฟนทีมต่าง ๆ (หรือมันอาจจะมีแล้วเขาคัดออกก็ไม่รู้) แต่ในยุคปัจจุบันนี้ รู้สึกว่ามันไม่ใช่การแซวกัน แต่มันเป็นการทำร้ายกัน เหยียดใส่กัน ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนทีมอื่น แฟนลิเวอร์พูลเองก็เป็น ถ้าเป็นเพื่อนกันสนิทกันก็ว่าไปอย่าง (แต่ถึงเป็นเพื่อก็ควรมีลิมิต) แต่บางคนไม่ได้รู้จักกันเลย ก็มาสาดคำด่าหยาบคายใส่กัน บางครั้งคนเชียร์ทีมเดียวกัน สร้างเว็บไซต์สร้างเพจขึ้นมา พูดคุยถึงทีมตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็อาจอวยทีมตัวเองบ้างซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ก็จะมีแฟนทีมอื่นเข้ามาป่วน มาด่าส่า มาบอกว่าขี้โม้ ดังนั้นผมจะหลีกเลี่ยงที่จะอ่านความเห็นคนเหล่านี้ ติดตามทีมอย่างเดียว แต่บางครั้งเวลาทวีตเกี่ยวกับทีมในทวิตเตอร์ช่วงที่มีการแข่งขัน ก็มีคนทวีตมาแซวด้วยข้อความที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมก็จะบล็อกครับ บอกตรง ๆ เมื่อก่อนไม่เคยไม่ชอบแมนยูเลย มันก็ทีมที่แข่งกัน สลับกันแพ้สลับกันชนะ เป็นกีฬา คุณภรรยาก็เชียร์แมนยู นักเตะหลายคนของแมนยูผมก็ชอบ แต่มาหลัง ๆ เริ่มไม่ชอบมากขึ้น ก็เพราะพวกแฟนบอลบางคนนี่แหละ แต่แฟนบอลดี ๆ ก็มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มีซะเลย และแน่นอนแฟนบอลลิเวอร์พูลแย่ ๆ ก็มี 

ชักออกนอกเรื่องไปมากมายกลับมาดีกว่า อย่างที่บอกครับ ผมไม่เคยคิดว่าหลังจากครองแชมป์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1990 จะค้องรอถึง 30 ปีจึงจะกลับมาได้แชมป์ลีกอีกครั้ง ในช่วง 30 ปีนี้ แมนยูสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในลีกได้อย่างเต็มภาคภูมิในช่วงยี่สิบปีแรก และทีมอย่างแบล็คเบิร์น และเลสเตอร์ ก็สามารถความแชมป์ลีกได้ โดยลิเวอร์พูลไม่สามารถทำได้ และยังมีการเติบโดขึ้นมาของเชลซี และแมนซิ จากทีมที่ไม่มีอะไร กลายมาเป็นทีมชั้นนำของลีกอีก ทำให้งานของลิเวอร์พูลยากขึ้นเรื่อย ๆ และตัวสโมสรเองก็ต้องเกือบล้มละลาย จากการบริหารของสองปลิงมะกัน แต่ก็อย่างที่อยู่ในเนื้อเพลง You'll never walk alone ที่ว่า At the end of a storm. There is  a golden sky. เมื่อพายุสงบลง เราก็จะได้พบกับฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เอ๊ยไม่ใช่แล้ว จบแค่ฟ้าสีทองผ่องอำไพครับ  

การเข้ามาของ FSG เข้ามาแก้ปัญหาของลิเวอร์พูลอย่างเป็นระบบ จริง ๆ ต้องบอกว่าการเลือกโค้ชของ FSG นี่ใช้ได้นะครับ แบรนดอน ร็อดเจอร์ เกือบพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกได้ แต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ ขาดโชค ในฤดูกาล 2013-2014 ทำให้ได้เพียงแค่รองแชมป์ และไม่สามารถรักษาสตาร์ไว้ได้ จึงเกิดความตกต่ำกลับมาอีกครั้ง จนนำไปสู่การปลดร็อดเจอร์ และการเข้ามาของเจอร์เกน คลอปป์ ผมว่าปัญหาของร็อดเจอร์ คือขาดประสบการณ์ ยังไม่สามารถเอาชนะใจและสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างแท้จริง ประกอบกับตัวร็อดเจอร์ อาจไม่มีความรู้ด้านศาสตร์ข้อมูล (data science) ไม่เปิดกว้างที่จะรับ และไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา 

ซึ่งต่างจากคลอปป์ที่นอกจากจะเป็นโค้ชที่เก่ง มีจิตวิทยา มีบุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์แล้ว คลอปป์ยังเป็นคนเปิดกว้าง และจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงได้ทำงานร่วมกับทีมของ FSG ได้อย่างลงตัว และค่อย ๆ ปรับให้ลิเวอร์พูลกลับขึ้นมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งทั้งฟอร์มการเล่น และสภาพจิตใจของนักเตะ และสร้างความเชื่อใจให้กับแฟนบอล และเจ้าของทีม 

ในส่วนตัวผมเห็นว่าความสำเร็จของลิเวอร์พูลในวันนี้มาจากการร่วมมือกัน เริ่มจากเจ้าของทีมที่บริหารทีมด้วยความเข้าใจ ถึงแม้จะไม่ทุ่มมากเหมือนเชลซี หรือแมนซิ แต่ก็พร้อมจะจ่ายถ้าทีมงานบอกว่าจำเป็น  การนำวิทยาการสมัยใหม่ อย่างศาสตร์ข้อมูล (data science) เข้ามาใช้ และการเน้นถึงรายละเอียดทุกอย่างแม้กระทั่งในด้านโภชนาการของนักเตะ และที่สำคัญที่สุดก็คือคลอปป์ที่นำข้อมูลด้านต่าง ๆ มาสู่ภาคปฏิบัติ การวางแผนการเล่น การฝึกซ้อม การดึงศักยภาพนักเตะ การรวมใจของแฟนบอลให้กลับมาศรัทธาทีมอีกครั้ง ด้วยผลงานที่ทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นมาทุกปี ถึงแม้ในสองปีแรกจะไม่มีถ้วยรางวัลอะไรเลย แต่ทุกคนเห็นถึงพัฒนาการในด้านบวกของทีม และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมากจากปีที่แล้วจนมาถึงปีนี้ ด้วยรากฐานแบบนี้ผมก็หวังว่าในช่วงอย่างน้อย 10 ปีต่อจากนี้ น่าจะเป็นยุคทองของลิเวอร์พูลอีกครั้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามวัฏจักรคือเมื่ออะไรที่ขึ้นไปสูงสุด แล้วมันก็จะต้องตกลงมาบ้าง 

ใช้ผลงานเป็นตัวพูด ไม่ต้องร้องขอให้ใครมาเชื่อใจและศรัทธา ทั้งที่ทำงานมาหกเจ็ดปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นพัฒนาการอะไรก็ยังขอความศรัทธาอยู่นั่นแหละ และก็ออกอาการงอนถ้ามีคนแสดงให้เห็นว่าไม่ศรัทธา อ้าว ๆ ชักไปกันใหญ่แล้ว จบดีกว่านะครับ 

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เครื่องพิมพ์สามมิติสามารถพิมพ์ลงบนอวัยวะที่ทำงานอยู่ได้แล้ว

วิศวกรเครื่องกลและนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากUniversity of Minnesota (UMinn) ได้พัฒนาวิธีการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้สามารถพิมพ์เซนเซอร์ลงในอวัยวะที่ทำงานอยู่และมีการเปลี่ยนแปลงขนาด ยุบเข้าหรือพองออกตลอดเวลาอย่างหัวใจ และปอด ซึ่งนักวิจัยได้ทดลองและได้รับผลสำเร็จจากการพิมพ์ เซ็นเซอร์ที่ทำจากโฮโดรเจลลงบนปอดของสัตว์ นักวิจัยคาดหวังว่าการวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในด้านของการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Minnesota

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การสร้างหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนจะทำได้ง่ายขึ้นแล้ว

นักวิจัยจาก New York University Tandon School of Engineering และ Max Planck Institute for Intelligent Systems ใน Tübingen และ Stuttgart ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาหุ่นยนต์ 4 ขาที่สามารนำไปผระกอบเข้าด้วยกัน หรือแก้ไขได้โดยง่าย หุนยนต์นี้มีชื่อว่า Solo 8 ซึ่งมีราคาเพียงไม่กีพันยูโรเท่านั้น ดังนั้นทีมสร้างหุ่นยนต์ที่ไม่ค่อยมีทุนมากนักก็จะสามารถเจ้าถึงมันได้ และด้วยแพลตฟอร์มแบบเปิดเผยรหัส (opem source) ก็จะทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์มีความรวดเร็วมากขึ้น หุ่น Solo 8 นี้มีความสามารถหลายอย่างเช่น ในการกระโดด เคลื่อนที่ได้หลายรูปแบบและหลายทิศทาง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะเอามาประกอบกับหุ่นยนต์ ยังสามารถพิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ หรือจะซื้อก็ได้ โดยถ้าจะพิมพ์ ไฟล์ที่จะใช้ในการพิมพ์เปิดให้โหลดมาใช้ได้ฟรีภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ BSD 3-clause

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NYU Tandon School of Engineering