วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ช่วงกักตัวไปฝึกเต้นรำกันครับ

บล็อกวันนี้อาจจะเรียกว่าต่อเนื่องจากศุกร์ที่แล้วก็ได้นะครับ เมื่อศุกร์ที่แล้วผมชวนไปฟังเพลง Tennessee Waltz ซึ่งเป็นเพลงเก่า และเป็นเพลงช้า ๆ แต่เมื่อผมไปค้นวีดีโอจาก YouTube เพื่อเอามาประกอบบล็อก ก็เลยได้พบว่า เพลง Tennessee Waltz ถูกนำไป cover ใหม่ในเยอรมัน โดยนักร้องชื่อ Ireen Sheer ซึ่งเพลง Tennessee Waltz ถูกนำไปทำให้กลายเป็นเพลงที่มีจังหวะเต้นรำ และถูกนำไปใช้เป็นเพลงประกอบการเต้นที่เรียกว่า Line Dance จากที่พบค้นดูใน Youtube พบว่าการเต้นเพลงนี้ค่อนข้างจะเป็นที่นิมในเกาหลีใต้นะครับ เพราะวีดีโอใน YouTube ส่วนใหญ่ที่ผมเจอจะมาจากเกาหลีใต้ ลองไปฟังและไปดูกันครับ และอาจลองหัดเต้นตามกันดูก็ได้นะครับถ้าใครยังต้องอยู่บ้านแล้วรู้สึกเบื่อ 





  

สื่อสังคมออนไลน์พบช่องโหว่ในซอฟต์แวร์เร็วกว่าภาครัฐ

จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่   U.S. Department of Energy's Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) พบว่า ช่องโหว่ทางซอฟต์แวร์มักจะถูกพูดคุยกันบนสื่อสังคมออนไลน์ก่อนที่จะถูกรายงานในเว็บไซต์ของรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้มีผลต่อความมั่นคงได้ นักวิจัยพบว่าประมาณ 25% ของช่องโหว่ทางซอฟต์แวร์ระหว่างปี 2560-2562  จะถูกพูดคุยกันก่อนที่จะอ้างถึงในฐานข้อมูลด้านความมั่นคงของขาติ โดยเฉลี่ยแล้วจะมีช่องว่างประมาณ 90 วัน หลังจากที่มีพูดคุยกันก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูล โดยจากการวิเคราะห์ Github, Twitter, และ Reddit พบว่าส่วนใหญ่ต้นตอของการพูดคุยเริ่มมาจาก Github นักวิจัยบอกว่านอกจากจะมองว่าจุดนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ในอีกแง่หนึ่งมันทำให้ภาครัฐรู้ว่าควรจะติดตามสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อจะลดช่องว่างของช่วงเวลาลง

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  GCN 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ไม่น่าแปลกใจที่ต้นกำเนิดการพูดคุยมาจาก Github เพราะเป็นแหล่งรวมของนักเขียนโปรแกรมอยู่แล้ว 

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

Data Visualization มีบทบาทอย่างมากในช่วง COVID-19

ในช่วงวิกฤต COVID-19 จะเห็นว่านักวิจัยและมืออาชีพด้านการนำข้อมูลมาแสดงผลได้ช่วยกันนำความเชี่ยวชาญของตัวเองมาต่อสู้กับการระบาดของโรค ในด้านการออกแบบเครื่องมือแจ้งข้อมูลให้สาธารณชน และเป็นแนวทางในการตัดสินใจ ตัวอย่างเช่นนักวิจัยจาก Johns Hopkins University ได้พัฒนากระดานสรุปข่าวสาร (dashboard) ที่แสดงข้อมูลปัจจุบันของทุกประเทศทั่วโลก โดยมีหน้าต่างที่จะแสดงแผนภาพต่าง ๆ เมื่อคลิกแทบต่าง ๆ เข้าไปดู สื่ออย่าง The New York Times และอื่น ๆ ก็ได้ร่วมกันทำกระดานข่าวสารที่แสดงภาพเคลื่อนไหวของการแพร่ระบาด โดยนักวิจัยจาก Northeastern University  ก็ได้อัพเดตข้อมูลลงในฐานข้อมูลที่เปิด ซึ่งก็มีการนำไปนำเสนอกว่า 600 รูปแบบ นักวิจัยบอกว่าไม่มีสถานการณ์ไหนที่จะผลักดันให้ศาตร์ของข้อมูล การสร้างตัวแบบ และการนำเสนอข้อมูลจะถูกผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของชีวิตประจำวันของเราได้มากกว่านี้อีกแล้ว 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:Nightingale

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ศูนย์ K-DAI ของคณะวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ก็เป็นหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลแก่คนไทยในสถานการณ์นี้เช่นกัน 

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยอิสราเอลพัฒนาวิธีการตรวจโคโรนาแบบกลุ่มได้ผลเร็วขึ้น 8 เท่า

ทีมนักวิจัยจากอิสราเอลได้ร่วมกันพัฒนาขั้นตอนวิธีที่ทำให้สามารคัดกรองผู้ติด COVID-19  โดยสามารถทดสอบเป็นกลุ่มได้ ซึ่งวิธีนี้จะให้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรง และสามารถตรวจตัวอย่างได้พร้อมกัยที่ละหลาย ๆ ตัวอย่าง ทำให้ประหยัดเวลา เงิน และปริมาณของชุดตรวจที่ต้องใช้ หลักการทำงานของวิธีนี้คือ เอาตัวอย่างที่จะทดสอบมาใส่เครื่องพร้อม ๆ กัน ทีละ 384 ชิ้น โดยตัวอย่างจากคนไข้ 1 คน จะแยกเป็น 6 ชิ้น โดยใช้หุ่นยนต์  ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ใช้การทดสอบแค่ 48 ครั้งสำหรับตัวอย่าง 384 ชิ้น และตัวอย่างของคนไข้ 1 คน จะได้รับการทดสอบทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องขึ้นด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ซื้อของได้รับความนิยมในเมืองในอังกฤษช่วงปิดเมือง

หุ่นยนต์หกล้อที่ใช้ส่งสินค้าจากร้านค้าปลีกกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในเมือง Milton Keynes ในอังกฤษ ในช่วงปิดเมืองเนื่องจากไวรัสโคโรนา หุ่นยนต์นี้เป็นของบริษัท Starship ซึ่งใช้ส่งของฟรีให้กับบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ่นยนต์นี้ได้ส่งของไปแล้วกว่าแสนเที่ยว ซึ่งทางบริษัทบอกว่าจะขยายการใช้หุ่นยนต์นี้กับผู้คนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตนี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Reuters