วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ทำให้ internet ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นักวิจัยจาก Sweden’s Chalmers University of Technology ได้ออกแบบวงจรชิปข้อมูลเพื่อแก้ไขความถูกต้องของข้อมูลที่ทำงานได้โดยใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งจากผลการทดลองพบว่าใช้พลังน้อยลงถึง 10 เท่า นักวิจัยบอกว่างานวิจัยนี้ต้องใช้การร่วมมือของศาสตร์หลายด้านมาช่วยกันตัวอย่างเช่นฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวกับแสง วิทยาการการสื่ิอสาร และวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Chamler News  

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ปัจจุบันงานวิจัยจะเป็นลักษณะที่เป็นพหุสาขาวิชา (multidisciplinary) มากขึ้นเรื่อย ๆ หรือจริง ๆ ไม่ต้องงานวิจัยก็ได้ งานทั่ว ๆ ไปตอนนี้ก็แทบจะเป็นพหุสาขาวิชากันหมดแล้ว 

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

งานอะไรฮอตที่สุดด้านเทคโนโลยี

ต่อคำถามที่ว่างานอะไรฮอตที่สุดด้านเทคโนโลยีในปี 2019  คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเรามองในมุมไหน ถ้ามองด้านตำแหน่งงานที่เปิดรับจะได้ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยวิศวกรเครือข่าย และวิศวกรระบบ แต่ถ้ามองตำแหน่งที่มีการเติบโตในความต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่งก็คือวิศวกรข้อมูลซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 50%  เมื่อเทียบกับปี 2018 ทักษะด้าน Structure Query Language (SQL) ด้าน container อย่าง Kubernetes เป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุดในการประกาศหางาน ทักษะด้านภาษาเขียนโปรแกรม ประมาณ 20% ของการประกาศงานบอกว่าต้องการคนที่เขียนโปรแกรมภาษา python ได้ สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูลมีความต้องการอยู่ที่ 75% และ 64% ตามลำดับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อ่านจากข่าวเพิ่งรู้ว่าเขาแยกตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักพัฒนาแอปพลิเคชันออกจากกัน

วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นักวิจัยปรับปรุงวิธีการเพื่อลดอคติในชุดข้อมูลทางด้าน Computer Vision

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัย  Princeton และ Stanford ได้ร่วมกันหาวิธีที่จะได้ชุดข้อมูลที่เป็นภาพของคนที่ไม่มีอคติหรือมีน้อยลง โดยจะปรับปรุงชุดข้อมูลที่ชื่อ ImageNet ซึ่งมีภาพอยู่ประมาณ 14 ล้านภาพที่ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญทางด้าน Computer Vision ในทศษวรรษที่ผ่านมา ImageNet นั้นไม่ได้มีแต่รูปของคนแต่มีรูปของวัตถุ และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อยู่ด้วย โดยฐานข้อมูลมีขนาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ทั้งมีระบบเก็บรูปอัตโนมัติ และมีผู้คนช่วยกันส่งรูปหรือคำอธิบายรูปเข้ามา แต่ประเด็นที่นักวิจัยกำลังสนใจก็คือกลุ่มที่เป็นรูปภาพบุคคล ซึ่งที่กังวลกันก็คือความอคติโดยเฉพาะ ในด้านที่ค่อนข้างจะมีความสำคัญเช่นเชื้อชาติ และเพศสภาพ นอกจากนี้ยังอาจมีรูปภาพที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจในช่วงการสร้างข้อมูลรูปภาพ โดยทางผู้ดูแลได้มีระบบเพื่อตรวจจับรูปภาพเหล่านี้แล้ว และได้เสนอให้ลบภาพเหล่านี้ออกไป นอกจากนี้ยังได้ออกแบบเครื่องมือเพื่อให้ผู้ใช้ได้ระบุและเลือกชุดข้อมูลของคน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมดุลทั้งด้านอายุ การแสดงออกทางเพศ หรือสีผิว ซึ่งก็จะข่วยให้การพัฒนาขั้นตอนวิธีในการจำแนกคน จากท่าทาง หรือใบหน้า ทำได้โดยปราศจากอคติมากขึ้น (ก็คือทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องมากขึ้นนั่นเอง) นักวิจัยบอกว่างานด้าน computer vison ได้ถูกนำไปใช้มากมายในหลากหลายบริบท ถึงตอนนี้เราก็ต้องกลับมามองด้านความเที่ยงตรง (fairness) ของข้อมูลกันได้แล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Princeton University News  

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

คำว่าถ้าส่งขยะเข้าไปก็ได้ขยะออกมา ยังคงใช้ได้เสมอกับวงการคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างความอคติก็คือการที่เราอาจจะมีข้อมูลแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป หรือมีข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่นถ้าค้นคำคำหนึ่งที่เกี่ยวกับการเหยียดเพศ มันก็อาจจะแสดงหน้าคนขึ้นมา โดยที่คนนั้นก็อาจไม่ได้เหยียดเพศ แต่อาจจะไปอยู่ในรูปเดียวกับคนที่พูดจากเรื่องเหยียดเพศ เอาง่าย ๆ ก็ได้ครับ พวกเราเคยค้นชื่อตัวเองด้วย Google ไหมครับ ถ้าไม่เคยลองก็ลองดูนะครับ แล้วลองกดตรง images ดูว่าผลเป็นยังไง  ดังนั้นในการฝึกสอนระบบถ้าฝึกสอนด้วยข้อมูลเหล่านี้  มันจะทำให้เวลาระบบประมวลผลมันก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม เปรียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับเราฟังความข้างเดียว หรือมีอคติกับอีกฝ่ายเป็นทุนอยู่แล้วนั่นแหละครับ ผลลัพธ์การตัดสินของเรามันก็จะไม่เที่ยงธรรม    

วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ความต้องการวิศวกรซอฟต์แวร์ด้าน AR และ VR เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

รายงานประจำปีของเว็บไซต์การจ้างงานพบว่าความต้องการวิศวกรด้าน Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) พุ่งขึ้นถึง 1400% ในปีที่แล้วเมื่อเทียบกับสองปีก่อน โดยอัตราเงินเดือนอยู่ในช่วง $135,000 ถึง $150,000 ในศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา วิศวกรด้านเกมและ computer-vision เพิ่มขึ้น 146% แต่ดาวรุ่งในปี 2018 อย่างนักพัฒนาบล็อกเชน (blockchain) ที่เพิ่มขึ้น 517% ในปี 2018 กลับลดลงเหลือเพียง 9% ในปี 2019 เงินเดือนของวิศวกรซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ลอนดอนโดยเพิ่มขึ้นปีละ 13% ตามมด้วยที่โทรอนโต 7% และอ่าวซานฟรานซิสโกอยู่ที่ 6%

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ความต้องการที่ลดลงในบางสาขาอาจเกิดจากได้จำนวนนักพัฒนาเพียงพอแล้วก็ได้ ต้องดูว่าปีหน้าความต้องการในสาขาที่พุ่งขึ้นในตอนนี้จะลดลงมากแค่ไหน แต่ความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็คงทำให้เห็นแนวโน้มว่าอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์จะมุ่งไปทางไหน

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

จากนี้ตราบนิรันดร์(ฉัน)รักเธอเสมอ

ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีกราดยิงที่โคราชเสียหน่อย แต่บังเอิญศุกร์นี้ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี เลยคิดว่าเขียนอะไรเบา ๆ เข้ากับบรรยากาศดีกว่า ส่วนเรื่องโคราชอาจจะสัปดาห์หน้าหรืออาจไม่เขียนแล้ว เพราะใครต่อใครก็คงพูดกันเยอะแล้ว

มาเรื่องวันนี้กันดีกว่าครับ ดูจากหัวข้อแล้วหลายคนอาจมีคำถามว่าอะไรเลี่ยนจัง คนที่รู้จักผมก็อาจจะถามว่าแก่ขนาดนี้จะมาเขียนเรื่องรักหวานแหววอะไรอีกเหรอ :) ไม่ใช่นะครับ วันนี้ผมจะมาเขียนถึงเพลงสองเพลง ซึ่งเป็นเพลงรักเข้ากับบรรยากาศวาเลนไทน์ เพลงหนึ่งเป็นเพลงสากล อีกเพลงเป็นเพลงไทย เพลงสากลก็คือเพลง Now and Forever ของ Richar Marx ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะได้ชื่อว่า จากนี้ตราบนิรันดร์ ส่วนเพลง(ฉัน)รักเธอเสมอเป็นเพลงไทยชื่อนี้เลยครับ

สำหรับเพลง Now and Forever น่าจะเป็นเพลงที่รู้จักกันดีนะครับ ที่ผมนึกถึงเพลงนี้ในวันนี้ เพราะมันเป็นเพลงที่อยู่ในวีดีโองานแต่งงานของผม 24 ปีมาแล้ว เรามาฟังเพลงกันก่อนนะครับ



ฟังทีไรก็เพราะนะครับ คราวนี้มาดูเนื้อเพลงกันนะครับ

Whenever I'm weary
เมื่อใดที่ฉันล้า

From the battles that rage in my head
จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่วุ่นวายอยู่ในหัว

You make sense of madness
คุณสามารถแยกแยะความจริงออกจากความเพ้อเจ้อ

When my sanity hangs by a thread
ในวันที่สภาพจิตใจของฉันแขวนอยู่บนเส้นด้าย

I lose my way but still you seem to understand
แม้ฉันหลงทางแต่คุณก็ยังคงเข้าใจ

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Sometimes I just hold you
บางครั้งฉันได้กอดคุณไว้

Too caught up in me to see
แต่ก็จมอยู่กับตัวเองเสียจนมองไม่เห็นว่า

I'm holding a fortune
ฉันกำลังกอดสมบัติอันมีค่า

That heaven has given to me
ที่สวรรค์ได้ประทานมาให้

I'll try to show you each and every way I can
ฉันจะแสดงให้คุณเห็นในทุกโอกาสและในทุกวิถีทางที่ฉันสามารถทำได้ว่า

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Now I can rest my worries and always be sure
ถึงตอนนี้ฉันก็สามารถวางความกังวลต่าง ๆ ลงได้ และยังมั่นใจได้เสมอว่า

That I won't be alone anymore
ฉันจะไม่เดียวดายอีกต่อไป

If I'd only known you were there all the time
เพียงฉันได้รู้ว่าคุณอยู่กับฉันมาตลอด

All this time
มาจนถึงตอนนี้

Until the day the ocean doesn't touch the sand
จนถึงวันที่มหาสมุทรไม่พัดพามาบรรจบกับผืนทรายอีกต่อไป

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

จริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนถึงเพลงนี้เพลงเดียวแหละครับ แต่พอนั่งเขียนเนื้อเพลงประโยค

Until the day the ocean doesn't touch the sand
จนถึงวันที่มหาสมุทรไม่พัดพามาบรรจบกับผืนทรายอีกต่อไป

มันทำให้เพลงรักอีกเพลงหนึ่ง ที่เป็นเพลงไทย และผมคิดว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่ไพเราะมากที่สุดเพลงหนึ่ง นั่นคือเพลง(ฉัน)รักเธอเสมอ สำหรับชื่อเพลงเพลงนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันมีคำว่าฉันด้วยไหมนะครับ เพราะเวอร์ชันที่หามาที่เป็นต้นฉบับชื่อเพลงไม่มีคำว่าฉัน แต่เวอร์ชันที่นักร้องรุ่นหลังเอามา cover ใหม่ มีคำว่าฉันด้วย  สำหรับเพลงนี้แต่งโดยบรมครูเพลงของไทย เนื้อร้องโดยครูชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดยครูประสิทธ์ พยอมยงค์ และคนที่ร้องเป็นต้นฉบับน่าจะเป็นคุณสวลี ผกาพันธ์ ครับ รู้จักกันไหมครับนี่ไปฟังเพลงกันครับ





ส่วนเวอร์ชัน cover ที่ผมชอบที่สุดร้องโดยคุณศรัณยา ส่งเสริมสวัสดิ์ ครับ



ไม่ว่าเวอร์ชันไหนก็เพราะนะครับ และนี่คือเนื้อเพลงครับ

หากตราบใดสายนทียังรี่ไหล
สู่มหาชลาลัยกระแสสินธุ์
เกลียวคลื่นยังกระทบฝั่งดังอาจิณ
เป็นนิจสินตราบนั้นฉันรักเธอ
เช่นตะวันนั้นยังคงตรงต่อเวลา
แน่นอนนักรักท้องฟ้าสม่ำเสมอ
เช่นกับฉันมั่นคงตรงต่อเธอ
ฉันรักเธอเสมอ ฉันรักเธอเสมอ ชั่วนิจนิรันดร์

ประโยคที่ทำให้ผมเชื่อมโยงเพลง Now and Forever เข้ากับเพลงนี้คืออันนี้ครับ

Until the day the ocean doesn't touch the sand
เกลียวคลื่นยังกระทบฝั่งดังอาจิณ

ซึ่งผมว่ามันให้อารมณ์เดียวกันนะครับ

ก็หวังว่าจะมีความสุขกับเพลงรักเพราะ ๆ ในวันวาเลนไทน์นะครับ เอาเพลงมาให้ฟังสองสัปดาห์ติดแล้ว หรือผมควรเปลี่ยนหัวข้อจาก #ศรัณย์วันศุกร์ เป็น #ฟังเพลงกันวันศุกร์ ดีครับ :)