วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

จากนี้ตราบนิรันดร์(ฉัน)รักเธอเสมอ

ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีกราดยิงที่โคราชเสียหน่อย แต่บังเอิญศุกร์นี้ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี เลยคิดว่าเขียนอะไรเบา ๆ เข้ากับบรรยากาศดีกว่า ส่วนเรื่องโคราชอาจจะสัปดาห์หน้าหรืออาจไม่เขียนแล้ว เพราะใครต่อใครก็คงพูดกันเยอะแล้ว

มาเรื่องวันนี้กันดีกว่าครับ ดูจากหัวข้อแล้วหลายคนอาจมีคำถามว่าอะไรเลี่ยนจัง คนที่รู้จักผมก็อาจจะถามว่าแก่ขนาดนี้จะมาเขียนเรื่องรักหวานแหววอะไรอีกเหรอ :) ไม่ใช่นะครับ วันนี้ผมจะมาเขียนถึงเพลงสองเพลง ซึ่งเป็นเพลงรักเข้ากับบรรยากาศวาเลนไทน์ เพลงหนึ่งเป็นเพลงสากล อีกเพลงเป็นเพลงไทย เพลงสากลก็คือเพลง Now and Forever ของ Richar Marx ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะได้ชื่อว่า จากนี้ตราบนิรันดร์ ส่วนเพลง(ฉัน)รักเธอเสมอเป็นเพลงไทยชื่อนี้เลยครับ

สำหรับเพลง Now and Forever น่าจะเป็นเพลงที่รู้จักกันดีนะครับ ที่ผมนึกถึงเพลงนี้ในวันนี้ เพราะมันเป็นเพลงที่อยู่ในวีดีโองานแต่งงานของผม 24 ปีมาแล้ว เรามาฟังเพลงกันก่อนนะครับ



ฟังทีไรก็เพราะนะครับ คราวนี้มาดูเนื้อเพลงกันนะครับ

Whenever I'm weary
เมื่อใดที่ฉันล้า

From the battles that rage in my head
จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่วุ่นวายอยู่ในหัว

You make sense of madness
คุณสามารถแยกแยะความจริงออกจากความเพ้อเจ้อ

When my sanity hangs by a thread
ในวันที่สภาพจิตใจของฉันแขวนอยู่บนเส้นด้าย

I lose my way but still you seem to understand
แม้ฉันหลงทางแต่คุณก็ยังคงเข้าใจ

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Sometimes I just hold you
บางครั้งฉันได้กอดคุณไว้

Too caught up in me to see
แต่ก็จมอยู่กับตัวเองเสียจนมองไม่เห็นว่า

I'm holding a fortune
ฉันกำลังกอดสมบัติอันมีค่า

That heaven has given to me
ที่สวรรค์ได้ประทานมาให้

I'll try to show you each and every way I can
ฉันจะแสดงให้คุณเห็นในทุกโอกาสและในทุกวิถีทางที่ฉันสามารถทำได้ว่า

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Now I can rest my worries and always be sure
ถึงตอนนี้ฉันก็สามารถวางความกังวลต่าง ๆ ลงได้ และยังมั่นใจได้เสมอว่า

That I won't be alone anymore
ฉันจะไม่เดียวดายอีกต่อไป

If I'd only known you were there all the time
เพียงฉันได้รู้ว่าคุณอยู่กับฉันมาตลอด

All this time
มาจนถึงตอนนี้

Until the day the ocean doesn't touch the sand
จนถึงวันที่มหาสมุทรไม่พัดพามาบรรจบกับผืนทรายอีกต่อไป

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

Now and forever
จากนี้ตราบนิรันดร์

I will be your man
ฉันจะเป็นคนของคุณ

จริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนถึงเพลงนี้เพลงเดียวแหละครับ แต่พอนั่งเขียนเนื้อเพลงประโยค

Until the day the ocean doesn't touch the sand
จนถึงวันที่มหาสมุทรไม่พัดพามาบรรจบกับผืนทรายอีกต่อไป

มันทำให้เพลงรักอีกเพลงหนึ่ง ที่เป็นเพลงไทย และผมคิดว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องที่ไพเราะมากที่สุดเพลงหนึ่ง นั่นคือเพลง(ฉัน)รักเธอเสมอ สำหรับชื่อเพลงเพลงนี้ผมไม่แน่ใจว่ามันมีคำว่าฉันด้วยไหมนะครับ เพราะเวอร์ชันที่หามาที่เป็นต้นฉบับชื่อเพลงไม่มีคำว่าฉัน แต่เวอร์ชันที่นักร้องรุ่นหลังเอามา cover ใหม่ มีคำว่าฉันด้วย  สำหรับเพลงนี้แต่งโดยบรมครูเพลงของไทย เนื้อร้องโดยครูชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดยครูประสิทธ์ พยอมยงค์ และคนที่ร้องเป็นต้นฉบับน่าจะเป็นคุณสวลี ผกาพันธ์ ครับ รู้จักกันไหมครับนี่ไปฟังเพลงกันครับ





ส่วนเวอร์ชัน cover ที่ผมชอบที่สุดร้องโดยคุณศรัณยา ส่งเสริมสวัสดิ์ ครับ



ไม่ว่าเวอร์ชันไหนก็เพราะนะครับ และนี่คือเนื้อเพลงครับ

หากตราบใดสายนทียังรี่ไหล
สู่มหาชลาลัยกระแสสินธุ์
เกลียวคลื่นยังกระทบฝั่งดังอาจิณ
เป็นนิจสินตราบนั้นฉันรักเธอ
เช่นตะวันนั้นยังคงตรงต่อเวลา
แน่นอนนักรักท้องฟ้าสม่ำเสมอ
เช่นกับฉันมั่นคงตรงต่อเธอ
ฉันรักเธอเสมอ ฉันรักเธอเสมอ ชั่วนิจนิรันดร์

ประโยคที่ทำให้ผมเชื่อมโยงเพลง Now and Forever เข้ากับเพลงนี้คืออันนี้ครับ

Until the day the ocean doesn't touch the sand
เกลียวคลื่นยังกระทบฝั่งดังอาจิณ

ซึ่งผมว่ามันให้อารมณ์เดียวกันนะครับ

ก็หวังว่าจะมีความสุขกับเพลงรักเพราะ ๆ ในวันวาเลนไทน์นะครับ เอาเพลงมาให้ฟังสองสัปดาห์ติดแล้ว หรือผมควรเปลี่ยนหัวข้อจาก #ศรัณย์วันศุกร์ เป็น #ฟังเพลงกันวันศุกร์ ดีครับ :)







รัฐบาลออสเตรเลียเน้นบล็อกเชนเป็นส่วนสำคัญของแผนพัฒนาชาติ

รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดเผยแผนพัฒนา (roadmap) โดยใช้บล็อกเชน (blockchain) ซึ่งจะเป็นแผนกลยุทธ์ทั้งด้านการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น และให้ผลผลิตที่มากขึ้น แผนพัฒนาดังกล่าวประกอบไปด้วยการกำกับและมาตรฐาน ทักษะ สมรรถภาพและนวัตกรรม การลงทุนและความร่วมมือจากต่างประเทศ โดยได้ร่าง 12 ขั้นตอนที่รัฐบาลหวังว่าจะทำให้สำเร็จก่อนปี 2026 แผนพัฒนาเน้นไปที่กรณีการใช้งาน (use-case) บล็อกเชนซึ่งรวมถึงการใช้งานด้านเกษตรกรรม การศึกษา ภาคการเงิน และได้ตั้งทีมผู้ใช้งานบล็อกเชนภาครัฐ เพื่อระดมสมองในการสร้างบริการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ตัวอย่างจากประเทศต่าง ๆ แผนพัฒนานี้ยังได้พูดถึงการสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเฟรมเวอร์กกลาง และเนื้อหาหลักสูตรสำหรับคุณวุฒิด้านบล็อกเชน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

น่าสนใจมากครับ ในฐานะคนที่กำลังสนใจและสอนด้านนี้ คิดว่าถ้ามีเวลาจะเขียนรายละเอียดของเนื้อหาข่าวนี้มาให้อ่านกันเพิ่มเติมครับ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ใช้การเรียนรู้เชิงลึกช่วยระบุระดับของการนอนหลับ

นักวิจัยจาก University of Eastern Finland ได้พัฒนาตัวแบบที่ใช้การเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) เพื่อระบุระดับของการนอนได้แม่นยำกว่าหมอที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลจากผู้ป่วยที่เป็นปกติ และข้อมูลจากผู้ป่วยที่อาจจะมีอาการหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากการอุดกั้น ผลการทดลองพบว่าระบบสามารถระบุระดับของการนอนหลับของคนปกติ ได้แม่นยำอยู่ที่ 83.7% ถ้าใช้ EEG และ 83.9% เมื่อใช้ว EOG ร่วมด้วย ส่วนคนที่อาจมีอาการหยุดหายใจขณะหลับจะระบุได้แม่นยำอยู่ที่ 82.9% โดยใช้ EEG และ 83.8% เมื่อใช้ EOG ร่วมด้วย

อ่านข่าวต็มได้ที่: University of Eastern Finland News

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

นักวิจัยสร้างระบบโดรนเพื่อเตือนภัยธรรมชาติ

นักวิจัยจาก Trung Duong of Queen's University Belfast ในสหราชอาณาจักร ได้พัฒนาระบบโดรนที่ใช้ช่วยเตือนเมือเกิดภัยธรรมชาติ นอกจากนี้โดรนดังกล่าวยังสามารถใช้เป็น Wifi Hotspot ได้ด้วย เพื่อที่เราจะได้ใช้งานเครือข่ายได้ ในกรณีที่เครือข่ายโทรคมนาคมใช้งานไม่ได้ในช่วงที่มีสภาพอากาศที่เลวร้าย ระบบโดรนนี้สามารถใช้เป็นเครือข่ายโทรคมนาคมราคาถูกได้ เนื่องจากพวกมันจะถูกส่งขึ้นบินครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศ นักวิจัยเรียกเครือข่ายการสื่อสารระหว่างโดรนเหล่านี้ว่า Catastrophe-Tolerant Telecommunications Network (CTTN) ซึ่งสามารถจะใช้สื่อสารกันได้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินเมื่อเครือข่ายหลักอื่น ๆ ใช้งานไม่ได้ ตัวอย่างการใช้งานก็เช่นการติดต่อกันระหว่างทีมกู้ภัย หรือทีมแพทย์ จุดประสงค์ของการพัฒนาระบบนี้ก็คือช่วยเหลือคนที่อยู่ในภฺมิประเทศที่มีสภาพอากาศที่เลวร้าย และช่วยให้ทีมกู้ภัยและทีมแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น ปัญหาอีกประการหนึ่งที่งานวิจัยนี้ได้แก้ไขแล้วก็คืออายุการใช้งานแบตเตอรีของโดรน ซึ่งโดรนธรรมดาที่ใช้กันเล่น ๆ ทั่วไปจะมีอายุแบตเตอรีประมาณ 30 นาที แต่ในงานวิจัยนี้อายุของแบตเตอรีจะอยู่ได้นานกว่า3-5 เท่าของโดรนธรรมดา และที่สำคัญราคายังไม่สูงเท่าโดรนแบบที่มืออาชีพใช้กันด้วย ระบบนี้ได้ถูกนำไปใช้แล้วในเวียดนามโดย องค์การจัดการภัยพิบัติเวียดนาม (Vietnam’s Disaster Management Authority)

อ่านข่าวเต็มได้ที่: DEVELOPMENT & ALUMNI RELATIONS OFFICE News

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สอนรถให้แยกเสียงได้

นักวิจัยที่ Germany’s Fraunhofer Institute for Digital Media Technology (IDMT) ได้พัฒนาระบบให้รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถแยกแยะเสียงจากภายนอกเช่นเสียงไซเรนได้ การฝึกสอนระบบใช้วิธีการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) โดยใช้คลังเสียงแบบอะคูสติก (acoustic) และได้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่ทำให้ระบบสามารถรู้จำเสียงที่เกิดจากวัตถุที่เคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ ได้ และยังได้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่อยู่บนฐานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ทำให้แยกเสียงที่รถต้องรู้จักออกจากเสียงอื่น ๆ ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Farunhofer