วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

เดือนแรกของปีหนู(ดุ)

สวัสดีครับ หลังจากสร้างนิสัยสรุปข่าวแชร์ข่าวได้แล้วหนึ่งอย่าง ก็เลยคิดว่าจะลองเขียนบล็อกเรื่องอะไรที่อยากเขียน เล่าเรื่องอะไรที่อยากเล่า โดยเล่าให้ฟังทุกวันศุกร์ที่เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ครับ

วันแรกของบล็อกในหัวข้อนี้ก็บังเอิญเป็นศุกร์สิ้นเดือนของเดือนแรกของปีนี้พอดี จะว่ามันเร็วก็เร็วนะครับ เพราะเหมือนกับเพิ่งฉลองปีใหม่ไปได้แป๊ปเดียว แต่เอาจริง ๆ แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นมากมายและเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่กรณีอเมริกากับอิหร่าน ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ฝุ่น PM  (อย่าไปแปลเป็น Prime Minister นะครับ :) ) จนมาถึงโคโรนาไวรัส บางเรื่องก็ทำท่าว่าอาจจบได้แล้ว   บางเรื่องก็อาจต้องดูผลกระทบต่อไป เพราะมันเริ่มกระจายไปทั่วโลกจน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเห็นคุณหมอบางท่านคนออกมาบอกว่าต่อไปมันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูกาลเหมือนกับโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ ต่อไปก็คงต้องฉีดวัคซีนเพิ่มกันอีก (หรือเปล่า) นอกจากนี้เรื่องฝุ่น PM เรื่องไวรัสมันก็ทำให้ได้เห็นถึงความสามารถในการจัดการปัญหาและภาวะผู้นำของผู้นำประเทศได้เหมือนกันนะครับ ยิ่งไปกว่านั้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนก็คาดว่าปีนี้จะเป็นปีเผาจริงแล้ว (สาธุขอให้เขาคาดผิดกัน) เจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าไป ก็ไม่รู้ว่ามันจะแย่มากขึ้นหรือเปล่า และยังไม่พอยังมีข่าวนักบาสชื่อดังระดับตำนาน ซึ่งเป็นคนที่ผมชื่นชอบคนหนึ่งคือโคบี้ ไบรอัน ยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกอีก หรือมันจะเป็นปีหนูดุจริง ๆ

พูดมาเหมือนมีแต่เรืองไม่ดี มาลองดูสิว่ามันมีเรื่องดี ๆ อะไรบ้าง เหมือนจะคิดไม่ออก แต่จริง ๆ ก็มีนะครับ อันแรกก็คือทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์มาตั้งแต่เด็กคือลิเวอร์พูล ก็ยังโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยชนะมาได้ทั้งหมดตลอดเดือนมกราคม และนำห่างที่สองถึง 19 แต้ม ตามปกติเดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ลิเวอร์พูลมักจะทำแต้มหล่นหาย (อันนี้อาจจะดีแค่กองเชียร์ลิเวอร์พูล แต่กองเขียร์ทีมอื่นอาจคิดว่ามันน่าจะจัดกลุ่มอยู่ในย่อหน้าบนก็ได้นะครับ :) ) ตัวเองก็ยังมีงานทำ ยังพอมีเงินใช้ สุขภาพก็ยังพอใช้ได้ ครอบครัวก็ยังอยู่กันพร้อมหน้า

ส่วนหนึ่งก็อยากภาวนาว่าปัญหาร้ายแรงทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมันจะเป็นของทั้งปี และได้เกิดหมดไปแล้วในเดือนนี้ และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งปีนี้มี 29 วันนะครับ :) ) หวังว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาและที่เขาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจที่มันจะเป็นปีเผาจริงก็ขอให้คาดผิด หรือมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาช่วยเรา

แต่คิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาบริหารจัดการตัวเอง เช่นตอนนี้ผมก็เริ่มบอกตัวเองให้ประหยัดมากขึ้น อะไรที่อยากได้แต่ไม่จำเป็นก็พักไว้ก่อน ช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนเยอะ ๆ ออกกำลังกายให้มากขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น และพัฒนาตัวเอง ในเมื่อเราไม่สามารถรู้โชคชะตาข้างหน้าได้ และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตเลย (เสียเวลาไปห้าหกปี กับคำพูดหรู ๆ ของนักการเมืองที่หลอกคนออกมาบนถนน บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่จริง ๆ ต้องการให้ทหารมายึดอำนาจ) ออกจะแย่กว่าด้วยซ้ำ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ควรไปหวังพึ่งรัฐบาลไหนอยู่แล้ว (เพียงแต่ถ้ารัฐบาลเก่งและเราดูแลตัวเองผลมันอาจจะดีกว่ารัฐบาลแย่ ๆ )

 ก็ขอส่งท้ายบล็อกนี้ว่า อัตาหิอัตโนนาโถ ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บริหารจัดการตัวเองกันดี ๆ ไม่ว่าหนูจะดุแค่ไหนเราก็น่าจะผ่านกันไปได้ (อาจจะทุลักทุเลหน่อย ภายใต้รัฐบาลแบบนี้)) และช่วยกันตั้งความหวังว่าสุดท้ายเราจะได้รัฐบาลเก่ง ๆ มีความสามารถมากกว่านี้มาช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ไปอย่างสบายกว่านี้แล้วกันครับ สาธุ

ชายอเมริกันที่ติดไวรัสโคโรนาถูกดูแลโดยหุ่นยนตฺ์

ชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาวูฮันได้รับการรักษาโดยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์ที่ Providence Regional Medical Center in Everett, WA หุ่นยนต์ดังกล่าวมีหูฟังเพื่อให้หมอสามารถฟังสัญญาณชีพของคนไข้ และมีหน้าจอขนาดใหญ่ให้หมอกับคนไข้ได้คุยกัน โดยมีพยาบาลเป็นคนเลื่อนหุ่นยนต์ไปรอบ ๆ ห้องเพื่อให้หมอได้เห็นและพูดคุยกับคนไข้ หมอบอกว่าหุ่นยนต์นี้จะมีส่วนช่วยลดการติดเชื้อจากคนไข้มาสู่บุคลากรทางการแพทย์ได้ ตามข่าวบอกว่าโรงพยาบาลนี้ได้ทดสอบวิธีการในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชิ้อโรคที่แพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่ายอย่าง Ebola หรือ MERS มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (ซึ่งก็เลยได้ใช้จริงกับคนไข้รายนี้พอดี) และจริง ๆ แล้วโรงพยาบาลได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีรักษามาตั้งแต่หลังการระบาดของ Ebola 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN Health

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ตอนแรกคิดว่าน่าเสียดายที่ยังต้องใช้พยาบาลเลื่อนหุ่นยนต์อยู่ ถ้าให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้เอง หรือใช้รีโมทควบคุมหุ่นยนต์ได้ก็น่าจะทำให้พยาบาลไม่ต้องเสี่ยง แต่คิดอีกที ยังไงก็คงต้องใช้พยาบาลที่เป็นคนดูแลคนไข้อยู่ดี บุคคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละจริง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

ตัวเลขที่จะเปิดเผยเซลมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้านชีวการแพทย์ (biomedical) ที่ Stanford University School of Medicine พบว่าจำนวนยีน (gene) ที่เซลใช้ในการสร้าง RNA เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือในการระบุยีนที่ทำให้เกิดมะเร็ง ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเซลต้นกำเนิด (stem cell) มักจะเป็นต้นเหตุในการเกิดมะเร็ง แต่การค้นหาเซลต้นกำเนิดทำได้ยาก เพราะมันมักจะเปลี่ยนรูปไปเป็นผิวหนัง กล้ามเนื้อ และตัวเลวร้ายก็ทำให้เกิดมะเร็ง การรักษามะเร็งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ระบุว่าเซลไหนที่เป็นเซลมะเร็ง แต่การค้นพบนี้จะทำให้การระบุเซลที่อาจเป็นต้นเหตุทำได้ง่ายขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Standford Medicine News Center 

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

การส่งรหัส OTP ไปที่มือถืออาจไม่ปลอดภัย

การยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication, 2FA) หรือที่เรารูจักกันคือการส่งรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One Time Password, OTP) ผ่านมาทางมือถือเพื่อให้เราใช้รหัสนั้นเพื่อยืนยันตัวเราในการทำธุรกรรมออนไลน์เช่นการฝากเงินโอนเเงินถอนเงินทำได้โดยปลอดภัยมากขึ้น กว่าการใช้แค่รหัสผ่านของเราอย่างเดียว แต่นักวิจัยจาก Princeton University พบว่าวิธีการดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย เพราะเขาบอกว่าแฮกเกอร์สามารถใช้วิธีที่เรียกว่าการสลับซิม (SIM Swapping) ซึ่งก็คือการเอาซิมใหม่มา แล้วคัดลอกข้อมูลจากซิมเดิมไปใส่ซิมใหม่ จากนั้นก็กลายเป็นเจ้าของเบอร์ได้เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการมือถือที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการกระทำดังกล่าว แต่นักวิจัยพบว่าผู้ให้บริการมือถือขนาดใหญ่ของอเมริกาทั้งห้าแห่ง ไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอในเรื่องนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แปลกใจที่อเมริกาเพิ่งมาตื่นเต้นกัน จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทยเลยนะครับ เราเคยเห็นกรณีแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง วิธีการก็ง่าย ๆ คือไปแจ้งว่าซิมหาย แล้วขอเปลี่ยนซิม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นตอนนี้ค่ายมือถือก็เข้มงวดขึ้นโดยขอบัตรประชาชนตัวจริงของผู้มาติดต่อทุกครั้ง ปัญหาแบบนี้ในบ้านเราก็เลยเงียบ ๆ ไป แต่ในอเมริกาเพิ่งมาตื่นเต้นกัน เราจะสรุปได้ไหมนะครับว่าไอ้เรื่องประยุกต์เทคโนโลบีไปในทางไม่ดีนี่ ไทยเราเก่งกว่าอเมริกาเยอะ  

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อ Open Source กำลังเข้าสู่วงการผลิตชิป

บริษัทผลิตชิปรายใหญ่เริ่มพิจารณาที่จะใช้ชุดคำสั่งทางฮาร์ดแวร์ของ RISC-V ที่เปิดให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาใช้แทนชุดคำสั่งที่แต่ละบริษัทคิดขึ้นมาเอง ซึ่งมาตรฐานแบบเปิดเผยโค้ดโปรแกรม (open source) ของ RISC-V จะช่วยในด้านการควบคุมการสื่อสารระหว่างซอฟต์แวร์กับตัวชิป ดังนั้นบริษัทที่ใช้มาตรฐานนี้จะสามารถแข่งขันกับบริษัทอย่างอินเทล (Intel) และ ARM ซึ่งเป็นเจ้าหลักในการผลิตหน่วยประมวลผลของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ผู้สนับสนุนแนวทางนี้บอกว่าชุดคำสั่งมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยออกแบบชิปที่ดีขึ้นที่สามารถนำไปใช้กับรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตชิป โดยเฉพาะในส่วนงานอย่างศูนย์ข้อมูล ซึ่งเริ่มคิดที่จะพัฒนาหน่วยประมวลผลขึ้นมาใช้เองมากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

Open Source หรือการเปิดเผยเปิดเผยโค้ดโปรแกรม เป็นคำที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยมีแนวคิดคือผู้ที่สร้างซอฟต์แวร์ จะต้องเปิดเผยโค้ดโปรแกรมให้คนอื่นได้ศึกษา ปรับปรุง และส่งต่อไปยังคนอื่นได้ แนวคิดนี้อยู่บนฐานของการแบ่งปันและร่วมมือ ซึ่งช่วยให้เกิดความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์