วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

นักศึกษาเบื่อหรือยัง AI ช่วยบอกได้

นักวิจัยจาก Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และ China's Harbin Engineering University ร่วมกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดอารมณ์ของนักเรียนนักศึกษา โดยวิเคราะห์จากการแสดงความรู้สึกทางใบหน้าของนักศึกษา เพื่อที่จะวิเคราะห์ระดับความสนใจต่อการเรียนของนักศึกษาในขณะนั้น โดยได้มีการทดสอบระบบนี้กับนักเรียนชั้นอนุบาลห้องหนึ่งในญี่ปุ่น และชั้นเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นเรียนหนึ่งในฮ่องกง ผลการทดลองออกมายังไม่ดีนัก โดยระบบสามารถตรวจจับอารมณ์ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือนักเรียนนักศึกษากำลังรู้สึกสนุก แต่ยังไม่สามารถตรวจจับความรู้สึกโกรธหรือเศร้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนักวิจัยจะต้องไปปรับปรุงโมเดลต่อไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum 

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

เหมือนเคยอ่านข่าวว่ามีงานวิจัยแนวนี้อยู่หลายปีแล้ว แต่น่าแปลกใจว่างานวิจัยนี้เหมือนไม่ได้ต่อยอดขึ้นมา เหมือนทำขึ้นมาใหม่ เพราะได้ผลลัพธ์ไม่ดีมากนัก สำหรับตัวเองไม่ต้องใช้ AI หรอก แค่เดินเข้าห้องก็รู้แล้วว่านักศึกษาอยากเลิกเรียนกลับบ้าน :) 

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

เกาหลีใต้เปิดโรงเรียนเพื่อฝึกคนให้ผ่านการสัมภาษณ์การทำงานกับ AI

บริษัทใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งคีย์หลักคือการสัมภาษณ์ผ่านทางวีดีโอ ซึ่ง AI จะใช้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าในการประเมินผู้สมัคร ซึ่งเหตุนี้ทำให้มีการเปิดโรงเรียนเพื่อติวผู้จะสมัครงานว่าควรทำยังไงเพื่อให้ผ่านการสอบสัมภาษณ์กับ AI ไปได้ ตัวอย่างการสอนก็เช่น "อย่าพยายามยิ้มด้วยริมฝีปาก ต้องให้ตายิ้มด้วย" ตามข่าวบอกว่าอย่างน้อย 1 ใน 4 ของบริษัทระดับท้อป 131 บริษัทของเกาหลีใต้ กำลังใช้หรือมีแผนที่จะใช้ AI ในการคัดคนเข้าทำงาน โดยการสัมภาษณ์งานของ AI จะใช้เกมเพื่อทดสอบคุณสมบัติ 37 ด้าน ของผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การวัดความจำ และบางเกมไม่มีคำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะต้องการวัดวิธีการแก้ปัญหา และทัศนคติของผู้สมัครมากกว่า ตามข่าวมีผู้สมัครบางคนรู้สึกสิ้นหวัง เพราะเขาไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อไปเข้าโรงเรียนติวได้ และเขาบอกว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะ AI ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters Technology News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ฝ่าย HR อาจเป็นอีกงานหนึ่งที่ถูก Distrupt ถ้าเป็นแบบนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเราต้องฝึกเพื่อจะเอาชนะ AI ให้ได้ และถ้า AI ไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมจริง ๆ ที่ไม่ผ่านการฝึกมาได้ ระบบนี้ไม่น่าถือว่าเป็นระบบที่ดี สำหรับประเทศไทยนี่อาจเป็นตลาดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา หลังจากจำนวนเด็กลดลง :)

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีหนุน Google ในการสู้กับ Oracle

บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นคู่แข่งของ Google อย่างไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม หรือโมซิลลา ต่างออกมาสนับสนุน Google ในคดีฟ้องร้องที่ Oracle ฟ้อง Google เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์การใช้งาน API (Application Program Interface) ของภาษา Java ของ Oracle ในการนำไปพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การฟ้องร้องนี้มีระยะเวลานานประมาณ 10 ปีได้แล้ว โดยกำลังจะมีการตัดสินจากศาลสูงของสหรัฐภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายที่เป็นคู่แข่งของ Google ได้ขึ้นให้การต่อศาลโดยสนับสนุน Goolge เพราะบริษัทเหล่านี้มองว่าสิ่งที่ Oracle ฟ้องร้องในเรื่องของ API เป็นการขัดขวางนวัตกรรม โดย IBM บอกว่า API ไม่ควรจะจดลิขสิทธิ์ได้ ในขณะที่ Oracle ยังยืนยันว่า Google เป็นโขมย และยังทำลายจุดแข็งของ Java ในแง่ของการทำงานร่วมกันได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงออกมาเข้าข้าง Google และถ้า Oracle ชนะมันจะมีอาจมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยังไงบ้าง ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก API (Application Program Interface) กันก่อน ซึ่งก็ขออธิบายง่าย ๆ ว่ามันคือลิสต์รายชื่อของฟังก์ชันที่นักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้จากคลังโปรแกรม (program library) ที่พัฒนาไว้ก่อนหน้าแล้วได้ โดยประโยชน์ของมันก็คือนักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้ฟังก์ชันจากคลังโปรแกรมได้โดยไม่ต้องรู้รายละเอียดว่าโค้ดในคลังโปรแกรมเขียนขึ้นมายังไง เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอะไร ทำงานบนแพลตฟอร์มแบบไหน

ในปัจจุบันเราต้องเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้บนอุปกรณ์หลากหลายเช่นทั้งบนมือถือ บนแท็บเล็ต บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากตัวอุปกรณ์แล้วระบบปฏิบัติการก็ยังมีหลายตัวอีกด้วย ดังนั้นคลังโปรแกรมก็อาจจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนระบบปฏิบัตการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ API เดียวกัน ในการเรียกคลังโปรแกรมเหล่านี้ เราก็สามารถนำโค้ดที่เขียนกับอุปกรณ์ตัวหนึ่ง มาใช้กับโค้ดสำหรับอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งได้โดยง่าย

แต่สมมติถ้า Oracle ชนะในคดีนี้ คือตัว API สามารถมีลิขสิทธื์ได้ มันก็อาจทำให้เกิดปัญหาเช่นสมมติผมสร้างคลังโปรแกรมขึ้นมาให้ทำงานกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งแน่นอนผมต้องมี API ให้นักพัฒนาที่จะเอาคลังโปรแกรมของผมไปใช้ เรียกใช้คลังโปรแกรมของผมได้ คราวนี้ถ้ามีคนอยากพัฒนาคลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนของผมแต่ทำงานบนแอนดรอยด์ แต่เพราะ API เป็นลิขสิทธิ์ของผม ดังนั้นเขาต้องสร้าง API ของเขาเอง นั่นหมายความว่าตอนนี้นักพัฒนาซึ่งอยากพัฒนาให้ทำงานได้บนวินโดวส์ และบนแอนดรอยด์จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมสองแบบเพื่อใช้เรียกใช้คลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนกัน และลองคิดต่อ ๆ ไปสิครับว่าถ้าต้องเขียนโปรแกรมสำหรับ iOS Mac OS และอื่น ๆ อีกมากมายจะยุ่งแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดเช่น ถ้านักพัฒนาโปรแกรมไม่อยากเขียนโค้ดเยอะ เขาก็จำเป็นต้องรอให้ผมพัฒนาคลังโปรแกรมให้ทำงานบนเครื่องที่เขาอยากใช้ ถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าแล้วอย่างนี้คนคิดคนแรกก็เสียเปรียบสิ อุตสาห์ทำขึ้นมาก่อน พอทำดีก็มีคนเอาไปทำตาม คือต้องเข้าใจนะครับว่าตัวโค้ดในคลังโปรแกรมยังเป็นลิขสิทธิ์ของคนที่ทำมันขึ้นมา คนที่สร้างคลังโปรแกรมตัวถัดมาต้องยังคงต้องเขียนโค้ดคลังโปรแกรมของตัวเองขึ้นมาเอง แต่เขาสามารถใช้ API เหมือนของคนแรกได้ คนแรกถ้าต้องการจะแข่งขันก็สามารถสร้างคลังโปรแกรมให้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับคนที่สองขึ้นมาแข่งได้ และถ้ามันดีกว่านักพัฒนาก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ได้โดยง่าย เพราะใช้ API เดียวกัน โค้ดก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอยู่แล้ว

ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่าถ้า Oracle ชนะจะมีผลยังไง ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในโลกซึ่งรูที่เติมน้ำมันรถมีลิขสิทธิ์ รถแต่ละยี่ห้อไม่สามารถใช้รูเติมน้ำมันแบบเดียวกันได้ เช่นถ้า Toyota ใช้วงกลมไปแล้ว  Honda ถ้าอยากใช้วงกลมด้วยต้องจ่ายเงินให้ Toyota ตามยอดขาย Honda ไม่ยอมก็เลยไปใช้รูเติมน้ำมันเป็นสี่เหลี่ยม แล้วยี่ห้ออื่น ๆ ก็ใช้รูปแบบของตัวเอง ลองคิดกันดูแล้วกันครับว่ามันจะยุ่งแค่ไหน




วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

ตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นไมโครเวฟและการเรียนรู้ของเครื่อง

นักวิจัยจาก  Duke University  และ Institut de Physique de Nice จากประเทศฝรั่งเศส ได้พัฒนาวิธีการที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อนำคลื่่นไมโครเวฟมาใช้ในการระบุวัตถุ ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มความแม่นยำในขณะที่จะลดเวลาและใช้พลังงานน้อยกว่าวิธีการที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งผลของการวิจัยนี้จะสามารถนำไปใช้กับงานที่ต้องการการตรวจจับวัตถุให้ได้อย่างรวดเร็วเช่น รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง และเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัยเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Duke PRATT SCHOOL of ENGINEERING News 

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

สถิติโลกใหม่ของนักวิ่งที่เป็นอัมพาตในการแข่งขันวิ่งมาราธอน

 Adam Gorlitsky ซึ่งเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไปสร้างสถิติใหม่ในการเข้าเส้นชัยในการแข่งขันมาราธอน โดยใช้ชุดที่ออกแบบมาเป็นโครงเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ (ไม่รู้จะอธิบายยังไง ดูรูปจากข่าวเต็มแล้วกันนะครับ) โดยสถิตินี้เกิดขึ้นในการแช่งขัน Charleston (SC) Marathon 2020 โดยใช้เวลาในการเข้าเส้นชัย 33 ชั่วโมง 50 นาที 23 วินาที เขาออกเดินวันพฤหัสและเข้าเส้นชัยในเช้าวันเสาร์ โดยไ่ม่ได้หยุดพักหรือนอนเลย ซึ่งเวลาที่ทำได้นี้ได้ทำลายสถิติของ ชายชาวอังกฤษคือ Simon Kindleysides ที่ทำไว้ใน  London Marathon 2018 ที่ใช้เวลา 36 ชั่วโมง 46 นาที ซึ่งตอนนี้ก็ต้องรอให้ Guinness บันทึกอย่างเป็นทางการต่อไป สำหรับ Adam Gorlitsky เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2005 ทำให้มีการบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลังหลายแห่ง

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อ่านข่าวแล้วก็สร้างกำลังใจดีครับ คนเราถ้าไม่ยอมแพ้กับเหตุการณ์ไม่คาดหมายที่เกิดกับตัวเอง ก็สามารถสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้