วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

ตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นไมโครเวฟและการเรียนรู้ของเครื่อง

นักวิจัยจาก  Duke University  และ Institut de Physique de Nice จากประเทศฝรั่งเศส ได้พัฒนาวิธีการที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อนำคลื่่นไมโครเวฟมาใช้ในการระบุวัตถุ ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มความแม่นยำในขณะที่จะลดเวลาและใช้พลังงานน้อยกว่าวิธีการที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งผลของการวิจัยนี้จะสามารถนำไปใช้กับงานที่ต้องการการตรวจจับวัตถุให้ได้อย่างรวดเร็วเช่น รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง และเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัยเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Duke PRATT SCHOOL of ENGINEERING News 

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

สถิติโลกใหม่ของนักวิ่งที่เป็นอัมพาตในการแข่งขันวิ่งมาราธอน

 Adam Gorlitsky ซึ่งเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไปสร้างสถิติใหม่ในการเข้าเส้นชัยในการแข่งขันมาราธอน โดยใช้ชุดที่ออกแบบมาเป็นโครงเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ (ไม่รู้จะอธิบายยังไง ดูรูปจากข่าวเต็มแล้วกันนะครับ) โดยสถิตินี้เกิดขึ้นในการแช่งขัน Charleston (SC) Marathon 2020 โดยใช้เวลาในการเข้าเส้นชัย 33 ชั่วโมง 50 นาที 23 วินาที เขาออกเดินวันพฤหัสและเข้าเส้นชัยในเช้าวันเสาร์ โดยไ่ม่ได้หยุดพักหรือนอนเลย ซึ่งเวลาที่ทำได้นี้ได้ทำลายสถิติของ ชายชาวอังกฤษคือ Simon Kindleysides ที่ทำไว้ใน  London Marathon 2018 ที่ใช้เวลา 36 ชั่วโมง 46 นาที ซึ่งตอนนี้ก็ต้องรอให้ Guinness บันทึกอย่างเป็นทางการต่อไป สำหรับ Adam Gorlitsky เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2005 ทำให้มีการบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลังหลายแห่ง

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อ่านข่าวแล้วก็สร้างกำลังใจดีครับ คนเราถ้าไม่ยอมแพ้กับเหตุการณ์ไม่คาดหมายที่เกิดกับตัวเอง ก็สามารถสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563

งานวิจัยที่จะช่วยลดอันตรายกับตัวเราในการใช้งาน VR

นักวิจัยจาก Oregon State University (OSU) และ Northern Illinois University ได้ประเมินการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและกระดูกจากการใช้งาน ความจริงเสมือน (Virtual Reality, VR) เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้งาน VR เช่นการที่ต้องยืดแขนเข้าออกอย่างรวดเร็วเพื่อไปแตะวัตถุเสมือนที่เห็นใน VR อาจทำให้เกิดบาดเจ็บที่หัวไหล่ การใส่อุปกรณ์ VR หนัก ๆ ที่หัวก็อาจทำให้คอมีปัญหา งานวิจัยนี้จะนำไปใช้ในการออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้สำหรับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ใช้ VR ตัวอย่างเช่นวัตถุเสมือนใน VR ที่ผู้ใช้ใช้บ่อย ๆ ก็ควรจะวางไว้ใกล้ตัวผู้ใช้ที่สุด และวัตถุควรจะวางอยู่ในระดับสายตาไม่ควรสูงกว่าหรือต่ำกว่าเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Oregon State University News Room

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

งานด้าน VR ตอนนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเน้นหนักไปที่เกมเท่านั้น แต่จริง ๆ มันกำลังเข้ามามีบทบาททั้งด้านการศึกษา และอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ดังนั้นงานวิจัยนี้ไม่ได้ช่วยแค่เกมเมอร์เท่านั้น  

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563

ใช้คลาวด์เพื่อเป็นเทวดาผู้พิทักษ์สำหรับรถยนต์

เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการขับขี่รถยนต์ วิศวกรจากพานาโซนิกได้เริ่มพัฒนาระบบที่เขาตั้งชื่อว่า เข็มขัดนิรภัยดิจิทัล (digital seatbelt) ซึ่งจะส่งข้อมูลของรถยนต์เช่นความเร็ว และทิศทาง ไปยังระบบโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคม (transportation infrastructure) (ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เพราะไทยยังไม่น่าจะมีนะครับระบบนี้) จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลกลับมาเตือนให้คนขับรู้สภาพถนนที่อาจเป็นปัญหาเช่นมีการก่อสร้าง หรือแม้แต่รถติด โดยเขาได้ทดลองร่วมกับกรมการขนส่ง (department of transporation) ในรัฐโคโรลาโด และยูทาห์ ซึ่งตามข่าวบอกว่าจริง ๆ ระบบที่พูดคุยกันแบบโต้ตอบไปมาแบบนี้ ใช้กับถนนสายหลัก ๆ แล้วหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ดังนั้นวิศวกรของพานาโซนิกมีแผนที่จะทำให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Cirrus ซึ่งจะใช้ข้อมูลการขับขี่ที่มากกว่าความเร็วและทิศทาง ข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาก็เช่น ข้อมูลของระบบเบรค สถานะของที่ปัดน้ำฝน ข้อมูลของไฟตัดหมอกเป็นต้น ไปยังระบบคลาวด์ และใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อวิเคราะห์และสร้างการเตือนให้เหมาะสมกับคนขับแต่ละคนได้ ซึ่งทางพานาโซนิคบอกว่าจะเปิดระบบให้นักพัฒนาแอปเข้ามาใช้ได้ด้วย ซึ่งทางพานาโซนิคบอกว่าเขากำลังสร้างระบบประสาทที่เป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมต่อรถยนต์เข้าด้วยกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ในขณะที่รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง แต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็เริ่มปล่อยออกมาให้เราได้ใช้กันแล้ว ย้อนมามองในประเทศไทย ประเทศซึ่งมีสถิติอุบัติเหตุบนถนนติดอันดับต้น ๆ ของโลก เรายังใช้วิธีรณรงค์เมาไม่ขับ เปลี่ยนชื่อ 7 วัน อันตราย เป็น 7 วัน แห่งความสุข เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุกันอยู่เลย

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563

เซ็นเซอร์แบบพลาสเตอร์ปิดแผลเพื่อเก็บข้อมูลร่างกาย

ข่าวนี้เป็นผลงานของนักวิจัยเอเชีย เป็นนักวิจัยจากเกาหลีใต้ครับ โดยเขาได้ออกแบบเซ็นเซอร์ติดตัวผู้ใช้ที่มีลักษณะเหมือนพลาสเตอร์ปิดแผล (รูปดูได้ในข่าวเต็ม) วิธีการใช้งานก็เหมือนกับพลาสเตอร์คือติดลงไปบนผิวหนังของเรา ตัวเซ็นเซอร์เองสร้างจากวัสดุซึ่งกันน้ำได้ เซ็นเซอร์แบบนี้จะแก้ปัญหาของเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ัมักจะมีข้อจำกัดถ้าผู้ใช้มีการเคลื่อนไหวร่างกายหนัก ๆ เหงื่อและสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย  เซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนผ่านทางบลูทูช (bluetooth) ทำให้สามารถเก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ได้ตลอดเวลา  ดังนั้นก็จะเป็นประโยชน์มากในการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ (biodata) ของผู้ใส่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: dgist

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

จินตนาการถึงวันที่เราจะติดเซ็นเซอร์บนตัวกันเป็นเรื่องปกติ อาจมีแฟชันเซ็นเซอร์แบบต่าง ๆ ให้เลือกซื้อกันตามความชอบด้วย