วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปริศนาร่างรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ ว่าจะไม่เขียนอะไรแล้วนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่พออ่านร่างจบ พอเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้างก็เลยเกิดคำถาม และประเด็นนี้เท่าที่ติดตามไม่ค่อยเห็นใครพูดถึง คำถามที่เกิดกับผมอันหนึ่งคือข้อนี้ครับ

ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน และคำถามพ่วงผ่าน

ลองดูตุ๊กตานี้กันนะครับ

สมมติพรรค A เสนอ ปันปัน อยู่ในรายชื่อนายก
พรรค B เสนอ น้ำชา อยู่ในรายชื่อเป็นนายก

พรรค  A เลือกตั้งได้ 350 เสียง
พรรค B ได้ 150 เสียง

เมื่อถึงเวลาโหวตนายก พรรค A 350 คน เสนอปันปัน พรรค B 150 คน เสนอน้ำชา

(ตามมาตรา 159 พรรค B จะเสนอชื่อน้ำชาได้ เพราะได้เสียงเกินร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 25 คนก็เสนอได้แล้ว และก็มีเสียงพอที่จะรับรอง เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสียงรับรองร้อยละ 10 ของ ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 50 คนก็รับรองได้แล้ว)

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน (ถ้าอ่านแค่มาตรา 107 จะหาว่าผมบิดเบือนเพราะสมาชิกวุฒิสภามี 200 คน แต่ถ้าอ่านมาตรา 269 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล วาระเริ่มแรกสมาชิกวุฒิสภามี 250 คนนะครับ คสช.เป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย) เลือกน้ำชา

ดังนั้นเสียงของน้ำชาจะเป็น 400 และได้เป็นนายก และถ้าเป็นอย่างนั้น หมายความว่า

1. เสียงของประชาชนที่เลือกพรรค A ให้ชนะแบบขาดลอย ไม่มีความหมาย
2. น้ำชาจะเป็นนายกที่ลำบากมาก เนื่องจากมีเสียงสส.ในมือน้อยมาก แล้วจะทำงานกันได้ไหม

ไม่รู้เข้าใจถูกไหม ใครตอบได้บ้าง เห็นเขาว่าพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะมาตอบคำถามที่ ThaiPBS ใครมีเวลาว่างช่วยโทรเข้าไปถามหน่อยได้ไหมครับ 

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อ่านร่างรัฐธรรมนูญจบแล้วพร้อมจะไปลงมติแล้ว

ไม่ได้เขียนบล็อกนานอีกตามเคย นอกจากไม่มีเวลาแล้ว หัวข้อที่อยากจะเขียนก็รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเขียนในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ส่วนเรื่องที่จะเขียนในวันนี้ ก็ตั้งใจว่าถ้าไม่ได้อ่านร่างฉบับจริงจนจบก็จะไม่เขียน

ก่อนที่ผมจะเริ่มอ่านรัฐธรรมนูญผมก็ถามตัวเองว่านี่เราจะเสียเวลามาอ่านไอ้ร่างนี่ดีไหม เพราะอายุมันก็อาจไม่กี่ปี เดี๋ยวก็อาจมีคนลุกขึ้นมาฉีกมันอีก อย่าว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลยครับ ผมเคยมองในแง่ดีว่า หลังจาก พฤษภา 2535 ประเทศเราผมหมายถึงทุกฝ่ายน่าจะได้เรียนรู้กันแล้ว ประเทศเราไม่น่ามีรัฐประหารกันอีก แต่สุดท้ายผมก็คิดผิด

ผมมองว่าปัญหาของประเทศที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่าผมคิดไม่ผิดนะ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญมันแก้ปัญหาได้จริง ทำไมยังมีความกลัวกันว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วเหตุการณ์จะกลับไปวุ่นวาย จนถึงกับต้องพยายามหาทางร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทเฉพาะกาลเอาไว้ มีคำถามพ่วงโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรก ซึ่งผมว่ามันไม่มีเหตุผลเอาเลย สมมติมันคุมได้จริง แต่หลังจากผ่านช่วงควบคุมไปแล้วล่ะ มันก็อาจกลับมาวุ่นกันได้ใช่ไหม

ผมเคยคิดว่าจริง ๆ ถ้ามันไม่สำคัญก็ออกไปเสี่ยงหัวก้อยเอาดีไหม หรืออย่างผมที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารควรจะไปออกเสียงเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วยดีไหม แต่ก็ไม่รู้จะออกเสียงยังไงว่าไม่เห็นด้วยเพราะมันก็มีกระแสไม่รับเพื่อให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อ แต่เหตุผลที่ผมตัดสินใจอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คือบรรยากาศการลงประชามตินี่แหละครับ คือมันไม่มีความเสรีในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่คนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างมักจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐว่าบิดเบือน ในอีกมุมหนึ่งก็มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายที่ร่างหรือฝ่ายที่เห็นด้วยออกมา และก็ถูกโจมตีเหมือนกันว่าบิดเบือนเกินความจริง แล้วก็มีคำพูดเท่ ๆ ออกมาประมาณว่าตัดสินใจด้วยตัวเองอย่าให้ใครชี้นำ ผมก็ถามตัวเองว่าประชาชนจะตัดสินใจยังไงกันไม่มีข้อมูลอะไรสักอย่าง ไอ้ข้อมูลที่ฟังมาก็ถูกหาว่าบิดเบือน อยากจะฟังความคิดเห็นอย่างเสรีก็หาฟังได้ยากเหลือเกิน หลายคนโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก ผมก็ชักอยากรู้ความจริงก็เลยตัดสินใจอ่าน

วิธีการที่จะอ่านร่างก็คือเข้าเว็บกกต. แล้วโหลดมาอ่านครับ ผมเริ่มดาวน์โหลดเมื่อเสาร์ที่แล้ว อ่านไปได้หน่อยนึงแล้วก็ไม่ว่างอ่านต่อ จนพยายามทำตัวให้ว่างเพื่อให้ได้อ่านเมื่อวานนี้ครับเริ่มอ่านตั้งแต่สักสี๋โมงเย็นไปจนเสร็จใกล้ ๆ เที่ยงคืน บอกเลยว่าไม่เคยอ่านหนังสือความยาว 105 หน้า ภาษาไทย ช้าแบบนี้มาก่อน เพราะมันเป็นภาษากฏหมายอ่านเข้าใจยาก แล้วก็ยังมีการอ้างถึงมาตราที่ผ่านมาแล้ว หรือมาตราที่อยู่ถัดไป ก็ต้องเลื่อนไปเลื่อนมา ยังนึกในใจว่าทำไม กกต. ไม่ทำเป็น Hypertext หน่อยจะได้ตามง่าย ๆ

อ่านจบแล้วก็ต้องบอกว่าพอเข้าใจคร่าว ๆ ครับ เพราะหลายอย่างก็เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งผมว่านักกฎหมายก็อาจตีความกันคนละทางก็ได้  ถ้าทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันหมดก็คงไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ และก็ทำให้คิดว่าทำไมถึงไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ และไอ้ที่ว่าบิดเบือนนี่มันเพราะมองกันคนละมุม มองกันคนละมาตราหรือเปล่า อีกอย่างก็ได้เห็นเรื่องบางเรื่องอย่างมาตรการการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วก็ขำว่าเฮ้ยเรื่องแบบนี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยเหรอ

ยังไงก็ตามการอ่านจนจบทำให้ผมคิดว่าตัวเองก็พอจะมีฐานความรู้ที่คิดว่าพอจะบอกได้ว่าอะไรที่มันไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้เลย แล้วไปแต่งเติมขยายความกัน อะไรน่าจะเป็นมุมมองที่แตกต่าง และก็ทำให้ตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล (ตามความเข้าใจของตัวเองซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้) บนร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่าผมจะรับหรือไม่รับร่างนี้

ถ้าถามว่าผมจะรับหรือไม่ผมคงไม่ตอบในบล็อกนี้นะครับ แต่วิธีคิดของผมจะไม่พิจารณาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเช่นปราบโกง แล้วไม่สนใจประเด็นอื่นเลยอย่างเรื่องการเมือง อย่างประเด็นปราบโกงผมว่าที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่คำถามคือคนที่มีอำนาจใช้ใช้มันอย่างไรมากกว่า และจากที่อ่านผมก็ไม่เห็นว่ามันจะยิ่งใหญ่อย่างที่หลาย ๆ คนพูดกัน และไม่คิดว่ามันจะปราบการทุจริตคอรัปชันให้หมดไปได้หรอก ส่วนเรื่องการเมืองผมมองว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมแบบยุคเก่า ๆ มีเยอะมาก ซึ่งก็คงเป็นความตั้งใจของผู้ร่างที่คิดว่าการที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากไปมันเป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องถามว่าคนที่เคยผ่านยุครัฐบาลแบบที่พรรคแกนนำมีเสียงไม่มาก จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมนั้นมันมีปัญหายังไง แล้วคิดว่าแบบไหนดีกว่า ดังนั้นที่ผมทำก็คือพิจารณาข้อที่คิดว่าดีและเสียและให้น้ำหนักในหลาย ๆ ด้านประกอบกัน แต่ถ้าใครจะมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นหลักก็ไม่ผิดนะครับ เช่นจะมองเรื่องปราบโกง เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือสวัสดิการอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่เลยครับ

อ้อ แล้วอย่าลืมคำถามพ่วงด้วยนะครับ คำถามพ่วงสรุปง่าย ๆ ก็คือเห็นด้วยไหมใน 5 ปีแรกที่จะให้สว.มีส่วนร่วมในการโหวตนายก ซึ่งประเด็นนี้ผมขอเพิ่มเติมว่าตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญนี้ สว. ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 269 จะได้มาจากการตัดสินใจของคสช. ในขั้นสุดท้าย และ 5 ปี หมายความว่า สว. จะสามารถร่วมเลือกนายกได้สองครั้ง ถ้ารัฐบาลชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่าสองครั้งถ้าใน 5 ปีนี้ มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งใหม่กันหลายครั้ง

สุดท้ายผมก็ยังเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารัฐธรรมนูญนี้ (ถ้าผ่าน) ก็คงถูกฉีกทิ้งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ยังไงผมก็อยากให้ทุกคนที่สามารถอ่านได้อ่านนะครับ แล้วก็ไปแสดงความเห็นของเราต่อร่างนี้โดยไม่ต้องเอาเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากที่เขียนอยู่ในร่างนี้ อย่างน้อยก็ให้คนที่เขาเสียเวลาร่างขึ้นมาและคนที่เข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศ ได้เห็นความคิดของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ครับ  อย่าลืมนะครับ อาทิตย์ 7 สิงหาคม 2559 8.00-16.00 ครับ




วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย

ผมไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก เนื่องจากไม่ว่าง บวกกับไม่ค่อยมีอารมณ์อยากจะเขียน เพราะบรรยากาศในตอนนี้มันไม่อำนวยให้เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน แต่เรื่องนี้คงไม่เขียนไม่ได้ครับ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้วคือเรื่องนี้ครับ  เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? สำหรับคนที่ไม่อยากเข้าไปอ่านก็ขอสรุปให้ตรงนี้นิดหนึ่งครับคือ บริษัท Dynamic Advances ได้ยื่นฟ้องบริษัท Apple เรื่องการละเมิดสิทธิบัตรงานวิจัยที่ชื่อว่า Natural Language Interface โดยบริษัทได้ฟ้อง Apple ว่าได้นำงานวิจัยนี้ไปใช้กับ Siri โปรแกรมผู้ช่วยแสนฉลาดที่ผู้ใช้ iOS ทุกคนคงรู้จักดี ซึ่งสิทธิบัตรตัวนี้ถูกจดโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่  New York คือ Professor Cheng Hsu และนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พูดง่าย ๆ ว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของนักวิจัยชาวไทยโดยตรงเลยครับ

และในวันนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะได้ข้อยุติแล้วครับ โดยข้อมูลจาก timesunion บอกว่า Apple ได้ยอมตกลงที่จะจ่ายเงิน 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะยุติคดีนี้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล ตามข่าวเขาบอกว่าโฆษกของทาง RPI กับ Apple ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติมกับข่าวนี้ ซึ่งถ้าจบแบบนี้ก็หมายความว่าส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของ Siri ด้วย เป็นผลงานของนักวิจัยไทยเรานี่เอง  ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของรศ.ดร.วีระ บุญจริง และเคยมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในงานนี้ ก็อดที่จะภูมิใจด้วยไม่ได้ครับ นับว่าเป็นข่าวดี ๆ ที่น่าเขียนถึงในช่วงนี้จริง ๆ ครับ

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จตุรัสกล เอ็งโกว และการทบทวนวรรณกรรม

ผมไม่ได้เขียนบล็อกพูดคุยเรื่องอะไรมาซะนานเลยนะครับ หลัง ๆ ก็จะเขียนสรุปข่าวมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่า แต่เอาเข้าจริง ๆ แม้แต่สรุปข่าวหลัง ๆ ก็ไม่ได้เขียน ไม่รู้เวลามันหายไปไหนหมด หรือบริหารไม่ดีไม่รู้ เอาเถอะไหน ๆ วันนี้ก็เขียนแล้ว ก็เลิกบ่นตัวเองดีกว่าเนอะครับ

เห็นหัวข้อวันนี้แล้วก็อาจจะงงนะครับว่าวันนี้ผมจะพูดคุยเรื่องอะไร เรื่องของเรื่องก็คือผมกำลังเตรียมเรื่องที่จะพูดในวันปฐมนิเทศของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ ซึ่งหัวข้อที่จะพูดอันหนึ่งก็คือเรื่องความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมในการทำวิจัย ซึ่งความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมประการหนึ่งก็คือเราจะได้รู้ว่าใครทำอะไรไปบ้างแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานซ้ำกับเขาอีก ก็เลยคิดว่าเอามาเขียนลงบล็อกด้วยก็น่าจะดี

นั่งคิดอยู่สักครู่ว่าจะยกตัวอย่างอะไรดีนะให้เข้าใจง่าย ๆ ในหัวมันก็แว่บขึ้นมาถึงฉากหนึ่งในเรื่องมังกรหยก ภาคของก๊วยเจ๋ง (ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ) ไม่ทราบว่าพวกเรายังมีใครอ่านเรื่องนี้กันบ้างไหมครับ หรือคงเคยดูหนัง ดูซีรีย์เรื่องนี้กันมาบ้างมั้งครับ เพราะสร้างมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก (จนตอนนี้เด็กที่ตัวเองมีก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสร้างอยู่) รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่จะประทับใจภาคเอี้ยก้วยมากกว่า แต่ส่วนตัวผมชอบภาคก๊วยเจ๋งที่สุด จริง ๆ ก๊วยเจ๋งนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ได้ฉลาดเป็นอัจฉริยะ แต่ขยันและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนะครับ จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นยอดฝีมือที่เก่งที่สุด เทียบกับแฟน (ภรรยา) ของเขาคืออึ้งย้ง ซึ่งฉลาดมาก แต่ความพยายามไม่มีเท่า ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีทั้งพ่อทั้งแฟนที่เก่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่สนใจที่จะต้องพยายามอะไรมากมาย ดังนั้นนักวิจัยทั้งหลายก็ควรจะเอานิสัยของก๊วยเจ๋งมาใช้นะครับ

ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาต่อครับ เอาเป็นว่าก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง (ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากฝ่ามือเหล็กลอยน้ำ ฮิวโชยยิ่ม) ทำให้ก๊วยเจ๋งต้องแบกอึ้งย้งหลบหนี จนหลบเข้าไปยังที่พักของเอ็งโกว ซึ่งเรียกตัวเองว่าเทพคำนวณ และสร้างค่ายคูประตูกลป้องกันที่พักตัวเองเอาไว้ (รายละเอียดว่าเอ็งโกวทำไมต้องมาเก็บตัวอยู่นี่ ใครสนใจก็คงต้องไปอ่านหนังสือเอานะครับ รับรองสนุกมาก ขืนเล่าหมดบล็อกนี้จะกลายเป็นเล่าเรื่องมังกรหยกไป) ซึ่งค่ายคูประตูกลของเอ็งโกวย่อมไม่สามารถป้องกันความสามารถของอึ้งย้ง ซึ่งศึกษาค่ายคูประตูกลมาตั้งแต่เด็กได้ บวกกับวิชาตัวเบาของก๊วยเจ๋งซึ่งเทพมาก ทำให้ทั้งคู่เข้ามายังที่อยู่ของเอ็งโกวได้ จากนั้นอึ้งย้งยังได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ จนเทพคำนวณหงอยไปเลย คราวนี้เอ็งโกวก็นึกขึ้นได้ว่า มันต้องมีอันนี้แหละที่จะเอาชนะอึ้งย้งได้ ก็ตั้งคำถามท้าทายอึ้งยงดังนี้ครับ

"หากจัดเรียงหนึ่งถึงเก้าเป็นสามแถว ไม่ว่านับทางแนวขวางและแนวทแยง เลขทั้งสามจะต้องรวมกันได้สิบห้า จะจัดเรียงอย่างไร" 1 กะว่าอึ้งย้งเสร็จแน่คราวนี้ ซึ่งคำถามของเอ็งโกวก็คือจตุรัสกล 3X3 นั่นเอง

อึ้งย้งฟังแล้วก็คิดว่ามันยากตรงไหนนี่ เล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยร้องออกมาเป็นเพลงว่า "ความหมายของเก้าปราสาท แบบแผนเช่นเต่าวิเศษ สองหกเป็นไหล่ สี่แปดเป็นขา ซ้ายเก้าขวาหนึ่ง ทูนเจ็ดเหยียบสาม ห้าดำรงอยู่กลาง" 1 ซึ่งจากคำร้องของอึ้งย้งจตุรัสกลจะมีหน้าตาดังนี้ครับ
 
2 7 6
9 5 1
4 3 8

เอ็งโกวสตั๊นไปหลายนาที แล้วก็พูดออกมาว่า "เราเข้าใจว่านี่เป็นแนวทางที่เราคิดขึ้น ที่แท้มีบทเพลงเผยแพร่ในโลกกว้างแต่แรก" 1 อึ้งย้งยังตอกย้ำไปอีกนะครับว่า นอกจาก 3X3 แล้วยังมี  4X4 5X5 และขยายไปได้จนถึงเลข 1 ถึง 72 ซึ่งเรียกว่าแผนภาพลกจือ 1 จากคำพูดของเอ็งโกวคงเห็นแล้วนะครับว่าถ้าเราไม่ทำการทบทวนวรรณกรรม เราก็จะไม่ต่างจากเอ็งโกวไม่รู้ว่าในโลกเขามีอะไรบ้าง มัวแต่ไปเสียเวลาคิดอะไรที่โลกเขาคิดไปไกลถึงไหน ๆ แล้ว

ในยุคของเอ็งโกวไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี Google ถ้ามีเอ็งโกวก็คงไม่ต้องมืดบอดไปถึงขนาดนี้ พวกเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลหาได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นก็ใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่นะครับ...  

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1.น.นพรัตน์ (แปล) "ไตรภาคมังกรหยก ชุดที่ 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ เล่ม 3" สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ พ.ศ. 2546