ก่อนที่ผมจะเริ่มอ่านรัฐธรรมนูญผมก็ถามตัวเองว่านี่เราจะเสียเวลามาอ่านไอ้ร่างนี่ดีไหม เพราะอายุมันก็อาจไม่กี่ปี เดี๋ยวก็อาจมีคนลุกขึ้นมาฉีกมันอีก อย่าว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลยครับ ผมเคยมองในแง่ดีว่า หลังจาก พฤษภา 2535 ประเทศเราผมหมายถึงทุกฝ่ายน่าจะได้เรียนรู้กันแล้ว ประเทศเราไม่น่ามีรัฐประหารกันอีก แต่สุดท้ายผมก็คิดผิด
ผมมองว่าปัญหาของประเทศที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่าผมคิดไม่ผิดนะ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญมันแก้ปัญหาได้จริง ทำไมยังมีความกลัวกันว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วเหตุการณ์จะกลับไปวุ่นวาย จนถึงกับต้องพยายามหาทางร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทเฉพาะกาลเอาไว้ มีคำถามพ่วงโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรก ซึ่งผมว่ามันไม่มีเหตุผลเอาเลย สมมติมันคุมได้จริง แต่หลังจากผ่านช่วงควบคุมไปแล้วล่ะ มันก็อาจกลับมาวุ่นกันได้ใช่ไหม
ผมเคยคิดว่าจริง ๆ ถ้ามันไม่สำคัญก็ออกไปเสี่ยงหัวก้อยเอาดีไหม หรืออย่างผมที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารควรจะไปออกเสียงเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วยดีไหม แต่ก็ไม่รู้จะออกเสียงยังไงว่าไม่เห็นด้วยเพราะมันก็มีกระแสไม่รับเพื่อให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อ แต่เหตุผลที่ผมตัดสินใจอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คือบรรยากาศการลงประชามตินี่แหละครับ คือมันไม่มีความเสรีในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่คนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างมักจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐว่าบิดเบือน ในอีกมุมหนึ่งก็มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายที่ร่างหรือฝ่ายที่เห็นด้วยออกมา และก็ถูกโจมตีเหมือนกันว่าบิดเบือนเกินความจริง แล้วก็มีคำพูดเท่ ๆ ออกมาประมาณว่าตัดสินใจด้วยตัวเองอย่าให้ใครชี้นำ ผมก็ถามตัวเองว่าประชาชนจะตัดสินใจยังไงกันไม่มีข้อมูลอะไรสักอย่าง ไอ้ข้อมูลที่ฟังมาก็ถูกหาว่าบิดเบือน อยากจะฟังความคิดเห็นอย่างเสรีก็หาฟังได้ยากเหลือเกิน หลายคนโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก ผมก็ชักอยากรู้ความจริงก็เลยตัดสินใจอ่าน
วิธีการที่จะอ่านร่างก็คือเข้าเว็บกกต. แล้วโหลดมาอ่านครับ ผมเริ่มดาวน์โหลดเมื่อเสาร์ที่แล้ว อ่านไปได้หน่อยนึงแล้วก็ไม่ว่างอ่านต่อ จนพยายามทำตัวให้ว่างเพื่อให้ได้อ่านเมื่อวานนี้ครับเริ่มอ่านตั้งแต่สักสี๋โมงเย็นไปจนเสร็จใกล้ ๆ เที่ยงคืน บอกเลยว่าไม่เคยอ่านหนังสือความยาว 105 หน้า ภาษาไทย ช้าแบบนี้มาก่อน เพราะมันเป็นภาษากฏหมายอ่านเข้าใจยาก แล้วก็ยังมีการอ้างถึงมาตราที่ผ่านมาแล้ว หรือมาตราที่อยู่ถัดไป ก็ต้องเลื่อนไปเลื่อนมา ยังนึกในใจว่าทำไม กกต. ไม่ทำเป็น Hypertext หน่อยจะได้ตามง่าย ๆ
อ่านจบแล้วก็ต้องบอกว่าพอเข้าใจคร่าว ๆ ครับ เพราะหลายอย่างก็เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งผมว่านักกฎหมายก็อาจตีความกันคนละทางก็ได้ ถ้าทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันหมดก็คงไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ และก็ทำให้คิดว่าทำไมถึงไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ และไอ้ที่ว่าบิดเบือนนี่มันเพราะมองกันคนละมุม มองกันคนละมาตราหรือเปล่า อีกอย่างก็ได้เห็นเรื่องบางเรื่องอย่างมาตรการการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วก็ขำว่าเฮ้ยเรื่องแบบนี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยเหรอ
ยังไงก็ตามการอ่านจนจบทำให้ผมคิดว่าตัวเองก็พอจะมีฐานความรู้ที่คิดว่าพอจะบอกได้ว่าอะไรที่มันไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้เลย แล้วไปแต่งเติมขยายความกัน อะไรน่าจะเป็นมุมมองที่แตกต่าง และก็ทำให้ตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล (ตามความเข้าใจของตัวเองซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้) บนร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่าผมจะรับหรือไม่รับร่างนี้
ถ้าถามว่าผมจะรับหรือไม่ผมคงไม่ตอบในบล็อกนี้นะครับ แต่วิธีคิดของผมจะไม่พิจารณาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเช่นปราบโกง แล้วไม่สนใจประเด็นอื่นเลยอย่างเรื่องการเมือง อย่างประเด็นปราบโกงผมว่าที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่คำถามคือคนที่มีอำนาจใช้ใช้มันอย่างไรมากกว่า และจากที่อ่านผมก็ไม่เห็นว่ามันจะยิ่งใหญ่อย่างที่หลาย ๆ คนพูดกัน และไม่คิดว่ามันจะปราบการทุจริตคอรัปชันให้หมดไปได้หรอก ส่วนเรื่องการเมืองผมมองว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมแบบยุคเก่า ๆ มีเยอะมาก ซึ่งก็คงเป็นความตั้งใจของผู้ร่างที่คิดว่าการที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากไปมันเป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องถามว่าคนที่เคยผ่านยุครัฐบาลแบบที่พรรคแกนนำมีเสียงไม่มาก จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมนั้นมันมีปัญหายังไง แล้วคิดว่าแบบไหนดีกว่า ดังนั้นที่ผมทำก็คือพิจารณาข้อที่คิดว่าดีและเสียและให้น้ำหนักในหลาย ๆ ด้านประกอบกัน แต่ถ้าใครจะมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นหลักก็ไม่ผิดนะครับ เช่นจะมองเรื่องปราบโกง เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือสวัสดิการอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่เลยครับ
อ้อ แล้วอย่าลืมคำถามพ่วงด้วยนะครับ คำถามพ่วงสรุปง่าย ๆ ก็คือเห็นด้วยไหมใน 5 ปีแรกที่จะให้สว.มีส่วนร่วมในการโหวตนายก ซึ่งประเด็นนี้ผมขอเพิ่มเติมว่าตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญนี้ สว. ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 269 จะได้มาจากการตัดสินใจของคสช. ในขั้นสุดท้าย และ 5 ปี หมายความว่า สว. จะสามารถร่วมเลือกนายกได้สองครั้ง ถ้ารัฐบาลชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่าสองครั้งถ้าใน 5 ปีนี้ มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งใหม่กันหลายครั้ง