วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต้องจ้างเท่าไรให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี

เวลาผ่านไปเร็วมากเผลอแป๊บเดียวเดือนที่สามของปีกำลังจะผ่านไปแล้ว ที่ตั้งใจไว้วางแผนไว้ก็ยังไม่ได้ทำตามเป้าหมายสักเท่าไรเลยครับ เรื่องบล็อกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยังทำไม่ได้ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนอย่างน้อยสัปดาห์ละเรื่องแต่ตอนนี้ก็เว้นไปจะสามเดือนแล้วครับ เอาน่าคราวนี้ขอตั้งมาตั้งใจใหม่รับปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึงแล้วกันครับ

สำหรับวันนี้้ผมอยากจะตั้งคำถามตามชื่อบทความวันนี้ให้คิดกันครับว่า จะต้องจ้างเราสักเท่าไรดีเพื่อให้เราหยุดใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งปี ซึ่งคำถามนี้ผมได้มาจากการอ่านบทความชื่อ How Much Money Would It Take For You to Give Up The Internet For a Year?   ซึ่งผู้เขียนบทความได้นำผลสำรวจจาก Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งได้สอบถามคำถามนี้กับประชาชนในกลุ่มประเทศ G-20 ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นดังนี้ครับ ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ $1,430 หรือประมาณ 44,330 บาท ถ้าแยกเป็นประเทศก็มีตัวอย่างดังนี้ครับ $323 ในตุรกี $1,215 ในแอฟริกาใต้ $1,287 ในบราซิล $4,453 ในฝรั่งเศส $3,450 ในอังกฤษ และ $2,500 ในสหรัฐอเมริกา

เห็นข้อมูลนี้แล้วคิดยังไงกันบ้างครับมากไปหรือน้อยไป สำหรับผมกับเจ้าของบทความคิดตรงกันครับว่ามันค่อนข้างจะน้อยเกินไป และที่น่าประหลาดใจก็คือที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยี ค่าเฉลี่ยต่ำมากครับคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 77,500 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งถ้ามาจ้างผมเท่านี้ผมปฏิเสธโดยไม่ต้องคิดเลยครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมผมถึงคิดว่ามันต่ำครับ ก่อนอื่นต้องแยกประเด็นก่อนนะครับว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ แต่เป็นกรณีที่มีให้ใช้ คนอื่นใช้แต่เราไม่ได้ใช้ ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีใช้นี่ผมอยู่ในยุคนั้นมาแล้ว ยุคที่การหาข้อมูลยังต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดเป็นหลัก ต้องสั่งหนังสือผ่านร้านหนังสือรอกันทีเป็นเดือน ยุคที่ต้องถ่ายเอกสารรูปจากหนังสือมาลงแผ่นใสเพื่อสอน ดังนั้นผมเชื่อว่าผมอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนอื่นเขาใช้และเราไม่ได้ใช้ผมคิดว่ามันทำให้เราเสียประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินชีวิตไปเลยนะครับ ในขณะที่คนอื่นเขาสามารถค้นข้อมูลที่ต้องการได้ภายในไม่กี่นาที สามารถสั่งอีบุ๊คมาอ่านได้ทันที สามารถติดต่อสื่อสารได้ตามต้องการ เราต้องขับรถ ขึ้นรถไฟฟ้า ปั่นจักรยานหรือเดินไปห้องสมุด ซึ่งข้อมูลที่ได้จากห้องสมุดก็อาจไม่ทันสมัย เราต้องรอหนังสือที่สั่งไปประมาณอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์  เราต้องติดต่อธุรกิจกับคนอื่นผ่านทางไปรษณีย์แบบด่วนทันใจ (ems) :) ซึ่งคงไม่ทันใจเท่าไรแล้วในยุคนี้ แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ :(

ถ้าถามว่าเท่าไรถึงจะจ้างผมได้  ผมยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดครับแต่คิดว่าไม่น่าต่ำกว่าเจ็ดหลัก (มากไปเปล่าเพ่...) และมันขึ้นอยู่กับอีกคำถามหนึ่งซึ่งเจ้าของบทความเขาก็ถามทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า "แล้วจะทำได้หรือ?" นั่นสิแล้วผมจะทำได้หรือ ผมจะทนพลาดดราม่าต่าง ๆ บน twitter และ facebook ได้ยังไงกัน!

วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

การใช้รหัสผ่านล้าสมัยแล้ว

เราใช้รหัสผ่านเป็นพื้นฐานด้านความมั่นคงมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปัญหาของรหัสผ่านก็คือตัวผู้ใช้อาจตั้งรหัสผ่านที่เดาได้ง่าย หรืออาจใช้รหัสผ่านตัวเดียวกันกับเกือบทุกระบบตั้งแต่ Facebook ไปจนถึงระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน ถึงแม้จะมีงานวิจัยที่แนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่มีความยาวตั้งแต่ 12 ตัวขึ้นไป และให้มีการผสมกันระหว่างตัวเลข อักขระ และอักขระพิเศษ แต่จะมีผู้ใช้สักกี่คนที่ทำตาม ยิ่งไปกว่านั้นต่อให้ผู้ใช้ทำตาม ก็ยังอาจจะถูกสารพัดวิธีที่รหัสผ่านอาจถูกขโมยไป เช่นถูกโทรจันมาแอบดักจับการกดแป้นพิมพ์ หรืออาจถูกหลอกไปเข้าเว็บ Phishing ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าน่าจะหมดยุคของการที่เราจะพึ่งพาความมั่นคงของระบบโดยใช้รหัสผ่านแล้ว ซึ่งวิธีการที่ดีกว่าก็อาจเป็นวิธีการที่บริษัทบัตรเครดิตใช้นั่นคือ การดูพฤติกรรมของผู้ใช้ โดยจะต้องมีระบบที่ติดตั้งเพื่อดูการใช้งานระบบของผู้ใช้ ถ้าผู้ใช้มีพฤติกรรมที่แปลก ๆ ไปจากเดิม เช่นส่งจดหมายเข้ารหัสไปยังที่อยู่ที่ดูไบ :) ก็น่าจะคิดได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่จะต้องป้องกันและมีการสอบสวน

ระบบนี้ถ้าใช้จริงผมว่าน่าจะต้องมีปัญหาเรื่องละเมิดความเป็นส่วนตัวแน่ แต่ก็อย่างว่าแหละที่เราใช้ ๆ กันอยู่ทุกวันนี้ผมว่าเราก็คงโดนเก็บพฤติกรรม หรือข้อมูลการใช้งานจากระบบต่าง ๆ ไปไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว และถ้าเรารู้เราก็โวยวายกันทีหนึ่ง เขาก็บอกว่าไม่เก็บแล้ว แต่จริง ๆ อาจแอบเก็บอีกก็ได้ ดังนั้นจะเก็บไปอีกสักหน่อยก็คงไม่เป็นไรหรอกมั๊ง หรือพวกเราว่ายังไงครับ ส่วนผมเป็นพวกมีพฤติกรรมแปรปรวนดังนั้นระบบนี้อาจมีปัญหากับผมก็ได้นะครับนี่ ...

ที่มา: TechRepublic

การรวมกันของ Linux กับ Android

เคอร์เนลรุ่นล่าสุดของ Linux คือ รุ่น 3.3 ได้รวมโค้ดของ Android เข้ามาด้วย ซึ่งการรวมกันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้พัฒนาโปรแกรมทั้งสองฝั่งที่จะพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายขึ้น โดยทางฝั่ง Google ก็จะได้ประโยชน์จากการที่ได้ใช้สิ่งที่เพิ่มเข้ามาในส่วนโค้ดหลักของ Linux ได้เร็วขึ้น และไม่ต้องกังวลกับการปรับโค้ดของตัวเองให้เข้ากับโค้ดหลัก ส่วนฝั่งที่พัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้ Linux ก็จะสามารถใช้คุณสมบัติด้านอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ง่ายโดยไม่ต้องไปค้นหาเอาจากส่วนที่เป็นโค้ดของ Google เหมือนแต่ก่อน

ก็น่าจะเป็นข่าวดีนะครับ ส่วนผมไม่ได้เป็นผู้พัฒนาอะไรที่ลึกซึ้ง เป็นแค่ผู้ใช้ที่รอวันที่จะสามารถเลือกติดตั้งระบบปฎิบัติการยี่ห้อต่าง ๆ ลงในมือถือของผมอย่างง่าย ๆ  เหมือนกับที่ติดตั้งระบบปฎิบัติการลงคอมพิวเตอร์อย่างทุกวันนี้ก็พอแล้ว

ที่มา : C-Net News

วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มองย้อนปีเก่า 2554 พร้อมก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2555

ก่อนอื่นก็ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ก่อนนะครับ ขอให้มีความสุข สุขภาพแข็งแรง และประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาที่เป็นสิ่งดี ๆ ครับ เวลาผ่านไปเร็วจริง ๆ ครับ เหมือนกับเพิ่งผ่านบรรยากาศปีใหม่ปีที่แล้วไปไม่นานนี้เอง ช่วงที่ผมหนีน้ำท่วมไปอยู่บ้านพี่สาวของภรรยาเมื่อเดือนที่แล้ว เห็นป้ายที่หมู่บ้านเขียนเชิญชวนร่วมงานปีใหม่ ตอนแรกผมนึกว่าเป็นป้ายเก่าที่ยังไม่ได่้เก็บ แต่พอเดินเข้าไปดูเออนี่มันของใหม่นี่ และ (ตอนนั้น) มันเดือน พ.ย. แล้ว

ถ้าย้อนกลับไปดูปีที่กำลังจะผ่านไปจะเห็นว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายเริ่มตั้งแต่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่  และเราได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก จนมาถึงมหาอุทกภัยที่สร้างความเดือนร้อนไปทั่วประเทศ สิ่งที่ผมได้เห็นจากเหตุการณ์เหล่านี้ประเด็นใหญ่ก็คือ นักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมถึงข้าราชการประจำของเราหลายคนยังไม่มีคุณภาพ การแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ที่น่าภาคภูมิใจก็คือบรรดาจิตอาสาทั้งหลายซึ่งหลายคยเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งในตอนที่สถานการณ์ปกติพวกผู้ใหญ่หลายคนอาจจะรู้สึกหนักใจ เพราะเห็นว่าพวกนี้เป็นเด็กไร้สาระเอาแต่เล่นเกมเล่นเฟซบุ๊ค แต่พอถึงสถานการณ์พวกเขาก็แสดงพลังให้เห็นโดยไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย ดีกว่าผูํ้ใหญ่บางคนที่ยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ

แต่สิ่งที่ผมหนักใจมากที่สุดก็คือการแสดงความเห็นและข้อมูลที่ส่งผ่านกันผ่านทางเครือข่ายสังคม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแตกแยกในสังคมนั้นยังคงมีอยู่ หลาย ๆ คนแสดงความเห็นต่อข้อมูลที่ได้เห็นด้วยความรวดเร็วโดยขาดการไตร่ตรอง การแสดงความเห็นนั้นหลาย ๆ ครั้งเกิดจากอคติส่วนตัวของตัวเอง คือถ้ามีข้อมูลที่ไม่ดีเกี่ยวกับฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ ก็พร้อมที่จะช่วยถล่มซ้ำ ในขณะที่ฝ่ายที่ตัวเองชอบจะทำอะไรผิดพลาดก็พร้อมที่จะมองข้ามไปหรือหนักกว่านั้นก็ไปกล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากอีกฝั่งหนึ่ง หลาย ๆ ครั้งข้อมูลบางอย่างที่ได้มาถ้าทำใจเป็นกลางก็อาจฉุกคิดสักหน่อยได้ว่าเอมันจริงหรือ

ที่หนักไปกว่านั้นความรู้สึกของคนเมืองที่นึกว่าตัวเองฉลาดกว่าคนชนบทก็ยังมีอยู่ และแสดงออกมาอย่างชัดแจ้งผ่านทางความเห็นประเภทเพราะคน ... เลือกคน ... เข้ามาบริหารประเทศถึงได้เป็นอย่างนี้ ทั้งที่ความจริงฝ่ายที่ตัวเองคิดว่าดีกว่าก็เคยทำหน้าที่มาแล้ว และจริง ๆ ก็ไม่ได้ดีกว่า บางคนที่เป็นคนมีชื่อเสียงในสังคม ถึงกับหลุดด่าคำรุนแรงอย่างคำว่าโง่ออกมา และก็มีแนวร่วมเข้าไปช่วยกันซ้ำแถมเชียร์ว่าเป็นคนเก่งคนกล้า ทั้งที่การกระทำอย่างนั้นไม่น่าจะได้รับความชื่นชมแต่อย่างใด ผมไม่ได้บอกว่าจะตำหนิหรือวิจารณ์การทำงานไม่ได้นะครับ เพราะผมก็ติไปเยอะ แต่จะติก็ให้ติไปที่ผลงานของเขา อย่าไปติหรือจิกหัวด่าไปที่ตัวบุคคล ถามตัวเองครับว่าคุณเป็นใครมีสิทธิอะไรไปจิกหัวด่าเขา หรือไปเรียกผู้บริหารบ้านเมือง (กทม.) ว่าไอ้เอ๋ออย่างนี้นี่มันอะไรกัน ถ้ามีใครมาเรียกคุณอย่างนี้บ้างมาด่าคุณว่าโง่บ้างคุณรู้สึกอย่างไร ถ้าจะให้ดีติแล้วเสนอทางแก้ที่คิดว่าน่าจะดีกว่าออกมาด้วย นอกจากนี้ยังมีคำพูดประเภทว่าดูซิปล่อยปละละเลยให้น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม ให้น้ำท่วมเมืองหลวง ทั้งที่ก็เห็นอยู่ว่าเขาพยายามป้องกันอยู่ แต่ด้วยความผิดพลาดหรือไร้ประสบการณ์อะไรก็ตามทำให้มันไม่สำเร็จ

เอาล่ะครับนั่นมันก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วเรามามองไปปีหน้ากันดีกว่า เริ่มจากในหลวงของเราครับ ผมหวังว่าพระองค์ท่านจะหายจากอาการประชวรมีพระวรกายที่สมบูรณ์ และเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยต่อไปตราบนานเท่านาน

ส่วนเรื่องภัยธรรมชาตินั้นผมก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นร้ายแรงแบบนี้อีก และถ้าเกิดอีกก็หวังว่าภาครัฐจะเอาอยู่จริง ๆ เสียที

ส่วนนักการเมืองก็ขอให้ทำงานโดยเลิกเล่นการเมืองให้นึกถึงประชาชนเป็นหลัก เลิกโต้เถียงกันด้วยเรื่องไร้สาระ  ข้าราชการก็ขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถอย่าเล่นการเมืองตามไปด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมก็ขอให้ปฏิบัติกับทุกฝ่ายอย่างเสมอภาคกันอย่าหลายมาตรฐาน เฮ้อรู้สึกว่าความหวังในส่วนนี้แต่ละข้อน่าจะเป็นไปได้น้อยสุด เอาน่าตั้งความหวังไว้ก่อน


ในส่วนเรื่องความแตกแยก ผมหวังว่าเราเริ่มจากตัวเองก่อนครับ ก่อนจะโพสต์อะไรก็คิดก่อนว่าการโพสต์อย่างนั้นมันได้ประโยชน์อะไรบ้างนอกจากความสะใจ ได้ข้อมูลอะไรมาก็ไตร่ตรองเสียหน่อยหรือตรวจสอบจากหลาย ๆ ทาง หาความรู้ครับว่าสื่อไหนเอียงไปข้างไหน การโพสต์ที่มุ่งโจมตีบุคคล หรือก่อความแตกแยกก็ควรจะเลี่ยงเสีย เวลาอีกฝ่ายหนึ่งจะทำอะไรก็อย่าคิดแต่ค้านอย่างเดียว ลองรับฟังเหตุผล และประเด็นที่เขาต้องการสื่อออกมาดูบ้าง ถ้าทำได้อย่างนี้ผมว่าประเทศของเราจะสงบมากขึ้น และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

ในด้านส่วนตัวเราเองผมว่าพวกเราหลายคนคงตั้งปณิธาณปีใหม่กันแล้วนะครับ ผมก็เช่นกันแต่เวลาปีหนึ่ง ๆ นี่ผ่านไปเร็วมากมีสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำในปีนี้หลายอย่างที่ผมยังทำไม่ได้ ซึ่งถ้าจะแก้ตัวก็น่าจะบอกว่างานเยอะ แต่ปัญหาจริง ๆ น่าจะเกิดจากการบริหารเวลาที่ไม่ดีมากกว่า ก็ตั้งใจว่าปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้จะพยายามทำให้ได้ รวมถึงปรับปรุงนิสัยบางอย่างที่คุณภรรยาออกมาตำหนิด้วย (ไม่ต้องถามนะครับว่าเรื่องอะไร แต่ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ทำการบ้านหรอกครับ ;) )

สำหรับปณิธานเรื่องบล็อก จริง ๆ ผมเป็นคนชอบเขียนชอบเล่านะครับ แต่ด้วยการบริหารเวลาที่ไม่ดีทำให้ไม่สามารถจัดสรรเวลามาเขียนได้มากอย่างที่ตั้งใจ ก็หวังว่าปีใหม่นี้จะเขียนได้มากขึ้น และก็หวังว่ายังจะมีคนอ่านอยู่นะครับ ^^ สำหรับบล็อกนี้ก็จะเน้นไปที่เรื่องทั่ว ๆ ไป หรือเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่ผมพบเจอมาแล้วอยากมาเล่าให้ฟังเหมือนเดิม ส่วนเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ตั้งใจว่าจะไปเปิดขึ้นมาอีกบล็อกหนึ่ง โปรดติดตามครับ บล็อกสรุปย่อเกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วจะอัพเดตมากขึ้นอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และเพิ่งไปเปิดบล็อกเกี่ยวกับทีมโปรดลิเวอร์พูลขึ้นมาเมื่อสักอาทิตย์ก่อน ก็ขอเชิญแฟนหงส์ติดตามไปร่วมแสดงความเห็นได้ครับ

นั่นคือการมองย้อนกลับไปในปีเก่าและเตรียมพร้อมสำหรับปีใหม่ในมุมมองของผมครับ เขียนเสร็จก็เกือบจะปีใหม่พอดี สวัสดีปีใหม่ 2555 ครับ



วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ขั้นตอนวิธีที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในระบบคลาวด์

นักวิจัยจาก Weizmann Institute และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) กำลังจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาขั้นตอนวิธีในการใช้งานข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสอยู่โดยไม่ต้องถอดรหัสก่อน และหลังจากประมวลผลแล้วยังสามารถสร้างผลลัพธ์ที่อยู่ในรูปแบบการเข้ารหัสได้อีกด้วย ซึ่งงานวิจัยนี้มีการนำเสนอในปีพ.ศ. 2552 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford คือ Craig Gentry ขั้นตอนวิธีที่เขานำเสนอนั้นมีชื่อว่า Fully Homomorphic Encryption (FHE) แต่ปัญหาของขั้นตอนวิธีนี้คือมันใช้เวลาในการทำงานนานมาก ซึ่งนักวิจัยจากทั้งสองสถาบันข้างต้นได้ปรับปรุงขั้นตอนวิธีการดังกล่าวให้ใช้เวลาประมวลผลน้อยลงโดยใช้วิธีการทางคณิตศาตร์ที่ีง่ายขึ้น ซึ่งตามข่าวบอกว่าอาจเร็วขึ้น 100 เท่า หรือ อาจถึง 1000 เท่า ผลที่ได้จากงานวิจัยนี้จะมีประโยชน์กับงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันนี้ข้อมูลต่าง ๆ นิยมเก็บไว้ในระบบคลาวด์ โดยข้อมูลถึงจะเข้ารหัสเอาไว้แต่ในวิธีการใช้งานแบบดั้งเดิมถ้าจะใช้ข้อมูลต้องถอดรหัสข้อมูลก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจเป็นปัญหาด้านความปลอดภัยได้ งานวิจัยนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้

ที่มา: Weizmann Wonder Wander