วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

Google ยังแก้ปัญหาอคติทางเพศจากการค้นรูปด้วยคำว่า "CEO" ไม่ได้

Google-CEO-image-search
ภาพจาก University of Washington News

นักวิจัยจาก University of Washington (UW) ได้หักล้างคำกล่าวอ้างของ Google ว่าได้แก้ไขอคติทางเพศสำหรับการค้นคำที่เกี่ยวกับงานซึ่งถูกค้นพบโดยทีม UW อีกทีมในปี 2015 นักวิจัยแสดงให้เห็นว่า Google แก้ไขปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยจากรูปจะเห็นว่าทางซ้ายเป็นผลการค้นหาด้วยคำว่า CEO ซึ่ง Google บอกแก้ปัญหาแล้วจะเห็นว่ามีผู้หญิงออกมาตามสถิติที่แท้จริง แต่นักวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเพิ่มคำค้นหาอื่นๆ ให้กับอาชีพนี้ เช่น "CEO + United States" จะได้ภาพถ่ายของบุคคลเป็นผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ความลำเอียงนี้ยังคงปรากฏอยู่ในเครื่องมือค้นหาสำคัญ ๆ อีกสี่ตัว รวมทั้ง Google ด้วย 

"เราต้องการแสดงให้เห็นว่านี่เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นระบบสำหรับข้อความค้นหาทั้งหมด แทนที่จะต้องแก้ไขด้วยวิธี 'ตีตัวตุ่น (whack-a-mole)' แบบนี้ ทีละปัญหา Chirag Shah แห่ง UW กล่าว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Washington News

เพิ่มเติมเสริมข่าว: เกมตีตัวตุ่น (whack-a-mole) คิดว่าคงเคยเล่นกันนะครับ ที่มันมีตัวตุ่นอยู่ในรูแล้วมันจะสุ่มโผล่ขึ้นมาให้เราตี 

วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

ตัวแบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้รักษามะเร็งระบุการผสมยาเพื่อรักษาโควิด-19

cancer-model
ภาพจาก  University College London (U.K.)

นักวิจัยจาก University College London (UCL) ของสหราชอาณาจักร ระบุยาชนิดใหม่ที่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อ COVID-19 ที่รุนแรงในระยะต่าง ๆ ได้ นักวิจัยประสบความสำเร็จครั้งนี้โดยการปรับตัวแบบคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัย UCL ก่อนหน้าที่ใช้ในการจำลองวิถีทางชีวเคมีและเมแทบอลิซึมของเซลล์ซึ่งมีผลกระทบต่อการกลายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

นักวิจัยใช้ตัวแบบนี้เพื่อศึกษาผลของสารประกอบ 9,870 คู่ที่ออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายเซลล์ที่มีศักยภาพ 140 เป้าหมาย ซึ่งทำให้เกิดการผสมผสานของการบำบัดแบบใหม่ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นหรือช่วงปลายของโควิด-19

Jasmin Fisher แห่ง UCL กล่าวว่า "ตัวแบบของเราเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการจัดลำดับความสำคัญของยาสำหรับการประเมินเป็นการรักษาโควิด-19 และยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับยาที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University College London (U.K.)

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

นักดนตรีและนักเคมีในอิลลินอยส์ใช้เสียงช่วยให้เข้าใจวิทยาศาสตร์ดีขึ้น

UIUC
Photo by Miguel Valencia on Unsplash

นักดนตรีและนักเคมีที่ University of Illinois Urbana-Champaign (UIUC) กำลังใช้เสียงเพื่อตรวจสอบและแสดงภาพกระบวนการทางชีวเคมีเพื่อให้เข้าใจพวกมันดีขึ้น 

Carla Scaletti ของ UIUC สร้างภาพแอนิเมชันควบคู่ไปกับเสียงเพื่อแสดงการพับของโปรตีน (protein folding) โดยอิงจากข้อมูลปริมาณมหาศาล Stephen Andrew Taylor แห่ง Scaletti และ UIUC ใช้การจับคู่เสียงเพื่อเชื่อมต่อแง่มุมต่างๆ ของโปรตีนกับพารามิเตอร์เสียง 

“ในระบบเสียงดิจิทัล ทุกอย่างเป็นกระแสของตัวเลข ดังนั้นจริง ๆ แล้วมันค่อนข้างเป็นธรรมชาติที่จะดึงกระแสของตัวเลขมาฟังให้เหมือนกับว่าเป็นเสียงที่บันทึกแบบดิจิทัล” Scaletti กล่าว และเสริมว่าแง่มุมที่มองไม่เห็นของสารประกอบบางอย่างสามารถเปิดเผยได้ผ่านเสียง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Illinois News Bureau


วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องวุ่น ๆ กับไฟ TOU

มิเตอร์ TOU


สวัสดีครับ #ศรัณย์วันศุกร์ วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องประสบการณ์กับค่าไฟ TOU ครับ จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ศุกร์ที่แล้ว แต่บังเอิญมีเรื่อง M-Flow เข้ามาซะก่อน ซึ่งหลังจากเขียนไปก็เห็นว่ามีคนมีประสบการณ์วิ่งผ่านช่อง M-Flow แล้วถูกปรับกันเยอะแยะ ซึ่งโชคดีที่ตัวเองไม่โดนเพราะมองเห็นวิธีจ่ายพอดี และตอนนี้เท่าที่ตามข่าวมา M-Flow ก็จะคืนค่าปรับให้แล้วนะครับ 

มาเข้าเรื่องวันนี้กันดีกว่าวันนี้จะมาเล่าเรื่องประสบการณ์กับค่าไฟแบบ TOU ครับ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าค่าไฟแบบ TOU คืออะไร สรุปง่าย ๆ ก็คือการคิดอัตราค่าไฟฟ้าตามเวลาที่ใช้ TOU ย่อมาจาก Time of Use ครับ โดยการไฟฟ้าจะแบ่งการคิดอัตราค่าไฟออกเป็นสองช่วงเวลาคือช่วงเวลา Peak ก็คือช่วงที่มีการใช้ไฟเยอะ ก็คือจันทร์ถึงศุกร์ 9.00-22.00 (รวมวันพืชมงคล และวันแรงงานด้วย) ตรงนี้จะคิดค่าไฟแพง กับช่วง off-peak คือช่วงที่มีการใช้ไฟต่ำ คือจันทร์ถึงศุกร์ 22.00-9.00 เช้า วันเสาร์อาทิตย์ทั้งวัน วันหยุดราชการที่ไม่ใช่วันหยุดชดเชย วันพืชมงคล และวันแรงงานที่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ ตรงนี้จะคิดค่าไฟถูก รายละเอียดสามารถดูได้จากที่นี่ครับ  

เอาจริง ๆ ตอนแรกผมก็ไม่รู้จักหรอกนะครับ แต่คุณภรรยาไปเจอมา แล้วก็ตัดสินใจสมัครไป รู้สึกจะมีค่าธรรมเนียมการสมัครด้วยนะครับ ผมจำไม่ได้ว่าเท่าไร และการไฟฟ้าก็มาเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ให้เมื่อประมาณกลางเดือนหรือสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคมปีที่แล้วนี่แหละครับ พอมาเปลี่ยนปุ๊ปบ้านผมก็เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟกันครับ อย่างผมปกติจะเริ่มเปิดแอร์ตอนประมาณสองทุ่มก็ยืดเป็นสี่ทุ่ม ยอมทนร้อนเพิ่มสองชั่วโมง 

คราวนี้ก็รอดูว่าค่าไฟจะถูกลงเท่าไร  ปรากฏว่าเมื่อบิลค่าไฟเดือนมกราคมมาถึงมันแพงขึ้นกว่าปกติครับ ซึ่งก็ทำให้ผมกับภรรยาประหลาดใจมาก (โดยเฉพาะผมอุตส่าห์ทนร้อนเพิ่ม) ขณะที่กำลังงง ๆ ว่าหรือมันจะคิดแบบเดิมรวมมาด้วยก่อนเปลี่ยน และจะรอดูอีกสักเดือนหนึ่ง ปรากฏว่าวันที่ 24 มกราคม มีรถการไฟฟ้ามาดูที่มิเตอร์ ซึ่งภรรยาผมก็ออกไปถามได้ความว่ามิเตอร์เสียครับ เสียตั้งแต่วันที่เอามาติดคือค่าไฟไม่เดินเลยเป็น 0 หมด และที่มานี่แค่มาดูนะครับ ยังไม่ได้มาเปลี่ยนเพราะยังเบิกของไม่ได้ 

คราวนี้ถ้ามิเตอร์เสียแล้วค่าไฟมาจากไหน คุณภรรยาก็เลยโทรไปการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าแจ้งว่ามิเตอร์เสีย และคนที่มาจดคิดว่าเป็นบ้านไม่มีคนอยู่ก็เลยจดเป็นศูนย์ไปไม่ได้คิดอะไร คุณภรรยาก็เลยถามว่าแล้วค่าไฟเดือนที่แล้วมายังไง ก็ได้รับคำตอบว่าการไฟฟ้ารู้ครับว่ามันเป็นบ้านมีคนอยู่ และนี่คือสิ่งที่เขาทำครับ เขาบอกว่าเนื่องจากบ้านผมใช้ TOU เป็นเดือนแรก เขาไม่มีข้อมูลเก่า เขาเลยประมาณเลขขึ้นมาเองครับ (จะเรียกว่ามั่วก็น่าจะได้นะครับ) โดยเลขที่ประมาณขึ้นมาแบ่งเป็นช่วง peak 60% และช่วง off-peak 40% เจอคำตอบแบบนี้เข้าไปภรรยาผมถึงกับมึนเลยครับ ทำอย่างนี้ก็ได้หรือ ก็เลยบอกไปว่าอย่างนี้ไม่แฟร์นะ ถ้าเราจะใช้ช่วง peak เยอะ ๆ เราจะไปขอเปลี่ยนเป็น TOU ทำไม เปลี่ยนแล้วค่าไฟดันแพงขึ้น ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเดี๋ยวถ้ามีข้อมูลแล้วจะเฉลี่ยคืนให้ 

และจากวันที่การไฟฟ้ามาดูว่ามิเตอร์เสีย เมื่อ 24 มกราคม ก็ยังไม่ได้มาเปลี่ยนนะครับ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงนั้นเราก็ใช้ไฟกันตามปกติแบบก่อนจะเปลี่ยนมิเตอร์ครับ เพราะไม่รู้จะพยายามใช้แบบ TOU ไปทำไม ในเมื่อเดี๋ยวเขาก็จะใช้ค่าประมาณของเขาเองอีก แต่ปรากฏว่าเดือนนี้เขาประมาณให้ถูกกว่าปกติครับ (ก็ไม่รู้ว่าถ้าคุณภรรยาไม่โทรไปถามจะคิดแบบไหนนะครับ) และพอมิเตอร์มาติดเราก็ไปเช็คกันปรากฏว่ามันเดินแล้วครับ คราวนี้ก็ได้ใช้กันแบบ TOU ซะที เดี๋ยวเดือนหน้ามาดูกันครับว่าค่าไฟจริง ๆ แบบ TOU มันจะเป็นเท่าไร ถูกลงแค่ไหน  

คอมพิวเตอร์ DNA ประเมินคุณภาพน้ำ

DNA-Computer
ภาพจาก Northwestern University McCormick School of Engineering

นักวิทยาศาสตร์จาก Northwestern University McCormick School of Engineering ได้พัฒนาอุปกรณ์พกพาราคาไม่แพง ซึ่งสามารถยืนยันว่าน้ำดื่มได้หรือไม่ในไม่กี่นาที โดยใช้วงจรที่มีองค์ประกอบเป็น DNA 

นักวิจัยได้ประกอบโมเลกุลที่เป็นอิสระจากเซลล์ (cell-free molecule) ลงในตัวแปลงอนาล็อกเป็นดิจิตอล ซึ่งทำให้หลอดทดลองเรืองแสงเป็นสีเขียวเมื่อมีสารปนเปื้อนอยู่ในตัวอย่าง ระบบได้ปรับปรุงตัวตรวจสอบการปนเปื้อน ROSALIND ( RNA output sensors activated by ligand induction) ด้วยเครือข่ายพันธุกรรม (genetic network) 

Julius B. Lucks จาก Northwestern กล่าวว่า "เซนเซอร์ทางชีววิทยา (bio-sensor) ตรวจจับการปนเปื้อน จากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะป้อนเข้าสู่เครือข่ายพันธุกรรม หรือวงจร ซึ่งทำงานเหมือนสมองเพื่อดำเนินการตามตรรกะ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Northwestern University McCormick School of Engineering