วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ทีมนักวิจัยพัฒนา "จมูกอิเลกทรอนิกส์" เพื่อดมความสดของเนื้อ

ภาพจาก Nanyang Technological University (Singapore)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดย Nanyang Technological University สิงคโปร์ ได้พัฒนาจมูกอิเลกทรอนิกส์ที่ใช้ AI ที่เลียนแบบความสามารถของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการประเมินความสดของเนื้อจากกลิ่นของมัน หลักการทำงานก็คือที่ตัวบรรจุภัณฑ์จะมีบาร์โค้ดที่เปลี่ยนสีตามแก๊สที่ถูกปล่อยออกมาจากเนื้อที่กำลังเน่าไปเรื่อย ๆ จากนั้นใช้แอปบนสมาร์โฟนเพื่ออ่านบาร์โค้ด การฝึกสอนจมูกอิเลกทรอนิกส์ทำโดยใช้คลังสีของบาร์โค้ด นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองจมูกอิเลกทรอนิกส์นี้โดยใช้ตัวอย่างที่เป็น ไก่ ปลา และเนื้อ และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ 98.5% นักวิจัยบอกว่าระบบนี้สามารถติดตั้งเข้ากับผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย และได้ผลลัพธ์ในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สายเพื่อส่งสัญญาณอิเลกทรอนิกส์หมือนระบบจมูกอิเลกทรอนิกส์บางตัวที่ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้ ดูวีดีโอการทำงานได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nanyang Technological University (Singapore)

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การใช้รูปแบบสองรูปแบบในการปลดล็อกจะช่วยให้โทรศัพท์แอนดรอยด์มีความปลอดภัยมากขึ้น

Bust of Washington on the GWU campus (Dreamtime photo: Jon Bilous)

นักวิจัยจาก George Washington University (GWU) พบว่าการใช้รูปแบบหลายรูปแบบในการปลดล็อกโทรศัพท์แอนดรอยด์ให้ความปลอดภัยกว่าการใช้เพียงรูปแบบเดียว และในบางกรณียังมีความปลอดภัยกว่าการใช้ตัวเลข 4 หรือ 6 หลักอีกด้วย เทคนิคการปลดล็อกสองรูปแบบก็คือการให้ผู้ใช้เลือกรูปแบบการปลดล็อกมาสองรูปแบบ แล้วให้ใช้ต่อเนื่องกันในการปลดล็อกโทรศัพท์ จากการสำรวจผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่กว่า 600 ราย พบว่าการใช้รูปแบบสองรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยบอกว่าการใช้วิธีนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขึ้นมาก โดยไม่มีผลกระทบกับการใช้งานด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: George Washington University

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ช่วยตอบคำถามว่าทำไมปลาต้องว่ายน้ำเป็นฝูง


ภาพจาก: University of Konstanz

นักวิจัยที่  Max Planck Institute of Animal Behavior (MPI-AB) ของเยอรมัน และ University of Konstanz ร่วมมือกับนักวิจัยจาก Peking University ของจีน ในการใช้หุ่นยนต์ที่เหมือนปลาสาธิตการประยัดพลังงานการว่ายน้ำของฝูงปลา โดยที่ไม่ต้องเฝ้าดูพวกมันจากที่ไกล ๆ หุ่นยนต์ปลานี้ช่วยให้นักวิจัยวัดพลังงานที่ต้องใช้ไปในการว่ายน้ำของปลาที่ว่ายไปด้วยกัน และว่ายไปตามลำพัง นักวิจัยบอกว่าจากการทดลองกว่า 10,000 ครั้ง พบว่าปลาตัวที่ว่ายนำฝูงจะทำให้เกิดผลกระทบกับการเคลื่อนที่ของน้ำของปลาตัวที่ว่ายตามมา เพื่อประหยัดพลังงานปลาตัวที่ตามจะโบกหางโดยใช้จังหวะเดียวกับตัวนำ นักวิจัยบอกว่าก่อนหน้าที่จะจำลองฝูงปลาโดยใช้หุ่นยนต์ ก็เคยมีการสังเกตว่าปลามีพฤติกรรมที่ตัวตามจะว่ายโดยใช้จังหวะเดียวกับตัวนำ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไม จนกระทั่งได้เข้าใจจากการใช้หุ่นยนต์นี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Konstanz

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตัวแบบ AI เพื่อตรวจหาคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการจากเสียงไอ

ภาพจาก MIT

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) ที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงไอของคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่มีอาการกับคนที่ปกติ โดยเสียงไอนั้นจะถูกอัดจากเว็บเบราเซอร์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องโน้ตบุ๊ก ทีมนักวิจัยฝึกสอนตัวแบบจากตัวอย่างเสียงไอ และเสียงพูดปกติ โดยมันสามารถระบุเสียงไอจากผู้ที่มีไวรัสได้ด้วยความแม่นยำถึง 98.5% (100% จากคนที่ไม่มีอาการ) นักวิจัยกำลังจะนำตัวแบบนี้เข้าไปในแอปพลิเคชันที่ทำให้ผู้ใช้ใช้ง่าย โดยตั้งใจจะให้เป็นแอปที่ฟรี ใช้งานง่าย และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว เพื่อระบุตัวคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการ ผู้ใช้สามารถล็อกอินเข้าระบบทุกวัน ไอผ่านมือถือ และได้ผลลัพธ์อย่างทันทีว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ และไปทดสอบอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  MIT News

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาเทคนิคในการเขียนประโยคเพื่อหลอกตัวแยกประเภทข้อความ

 

Image Credit: raindrop74 / Shutterstock

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) สร้างเฟรมเวอร์กเพื่อเขียนประโยคขึ้นมาใหม่โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ตัวแยกประเภทข้อความทำงานผิดพลาด โดยการจู่โจมนี้จะมีผลต่ออุตสาหกรรมอย่างเช่นการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการประมวลผลเอกสาร โดยการจู่โจมนี้ใช้การสร้างประโยคซึ่งทำให้การจู่โจมได้ผลกว่าการใช้คำ โดยให้นักวิจัยได้ใช้โปรแกรมแต่งประโยคขึ้นมาใหม่ โดยให้มีความหมายเหมือนับประโยคเดิม อย่างเช่น ประโยคเดิมคือ "Turkey is put on track for EU membership,” โปรแกรมแยกข้อความจะจัดกลุ่มของประโยคต้นฉบับอยู่ในกลุ่ม "World"  ถ้าเปลี่ยนเป็น “EU puts Turkey on track for full membership” ประโยคนี้จะถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่ม "Business" นักวิจัยบอกว่าถึงแม้วิธีการนี้จะถูกนำไปใช้แบบผิด ๆ เพื่อการโจมตี แต่มันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการฝึกให้โมเดลที่มีอยู่ต่อสู้กับการโจมตีในลักษณะนี้ได้ดีขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat