วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2565

แอปประชุมทางไกลอาจยังฟังเสียงเราอยู่ถึงแม้เราจะปิดไมค์แล้ว

Favaz-And-Yucheng
Fawaz and Yucheng ภาพจาก  University of Wisconsin-Madison News

Kassem Fawaz และ Yucheng Yang แห่ง University of Wisconsin-Madison พบว่าแอปพลิเคชั่นการประชุมผ่านวิดีโอจำนวนมากยังคงฟังเสียงของเราอยู่เมื่อมีเราปิดไมโครโฟน นักวิจัยได้ทดสอบแอปเหล่านั้นบนระบบปฏิบัติการหลายตัว และได้เรียนรู้ว่าโดยส่วนใหญ่ "เมื่อคุณปิดเสียงตัวเอง แอปเหล่านี้ไม่ได้หยุดเข้าถึงไมโครโฟน" Fawaz กล่าว 

Fawaz ร่วมกับ Yang และเพื่อนร่วมงานที่ Loyola University Chicago ติดตามเสียงในแอปการประชุมทางวิดีโอยอดนิยม และพบว่าพวกมันทั้งหมดเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นครั้งคราวขณะปิดเสียง แอพหนึ่งยังคงรวบรวมและส่งข้อมูลไปยังเซิร์ฟเวอร์ในอัตราปกติแม้จะปิดเสียงไมโครโฟน 

นักวิจัยได้ฝึกอบรมตัวแยกประเภทกิจกรรมโดยใช้เสียงจากวิดีโอ YouTube ซึ่งแสดงถึงกิจกรรมพื้นหลังทั่วไป 6 กิจกรรมเพื่อระบุกิจกรรมพื้นหลังจากแอปการประชุมทางวิดีโอที่ปิดเสียง โดยคะแนนความแม่นยำที่ได้อยู่ที่ 82% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Wisconsin-Madison News


วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565

นักวิจัยสามารถระบุคนที่มีอาการเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจได้อย่างแม่นยำโดยดูจากข้อความเท่านั้น

man-with-tablet
ภาพจาก Folio (University of Alberta, Canada)

ตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ที่ได้รับการฝึกฝนโดยนักวิจัยจาก University of Alberta (U of A) ของแคนาดา เพื่อระบุผู้ที่มีความผิดปกติจากความเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (post-traumatic stress disorder) หรือ PTSD โดยการวิเคราะห์ข้อความที่พวกเขาเขียน

Jeff Sawalha แห่ง U of A และเพื่อนร่วมงานวิเคราะห์ข้อความในชุดข้อมูลที่รวบรวมไว้ที่ University of Southern California จากการสัมภาษณ์ 250 ครั้งกับตัวละครที่สร้างขึ้นระหว่างการประชุมทางวิดีโอกับคน 188 คนที่ไม่เป็น PTSD และ 87 คนที่เป็น PTSD 

นักวิจัยสามารถระบุบุคคลที่มี PTSD ได้อย่างแม่นยำถึง 80% จากคะแนนที่ระบุความถี่ของคำพูดของพวกเขาโดยดูคำพูดที่มีความรู้สึกเป็นกลางหรือเป็นลบเป็นหลัก Sawalha กล่าวว่า "การมีเครื่องมือเช่นนี้ที่ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ อาจเป็นประโยชน์กับโลกหลังการเกิดโรคระบาด"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Folio (University of Alberta, Canada)

วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565

การแฮกที่เรียกว่า Brokenwire อาจขัดขวางการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

car-ev-charger
Photo by Ernest Ojeh on Unsplash

นักวิจัยจาก University of Oxford ของสหราชอาณาจักรและ Armasuisse S+T ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุวิธีการโจมตีระบบ Combined Charging System (CCS) และขัดขวางช่วงการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เทคนิค Brokenwire ขัดขวางการสื่อสารการควบคุมระหว่างรถกับที่ชาร์จ ทำให้แฮกเกอร์สามารถหยุดการชาร์จแบบไร้สายได้จากระยะไกลถึง 151 ฟุต (46 เมตร)
นักวิจัยไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการหาประโยชน์จากช่องโหว่ดังกล่าว แต่ระบุว่าการโจมตีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้องค์ประกอบเหล่านี้ร่วมกัน ซึ่งก็คือวิทยุที่ใช้องค์ประกอบเป็นซอฟต์แวร์ (software-define radio) ที่หาซื้อได้จากร้านค้า เครื่องขยายเสียง และเสาอากาศไดโพล (dipole antenna)  

นักวิจัยกล่าวว่า "การใช้ PLC [power-line communications] สำหรับการสื่อสารในการชาร์จเป็นข้อบกพร่องด้านการออกแบบที่ร้ายแรง ซึ่งทำให้ยานพาหนะหลายล้านคัน ซึ่งบางคันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ มีช่องโหว่สำหรับการจู่โจม"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hacker News

วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2565

เมืองต่าง ๆ ใช้ฝาแฝดดิจิทัลอย่าง SimCity เพื่อช่วยสร้างนโยบาย

city-plan
ภาพจาก Bloomberg CityLab

เมืองต่าง ๆ เช่น ออร์แลนโด ฟลอริดา และสิงคโปร์ใช้ฝาแฝดดิจิทัลในการสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของตนเอง เพื่อจำลองผลกระทบของนโยบายหรือโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ที่อาจให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในโลกจริง

ตัวอย่างเช่น  Orlando Economic Partnership และบริษัทเกม Unity ได้พัฒนาตัวแบบสามมิติ (3D) ของพื้นที่ในเมืองนำไปแสดงต่อนักลงทุนทีมีศักยภาพ เพื่อพยายามขยายพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยี

ในขณะเดียวกัน โมเดล Virtual Singapore รวมภาพระดับถนนมากกว่า 3 ล้านภาพและภาพถ่ายทางอากาศ 160,000 ภาพ รวมถึงจุดข้อมูล 3 มิติอีกนับพันล้านจุด ซึ่งกินข้อมูลดิบเกินกว่า 100 เทราไบต์ Victor Khoo แห่งหน่วยงาน Singapore Land Authority กล่าวว่าแบบจำลองนี้มีความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบแต่ละอัน ทำให้ง่ายต่อการทดสอบการตอบสนองต่อสภาวะต่าง ๆ ในการจำลองแบบต่าง ๆ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg CityLab

 

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

ค่าไฟแบบ TOU จริง ๆ เดือนแรกมาแล้ว

TOU-meter
มิเตอร์ TOU

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อเนื่องจากบทความเรื่องไฟ TOU อันแรกนะครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็อาจเข้าไปอ่านก่อนได้นะครับ  เรื่องวุ่น ๆ กับไฟ TOU  แต่ถ้าขี้เกียจอ่านผมสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ก็คือ ผมได้ขอติดตั้งไฟแบบ TOU คือคิดอัตราตามเวลาการใช้งาน คือ 9.00-22.00 วันจันทร์ถึงศุกร์ก็แพงหน่อย แต่จาก 22.00-9.00 วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการก็ถูกหน่อย โดยการไฟฟ้าได้มาติดตั้งให้ในเดือนธันวาคม แต่ปรากฏว่ามิเตอร์ที่การไฟฟ้าเอามาติดเสีย การไฟฟ้าก็เลยประมาณ (มโน) ค่าไฟบ้านผมมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะต้องรอเบิกมิเตอร์ใหม่ 

แต่ในเดือนมีนาคมผมก็ได้ยอดใช้จ่ายจริงมาแล้วครับ วันนี้ผมก็เลยจะมาลองคำนวณให้ดูนะครับว่าค่าไฟถ้าคิดแบบ  TOU กับแบบเดิมมันประหยัดลงมากไหม เพราะในบทความแรกก็มีคนอยากรู้ เพราะถ้าคุ้มเขาก็อยากลองไปติดบ้าง ในบทความนี้ผมจะคิดเฉพาะค่าไฟนะครับ ไม่ได้คิดค่าบริการ ค่า FT และ VAT  โดยเดือนมีนาคมนี้ตามบิลค่าไฟบ้านผมใช้ไปแบบนี้ครับ on peak (ราคาแพง) 98 หน่วย off peak (ราคาถูก)  489 หน่วย ถ้าไม่คิดแยกเท่ากับบ้านผมใช้ไฟรวม 587 หน่วยนะครับ

โอเคคราวนี้มาดูอัตราค่าไฟกันครับ รายละเอียดตามลิงก์นี้ครับ  

เนื่องจากบ้านผมเป็นบ้านพักอาศัย และมีอัตราการใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ดังนั้นอัตราค่าไฟก็คือ 

 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484

250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400)  4.2218

เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ถ้าคิดตามสูตรนี้ก็คือ ผมจะต้องเสีย 150 * 3.2484 + 250 * 4.2218 + 187 * 4.4217 = 2369.56 บาท 

แต่ถ้าคิดแบบ TOU ของผมจะเข้า 1.2.2 อัตราก็คือ 

 แรงดันตํ่ากว่า 22 กิโลโวลท์ on peak 5.7982, off peak   2.6369

ค่าไฟที่ผมต้องจ่ายคือ 98 * 5.7982 + 489 * 2.6369 = 1857.66 บาท

ดังนั้นส่วนต่างก็คือ 2369.56-1857.66 = 511.9 บาท  เท่ากับประหยัดไปได้ประมาณ 500 บาท

สำหรับใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้วอยากจะเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มอย่างนี้นะครับ มันมีค่าเปลี่ยนมิเตอร์อยู่ประมาณ 6600 บาท ซึ่งถ้าผมประหยัดได้เดือนละ  500 แบบนี้ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะได้จำนวนเงินเท่ากับค่ามิเตอร์ที่จ่ายไป นั่นคือจะประหยัดได้จริง ๆ ก็ต้องหนึ่งปีผ่านไปแล้ว และเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟสักเล็กน้อยนะครับ อย่างเปิดแอร์ผมก็จะรอสี่ทุ่ม จะซักผ้าโดยใช้เครื่องซักผ้า อบผ้า ก็จะรอสี่ทุ่ม หรือรอวันหยุด อีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือถ้าใครไปขอเปลี่ยนแล้ว แล้วปรากฏว่าค่าไฟมันแพงกว่าเดิม จะขอเปลี่ยนกลับเลยไม่ได้นะครับ จะต้องใช้แบบนี้ไปอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะขอเปลี่ยนกลับได้ 

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนนะครับ อ้อเกือบลืมศุกร์นี้อยู่ในช่วงสงกรานต์พอดี ก็ขออวยพรให้มีความสุขกัน เดินทางปลอดภัย และรอดพ้นภัยโควิดนะครับ สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยครับ...