วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2565

ตัวแบบปรับปรุงการเรียนรู้ของเครื่องในการวิเคราะห์โควิด-19 ให้แม่นยำขึ้นในขณะที่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวไว้

model-covid
ภาพจาก University of Cambridge (U.K.)

นักวิจัยในสหราชอาณาจักรและจีนได้พัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI สำหรับการเรียนรู้ด้วยเครื่อง ที่สามารถวินิจฉัยโรคโควิด-19 ในขณะที่รักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วยได้ 

นักวิจัยใช้การเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (federated learning) เพื่อฝึกตัวแบบจากข้อมูลการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบสามมิติจำนวน 9,573 ชิ้นจากผู้ป่วย 3,336 รายในโรงพยาบาล 23 แห่งในจีนและสหราชอาณาจักร 

พวกเขาทดสอบเฟรมเวอร์ก (framework) โดยใช้ชุดข้อมูลที่มีการตรวจสอบ และมีขนาดเหมาะสม 2 ชุด การเรียนรู้แบบร่วมมือกันสนับสนุนตัวแบบ AI ที่มีลักษณะทั่วไปมากขึ้น เพื่อลดอคติที่เกิดจากชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ในขณะที่รักษาความเป็นส่วนตัวของศูนย์ข้อมูลแต่ละแห่งในสภาพแวดล้อมการทำงานร่วมกัน 

Michael Roberts จาก University of Cambridge แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวว่า "เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการเข้ารหัสข้อมูลทางการแพทย์นั้นเป็นไปได้ ดังนั้นเราจึงสามารถสร้างและใช้เครื่องมือเหล่านี้ในขณะที่รักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกประเทศ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Cambridge (U.K.)

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2565

อะไรที่ไร้สาระอาจมีสาระสำหรับตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง

overinterpretation-data-set
ภาพจาก MIT News

นักวิทยาศาสตร์ของ Massachusetts Institute of Technology (MIT)  พบว่าตัวแบบการเรียนรู้ด้วยเครื่องสามารถคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจโดยอิงจากรายละเอียดที่มนุษย์พบว่าไร้สาระ ตัวอย่าง ได้แก่ โครงข่ายประสาทเทียมในการประมวลผลภาพในรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่จำแนกสัญญาณไฟจราจรและป้ายถนน โดยดูจากพื้นหลัง ขอบ หรือรูปแบบท้องฟ้า 

ตัวแบบได้รับการฝึกฝนโดยใช้ชุดข้อมูล เช่น CIFAR-10 และ ImageNet ได้แสดงการตีความเกินจริง โดยตัวแบบที่ได้รับการฝึกด้วย CIFAR-10 ให้คาดการณ์ได้อย่างมั่นใจแม้ว่า 95% ของภาพที่ป้อนเข้าจะหายไป และส่วนที่เหลือไม่มีความหมายสำหรับมนุษย์ สัญญาณที่บอกว่าถูกต้องในชุดข้อมูลทำให้วิธีการประเมินทั่วไปไม่สามารถวินิจฉัยการตีความเกินได้ 

Brandon Carter ของ MIT บอกว่าแม้ดูเหมือนว่าตัวแบบจะเป็นจำเลยในการทำนายที่ผิดพลาด แต่จริง ๆ แล้วชุดข้อมูลเองน่าจะถูกตำหนิมากกว่า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News


วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

พัสดุต่อไปของคุณอาจส่งโดยหุ่นยนต์

 

adaptive-robot-delievery
ภาพจาก USC Viterbi News

หุ่นยนต์สี่ขากำลังใช้อัลกอริธึมการควบคุมแบบปรับตัวที่คิดค้นโดยนักวิจัยจาก University of Southern California Viterbi School of Engineering (USC Viterbi) เพื่อให้เคลื่อนที่ได้อย่างมีทักษะในขณะที่แบกน้ำหนักที่หนักมาก และต้องเดินทางในสภาพแวดล้อมที่ไม่ราบเรียบ Quan Nguyen แห่ง USC Viterbi กล่าวว่า "อัลกอริธึมเปรียบเทียบเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับหุ่นยนต์กับสภาพจริงที่มันเผชิญ จากนั้นจึงคำนวณความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดเหล่านี้เพื่อปรับความต่างของแรงหรือน้ำหนัก สิ่งนี้ทำให้หุ่นยนต์ปรับตัวได้ในขณะที่แบกพัสดุไว้บนหลังหรือเดินบนเส้นทางที่ไม่เรียบ" Mohsen Sombolestan แห่ง USC Viterbi กล่าวว่ากรอบการควบคุมจะสมบูรณ์แบบสำหรับหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้งาน เช่น การจัดส่งพัสดุ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: USC Viterbi News




วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

300000 กว่าวิวแล้ว ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ครับ


วันศุกร์นี้บังเอิญเป็นวันศุกร์สิ้นปีพอดี ดังนั้น #ศรัณย์วันศุกร์ วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะมาคุยกันส่งท้ายปีนะครับขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านกันจนยอดวิวของบล็อกทะลุ 300,000 วิวไปแล้วครับ ต้องบอกว่าปีนี้สิ่งหนึ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังแล้วได้ตามเป้าก็คือยอดวิวของบล็อกนี่แหละครับ  หลายคนอาจจะบอกว่าเปิดบล็อกมา 12-13 ปี ได้ยอดวิวแค่ 300,000 จะมาดีใจอะไร ก็คงต้องบอกว่าถึงผมจะเปิดบล็อกมานานแล้ว แต่ไม่ได้โพสต์สม่ำเสมอ และไม่ได้โปรโมตอะไร เขียนเสร็จก็แชร์ให้เพื่อนใน Facebook กับ Twitter อ่าน บางปีเขียนแค่สี่บทความก็มี :) เรียกง่าย ๆ ว่าเขียนตามอารมณ์ตัวเอง และเหตุผลที่มักจะใช้อ้างก็คือไม่ว่าง แต่จากที่เช็คสองปีก่อนก็มียอดวิวประมาณ 100,000 นิด ๆ  ซึ่งยอดวิวนี้ส่วนใหญ่น่าจะได้มาจากบทความที่เกี่ยวกับอ.วีระและ Siri ของ Apple คือสองบทความต่อไปนี้ครับ เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย?  ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย  

แต่จากที่ผมเริ่มโพสต์สรุปข่าวอย่างสม่ำเสมอ บวกกับบทความนี้ สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง ผมพบว่ายอดวิวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อปีที่แล้วมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 150,000 นิด ๆ ประมาณ 10 ปีก่อนหน้ามียอดวิวอยู่ประมาณ 100,000 พอเริ่มโพสต์สม่ำเสมอ ยอดวิวปีเดียวเพิ่มขึ้นครึ่งนึงของสิบปี ผมก็เลยลองตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ปีนี้จะมียอดวิวถึง 300,000 จริง ๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่สุดท้ายพอเริ่มแตะสองแสนปลาย ๆ ก็เริ่มลุ้นครับ ซึ่งก็ผ่านหลัก 300,000 ไปในสัปดาห์สุดท้าย แต่ก็ลุ้นหนักเหมือนกันครับ เพราะมีบางวันอยู่แค่หลักสิบวิวก็มีครับ :( ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนครับ ที่ช่วยกันเข้ามาอ่าน เป็นกำลังใจให้กับคนเขียนจริง ๆ ครับ ที่เห็นว่าสิ่งที่เราเขียนมีคนอ่าน และก็คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ส่วนปีหน้าผมก็ยังตั้งใจจะสรุปข่าวมาให้อ่านกันทุกวัน และจะพยายามมาคุยกันในวันศุกร์ให้บ่อยขึ้นครับ และก็หวังว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เราเจออยู่นี้น่าจะดีขึ้น จนเราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ จริง ๆ พอเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี ดูเหมือนอะไร ๆ กำลังจะดีขึ้นนะครับ แต่ก็ดันมีโอไมครอนเกิดขึ้นอีก และดูเหมือนยังไม่มีวัคซีนอะไรที่ป้องกันโอไมครอนตัวนี้ได้ แต่เอาจริง ๆ วัคซีนที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็ป้องกันติดไม่ได้สักตัวนะครับ แต่อาจกันตายกับอาการหนักได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังว่าเราจะมีในปีหน้าคือยารักษาครับ เอาแบบถ้าติดรู้ตัวก็รีบกินยา แล้วก็นอนพักสักวันสองวัน เหมือนตอนเราเป็นหวัด

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งนะครับที่ติดตามอ่านบล็อก และก็ขอสวัสดีปีใหม่ 2565  ถ้านับตามสากลก็ 2022 ครับ ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคน และขอให้วิกฤตโรคระบาดนี้ผ่านพ้นไป และขอให้ติดตามอ่านบล็อกกันเหมือนเดิมนะครับ...

สำรวจอารมณ์ด้วย VR

people-in-roller-coaster
ภาพจาก Max Planck Gessellschaft (Germany)

นักวิจัยจากสถาบัน Max Planck Institute for Human Cognitive and Brain Sciences (MPI CBS) ของเยอรมนีใช้ความจริงเสมือน (virtual reality) หรือ VR เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้สมจริงที่สุด ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์การนั่งรถไฟเหาะตีลังกาใน VR โดยนักวิจัยจะสำรวจการทำงานของสมองผ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography) หรือ EEG ผลลัพธ์ระบุว่าระดับที่บุคคลมีส่วนร่วมทางอารมณ์สามารถสังเกตได้จากการสั่นของคลื่นอัลฟาในสมอง Felix Klotzsche แห่ง MPI CBS กล่าวว่า "การใช้การสั่นของคลื่นอัลฟา ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าคนคนนั้นจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางอารมณ์ที่รุนแรงเพียงใด ตัวแบบของเราได้เรียนรู้ว่าพื้นที่สมองส่วนใดมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการทำนายนี้" นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่างสัญญาณ EEG กับความรู้สึกทางอารมณ์นั้นสามารถตรวจสอบได้ภายใต้สภาวะที่เป็นธรรมชาติ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Max Planck Gessellschaft (Germany)