วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

ตัวแบบการคำนวณที่ใช้ได้จริงตัวแบบแรกเพื่อเข้าใจไวรัส COVID-19


ภาพจาก University of Chicago

ตัวแบบการคำนวณ (computational model) ที่ใช้ได้จริงตัวแบบแรกสำหรับไวรัส COVID-19 ถูกสร้างขึ้นแล้วโดยนักวิจัยจาก University of Chicago (UChicago) นักวิจัยใช้เทคนิคที่เรียกว่า coarse-graining ในการระบุองค์ประกอบที่สำคัญแต่ละตัวของไวรัส และกำจัดข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือได้ตัวแบบคอมพิวเตอร์ของไวรัส COVID-19 ที่ครอบคลุมและสามารถรันบนคอมพิวเตอร์ได้ นักวิจัยบอกว่าถ้าเราเข้าใจว่าไวรัสทำงานอย่างไร นั่นคือขั้นตอนแรกที่จะหยุดมัน แต่ละเรื่องที่เรารู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตและองค์ประกอบของมัน นั่นคือช่องโหว่ที่เราจะใช้โจมตีมัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Chicago

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

เมื่อรถสามารถเผยความลับ

Sebastian König / for NBC News

หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย (สหรัฐ) เริ่มหันมาใช้ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในบอร์ดของคอมพิวเตอร์บนรถมากขึ้น เพื่อช่วยไขคดีอาชญากรรม หน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ (forensic) สามารถใช้ข้อมูลที่สร้างและจัดเก็บด้วยบอร์ดคอมพิวเตอร์นำมาประกอบกันเพื่อหาว่ารถเคยไปที่ไหนมาบ้าง และพฤติกรรมของผู้โดยสาร โดยข้อมูลที่จะถูกเปิดเผยออกมาได้ก็เช่น ตำแหน่งและความเร็วของรถ การเปิดและปิดประตู คำสั่งเสียง ประวัติการท่องเว็บ ประวัติการโทรและส่งข้อความ อุปกรณ์ใดบ้างที่มีการเชื่อมต่อกับรถ และอีกมากมาย 

อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวด้านความเป็นส่วนตัวกำลังกังวลกับการที่บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบนี้ขาดการรักษาความมั่นคง (security) นอกจากนี้ยังขาดแคลนกฎหมายของรัฐบาลกลางในการควบคุมว่าผู้ผลิตรถยนต์สามารถรวบรวมข้อมูลใด และสามารถทำอะไรได้บ้าง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NBC News


วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

วิศวกรซอฟต์แวร์ได้เงินเดือนเท่าไร

ภาพจาก  iStockphoto

จากการวิเคราะห์ค่าจ้างของวิศกรซอฟต์แวร์โดยผู้ให้บริการเครื่องมือเปรียบเทียบเงินเดือน Levels.fyi ได้ให้รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงจากบริษัทที่จ่ายเงินเดือนสูงสุดเมื่อปีที่แล้วพบว่า บริษัทที่ให้บริการแชร์การใช้พาหนะ (ride sharing) คือ Lyft ในปี 2020 ให้เงินเดือนสูงสุดสำหรับวิศวกรระดับเริ่มต้น โดยมีค่ามัธยฐานของเงินเดือน โบนัส และหุ้นรวมกันอยู่ที่ 230,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ส่วน Airbnb ให้ค่าจ้างรวมทั้งหมด 295,500 เหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับวิศวกรที่ประสบการณ์ 2 ถึง 5 ปี ส่วน LinkedIn ให้ค่าจ้างรวมทั้งหมด 461,000 เหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับวิศกรที่มีประสบการณ์ 5 ปี ขึ้นไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

คอมพิวเตอร์ที่พิมพ์ออกมาได้และไม่ต้องใช้แบตเตอรี

ภาพจาก Forbes

ป้ายชื่อ (tag) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ของ Wiliot เป็นชิปที่พิมพ์ออกมาได้โดยมีหน่วยความจำทั้ง RAM และ ROM มีเซ็นเซอร์ มีบลูทูชที่ได้รับการรับรอง (certified)  ซีพียู ARM หน่วยความจำแฟลช และการสื่อสารที่ปลอดภัย ชิปนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี โดยใช้พลังงานจากคลื่นวิทยุโดยรอบตัว มันสามารถติดกับเสาอากาศ รับอินพุตจากเซ็นเซอร์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเคมี ด้วยการที่ไม่ต้องมีแบตเตอรี ทำให้ตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีราคาไม่แพง โดยชิปนี้อาจมีราคาแค่หนึ่งเพนนีเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทาง Williot บอกว่าความก้าวหน้าที่แท้จริงของงานนี้ก็คือการลดราคาของโครงสร้างพื้นฐานของเซ็นเซอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้งาน IoT อย่างแพร่หลาย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Forbes

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์ฝังประตูลับไว้ในอุปกรณ์ของ Zyxel

ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยจากบริษัทด้านความมั่นคง  Eye Control ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าแฮกเกอร์กำลังพยายามใช้งานประตูลับที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ของ Zyxel เช่น VPN ไฟร์วอล (firewall) และแอกเซสพอยต์ของเครือข่ายไร้สาย ที่ใช้กันทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจ ประตูลับนี้คือบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสาร โดยบัญชีผู้ใช้นี้ถูกฝังเอาไว้ในเฟิร์มแวร์ (firmware) ของอุปกรณ์ และมีสิทธิเป็นผู้ดูแลระบบอย่างเต็มตัว บัญชีนี้สามารถเข้าถึงได้ทั้งผ่านทาง SSH หรือผ่านเว็บบราวน์เซอร์ ตัวแก้ช่องว่างนี้มีพร้อมแล้วสำหรับไฟร์วอลทุกรุ่น ส่วนของตัวแอกเซสพอยน์จะมีให้ใช้ในวันที่ 8 มกราคมนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica