วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

กลยุทธ์ด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่ดีกว่า

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT), Northwestern University, และ University of Chicago ได้ข้อสรุปว่า รัสเซียใช้ที่อยู่ IP ของเกาหลีเหนือในการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ซึ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการหากลยุทธใหม่ทางด้านความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งเกี่ยวกับการตอบโต้แบบเจาะจง (selective retaliation) 

นักวิจัยบอกว่าสมมติว่าเขาคิดถึงแค่รัสเซียกับจีนทุกครั้งหลังจากมีการจู่โจม เขาก็จะปล่อยให้เกาหลีเหนือและอิหร่านรอดตัวไป ปัจจุบันมีตัวแบบมากมายที่ทำให้ประเทศตระหนักถึงเรื่องการโจมตี แต่กลับละเลยข้อมูลของการโจมตีและผู้โจมตี นักวิจัยพบว่ากลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการปรับปรุงการตรวจจับการโจมตี และเก็บข้อมูลของผู้โจมตีให้มากขึ้นก่อนที่จะมีการโต้ตอบ 

นักวิจัยยังบอกอีกว่า ถ้าเราเอาแต่คิดที่จะโต้ตอบแบบหน้ามืดตามัวหลังจากการถูกโจมตีทุกครั้ง ก็เพิ่มความเสี่ยงที่เราจะถูกโต้ตอบกลับ หลังจากสัญญาณเตือนที่ผิดพลาด 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News  

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ของ DeepMind สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้โดยไม่ต้องสอนกฏเกณฑ์การเล่น

Courtesy of Deepmind

MuZero ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาโดย DeepMind บริษัทลูกของ Alphabet สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้ โดยไม่ต้องสอนกฎการเล่นเกมให้ก่อน ระบบใช้วิธีลองทำเพื่อศึกษาว่าการกระทำนี้ขัดกับกฏของเกมหรือไม่ และในขณะเดียวกันก็ศึกษาด้วยว่าได้รางวัลจากการทำแบบนั้นด้วยหรือไม่ วิธีการนี้จะเหมาะกับการที่จะสอน AI ในงานที่ยากที่จะอธิบายให้โปรแกรมเข้าใจได้ MuZero เอาชนะ AI ของ DeepMind ตัวก่อนหน้าได้อย่างราบคาบ เนื่องจากมันใช้ข้อมูลน้อย เพราะจำลองจากพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเท่านั้น หลังจากฝึกสอนแล้ว MuZero จะใช้พลังประมวลผลน้อยมากในการตัดสินใจ ดังนั้นฟังก์ชันทั้งหมดของมัน สามารถติดตั้งใช้งานได้บนสมาร์ตโฟน


อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

สวัสดีปีใหม่ 2564 (2021)

Photo by Moritz Knöringer on Unsplash

สวัสดีปีใหม่ครับ ศรัณย์วันศุกร์วันนี้มาในวันปีใหม่พอดี เนื่องจากวันเริ่มต้นของปีนี้เป็นวันศุกร์ และเมื่อเริ่มต้นด้วยวันศุกร์ ก็หวังว่ามันจะเป็นปีที่ทำให้เรามีความสุขกันทุกคนนะครับ 

ในวันนี้ผมก็อยากจะเริ่มต้นด้วยการมองย้อนไปในปีที่แล้วจากการเขียนบทความลงในบล็อกนี้ของผมแล้วกันนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนะครับ เริ่มจากต้นปีมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 120,000 กว่าวิว จนถึงวันสุดท้ายของปีมียอดวิว  150,000 กว่าวิว ถ้าเอากลม ๆ ก็คือ ปีนี้มีผู้เข้ามาอ่านบล็อกทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าครั้ง ก็ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ถึงแม้ผมจะทำสำเร็จตามที่ตั้งปณิธานไว้ในปีที่แล้ว คือสรุปข่าวไอทีเขียนลงบล็อกวันละหนึ่งเรื่อง แต่บทความที่ถูกอ่านมากที่สุดกลับเป็นบทความเกี่ยวกับอ.วีระกับ Apple ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กับบทความสรุปให้ฟังอีกครั้งซึ่งเขียนในปีที่แล้ว ส่วนสรุปข่าวไอทีที่เขียนให้อ่านทุกวันก็พอมียอดอ่านอยู่บ้าง ก็หวังว่าในปีนี้จะเข้ามาอ่านกันให้มากขึ้นนะครับ ซึ่งผมจะพยายามคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาให้อ่านกันต่อไปครับ ส่วนศรัณย์วันศุกร์ก็จะพยายามหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนให้บ่อย ๆ ขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ครับ 

และสำหรับใครที่สนใจบทความด้าน Computing ก็ขอฝากบล็อกนี้ของผมไว้ด้วยครับ ซึ่งเอาจริง ๆ ปีที่แล้วก็ไม่ได้เขียนมากนัก เนื่องจากไม่มีเวลา เพราะจัดสรรเวลาแต่ในปีนี้ผมตั้งใจว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละบทความครับ 

ในปีนี้ปณิธานของผมที่ตั้งใจจะทำให้ได้ก็คือจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองตามที่ตั้งใจไว้มาหลายปีแล้ว  และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีกำลังดูแลคนในครอบครัว และเมื่อแก่ตัวลงมากกว่านี้จะได้ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวครับ ส่วนใครที่มีปณิธานอะไรก็ขอให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้นะครับ

ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนครับ 

 


วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

AI โดรน และกล้อง 4K เพิ่มเทคโนโลยีด้านความมั่นคงในญี่ปุ่น

AI Guard ของ Secom ภาพจาก KYODO

จากการขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคง (security) ในญี่ปุ่น  ทำให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีอย่าง AI กล้องวีดีโอแบบ 4K และโดรนมาใช้งาน ตัวอย่างเช่น "AI Guard" ของบริษัทด้านความมั่นคงอย่าง Secom ซึ่งนำมาติดตั้งทื่โรงพยาบาล Ogikubo ที่อยู่ในโตเกียวในเดือนตุลาคม โดยระบบนี้แสดงตัวการ์ตูนที่ประตูทางเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของคนที่จะเข้ามาในโรงพยาบาล โดยจะยอมให้คนที่อุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์เท่านั้นเข้าโรงพยาบาล 

ในขณะเดียวกัน  Sohgo Security Services (Alsok) ได้ติดตั้งกล้อง 4K ที่หอคอย Tokyo Skytree เพื่อทดสอบความสามารถในการติดตามสภาพแวดล้อมโดยรอบ ยิ่งไปกว่านั้นคุกในจังหวัด Yamaguchi ใช้โดรนลาดตระเวณติดกล้องของ Secom ให้บินตรวจตราตามเส้นทางที่ต้องการ เจ้าหน้าที่จาก Alsok บอกว่า 4K, AI และ 5G จะเป็นสามเสาหลักด้านความปลอดภัยนับจากนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Japan Times

วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เราถูกจัดการให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวได้อย่างไร

Photo by Brooke Lark on Unsplash

นักวิจัยจาก Ben-Gurion University of the Negev (BGU) อิสราเอลพบว่า ผู้ใช้งานออนไลน์จะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเว็บไซต์ นักวิจัยได้ทดลองโดยประเมินการสมัครสมาชิก โดยปรับเปลี่ยนลำดับการป้อนข้อมูลอย่างเช่นชื่อ ที่อยู่ และอีเมล โดยพบว่าถ้าถามข้อมูลที่ไม่ค่อยมีความสำคัญก่อน แล้วค่อยถามข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น จะทำให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น การแยกการร้องขอออกเป็นหลาย ๆ หน้า จะมีส่วนทำให้ข้อมูลรั่วไหลมากขึ้น นักวิจัยบอกว่าคนทั่วไป และผู้ดูแลกฏระเบียบควรตระหนักถึงช่องโหว่นี้ เพราะมันง่ายมากที่จะเก็บข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนตัว 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ben-Gurion University of the Negev (Israel)