วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ระบบ AI ของอินเทลระบุความคล้ายคลึงกันของโค้ดโปรแกรมสองชุด

MISIM
สถาปัตยกรรมของ MISIM 
[ภาพจาก VentureBeat]

นักวิทยาศาสตร์ของอินเทลร่วมกับนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology และ Georgia Institute of Technology บอกว่าพวกเเขาได้พัฒนาเครื่องที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติในการบอกว่าโค้ดโปรแกรมสองชุดทำงานเหมือนกันหรือไม่ ถึงแม้โค้ดทั้งสองจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันและใช้ขั้นตอนวิธีที่แตกต่างกัน โดยวิธีนี้ใช้ AI และการเรียนรู้ของเครื่องในการสรุปว่าโปรแกรมจะทำอะไร เครื่องนี้มีชื่อว่า Machine Inferred Code Similarity (MISIM) โดยนักวิจัยบอกว่ามันทำงานได้เร็วกว่าวิธีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันถึง 40 เท่า เครื่องนี้สามารถนำไปใช้ในงานได้หลากหลายตั้งแต่การแนะนำโค้ด ไปจนถึงการตรวจแก้จุดบกพร่อง (debugging) ของโปรแกรมโดยอัตโนมัติ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์ต้องเปลี่ยนชื่อของยีนเพราะไมโครซอฟท์เอกซ์เซล

DNA (deoxyribonucleic acid) structure, illustration.
KTSDESIGN/SCIENCE PHOTO LIBRARY via Getty Images

แม้ว่าระบบจัดรูปแบบอัตโนมัติของไมโครซอฟท์เอกซ์เซลเป็นระบบที่มีประโยชน์ที่ช่วยให้เราพิมพ์ข้อมูลได้เร็วขึ้น แต่ในหลาย ๆ ครั้งมันก็ก่อให้เกิดความสับสน ตัวอย่างหนึ่งของความสับสนนี้คือ  HUGO Gene Nomenclature Committee (HGNC) ต้องออกคู่มือการตั้งชื่อยีน (gene) ของคน เพื่อป้องกันไม่ให้เอกซ์เซลจัดรูปแบบมันเป็นวันที่ ตัวอย่างเช่นยีนชื่อ MARCH1 (Membrance Associaed Ring-CH-Type Finger 1) พอไปพิมพ์ในเอกซ์เซลมันจะแปลงเป็น 1-Mar ซึ่งก็คือวันที่ 1 มีนาคม ในปัจจุบันยีนดังกล่าวมีชื่อว่า MARCHF1 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ 

ชื่อยีน 27 ตัว ต้องถูกเปลี่ยนชื่อในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากเอกซ์เซล ผู้ประสานงานของ HGNC บอกว่านี่ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะจากการศึกษาในปี 2016 พบว่าบทความด้านพันธุกรรมห้าบทความได้รับผลกระทบจากโปรแกรมเอกซ์เซล 

จริง ๆ แล้ววงการวิทยาศาสตร์เคยเปลี่ยนชื่อยีนมาแล้ว เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการสืบค้นข้อมูล หรือเหตุผลด้านความไม่สบายใจของคนไข้ แต่ตอนนี้มันเป็นผลจากการออกแบบซอฟต์แวร์โดยตรง 

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดรูปแบบอัตโนมัติสามารถสร้างปัญหาได้ และนี่คือสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: engadget

 

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อิฐพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ช่วยซ่อมกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน

Scientists Engineer 3D-Printed Bricks That Aid in Bone and Soft Tissue Repair
[ภาพจาก  Oregon Health & Science University]


นักวิจัยจาก Oregon Health & Science University ได้สร้างอิฐที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถใช้ซ่อมแซมกระดูกที่หัก และเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกทำลาย อิฐนี้จะเป็นลูกบาศก์ขนาด 0.6 นิ้ว ที่เอามาประกอบกันได้เหมือนเลโก้ (Lego) โดยมันสามารถทำหน้าที่เป็นโครง (scaffold) ให้ทั้งเนื้อเยื่อที่แข็งและอ่อนถูกปลูกขึ้นมาใหม่ ด้วยการใส่เจลจำนวนหนึ่งที่มีองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการเติบโตเข้าไปในส่วนที่เป็นรูของก้อนอิฐ แล้วนำมันไปใส่ไว้ในจุดที่ต้องการที่สุด โดยอิฐนี้สามารถนำมาประกอบกันได้หลายรูปแบบเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่แตก ผลการศึกษาจากการทดลองกับกระดูกของหนูพบว่า มันสามารถสร้างการเติบโตของหลอดเลือดได้เป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้วัสดุที่ใช้ทำโครงแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Interesting Engineering

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กุ้มใจ

ไม่ได้ฟังเพลงวันศุกร์กันมานานแล้วนะครับ อาการเดิมกลับมาอีกแล้วครับ เพลงวนเวียนอยู่ในหัว คราวนี้เป็นเพลงไทยจังหวะสนุก ๆ ของอัสนี-วสันต์ครับ ไม่รู้ว่าทันกันไหมนะครับ เพลงจังหวะสนุก ๆ แต่ต้องสารภาพว่าจนป่านนี้ผมยังไม่รู้ว่าเพลงนี้เขาอยากสื่ออะไร เดาเอาว่าให้สะกดภาษาไทยให้ถูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นในยุคนี้น่าจะมีเพลง นะคะ นะค่ะ น่าจะดีนะครับ ไปฟังเพลงกันครับ ขอให้มีความศุกร์กันในวันศุกร์ กับ #ศรัณย์วันศุกร์ ครับ


AI ทำนายมะเร็งต่อมลูกหมากได้แม่นยำเกือบสมบูรณ์

Prostate Biopsy AI Cancer
ภาพเนื้อเยื่อที่มีความน่าจะเป็นที่จะเป็นมะเร็ง 
[ภาพจาก Ibex Medical Analytics]

นักวิจัยจาก University of Pittsburgh และ University of Pittsburgh Medical Center (UPMC) ได้ฝึกสอนให้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) สามารถจำแนกและระบุคุณลักษณะของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วยอัตราแม่นยำสูงสุดในปัจจุบัน นักวิจัยใช้รูปภาพจากสไลด์ของเนื่อเยื้อย้อมสีจากเนื้อเยื่อของคนไข้ในการฝึกสอน AI จากนั้นทดสอบกับสไลด์จำนวน 1600 สไลด์จากคนไข้ 100 คนที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผลการทดลองพบว่าอัตตราที่ AI บอกว่าเป็น และคนไข้เป็นจริง ๆ อยู่ที่ 97% และอัตราที่ AI บอกว่าไม่เป็น และคนไข้ไม่เป็นจริง ๆ อยู่ที่ 98% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily